การพัฒนาโทรคมนาคม กับปม “ประมูลคลื่นความถี่”

ตั้งใจเอาไว้ว่า ถึงสิ้นปีจะหยิบเรื่องราวพัฒนาการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมบ้านเรามาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แล้วก็เผื่อๆ ว่าจะพอถูๆ ไถๆ กับไทยแลนด์ 4.0 กับเขาบ้าง

แต่พอควานหาข้อมูลสองสามอย่างออกมาก็ยอมรับว่าต้องถอนใจ คราวนี้คงเสียความตั้งใจบางส่วนเสียแล้ว

ไอ้ที่อยากจะเล่าสู่กันฟังยังอยู่หรอกครับ แต่ส่วนที่จะให้ไปกันได้กับไทยแลนด์ 4.0 เห็นทีจะเป็นหมัน เพราะเอาเข้าจริง คุณภาพของโทรคมนาคมบ้านเรา ไม่เพียงไม่กระเตื้อง ยังแย่ลงด้วยซ้ำไป

สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็คือ “สปีดเทสต์ อินเด็กซ์” ประจำปี 2017 ที่เขาเก็บข้อมูลจาก 122 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่น “สปีดเทสต์” วัดสปีดของโครงข่ายในแต่ละประเทศแล้วนำมาจัดทำอันดับ เรียงจากเร็วสุดไปหาต่ำสุด ข้อมูลนี้เผยแพร่เป็นสาธารณะครับ ใครอยากดูก็เข้าไปดูได้ที่ http://www.speedtest.net/global-index

Advertisement

ในส่วนที่เป็นโมบาย สปีดเทสต์บอกว่าอันดับของไทยลดลง 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 87 จาก 122 ประเทศ ความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเราอยู่ที่ 13.38 Mbps ส่วนอัพโหลด อยู่ที่ 8.28 Mbps ในขณะที่ความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดของโลก อยู่ที่ 20.8 Mbps ครับ

ประเด็นที่ผมต้องการชี้ให้เห็นก็คือ สปีดที่ถือเป็นคุณภาพของโครงข่ายของเรา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่มาก

ยิ่งไปกว่านั้น ในจำนวนชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน 9 ประเทศ (ยกเว้นพม่าที่ สปีดเทสต์ เขาไม่มีข้อมูลมาจัดทำดัชนี) เราจัดอยู่ในอันดับที่ 6 เท่านั้นเอง ดัชนีสปีดเทสต์ ชี้ให้เห็นว่า สปีดของโครงข่ายในบ้านเรา ไม่เพียงแค่สู้ประเทศอย่างสิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ไม่ได้เท่านั้น ยังช้ากว่าโครงข่ายในประเทศที่พัฒนาโทรคมนาคมมาทีหลังอย่าง เวียดนาม (อันดับ 61 เป็นที่ 2 ในอาเซียน) กัมพูชา (อันดับ 78 ที่ 4 ในอาเซียน) และลาว (อันดับ 85 ที่ 5 ในอาเซียน) ครับ

Advertisement

ที่สำคัญก็คือ เราเริ่มต้นช่วง 1 ปีที่ว่านี้ด้วยความเร็ว 16.66 Mbps แล้วค่อยๆ เรียวลงตามลำดับ สปีดที่ 13.38 Mbps นี้ ใกล้เคียงกับสปีดในจุดต่ำสุดของปีคือ 13.11 Mbps

จะว่าไทยมีคนมากกว่าอีก 5 ประเทศเหล่านั้นก็คงไม่ได้ เพราะจีนมียูสเซอร์มากกว่าหลายเท่าตัวยังสามารถรักษาคุณภาพโครงข่าย ให้ความเร็วได้ถึง 31.22 Mbps อยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก เราเพิ่งประมูลคลื่นความถี่กันไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทำไมโครงข่ายโทรคมนาคมบ้านเราถึงไม่พัฒนา?

ผมพยายามหาความรู้ในเรื่องนี้ ผู้รู้ไขคำตอบเอาไว้ว่า สาเหตุมี 2 อย่าง หนึ่งคือ คนที่ประมูลได้ไม่มีเงินจะมาลงทุนพัฒนา อีกหนึ่งก็คือ คนที่ประมูลได้ไม่มี “คลื่นความถี่” ที่จะใช้ในการพัฒนา

ทั้งสองอย่างนี้แม้จะฟังดูแยกจากกัน แต่ก็ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด แต่เกี่ยวพันซึ่งกันและกันอยู่ในที

กรณีที่ “โอเปอเรเตอร์” ที่ประมูลได้ ไม่ยอมควักเงินพัฒนาโครงข่าย มีเหตุปัจจัยอยู่ 2 เหตุด้วยกัน อย่างแรกก็คือ เงินลงทุนหมดไปเพราะต้องนำไปใช้เป็นค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ที่ประมูลมาด้วยราคาสูงๆ อย่างถัดมาก็คือ โอเปอเรเตอร์ ไม่อยากควักกระเป๋าลงทุนเพื่อพัฒนา เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากเงินที่ลงทุนไปนั้นหรือไม่ เนื่องจากไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “แผนการใช้งานคลื่นความถี่” หรือ “สเปกตรัม โรดแมป” ให้สามารถวางแผนการลงทุนเพื่ออนาคตได้

ข้อเท็จจริงก็คือ การประมูลคลื่นความถี่เมื่อปี 2558 นั้น ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เงินไปสูงมาก

แต่นอกจากทำให้โอเปอเรเตอร์จากต่างประเทศ บอกศาลาไม่ร่วมประมูลกันทั้งหมดแล้ว ยังเกิดปรากฏการณ์ตามมาอีก 2 อย่าง อย่างแรกกลายเป็นปัญหาขึ้นมาหลังประมูลหมาดๆ นั่นคือมีคนทิ้งใบอนุญาตฯ อีกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือ มีโอเปอเรเตอร์ขอขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียม

“หมอลี่” นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. เพิ่งยืนยันทั้ง 2 เรื่องนี้ไว้ในวงเสวนา “จับตาประมูลคลื่นความถี่ปี 61” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมานี่เองว่า ถ้าการประมูลหนนั้น “(ราคา) ถูก” จริง คงไม่มีคนทิ้งใบอนุญาต หรือขอขยายเวลาจ่ายเงิน พร้อมทั้งเตือนเอาไว้ด้วยว่า

“การประมูลในราคาแพงทำให้ผู้ประกอบการเจอสภาพเดียวกันคือ ต้นทุนสูงเหมือนกันหมด แล้วที่สุดจะสะท้อนไปที่ผู้บริโภค”

คือถ้าค่าใช้บริการไม่แพงขึ้น ก็จะกลายเป็นว่าการบริการจะไม่พัฒนานั่นแหละครับ

ที่น่าสนใจก็คือว่า แทนที่ กสทช. จะใช้การประมูลหนที่ผ่านมาเป็นบทเรียน กลับเป็นว่า กำลังจะทำอย่างเดิมอีกครั้ง คือ ทำให้คลื่นความถี่ทั้งแพงขึ้น แล้วก็หดหายไปพร้อมกันในตัว

กสทช. ทำ 2 อย่าง หนึ่งคือ เอาราคาประมูลครั้งที่แล้วเป็น “ราคาเริ่มต้น” ในการประมูลหนใหม่ที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ผลก็คือ ทำให้ราคาเริ่มต้นในการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ของไทย “แพงที่สุดในโลก” แพงกว่าราคาเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ 6 เท่าตัว

อย่างที่ 2 ก็คือ ใช้วิธีการที่เขาไม่ใช้กันแล้ว เพราะไปสร้าง “ดีมานด์เทียม” ให้เกิดขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ทำให้ปริมาณคลื่นความถี่สำหรับใช้งาน “หดน้อยลง” นั่นคือ ใช้วิธีจำกัดจำนวนใบอนุญาตให้น้อยกว่า จำนวนผู้เข้าประมูล วิธีการแบบนี้เขาเรียกกันว่า “เอ็น-ลบ-หนึ่ง” อินเดียเคยนำมาใช้ประมูลเมื่อไม่นานมานี้ ได้ผลดีมากคือ ไม่มีใครเข้าประมูลเลยครับ

เล่าสู่กันฟังมาถึงตอนนี้ ก็บอกกันตรงๆ เหมือนกันว่า ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ กสทช. ทั้งหลายคิดและทำอย่างที่ควรจะทำ ไม่ใช่ไปทำอย่างที่ไม่ควรจะทำต่อไป

ได้แต่ทำใจละครับว่า ปีหน้าฟ้าใหม่ คงไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาโทรคมนาคมไทยอีกเหมือนเดิม ส่วนไทยแลนด์ 4.0 ก็ว่ากันไปตามแกน

สุกๆ ดิบๆ ตามประสาคนไทยในปีใหม่ก็แล้วกันขอรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image