ของขวัญที่เด็กยังไม่ได้ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาภาวะค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง เศรษฐกิจรากหญ้ายังย่ำแย่ วิธีง่ายที่สุดที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้าง ก็คือทำให้มีความหวัง

นอกจากการบอกกล่าวชาวบ้าน เมื่อถึงวาระครบรอบปี ว่าแม่น้ำห้าสายทำอะไรให้บ้างแล้ว ปีใหม่เลยเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะให้ความหวัง ทุกคนจะได้รับของขวัญ

เป็นการสร้างคะแนนนิยมล่วงหน้า ก่อนเวทีเลือกตั้งจะมาถึงหรือไม่ คำตอบอยู่ในใจของแต่ละคน จะมองมุมไหน

ปีนี้ยิ่งพิเศษออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องเป็นราวเรียงรายกระทรวง ให้ของขวัญปีใหม่อะไรบ้าง ทั้งของขวัญชั่วคราว เช่น กระทรวงพลังงาน แจกข้าวสารล้านถุง ถุงละครึ่งกิโลกรัมให้แก่คนเติมน้ำมัน ปตท. กับให้เป็นการถาวร อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเพิ่มเงินสนับสนุนเด็กแรกเกิดจาก 400 บาท เป็น 600 บาท กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ เป็นต้น

Advertisement

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน กระทรวงศึกษาธิการ บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกับทุกโรงเรียน ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ เลือกใช้บริการเครือข่ายของใคร ของรัฐ ของเอกชน ก็ได้ ที่คิดว่ามีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมาอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนบนหรือส่วนกลาง

ของขวัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ ลดการบ้านนักเรียน สนองดำริ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ปรารภว่า ครูให้การบ้านนักเรียนมากเกินไป สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเลยออกหนังสือเวียนกำหนดแนวปฏิบัติเป็นเรื่องเป็นราวก่อนปีใหม่ ให้โรงเรียนและครู 4 ข้อ

สาระโดยสรุปคือ ครูแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้วางแผนการให้การบ้านแบบบูรณาการร่วมกัน การบ้าน 1 ชิ้นสามารถเป็นกิจกรรม เครื่องมือในการวัดประเมินและประเมินผลร่วมกันของหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้

Advertisement

เวลาที่ใช้ทำการบ้านแต่ละวัน ป.1-3 ประมาณ 30 นาทีไม่เกิน 1 ชั่วโมง ป.4-6 ประมาณ 1 ชั่วโมงไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที ม.1-6 ไม่เกิน 2 ชั่วโมง

การบ้านเลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกว่า เป็นตัวส่งเสริมหรือฉุดรั้งคุณภาพการเรียนของเด็ก วงวิชาการทางการศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศ ยังถกเถียงกันไม่จบ

การเรียนการสอนควรจบลงในชั่วโมงเรียน ในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็ตาม ให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต หรือเล่นเพื่อให้ชีวิตความเป็นเด็กยาวนานที่สุด มองมุมนี้การบ้านจะเป็นตัวฉุด ดึงเวลาเด็กไปมากเกิน

ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่ง มองว่าการบ้านเป็นตัวเสริม ทำให้เด็กมีโอกาสทบทวน ทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนมา ใช้เวลาอยู่บ้านให้เกิดประโยชน์ เป็นกลยุทธ์สะพานเชื่อมพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสนใจเอาใจใส่การเรียนของบุตรหลาน โดยมีการบ้านเป็นตัวกลาง จะได้รู้และมีส่วนร่วม ลูกเรียนอะไร ครูสอนอย่างไร ช่วยเด็กคิด ทำให้ชีวิตเป็นระเบียบขึ้น

มองมุมหลังนี้ การบ้านคงไม่ใช่ตัวปัญหา ประเด็นอยู่ที่วิธีการให้การบ้านของครูมากกว่า ให้ซ้ำซ้อน ไม่รับรู้ซึ่งกันและกัน เด็กเลยหลังแอ่น อดหลับอดนอนทำไม่หวาดไม่ไหว

กับปัญหาการจัดการเวลาของเด็กอย่างไรให้เกิดประโยชน์ หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง นอน 8 ชั่วโมง เหลือ 16 ชั่วโมง อยู่โรงเรียน 6 ชั่วโมง ยังเหลืออีก 10 ชั่วโมง เด็กใช้เวลานี้ทำอะไร

ของขวัญเรื่องให้การบ้านแบบบูรณาการนี้จึงต้องรอดูผลในทางปฏิบัติจริง เด็กมีเวลามากขึ้น ผลการเรียนพัฒนาขึ้นหรือไม่

แต่ก็มีของขวัญอีกชิ้นหนึ่งที่เด็กเคยได้มาแล้วแต่ผู้ใหญ่เอากลับคืนไป คือ หนังสือเรียน แจกตามนโยบายที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทีเดียว เรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ประถม มัธยม จนถึงอาชีวศึกษา ถูกตัดไปกว่า 4,000 ล้าน

เหตุเพียงเพราะคนคุมเงินต้องการประหยัดงบประมาณเอาไปทำอย่างอื่น กับการที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมีดำริ ทดลองเปลี่ยนแนวทาง เป็นวิธีให้ยืมเรียน จบชั้นส่งต่อให้รุ่นถัดไปเท่านั้นเอง

ปรากฏว่าเสียงคัดค้านดังระงม เพราะเชื่อว่าแจกฟรีมีผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้ดีกว่า ทำให้เด็กได้ขีดเขียน บันทึกความคิดต่างๆ ลงไปได้สะดวก

การที่สำนักงบประมาณเร่งขานรับนโยบาย ตัดเหี้ยนลงกว่าครึ่ง จึงสะท้อนวิธีคิดและบทบาทยังคงมุ่งประหยัด ตัดทอนรายจ่ายเป็นหลัก ยิ่งกว่าการทัดทาน ถ่วงดุล ให้คำแนะนำแนวทางที่่ควรจะเป็นอย่างเช่นในอดีต

บทบาทประการหลังนี้จึงหดหายไปหรือลดน้อยลง ทั้งๆ ที่มีการแบ่งงานกันแต่ละด้านชัดเจน เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม ความมั่นคง ฯลฯ ก็ตาม

งบประมาณแจกหนังสือเรียนฟรี จึงควรจะเป็นของขวัญกลับคืนให้เด็กโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งถึงอย่างไรก็ยังต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพื้นฐาน แต่หนังสือเพียงแค่มีแสงสว่างจากไฟฟ้า หรือแสงอาทิตย์ หรือเทียนไข เท่านั้น ก็อ่านได้ตลอดเวลา

หนังสือเป็นช่องทางปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านได้ดีที่สุด ลดปัญหาดูแต่หน้าจอ อย่างเอาเป็นเอาตาย ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นยังมีอีกว่า ระหว่างไม่มีหนังสือจะอ่าน กับมีแต่ไม่อ่าน ซึ่งสถานการณ์หลังนี้ เพิ่มมากขึ้นทุกวันจนน่าเป็นห่วง

กับอ่านได้แต่ไม่เข้าใจ เพราะจับประเด็นไม่เป็น ตีความหมายไม่แตก นี่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องหาทางช่วยกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image