การศึกษาไทยภายใต้รัฐบาล คสช. 3 ปี ที่วังเวงและเคว้งคว้าง

การรัฐประหารทุกครั้งมักจะตามมาด้วยคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากการยึดอำนาจนั้น เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศจริงหรือไม่ หรืออย่างที่ตั้งคำถามกันสั้นๆ ว่า ครั้งนี้ *”เสียของ”* หรือไม่
สำหรับการรัฐประหารครั้งล่าสุด เฉพาะด้านการศึกษา คำตอบจากนักการศึกษาหรือสาธารณชน ดูจะออกไปในทางที่เห็นว่า *”เสียของ”* ไม่ว่าจะพิจารณาจากการแก้ไขปัญหา โอกาสที่สูญเสียไป ความก้าวหน้าหรือล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมความใน 3 ปีที่ผ่านมาสำหรับการศึกษาไทยดูจะเป็น 3 ปีที่ยังวังเวงและเคว้งคว้าง

 

ความสำคัญที่ถูกมองข้าม และความต่อเนื่องที่ขาดหาย
การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นการกำหนดอนาคตและความอยู่รอดของประเทศในสภาวะที่โลกมีการแข่งขันสูง กระแสการปฏิรูปการศึกษาจึงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีการเปลี่ยนศตวรรษบ่งชี้ถึงอนาคต นอกจากนั้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ หรือเกิดเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นมา หลายประเทศต่างเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจะต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับการฟื้นตัวและป้องกันวิกฤตครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก เช่น เมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียได้ประกาศการปฏิวัติการศึกษา เพื่อเตรียมประชาชนให้พร้อม หรือในสาระของ “ความฝันของจีน” (จงกั๋วเมิ่ง) ที่เป็นหลักในการพัฒนาจีนเข้าสู่ยุคใหม่ ก็ยกเรื่องการศึกษาขึ้นมาเป็นอันดับแรก รวมทั้งประเทศสหราชอาณาจักรและฟินแลนด์ก็มีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย กระแสการตื่นตัวเรื่องศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนการรัฐประหาร มีการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของการศึกษาไทย เช่นจากการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือ การชี้ประเด็นจาก UNESCO รวมทั้งโดยบุคคลและองค์กรต่างๆ ปัญหาเหล่านั้นผนวกกับกระแสการเปลี่ยนศตวรรษ ถูกนำมาเป็นข้อมูลประกอบการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่แปรเป็นการปฏิบัติที่ปรากฏมาเป็นลำดับ แม้ว่าจะสะดุดลงด้วยข้อจำกัดของอายุของรัฐบาล เช่น โครงการเรียนฟรี 15 ปี และการแก้ปัญหาครู ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ โครงการพัฒนา ICT เพื่อการศึกษา และโครงการปฏิรูปหลักสูตรและตำราเรียนแห่งชาติ ของรัฐบาลเพื่อไทย เป็นต้น

Advertisement

หลังการรัฐประหารในปี 2557 ท่าทีของประเทศในตอนแรก ดูเหมือนจะให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา ดังปรากฏในคำแถลงต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลในเวลาต่อมาว่าจะให้การศึกษาเป็นวาระหลักของการปฏิรูปในรอบใหม่นี้ แต่พอเวลาเริ่มเดินหน้า ผู้คนที่เฝ้ารอดูภาคการศึกษากลับพบแต่ความผิดหวังและความน่าเป็นห่วง อันเนื่องมาจากก้าวที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นหลายประการ

เริ่มจากภาพใหญ่ของการจัดการ ถึงวันนี้เราก็ได้พบว่าในเวลา 3 ปี กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการศธ. ถึง 3 คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.อีก 5 คน มากกว่ารัฐบาลโดยพรรคการเมืองต่างๆ ในยุคเลือกตั้งด้วยซ้ำ ซึ่งในยุคเลือกตั้งการกระทำเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นการสมนาคุณทางการเมืองหรือซื้อขายตำแหน่ง ครั้นพอมาเป็นกรณีรัฐบาลอำนาจเต็ม ก็ต้องคิดในใจเอาเองว่า เป็นการสมนาคุณทางการทหารหรือเป็นเพราะว่าเลือกคนทำงานที่ไม่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัว หรือทั้งสองอย่างผสมกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่านายกรัฐมนตรีผู้จัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี หาได้ตระหนักถึงปัญหาและความล้าหลังของการศึกษาของประเทศ ทั้งยังมองไม่เห็นความเร่งด่วนและความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา มองไม่ออกว่าความอ่อนแอด้านการศึกษาหมายถึงอนาคตอันมืดมนของชาติ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรมืออาชีพเข้ามาเพื่อเข้ามาดูแลงานอันสำคัญนี้

รัฐมนตรีว่าการศธ.ทั้ง 3 คนต่างไม่มีผลงานในการแก้ปัญหาที่เห็นได้เด่นชัด และยังมีการทิ้งปัญหาเพิ่มเติมไว้ซึ่งจะเป็นภาระต่อไปในภายหน้า เริ่มจากท่านแรกที่ตั้งคณะกรรมการหลายชุดที่ซ้ำซ้อนและไม่มีประโยชน์เนื่องจากแต่ละชุดไม่ได้เสนอนโยบายและแนวทางใหม่ใดๆ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือแนวทางในการพัฒนาบางอย่างที่ดำเนินอยู่ในรัฐบาลที่ผ่านมากลับสะดุดหยุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดำเนินการค้างอยู่ ที่ทั้ง TDRI และนักวิชาการหลายชุดระบุว่าเป็นวิกฤตที่จะต้องแก้อย่างเร่งด่วน
มาถึงรัฐมนตรีท่านที่ 2 ได้ทิ้งผลงานชิ้นโบแดงไว้อย่างน้อย 2 ชิ้น ได้แก่ คำสั่งลดเวลาเรียน และการทลายระบบบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาคโดยการรื้อฟื้นระบบศึกษาธิการจังหวัดกลับคืนมา ซึ่งทั้งสองเรื่องยังสร้างความปั่นป่วนมาจนขณะนี้

รัฐมนตรีคนที่ 3 เข้าสู่ตำแหน่งด้วยคำถามของสื่อมวลชนเรื่องความเชื่อด้านลัทธิจิตวิญญาณ และท่ามกลางความวิตกของนักการศึกษาที่กังวลว่าท่านจะทำให้การศึกษาไทยหันไปยึดแนวทางของการศึกษาทางเลือกของโรงเรียนที่ท่านเป็นผู้จัดตั้งขึ้นโดยเงินสนับสนุนจาก ภควัน ศรี สัตยา ไสบาบา ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ลือลั่นสนั่นโลกด้วยข้อสงสัยเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีแนวปฏิบัติในการฝึกจิตและการรับอำนาจเร้นลับเช่นพลังจากปิรามิด รัฐมนตรีผู้นี้ยังเปลี่ยนหลักการแจกหนังสือเรียนของรัฐบาลประชาธิปัตย์มาเป็นการให้ยืมใช้เรียนทำให้นักเรียนจะไม่มีตำราเป็นกรรมสิทธิ์เพื่อใช้อ้างอิงในการเรียนขั้นต่อไป และสุดท้ายด้วยวาทะที่ดูจะทำให้คนไทยทั้งหลายสิ้นหวังที่ท่านลั่นว่าการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางของท่านนั้นจะต้องรออีกไม่ต่ำกว่า 35 ปี เป็นผลดังที่บอกต่อคนไทยในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดว่าแม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็เห็นชอบกับสูตร 35 ปีของท่าน

จุดเด่นหนึ่งตั้งแต่เริ่มมีรัฐบาลนี้มา คือการเพียรตั้งคณะกรรมการต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไล่เริ่มมาจากคณะกรรมการในสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาปฏิรูปประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งที่เรียกหรูว่าซูปเปอร์บอร์ดฯ คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการประชารัฐ ฯลฯ ซึ่งคณะเหล่านี้ต่างออกมาทำงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยบ้าง ทำๆ หยุดๆ ไม่มีความต่อเนื่องบ้าง และในที่สุดก็ค่อยๆ หายไป ทิ้งความสับสนจากแนวทางอันหลากหลายที่แต่ละชุดเสนอโดยปราศจากบูรณาการทางความคิด และคำตอบที่ลงเอยว่าการปฏิรูปหลักนั้นให้รอคณะกรรมการที่จะมีการแต่งตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จนมาล่าสุดจึงเกิดคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังทำงานในลักษณะของการมุ่งจับประเด็นในเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องๆ ยังไม่ได้มีการแตะโครงสร้างใหญ่เพื่อกำหนดภาพรวมที่จะเป็นพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูปแต่อย่างใด

ข้อกังขาก็คือ สถานการณ์ของการศึกษาไทยมีความยุ่งยากผูกเงื่อนปมจนไม่อาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการปกติ จนต้องการอำนาจพิเศษเข้ามาช่วย แต่ในช่วงเวลา 4 ปีที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มนั้น เหตุใดจึงไม่ให้มีการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ทำไมจึงต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้เสียก่อนซึ่งในที่สุดจะกลับสู่โหมดของการเมืองที่ทำให้การแก้ไขกลับมายากยิ่งขึ้น

 

ก้าวที่ผิดพลาด (บางเรื่อง)
การลดเวลาเรียน
“การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” เป็นนโยบายให้โรงเรียนปรับลดชั่วโมงในชั้นเรียนลงโดยให้เลิกเรียนในเวลา 14.00 น. เพื่อให้เด็กนักเรียนผ่อนคลายไม่เคร่งเครียดกับการเรียนมากเกินไป หลักการลดเวลาเรียนเป็นดำริที่ถูกต้อง เพราะเด็กไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนตามหลักสูตรมากถึงปีละ 1,000-1,200 ชั่วโมง เทียบกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในประเทศที่การศึกษามีคุณภาพทั้งหลายจะใช้เพียง 500-600 ชั่วโมง เวลามากมายนี้ใช้ไปกับการเรียนที่เน้นการท่องจำ ไม่เน้นการใช้ความคิดทั้งในการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาต่างๆ เด็กไทยจึงคิดไม่เป็น นับเป็นความอ่อนด้อยเมื่อเทียบกับเยาวชนในประเทศอื่น เรื่องนี้ได้มีการหยิบยกขึ้นมาตลอดเวลาก่อนการยึดอำนาจ แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่บุ่มบ่ามลงไปสั่งให้มีการลดเวลาเรียนลงอย่างปุบปับ แต่มีความเห็นว่าจะต้องทำอย่างเป็นระบบ จึงได้เริ่มกระบวนการปฏิรูปหลักสูตร โดยร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เน้นการบูรณาการและปรับองค์ความรู้ให้ทันสมัย หลักสูตรใหม่ที่ร่างเสร็จแล้วกำหนดเวลาในห้องเรียนชั้นประถมศึกษาไว้เพียง 660 ชั่วโมง เวลาในโรงเรียนได้ถูกออกแบบใหม่หมด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในห้องเรียนกับนอกห้องเรียน โดยเวลานอกห้องเรียนได้ถูกกำหนดให้จัดกิจกรรมอื่นที่เสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหาในห้องเรียน ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมภาคสนาม การศึกษาจากสถานที่และสถานการณ์จริง และที่สำคัญที่สุดได้กำหนดให้นักเรียนต้องทำโครงการซึ่งจะเป็นกระบวนการที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ การค้นหาและแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม

เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลหลังการยึดอำนาจไม่ได้นำหลักสูตรนี้มาประกาศใช้ หากแต่จู่ๆ ก็มีการสั่งลดฮวบของเวลาในชั้นเรียน พลันที่มีคำสั่ง ความเครียดและระส่ำระสายก็เกิดทั้งระบบการศึกษา เนื่องจากหลักสูตรยังเป็นหลักสูตรเดิม มีเนื้อหาสาระซึ่งสัมพันธ์กับเวลาที่ต้องใช้ถึงเกินพันชั่วโมง ครูจำนวนมากถึงกับมีอาการที่ไปไม่เป็น สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจึงมีต่างๆ นานา ตั้งแต่ครูประเภทที่หยุดสอนโดยจะจบหรือไม่จบตามเนื้อหาก็ไม่สนใจเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ไปอีกข้างหนึ่งก็จะพบครูที่จำเป็นต้องเลี่ยงไปนัดเด็กสอนเพิ่มเติมนอกเวลาเพราะทำใจไม่ได้ที่สอนเด็กยังไม่จบ ส่วนเวลานอกห้องเรียนหลัง 14.00 น. นั้น เมื่อไม่ได้กำหนดว่าเป็นส่วนของหลักสูตรก็จึงเกิดความหลากหลายของกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องหรือเสริมเพิ่มเติมจากในห้องเรียนเลย

ห้องเรียนที่สับสนอันเนื่องมาจากการลดเวลาเรียนแบบดุ่ยๆ นี้ แม้ขณะนี้ก็ยังเป็นอยู่ทั่วประเทศ

 

การเกิดใหม่ของศึกษาธิการจังหวัด
อยู่มาวันหนึ่งมีฟ้าฝ่าเปรี้ยงลงมาในระบบการศึกษาของไทย โดยการใช้อำนาจพิเศษรื้อระบบบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาค ให้ยุบอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จัดให้มีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่ในการบริหารบุคคล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และนำตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและภาคกลับมา ระบุว่าเพื่อต้องการแก้ปัญหาการทุจริตในการสอบบรรจุครู และเพื่อบูรณาการงานตามแนวคิดแบบ Single command ลดสายการบังคับบัญชาให้สั้นลง รวมทั้งสร้างเอกภาพและความคล่องตัวในการบริหาร

10 เดือนผ่านไป พบโดยทั่วไปว่าปัญหาที่ว่าต้องการจะแก้นั้นกลับยังแก้ไม่ได้ ทั้งยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตามมา ประดังกันมาจากหลายมิติ ระบบ single command ที่หวังให้เกิดไม่มีความชัดเจน โครงสร้างเดิมคือเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังมีอำนาจหน้าที่อยู่ ทับซ้อนกับอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด กศจ.ซึ่งทำหน้าที่บริหารบุคคลแทน อ.ก.ค.ศ. มีองค์ประกอบและโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจน และดูจะเป็นแค่การเปลี่ยนจากระบบอุปถัมภ์เก่ามาเป็นชุดใหม่เท่านั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะต้องรู้เรื่องและมีบทบาทในการบริหารการศึกษาด้วย มีปัญหาในเรื่องภาระหน้าที่อื่นที่มีมากมายอยู่แล้ว และความรู้ที่ไม่เพียงพอสำหรับการบริหารการศึกษา

 

การกระจายอำนาจที่ยังไม่เดินหน้า
ระบบการศึกษาที่ดีต้องมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีหน้าที่ในการตัดสินใจและการบริหาร ที่ผ่านมาเรามองไม่เห็นการพัฒนาระบบไปในทิศทางดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม ศธ.กลับมีขนาดใหญ่ขึ้น คงสถานภาพศูนย์กลางของอำจาจอยู่เช่นเดิม การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารส่วนภูมิภาคเช่นที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงการเปลี่ยนฐานอำนาจจากหน่วยงานเดิมมาเป็นระบบที่เกิดใหม่

การกระจายอำนาจที่แท้จริงจะต้องลงไปสู่ระดับโรงเรียนที่ต้องเป็นอิสระ สามารถจัดบริบทของพัฒนาการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสถานศึกษา ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) โดยการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA พบว่าความเป็นอิสระของสถานศึกษาส่งผลโดยตรงถึงผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มขึ้น นักวิชาการศึกษาไทยก็ได้เรียกร้องเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับหลักการโรงเรียนนิติบุคคล ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาศธ. ยังคงจองจำโรงเรียนเอาไว้โดยไม่เคยแสดงความจริงใจในการที่จะกระจายอำนาจ โดยตั้งข้อแม้มาตลอดว่าโรงเรียนไทยยังไม่มีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อเสนอรูปแบบของโรงเรียนนิติบุคคลใหม่ที่ดูจะต่างไปจากหลักการเดิม นั่นคือ การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนและดูแลโรงเรียนต่างๆ แนวคิดดังกล่าวแม้จะมีข้อดี แต่ก็ดูเป็นการเลี่ยงไปจากหลักการของโรงเรียนนิติบุคคลเดิม ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขความเกี่ยวข้องของภาคเอกชน

 

กระทรวงอุดมศึกษาที่จะไม่แก้ปัญหาของอุดมศึกษาไทย
10 ปีผ่านไปหลังจากที่มีการยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยมาไว้กับ ศธ. ทางฝ่ายอุดมศึกษาพบว่าการยุบรวมดังกล่าวไม่ได้เป็นประโยชน์ ซ้ำยังกลับทำให้อุดมศึกษาเดินถอยหลัง จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อแยกเอาอุดมศึกษาออกมาตั้งเป็นกระทรวงใหม่ โดยต่อมารัฐบาลได้รับลูกว่าจะให้ กระทรวงอุดมศึกษา เกิดในรัฐบาลนี้ ถึงกับลงทุนจัดให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.คนหนึ่งเข้ามาขับเคลื่อน

ถ้ามองไปในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องการวิจัยซึ่งมีระบบการบริหารงานที่ไม่เป็นเอกภาพและด้อยประสิทธิภาพ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่หลักด้านการวิจัยกลับอ่อนด้อยทั้งจำนวนผลงานวิจัยและคุณภาพ

นอกจากนั้น ประเทศยังประสบปัญหากำลังคนด้านฝีมือแรงงานระดับอาชีวศึกษาซึ่งตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของผู้สำเร็จการศึกษา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ ผู้เข้าเรียนอาชีวศึกษายังมีน้อยกว่าร้อยละ 30 ปัญหาเรื่องความนิยมและการแย่งนักศึกษากันระหว่างการศึกษาสองระบบเป็นมานานและยังจะเป็นอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ยังไม่มีระบบจัดการที่ดีกว่าเข้ามาดูแล

อุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่ต่อยอดจาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะคนเข้าสู่วิชาชีพและแรงงานภาคต่างๆ หมายความว่าการศึกษาทั้งสองระบบนั้น แท้ที่จริงแล้วมีบทบาทหน้าที่เดียวกัน แต่หากนำมาแยกกันจัดการอย่างที่เป็นอยู่ ประเทศก็จะประสบปัญหาเช่นนี้เรื่อยไป ซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ได้

ดังนั้น การผลักดันให้เกิดกระทรวงอุดมศึกษาเช่นที่ดำเนินการอยู่โดยการวางหลักการเพียงแยกระบบการดูแลมหาวิทยาลัยออกมาเป็นเอกเทศนั้น จะไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศได้ หากกฎหมายว่าด้วยกระทรวงใหม่ไม่ได้นำเรื่องการวิจัยเข้ามาดูแลด้วย การวิจัยของประเทศก็จะอ่อนแอต่อไป และหากยังมีการแยกบริหารอาชีวศึกษากับอุดมศึกษาอยู่เช่นนี้ การพัฒนากำลังคนในภาพรวมของประเทศก็จะไม่มีวันประสบผลสำเร็จ หรือแม้แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยเล็กกับมหาวิทยาลัยใหญ่ รัฐกับเอกชน ก็จะไม่ได้แก้ไข

ดังนั้น กระทรวงอุดมศึกษาที่จะตอบโจทย์สำหรับประเทศ จำเป็นที่จะต้องรวมเอาการวิจัยและการอาชีวศึกษาเข้ามาบริหารภายใต้กระทรวงเดียวกัน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น กระทรวงใหม่ของ สหราชอาณาจักรที่เดิมเคยเรียกว่า Department of Innovation, University and Skills ซึ่งดูแลทั้งมหาวิทยาลัย อาชีวศึกษา และนวัตกรรมซึ่งได้แก่การวิจัย และในปัจจุบันได้มีการปรับโครงสร้างขึ้นไปอีกระดับหนึ่งโดยการไปรวมเป็นกระทรวงเดียวกันกับกระทรวงการค้า เป็น Department of Business, Innovation and Skills

ไม่เช่นนั้น การตั้งกระทรวงใหม่ในครั้งนี้จะไม่ตอบโจทย์ใดๆ เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image