future perfect  : เวลาหายไปไหน สมรภูมิช่วงชิงเวลาของคุณ

“เวลาผ่านไปเร็วจังเนอะ” เรามักได้ยินคำคำนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะตอนสิ้นปีหรือขึ้นปีใหม่ “เมื่อก่อนไม่รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขนาดนี้เลย” เราอาจได้ยินเขาพูดต่อมา “ไม่รู้เราเอาเวลาไปไว้ที่ไหนหมด ไม่มีเวลาเลย”

ใช่, เวลาเป็นเงินเป็นทอง มันเป็นเงินเป็นทองในความหมายที่ว่า คุณสามารถเอาเวลาในชีวิตไปทำมาหากิน หาสินทรัพย์เพิ่มเติมได้ และเวลาก็ยังเป็นเงินเป็นทองในความหมายที่ว่า ยิ่งธุรกิจใดที่ “ครอบครอง” เวลาของคนอื่นได้มากเท่าไร ธุรกิจนั้นก็มีแนวโน้มที่จะทำรายได้เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมโฆษณา ที่เวลาก็แทบจะหมายความว่า “ความสนใจ”

ไม่นานมานี้ มีรายงานน่าสนใจจาก Bloomberg ชื่อ How Tech Companies Own You Day ที่ลงไปเจาะลึกว่า บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ พยายามช่วงชิงเวลาในแต่ละวันของคุณมากแค่ไหน คุณก็รู้, ตอนนี้ ในแต่ละวัน คุณละสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบไม่ได้ ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทวอทช์ หรือผู้ช่วยอัจฉริยะอย่างเอคโค่ คุณใช้พวกมันแทบจะในทุกกิจกรรมของชีวิต ทั้งทำงาน ทั้งเล่น ทั้งพักผ่อน

เดิมทีเมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนผ่านของสื่อเก่าสื่อใหม่เราอาจถูกจำกัดด้วย “ประเภท” ของมัน เช่น หนังสือ เราก็อาจจะเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านจากหนังสือเล่มไปเป็นดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่สงครามจริงๆ คือการแย่งชิงเวลาของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะมาจากการใช้สื่อต่างประเภทกัน เช่น คนอาจอ่านหนังสือ อ่านข่าวน้อยลง เพราะไปดู Netflix ไปเล่น Playstation, เหมือนที่ Netflix บอกว่าศัตรูทางธุรกิจของ Netflix คือการนอน

Advertisement

รายงานชิ้นนี้ของ Bloomberg ทำให้เราเห็นภาพว่าบริษัทต่างๆ เป็นเจ้าของเวลาของเรามากเท่าไรแล้ว โดยสำรวจการใช้เทคโนโลยีจากชีวิตชาวอเมริกันโดยเฉลี่ย ปกติแล้วชาวอเมริกันจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการพักผ่อนหย่อนใจ และใช้เวลา 3.8 ชั่วโมงในการทำงานในแต่ละวัน เวลาที่เล็กลงไปจากนั้นคือ ใช้เวลาทำงานบ้านหรือดูแลกิจการต่างๆ ในบ้าน 3.12 ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 1.18 ชั่วโมง ใช้เวลากิน 1.06 ชั่วโมง ช้อปปิ้ง 0.47 ชั่วโมง และใช้เวลาไปกับกีฬา 0.35 ชั่วโมง

บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งแอปเปิล กูเกิล อเมซอน เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ และซัมซุง พยายามช่วงชิงแบ่งเค้กเวลาเหล่านี้จากผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ กัน

ตัวอย่างเช่น แอปเปิล, ผลิตภัณฑ์ไอโฟนของแอปเปิลนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อครอบครองเวลาเล่น (5 ชั่วโมง) และเวลาทำงาน (3.8 ชั่วโมง) และยังรวมไปถึงเวลาเดินทาง, กินข้าว (เล่นมือถือตอนกินข้าวนั่นแหละครับ) และช้อปปิ้งด้วย ในขณะที่ไอแพดนั้นจะครอบครองเวลาเล่นและเวลาทำงานเท่านั้น แต่ไม่รวมไปถึงตอนเดินทาง กินข้าวหรือช้อปปิ้งมากเท่า

ในลักษณะเดียวกัน กูเกิลก็มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน แต่ไลน์ผลิตภัณฑ์บางอย่างของกูเกิล เช่น Nest (ตัวปรับอุณหภูมิอัจฉริยะ) หรือ Google Home ก็เกิดมาเพื่อครอบครองเวลาที่ใช้ไปกับกิจกรรมในบ้านโดยเฉพาะ (โดยที่ Apple ยังไม่มีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพื่อครอบครองเวลานี้ตรงๆ นอกจาก HomeKit)

หรืออย่างอเมซอนก็พุ่งเป้าหลักไปที่เวลาพักผ่อน (5 ชั่วโมงต่อวัน) โดยที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการทำงานตรงๆ นัก (มีผลิตภัณฑ์อย่าง Amazon Business หรือ Amazon Webservices) และมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านสองตัวเด่นคือ Amazon Echo และ Dash (ปุ่มสะดวกซื้อที่กดก็จะสั่งของที่หมดจากอเมซอนทันที)

เมื่อเราคิดในกรอบนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าบริษัทต่างๆ อยากได้เวลาตรงไหนจากเรา อย่างไร

แล้วเวลาที่เขาได้จากเราแปลงเป็นเงินได้มากน้อยเท่าไร? รายงานฉบับเดียวกันอ้างว่า Google สามารถทำรายได้จากชาวอเมริกันได้ 152 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ในขณะที่เฟซบุ๊กทำได้ 78 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายได้ที่มาจากการโฆษณา ดังนั้น ยิ่งเราใช้กูเกิล หรือเฟซบุ๊กนานขึ้นเท่าไร โอกาสในการทำรายได้ของพวกเขาก็จะมากขึ้นตาม

สิ่งที่น่าสนใจและน่าจะเป็นสมรภูมิถัดไปของการแย่งชิงช่วงเวลาจากเรา คือการนอนหลับ (8.8 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย) นี่เป็นชิ้นส่วนเวลาที่ใหญ่มาก ที่ยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใดเป็นเจ้าของตลาดอย่างแท้จริง แต่ในตอนนี้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เล็งเห็นตลาดนี้แล้ว อาจเห็นได้จากการที่ Apple ซื้อบริษัท Beddit ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจคุณภาพการนอนหลับราคาชิ้นละ 150 เหรียญ หรือแอพพ์ต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่อย่างเดียวกัน

ครั้งต่อไปที่เราคิดว่า “เวลาหายไปไหน” เราอาจลองคิดต่อด้วยว่า “แล้วเวลาที่หายไป เราเอาไปให้ใคร” หากเราลองวาดตารางเวลาในแต่ละวันของเราออกมา เราอาจเห็นภาพชัดขึ้น และตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าที่เคยเอาเวลาไปให้บริษัทเหล่านั้น (เช่น เล่นเฟซบุ๊กวันละ 7 ชั่วโมง, ผมเอง) นั้นเป็นเรื่องเหมาะสมไหม

และเรามีวิธีที่จะใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่านั้นหรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image