โชคดี…ปีจอ 2561 : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

31 ธันวาคม วันสิ้นสุดของ พ.ศ.2560
วันนี้จะไม่มีวันหวนคืนมาอีกครั้ง ดังนั้น ขอให้เราอยู่กับความจริง ให้คิดดี พูดดี ทำดีให้ดีที่สุด เพราะสิ่งที่เราทำวันนี้จะเป็นเหตุของวันพรุ่งนี้ นั่นคือ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561

วันนี้ทั้งวัน ขอให้ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานด้วยการกระทำอะไรก็ตามแต่ขอให้ทำแล้วทำให้รู้สึกตัวตนของเราเอง สบายใจ สุขใจ คนรอบข้างภายในครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน สร้างโอกาส มีโอกาสก็ขอให้ชวนกันไปทำบุญตักบาตร พากันไปทั้งครอบครัวทำบุญที่วัด ฟังธรรมตามสมควรครับ กลับบ้านก็กราบคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่า ตายายที่บ้านว่าเอาบุญมาฝากหรือร่วมด้วยช่วยกันทำงานบ้าน จัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ปลูกต้นไม้ พรวนดิน ทำอาหารกินกันเองที่บ้าน มีความสุขภายในบ้านตามอัตภาพ เพื่อเราสบายกาย จิตว่างทั้งตัวเรา และสมาชิกในครอบครัวก็เกิดสุขใจ โล่ง สว่าง สะอาด สงบ

ส่วนพรุ่งนี้เป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของพุทธศักราช 2561 เป็นวันแห่งอนาคตที่เราต้องเผชิญ แม้ยังมาไม่ถึง ก็ขอให้ตั้งจิตอธิษฐาน ให้อยู่อย่างมี “ความหวัง” สุขใจ ตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะคิดดี พูดดี ทำดี เพื่ออนาคตของตัวเองและครอบครัวของเราให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ไร้อุปสรรค มีความสุขและโชคดีตามควรแก่กรณีด้วยการที่เราระลึกรู้สึกใจตลอดเวลา คือ ให้จิตเรามี “สติ” ตลอดเวลา ทั้งนี้ ก็จะสอดคล้องกับธรรมที่ว่า “อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันทั้งเหตุและผล อนาคตดีเป็นผลการทำปัจจุบันดี”

เนื่องในวันปีใหม่ที่จะมาถึงในวันพรุ่งนี้ ผู้เขียนขอนำพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่กล่าวถึง “อิสริยาภรณ์ของชีวิต” ในหนังสือ “แสงธรรมส่องใจ” มาเป็นเครื่องบริหารใจให้ห่างไกลกิเลส จักเป็นเสมือนประทีปส่องใจให้เกิดความเห็นธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตที่ดีต่อไปมี 7 ประการ

Advertisement

1.ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ : ⦁ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า กมฺมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ⦁ คนและสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ นานา ทุกข์ก็มีสุขก็มี ดีก็มีชั่วก็มี มิได้เกิดแต่ผู้ใด มิได้เกิดแต่อะไรอื่น นอกจากกรรมที่ตนได้กระทำ กรรม คือ การกระทำ ⦁ ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจแห่งใจ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ มนุษย์ต้องไปเกิดเป็นสัตว์ก็เพราะอำนาจแห่งใจ ⦁ มโนกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ใจสำคัญที่สุด ใจคิดไปก่อนจะดีหรือชั่วก็แล้วแต่ใจคิด ผู้ไม่เชื่อเรื่อง “กรรม” ที่เกิดจากใจคิดเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด เพราะเขามีโอกาสที่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย น่าสลดสังเวชที่สุด ⦁ การระมัดระวังใจ…สำคัญยิ่งนัก ปล่อยใจให้คิดถึงสิ่งงดงามไปด้วยกุศล ชาตินี้จะเป็นสุขเบิกบานด้วยอำนาจบุญกุศลที่ใจคิดถึง ⦁ ความคิดเปรียบเช่นดังร่างกาย เหมือนต้นไม้ต้องการปุ๋ย ต้องการความดูแลรักษาไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่เจริญงอกงาม ความคิดหรือจิตใจก็เช่นกัน ต้องให้ปุ๋ยเสมอ คือ ให้ความถูกต้องด้วยปัญญา ด้วย…“สัมมาทิฐิ”…ความเห็นชอบ ว่าความดีบุญกุศลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ⦁ เกิดเป็นคนเร่งรักษาจิตใจให้จงดี ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นพิษ โดยเฉพาะยุคนี้ปัจจุบันนี้อาหารที่เป็นโทษ เป็นพิษร้ายแรงแก่จิตใจมากมาย : เต็มไปทั่วทุกแห่งเพราะโซเชียล
มีเดียมาเร็วไปเร็ว ด้วย…สติปัญญารักษาใจที่เพียงพอเท่านั้นที่จะเป็น “อาหารที่ดี” ให้เราแลเห็นช่องทางหลบหลีกภัยเหล่านั้นได้ ⦁ ตายทั้งเป็น…น่าหวาดกลัวยิ่งนัก ใจที่มีความคิดอาบยาพิษร้ายเป็นใจที่ทำให้ตายได้ทั้งเป็น อันการตายทั้งเป็นนั้นน่าหวาดกลัว คือ ผู้เป็นคนเลวในสายตาของคนดี เป็นที่รังเกียจของสังคมดี ไปที่ใดจักไม่มีความหมายที่ท่านเปรียบว่า “ตายทั้งเป็น” ก็คือเช่นนี้ คือไม่อยู่ในสายตาในความสนใจของผู้ใด เหมือนวิญญาณที่ไม่มีร่าง ⦁ กรรมมีจริง ผลของกรรมมีจริง: กรรมดีให้ผลจริง กรรมชั่วให้ผลจริง ผู้ใดทำกรรมไว้ จักเป็นผู้ได้รับผลของกรรม กรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น จะรับผลแทนกันนั้นไม่ได้ ไม่มี ⦁ กรรมเป็นของเฉพาะตน : บิดามารดาทำไม่ดีทำบาปอกุศลยังอยู่ดีมีสุข เพราะผลของบาปอกุศลจะส่งมาไม่ถึง แต่บุตรธิดาไม่ทันได้ทำบาปอกุศล กลับต้องมีอันเป็นไปต่างๆ นานา นั่นเป็นเรื่องการรับผลของกรรมอกุศลที่ทำไว้ในชาติก่อนที่ตามส่งผลมาในการชาตินี้ แต่เราไม่รู้ไม่เห็นเท่านั้น ไม่ใช่บุตรธิดารับผลของกรรมแทนบิดามารดา กรรมเป็นของเฉพาะตน กรรมของคนหนึ่ง ผลจะไม่เกิดแก่อีกคนหนึ่งอย่างแน่นอน

2.กรรมดีส่งผลได้ทันเวลา : ⦁ กรรมดีทางใจ ที่สำคัญยิ่ง คือ ความดีในกตัญญุตาธรรม รู้พระคุณที่ท่านได้กระทำแล้วแก่เรา กว้างออกไปอย่างไม่มีขอบเขตใจที่ระลึกถึงพระคุณในความดีของท่าน เช่นนั้นเป็นใจที่มีธรรมดี เป็นใจที่กำลังทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดีแห่งกรรมนั้นโดยสำคัญ ⦁ กตัญญูกตเวทิตาธรรม ความรู้พระคุณและตอบแทนพระคุณเป็นกรรมดีทั้งกาย วาจา ใจ จึงเป็นกรรมที่ให้ผลดีพร้อม เป็นต้นว่า รู้พระคุณของมารดาบิดา ความสร้างดีแห่งตนย่อมเป็นผลเกิดได้ด้วยเหตุ มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมประจำใจเป็นกรรมทางใจหรือมโนกรรมที่ดี ตรงข้ามกับผู้อกตัญญู ผู้เนรคุณทุกประการ ⦁ กุศลกรรมตัดรอนอกุศลกรรมให้: ทำกรรมดีหรือกุศลกรรมให้มาก ย่อมอาจให้ผลตัดรอนอกุศลกรรมได้ จึงไม่ควรลังเลที่ระลึกได้ย่อมทำกรรมใดไว้ในอดีต นึกไม่ได้ทั้งนั้น ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ก็เมื่อต้องประสบผลของกรรมแล้ว บางคนสงสัยนั่นคงเป็นผลของกรรมดี เพราะทำให้เราได้รับโชคดี มีความสุขกายสบายใจ ⦁ กรรมไม่ดีที่ให้โทษหนักที่สุด: โดยกรรมไม่ดีที่ทำต่อพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และมารดาบิดา ⦁ กรรมดีส่งผลได้ทันเวลา : กรรมดีที่ยิ่งใหญ่กว่ากรรมไม่ดีนั้นสามารถตัดรอนผลของกรรมไม่ดีที่ได้กระทำมาแล้วทันเวลา ดังเช่น เรื่องของท่านพระองคุลีมาล ท่านฆ่าคนเสียเป็นร้อยเป็นพัน นั่นเป็นกรรมไม่ดีแรงไม่น้อย แต่เมื่อท่านได้พบพระพุทธเจ้าได้ฟังพระพุทธเจ้าดำรัสเพียงประโยคสองประโยคจิตของท่านก็ประกอบพร้อมด้วยมโนกรรมอันดียิ่งทันที เป็นกรรมดีที่ยิ่งใหญ่กว่ากรรมไม่ดีที่ท่านกระทำแล้วก็ถูกตัดรอนขาดสิ้นไป ท่านสามารถหยุดกรรมไม่ดีโดยเด็ดขาด และสามารถบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ นับเป็นผลยิ่งใหญ่ของกรรมดี ⦁ กตัญญูกตเวที เพื่อความสวัสดีของชีวิต กรรมดีทางใจที่ควรพร้อมทำให้เกิดขึ้นเพื่อความสุขสวัสดีของตนเองและประเทศชาติ คือ ความมีผลในพระคุณของพระพุทธเจ้า พระบารมีนั้นแผ่ยิ่งใหญ่ไพศาล แผ่ในทุกหนทุกแห่ง พึงพร้อมกันน้อมใจเพียงรำลึกถือพระพุทธเจ้าว่า “พุทโธ พุทโธ พุทโธ” ในทุกเวลานาทีนับมีคุณมหาศาลเกินกว่าจะมีผู้ใดบอกกล่าวได้ถูก

3.จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ : ⦁ แสงแห่งปัญญาเป็นอำนาจวิเศษเปรียบได้ดุจ…ปราการห้อมล้อมรักษาใจไว้ให้ไกลจากความร้อนของกิเลสได้ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงใหญ่ยิ่งคือสิ้นเชิง ⦁ ใช้ปัญญาวางใจให้ถูกทาง: เป็นอุบายวิธีวางใจให้ถูกที่ในท่ามกลางกิเลสมากมายจึงสำคัญนักวางใจให้ถูกที่แล้วความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ตาม จะเข้าไม่ถึงใจสัมผัสได้ ⦁ ใจจักผ่องใสเมื่อไกลจากกิเลส: หยุดความคิดปรุงแต่งเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส กิเลสมีอยู่เต็มโลกก็ไม่เข้ามาห้อมล้อมใจ ใจย่อมอยู่คงใสสว่างห่างไกลความร้อนความมืดของกิเลส ⦁ ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตใจ จิตดีก็นำไปดี จิตชั่วก็นำไปชั่ว จิตสุขก็นำไปสุข จิตทุกข์ก็นำไปทุกข์ จิตสูงก็นำไปสูง จิตต่ำก็นำไปต่ำ ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “โลกอันจิตย่อมนำไป” จงตามรักษาจิตของตน พึงรักษาจิตของตน เหมือนคนประคองบาตรเต็มด้วยน้ำมัน ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต เป็นต้น

Advertisement

4.สร้างสุขได้ด้วยใจตน : ⦁ กิเลสมากทุกข์มาก เมื่อใดกิเลสสามกองหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงแล้วนั้นแหละ ความทุกข์จึงจะหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิงได้ จึงควรพยายามทำให้กิเลสหมดสิ้นให้จงได้ ด้วยความพากเพียรมุมานะใช้สติปัญญาให้รอบคอบ ทุกเวลานาทีที่ทำได้แล้วจะเป็นผู้ชนะได้มีความสุขยิ่ง ⦁ ทุกข์ทั้งปวงเกิดจากกิเลส กิเลสทำให้เกิดทุกข์แท้จริง ⦁ หยุดความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลส ⦁ ยึด “ความถูกต้อง” เป็น “ครู” หน้าที่ของศิษย์ ก็คือ ปฏิบัติตาม “ครู” อย่างให้ความเคารพ กล่าวได้ว่า ให้เคารพและปฏิบัติตามคนดีแบบอย่างที่ดีระลึกถึงคนดี และแบบอย่างที่ดีไว้เสมอ อย่างมีกตัญญูกตเวที คือ รู้พระคุณท่าน ตอบแทนพระคุณท่าน ก็คือ ทำตนเองให้ได้เหมือนครูนั้นเป็นการถูกต้องสมควรที่สุด จะได้รับความสุขสวัสดีตลอดไป ⦁ ความดีหรือบุญกุศลเปรียบได้ดัง แสงไฟ ผู้มีแสงสว่างดำรงตนได้ถูกทาง การทำความดีต้องทำให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ สภาพของใจที่แท้จริงต้องใช้กิเลส ⦁ สร้างสุขได้ด้วยใจตนเอง การจะกระทำใจให้เป็นสุขนั้นไม่มีใครสามารถทำให้ใครได้ เจ้าตัวต้องทำของตัวเอง วิธีทำ ก็คือ…เมื่อเกิดโลภ โกรธ หลง เมื่อใดให้พยายามมีสติรู้ให้เร็วที่สุดและใช้ปัญญายับยั้งเสียให้ทันท่วงที อย่าปล่อยให้ช้าเพราะจะเหมือนไฟไหม้บ้าน ยิ่งดับช้าก็ยิ่งดับยากและเสียหายมากโดยไม่จำเป็น

5.ผู้สุจริตย่อมมีใจผ่องใส : ⦁ ตนแลเป็นคติของตน คนนั้นพาไปดี คนนี้พาไปดี นั้นไม่ถูกไม่มีผู้ใดจะพาใครไปไหนได้ นอกจาก “ตัวเรา” ตัวเองต้องเห็นด้วยจึงจะทำ ไม่ว่าเรื่องใดไม่มีผู้ใดจะนำไปได้ เดินตามแสงประทีปแห่งธรรม ศึกษาให้ถูกวิธีจักเดินไปถูกทางตนแลเป็นที่รักยิ่งของตน ผู้มีปัญญามุ่งรักษาตน ความรักของผู้อื่นเสมอด้วยตนไม่มีผู้มีปัญญามุ่งรักษาตน กรรมเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ⦁ คนเห็นแก่ประโยชน์ตน คือ คนเห็นแก่ตัว : เป็นคนไม่สะอาด คือ เป็นคนที่มัวหมอง เพราะกิเลสเป็นเครื่องเศร้าหมองต้องพยายามไกลจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ⦁ ผู้มีความสุจริต คิดสุจริต พูดสุจริต ทำสุจริต แม้จะเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่ง จะพิจารณาตนเองตลอดเวลาจะพบแต่ความผ่องใส ไม่เศร้าหมอง เพราะไม่ต้องรับรู้ความจริงว่าตนกำลังคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี อันเป็นบาป ความเศร้าหมองของผู้ทำบาป ไม่มีเพียงภายในใจเท่านั้น มีทั้งภายนอกด้วยเช่นกัน ฉะนั้น… “ผู้สุจริตย่อมมีจิตผ่องใส”

6.ใจที่อบรมอย่างถูกต้อง ⦁ จิตเป็นประภัสสร เมื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง เมื่อใดเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมาว่า… “เขาต้องดีกว่าเราไม่ได้” เมื่อนั้นให้รู้ว่า “เรากำลังคิดแข่งดี” ซึ่งไม่ใช่ความถูกต้อง เป็นความผิดความไม่ชอบพึงพยายามหยุดความคิดนั้นเสียให้ได้ ถ้าปรารถนาจะได้มีโอกาสเห็นจิตที่ประภัสสรของตน คือ มีโอกาสได้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง ⦁ มานะ: ความถือตัวถือตนเป็นอุปกิเลส มิได้มีความหมายตั้งใจจริง ความตั้งใจจริงเป็นความดี แต่มานะความถือตัวเป็นความไม่ดี ความไม่ถือตัวมิได้หมายถึงอะไรก็ได้ โดยจะปฏิบัติต่อตน ถูกผิดอย่างไรก็ได้ หรือตนจะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไรก็ได้ไม่ใช่เช่นนั้น ความถูกต้องต้องรักษาไว้ ต้องระวังให้ถูกต้อง แม้จะเป็นผู้ใหญ่ก็นอบน้อมต่อผู้น้อยได้ ราวกับเป็นผู้น้อยยิ่งกว่า ⦁ ใจดีอบรมถูกต้องเป็นใจที่ไม่มีมานะ: มานะเป็นความถือตัวเป็นเรื่องใด ใจอบรมที่ถูกต้องแล้วนั่นแหละที่ไม่มีมานะถือตัว ⦁ ทางเกิดของมานะ : ความคิดปรุงแต่งเป็นเหตุให้เกิดมานะความถือตัว จึงต้องระวังความคิดปรุงแต่งให้ดีที่สุด พยายามยับยั้งที่จะไม่ให้มีความคิดปรุงแต่งให้มากที่สุดด้วยพยายาม “อย่าคิด” ทั้ง ดูหมิ่นท่าน ความมัวเมา ความเลินเล่อ จึงพยายามทำลายความประมาทเลินเล่อด้วยวิธีอย่าคิดปรุงแต่งว่า… “ไม่เป็นไรๆๆ” ออกเสียให้หมด

7.วิธีบริหารใจให้ห่างไกล : ⦁ ดีชั่วบ่งบอกวงศ์สกุล พระพุทธเจ้าทรงเป็นพยานยืนยันความจริงที่ว่า… “ร่างกายของสัตว์ย่อยยับได้แต่ชื่อและสกุลไม่ย่อยยับ” พระพุทธสรีระ คือ ร่างกายของพระพุทธเจ้าย่อยยับไปนานนักแล้ว แต่ชื่อและสกุลของพระองค์ท่านหาได้ย่อยยับไปด้วยไม่ พระนามของท่านพระพุทธองค์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเป็นที่เทิดทูนบูชาเลื่อมใสอย่างสูงยิ่ง ความแตกต่างนั้นทุกคนน่าจะเข้าใจได้เพราะเหตุสำคัญ คือ “ความดีกับความชั่ว”

⦁ วิธีบริหารจิตใจให้ห่างไกลจากกิเลส : ⦁ อันความคิดและสติปัญญาของประชาชน เราๆ แตกต่างจากพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงมีความแตกต่างตรงกันข้ามอยู่ในแทบทุกเรื่องที่เป็นความตรัสรู้ และที่เป็นความคิดของเราปุถุชนทั้งหลายในความสุขและความทุกข์ที่เราเข้าใจว่าเป็น “สุข” ก็ทรงแสดงว่าเป็น “ทุกข์” และที่เราเข้าใจว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด “สุข” ก็ทรงแสดงว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิด “ทุกข์” จึงสมควรที่จะใช้วิธีบริหารจิตโดยตรง คือ ยอมเชื่อว่าไม่ว่าในเรื่องใด สิ่งใดทั้งนั้น ถ้าความคิดความเห็นของเราผิดไปจากของพระพุทธเจ้าแล้ว เราเป็นฝ่ายผิด ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามของพระพุทธเจ้าให้เต็มสติปัญญาความสามารถ

ในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ ตลอดปี 2561 ขอให้ ก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ (แต่ตัวตนเก่า) จากปี 2560 สู่ 2561 อายุเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ปี…การดำรงชีวิตเปรียบได้กับการเดินทาง…บนเส้นทางชีวิตของแต่ละคน ซึ่งถูกกำหนดมาแล้ว ตามกฎแห่งธรรมชาติ กฎแห่งความจริง กฎแห่งสัจธรรมที่ท่านลิขิตขีดเส้นทางมาให้แล้ว : ⦁ บางคนเดินอยู่บนทางที่สว่าง ⦁ บางคนเดินอยู่บนทางที่มืด

พระพุทธองค์ทรงประกาศว่า “ทรงชูประทีปขึ้นส่องทาง” ก็แสดงว่าทางของพระพุทธองค์เป็นทางที่สว่าง คือ ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ชัดแจ้งว่า เป็นทางที่ถูกแท้อันชักนำไปถึงจุดหมายโดยสวัสดีไม่พาไปตกหลุม ตกเหว หรือเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายเสียก่อน
ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่กล่าวตอนต้นที่ว่า “กมฺมุนา วัตตติ โลโก” สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เพียงแต่ขอให้ทุกท่านที่เป็นแฟนมติชน
ประสบแต่สิ่งที่ดี เป็นมงคลชีวิต ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปลอดภัย สมหวังมีความสุข สุขภาพดีแข็งแรงและโชคดีตลอดปีใหม่นี้ นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image