คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : จุดเริ่มต้นในจุดสิ้นสุด

ใครยังไม่เคยวิ่ง จะรู้ดีว่าการเริ่มต้นยากแค่ไหน ใครที่ลุกขึ้นมา “วิ่ง” เป็นครั้งแรกได้จะรู้ดีว่า กว่าจะวิ่งจบ “กิโลเมตรแรก” ได้ไม่ง่าย และทุกการเพิ่มขึ้นของระยะทางในกิโลเมตรถัดไปยังต้องใช้ความพยายามไม่ใช่น้อย

มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง

ระหว่าง “กำลังขา” และ “กำลังใจ” กำลังไหนสำคัญกว่ากัน

ใครวิ่งได้ไกลกว่าที่เคยคิดว่าจะทำได้ จะรู้ดีว่าในกิโลเมตรท้าย ๆ ไม่ใช่ แค่ “ขา” แต่เป็นเรื่องของ “หัวใจ” ที่ทำให้วิ่งต่อได้ถึงเส้นชัย

Advertisement

ใครจะคิดว่า ผู้ชายคนหนึ่งจะวิ่งจากใต้สุดไปถึงเหนือสุด เพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ได้ภายใน 55 วัน และระดมเงินได้มากกว่า 1,100 ล้านบาท

“ตูน บอดี้สแลม-อาทิวราห์ คงมาลัย” ทำได้ในฐานะเป็นคนไทยคนแรก

อย่างที่รู้กันว่า นี่ไม่ใช่การวิ่งครั้งแรกของเขา

Advertisement

ครั้งแรกเขาวิ่ง 10 วัน ระยะทาง 400 กิโลเมตร เพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทำไมต้องวิ่ง?

“ตูน” เล่าที่มาที่ไปของการ “วิ่ง” ที่บางสะพานว่า เริ่มจากคุณหมอชวนให้ไปเป็นหนึ่งในสีสันของงานวิ่งที่กำลังจะจัดขึ้น เพื่อชักชวนให้คนบางสะพานออกมาวิ่งออกกำลังกาย และถ้ามีเงินเหลือก็จะนำมาซื้อเครื่องมือแพทย์ แต่การจัดงานวิ่งแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายมากมาย และไม่รู้ว่าจะเหลือเงินเท่าไร

เขาจึงคิดว่าในเมื่อชอบวิ่ง และอยากช่วยอยู่แล้วจึงตัดสินใจวิ่งคนเดียว

“การวิ่งเป็นวิธีสื่อสารสิ่งที่กำลังมีปัญหาให้คนในสังคมได้รับรู้ และออกมาช่วยกันคนละเล็กละน้อย ไม่ต้องมีเงินเป็นแสนเป็นล้าน ก็ช่วยกันได้ สาระสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ระยะทาง 400 กิโลเมตร”

และถ้ามัวไปคิดถึง “ปัญหา” ก็จะไม่ได้ทำอะไร

ไม่ได้เริ่มอะไร เป้าในฝันของเขาจึงเริ่มจากโครงการนี้เพื่อช่วยบอกต่อ และกระตุ้นเตือนให้คนในพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ หันมามองโรงพยาบาลหลังบ้านของพวกเขาบ้าง

เขาตั้งใจใช้การวิ่ง เป็นหลักไมล์ในชีวิตที่จะทำเพื่อคนอื่นบ้าง

จาก 400 กิโลเมตร มาถึง 2,000 กว่ากิโลเมตร ใต้สุดจรดเหนือสุดของประเทศไทย

ระหว่างที่วิ่งมาได้ครึ่งทาง “ตูน” ยอมรับว่า 700 กิโลเมตรแรก ตอนวิ่งมาถึงหัวหิน เขารู้สึกเจ็บหนักบริเวณขาจนต้องหยุดวิ่งกลางคัน และเริ่มรู้สึกว่า จะไปต่อจนครบ 2 พันกิโลได้ไหม

“เริ่มท้อ และเริ่มคิดว่าจะไปต่อได้หรือเปล่า แต่สุดท้ายพอได้ทีมแพทย์ ทีมกายภาพมาช่วย ก็กลับมาได้ หลังจากนั้นก็ไม่บาดเจ็บอีกเลย อาจมีบางอย่างที่เรามองไม่เห็น แรงที่มองไม่เห็นส่งมาให้เราได้ปฏิบัติภารกิจให้เสร็จ…

…ในช่วงท้ายๆ ของการวิ่ง เป็นภาพที่เกินจริง และเกินที่จะคิด เราไม่ใช่นักวิ่ง แต่มีความฝันที่จะทำ เราพยายามฝึกซ้อมวางแผน ตั้งต้นจากตัวเราว่าวิ่งแบบไหนจะไม่เจ็บ และทำซ้ำๆ เราเป็นนักวิ่ง 10 กิโล ก็คิดว่าจะวิ่งครั้งละ 10 กิโลเมตร คำนวณความเป็นไปได้จากสิ่งที่มี แต่ไม่รู้ว่าออกมาแล้วจะเจออะไรในสนาม การบาดเจ็บต่างๆ เราก็ไม่รู้”

“ตูน” บอกว่าความตั้งใจแรกของเขาแค่คิดว่าจะเป็นตัวอย่างในการออกกำลังกาย และปลูกเมล็ดพันธุ์ของ “การให้”

“หลายคนคงคิดในใจว่าผมบ้า ขนาดตัวผมเอง ยังคิดว่าผมบ้า ถ้าย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของการทำโครงการที่บางสะพาน ผมแค่รู้สึกว่า ผมไม่ได้อยากทำเรื่องนี้เพียงคนเดียว ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ผมไม่รู้หรอกว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร แต่ขอทำ และอยากให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน และหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง”

เงิน 10 บาท จากคนไทย กว่า 70 ล้านคน คนละ 10 บาท อาจดูมีค่าน้อย แต่เมื่อเอามากองรวมกันจะสามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้จริง

“เขา” อยากให้ทุกคนเห็นถึงพลังในการรวมตัวกัน และพลังแห่งการ “ก้าวทีละก้าว”

ในการวิ่งวันที่ 55 ก่อน 9.2 กิโลเมตรสุดท้าย “ตูน” ให้สัมภาษณ์ เดอะ สแตนดาร์ดว่า นอกจากความสุข และความสนุกในการพิชิตระยะทางจาก “ใต้สุดไปเหนือสุด” ของเมืองไทยได้สำเร็จแล้ว คือสามารถที่จะสื่อสารข้อความ และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรงพยาบาลได้ด้วย

การวิ่งครั้งนี้จึงเป็นทั้งความสนุก และเป็นประโยชน์ในการทำในสิ่งที่ชอบ

“ทำแบบนี้เหนื่อยอยู่แล้ว แต่รู้สึกว่า เรามีความสุข และสนุก การเหนื่อยมันคือสิ่งหนึ่งที่ต้องเจอในการทำงานต่างๆ ให้สำเร็จอยู่แล้ว ถ้าไม่เหนื่อย คงไม่ใช่การทำงาน หรือการที่จะทำสิ่งที่เราตั้งใจให้สำเร็จได้”

เขาอยากให้ การจบการวิ่งในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในพื้นที่ต่างๆ หันกลับไปดูโรงพยาบาลในพื้นที่ของตนเองว่ามีพร้อมแล้วหรือยัง และจะดีขึ้นได้ไหม จะดีขึ้นจากเราได้อย่างไร

“ใครมีแรงเท่าไรก็มาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อช่วยเหลือคุณหมอพยาบาลในพื้นที่ให้มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมมากขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตในโรงพยาบาลมากขึ้น”

อีกสิ่งที่อยากได้มากที่สุด คือทำให้คนไทยหันกลับมาใส่ใจ ดูแลตนเอง เพราะเชื่อว่า ไม่ว่าจะให้เงินไปกับโรงพยาบาลมากเท่าไร ก็ไม่มีวันพอ ถ้าไม่ดูแล

สุขภาพ

“เราสามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย ป้องกันได้ด้วยการดูแลโภชนาการที่ดี ผมอยากให้การวิ่งครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งเหล่านี้ ที่สุดท้ายแล้วจะเป็นการแก้ปัญหาโรงพยาบาลได้อย่างยั่งยืนที่สุด”

แม้ “ตูน” จะจบการวิ่งครั้งที่ 2 ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ไปแล้ว แต่พวกเรายังคงบริจาคเงินให้โครงการนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ได้จนถึงที่ 31 พฤษภาคม 2561 นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image