10 กม.ลูกเดินหน้าเต็มตัว สู่ ‘เลือกตั้ง’ บนความคลุมเครือ

Constitution Draft Commission (CDC) chairman Meechai Ruchupan holds up Thailand's proposed new constitution at Parliament House in Bangkok on March 29, 2016. The Junta-appointed panel unveiled its latest draft constitution, intended to cut through Thailand's decade-long political crisis despite widespread criticism that it is divisive and undemocratic. / AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA

“รู้สึกโล่งอก กรธ.กังวลเหมือนกันว่า จะทำไม่ทันกรอบเวลา 240 วัน ดูเหมือนยาว แต่ต้องทำกฎหมายลูก 10 ฉบับแล้วมันสั้น ตกไม่ถึง 1 เดือนต่อหนึ่งฉบับ”

เป็นความรู้สึกของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อถูกถามหลังส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือ “กฎหมายลูก” 2 ฉบับสุดท้ายจากทั้งหมด 10 ฉบับถึงมือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อย

เป็น 10 ฉบับที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 276 บังคับ กรธ.ไว้เลยว่า จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในกรอบ 240 วัน หรือ 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

ขณะที่มาตรา 268 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังได้วางอีก 1 เงื่อนไขสำคัญ

Advertisement

เงื่อนไขของการก้าวเดินไปสู่ “โรดแมปการเลือกตั้ง” ที่จะเริ่มต้นนับ 1 ได้ ต่อเมื่อ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้

นั่นคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. … พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. …

ดังนั้น หาก พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว จากทั้งหมด 10 ฉบับ ผ่านการพิจารณาจาก สนช. และมีผลบังคับใช้ก่อนครบกำหนดเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

Advertisement

เท่ากับว่า การนับ 1 สู่การเลือกตั้งสามารถออกสตาร์ตได้เร็วกว่ากรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

แต่แล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

เพราะ กรธ.โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังได้วางอีก 1 เงื่อนไข อันเป็นแนวทางในการพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ด้วยการแบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 ขยัก ขยักแรก กรธ.จะส่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กับ พ.ร.ป.กกต. เป็น 2 ฉบับแรกให้ สนช.ได้พิจารณาก่อน

และเมื่อพ.ร.ป. 2 ฉบับแรกมีผลบังคับใช้ กรธ.จะส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.อีก 2 ฉบับที่เหลือตามไปเป็นขยักที่สอง

เหตุที่ต้องวางโปรแกรมไว้เช่นนี้ นายมีชัยอ้างว่า พรรคการเมืองจำเป็นต้องเตรียมตัวในการปรับปรุงระบบภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ทั้งข้อบังคับ สมาชิก และการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคการเมือง

ขณะที่ กกต.ก็เช่นเดียวกัน เพราะจะต้องมีการสรรหากกต.ใหม่อีก 2 คนให้ครบ 7 คนตามที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด ขณะที่ 5 กกต.ที่มีอยู่เดิมบางคนต้องโดน “รีเซต” เพราะคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม

จากขยักแรกสู่ขยักที่สอง นายมีชัย จึงวาง “เงื่อนเวลา” ขั้นกลางไว้ที่ 180 วัน บังคับไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อให้พรรคดำเนินการปรับปรุงระบบภายใน รวมไปถึงการสรรหา กกต.ด้วย โดยที่ระหว่างนั้น กรธ.จะทำ พ.ร.ป.ที่เหลืออีก 6 ฉบับทยอยส่งให้ สนช.ทุกเดือน เดือนละ 1 ฉบับ

เป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 1 ฉบับ และที่เหลืออีก 5 ฉบับล้วนเป็น พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับ “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ที่ กรธ.วางไว้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายอยากให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ขณะที่ กระบวนการพิจารณากฎหมายลูกกว่าจะผ่านได้แต่ละฉบับ เรียกได้ว่าทุลักทุเล พอสมควร

แม้ สนช.จะถูกกำหนดกรอบเวลาพิจารณาแต่ละฉบับภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับร่าง พ.ร.ป.มาจาก กรธ. แต่ด้วยเหตุผลอันเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอีกเช่นกันที่ยังได้ให้สิทธิ กรธ.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ฉบับนั้นๆ “โต้แย้ง” ด้วยการขอตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาอีกรอบได้ หากเห็นว่าเนื้อหาที่ผ่านวาระสามจาก สนช. มีประเด็นอาจขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก่อนนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช.ลงมติอีกครั้ง

แน่นอน พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งขยักแรกตามที่นายมีชัยวางไว้ก็ได้ผ่านขั้นตอนดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ

โดยเฉพาะ พ.ร.ป.กกต.ที่ สนช.ปรับแก้ปม “สถานะ” ของ กกต.ชุดปัจจุบัน จากรีเซตเฉพาะคนที่คุณสมบัติไม่ครบหรือมีลักษณะต้องห้าม มาเป็น “เซตซีโร่” โละยกชุด เนื่องจากไปนำเรื่อง “สเปกเทพ” มาเป็นเหตุ ซึ่ง กรธ.ก็เห็นดีเห็นงามกับ สนช.ด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยืนยันว่า ขอแค่ “รีเซต”

เมื่อสนช.ลงมติยืนยันจะเซตซีโร่ กกต.ยกชุดอีกครั้ง หลังผ่านกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ที่โดนพิษสเปกเทพไปด้วย ยังยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความต่ออีกด่าน ซึ่งมีผลทำให้กฎหมายถูกชะลอการบังคับใช้ออกไปอีก

กว่า พ.ร.ป.กกต.จะมีผลบังคับใช้ได้เป็นฉบับแรก จึงกินเวลารวมทุกขั้นตอนถึง 149 วัน

กล่าวสำหรับ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ แน่นอนว่าสถานะของกรรมการในแต่ละองค์กรล้วนเป็นประเด็นร้อน เพราะหลังจากที่ กกต.ถูกเซตซีโร่ยกชุดตามที่ สนช.เสนอแล้ว กรธ.ที่เคยยืนยันว่า จะรีเซตเฉพาะคนที่คุณสมบัติไม่ครบหรือมีลักษณะต้องห้าม กลับมาเสนอให้เซตซีโร่กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม.

ด้วยการอ้าง “หลักการปารีส” โดยเฉพาะเรื่ององค์ประกอบของการสรรหา กสม.ที่ยังไม่มีความหลายหลาก มาเป็นต้นเหตุให้ต้องมีการสรรหา กสม.ชุดใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการปารีสเพื่อทวงคืนเกรดเอหลัง กสม.ไทยถูกลดอันดับจากต่างประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ สนช.ปล่อยให้ 2 ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ต่อ กรธ.ที่เคยยืนยันการรีเซตกลับไม่โต้แย้ง ขณะที่วิปสนช.ยังล่ารายชื่อคนโหวตงดออกเสียง คนขาด คนลาประชุมในวันที่พิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจฯได้ 36 สนช. เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้รับรองว่า การที่ สนช.ปล่อยให้ผู้ตรวจฯอยู่ต่อชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างที่ทราบโดยทั่วกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ชอบ การจะให้อยู่ต่อไปเพียงไรเป็นดุลพินิจของ สนช.ในฐานะผู้ออกกฎหมาย และแน่นอนว่า ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว ยังกลายเป็นเหตุผลสำคัญต่อการพิจารณาสถานะของกรรมการในองค์กรอิสระที่เหลืออยู่อีก 2 องค์กร

นั่นคือ กรรมการ ป.ป.ช. หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้วินิจฉัยในกรณีผู้ตรวจฯก็ได้รับประโยชน์จากผลที่ตนเองได้วางแนวทางเอาไว้

ท่ามกลางคำถามที่สังคมสงสัยใน บรรทัดฐาน ต่อการพิจารณากฎหมายของ สนช. ขณะที่เสียงเจื้อยแจ้วที่มีต่อคำมั่นของผู้นำในเรื่องโรดแมปเลือกตั้งก็ค่อยๆดังขึ้นเช่นกัน

“เราจะทำตามสัญญาขอเวลาไม่นาน”

เพราะ แม้ว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 แต่การที่ คสช.ยังคงคำสั่งที่ว่าด้วย “การไม่ปลดล็อก” ให้พรรคทำกิจกรรม หรือประชุมใหญ่กรรมการบริหารพรรค จึงทำให้เงื่อนไขการปรับปรุงระบบภายในที่พรรคต้องทำระหว่างรอ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับที่ กรธ.วางไว้กลายเป็นปัญหา

เพราะ แม้ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.กับการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. … จะไปถึงมือ สนช.อันเป็นขยักที่สองตามที่ กรธ.วางไว้ ก่อนวันครบกำหนด 240 วันเพียง 2-3 วัน แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงระบบภายในอันเป็นขั้นตอนธุรการต่างๆ ได้อยู่ดี

เหตุนี้เองจึงเกิดเสียงทักท้วงจากพรรคการเมือง เรียกได้ว่า ดาหน้ามากันทุกพรรค ตั้งแต่ใหญ่ยันพรรคเล็ก จนเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องนานหลายเดือน

ร้อนขนาดที่บรรดาบิ๊กๆ คสช.ออกอาการเมื่อถูกถาม

แม้จะอ้างเหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อย แต่เวลาที่บังคับให้พรรคต้องดำเนินการตามที่กฎหมายลูกกำหนดยังเดินต่อ หากทำไม่ทันตามเวลาก็จะมีผลต่อการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองด้วย

ยิ่งเหลือเวลาน้อยเท่าไหร่ ปมปลดล็อกพรรคการเมืองก็ยิ่งเป็นประเด็นจนไอเดียแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่เพิ่งบังคับใช้ก็หลุดออกมาจากนายมีชัยเป็นคนแรก

ไม่นานก็มีความเคลื่อนไหวที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกว่า เป็น “ทฤษฎีสมคบคิด”

เพราะเป็นการคบคิดที่จ้องเซตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม และยังเป็นการคบคิดที่จ้องทำให้โรดแมปเลือกตั้ง พฤศจิกายน 2561 ไม่เป็นไปตามที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สัญญาเอาไว้ด้วย

โดยเฉพาะการ “รับไม้เขี่ยลูก” กันของคนสองสามกลุ่มที่เคยร่วมกันออกมาชูธงต้านโกงปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป่านกหวีดล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

เริ่มตั้งแต่ “ลุงกำนันคนดัง” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.ที่มายื่นหนังสือถึงประธาน สนช.ก่อนที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.กลุ่ม 40 ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป จะมายื่นหนังสือ 3 ข้อสมทบพร้อมวิธีการแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยที่ นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. อดีต ส.ว.กลุ่ม 40 อีกคนออกมารับลูกชงข้อเสนอของทั้ง 2 เข้า กมธ.ศึกษา

อีกทั้ง การเคลื่อนไหวคบคิดดังกล่าว ยังถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับกระแสข่าว “พรรคทหาร” ที่กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกรอบ ท่ามกลางการพบปะระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับบรรดามุ้งการเมืองต่างๆอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ออกรอบตีกอล์ฟกับคนใน “ตระกูลสะสมทรัพย์” นักการเมืองที่ครองพื้นที่จ.นครปฐมมาอย่างยาวนาน

กระทั่งรัฐบาลตัดสินใจออกคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 มาเพื่อจะคลายล็อกปม “เงื่อนเวลา” ให้แก่พรรคการเมือง ที่บรรดานักการเมืองต่างออกมาแสดงปฏิกิริยากันอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคชาติไทยพัฒนา โดยยืนยันเหมือนๆกันว่า เป็นเนื้อหาที่มีเป้าหมายที่จะมุ่งเซตซีโร่สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม

แน่นอนว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นประเด็นร้อนรับปีใหม่ด้วย

เพราะ สองพรรคใหญ่ยืนยันจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 53/2560 มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่ การพิจารณา พ.ร.ป.ที่ขณะนี้ 10 ฉบับสามารถบังคับใช้อย่างเป็นทางการไปแล้ว 5 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 3.พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 4.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 และ 5.พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560

แม้ว่า อีก 5 ฉบับที่เหลือจะผ่านในชั้น สนช.ไปแล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … 2.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. … และ 3.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. … ซึ่งอยู่ในกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่อีก 2 ฉบับที่เหลือก็ถือได้ว่า จะเป็นประเด็นร้อนตลอดปีใหม่ 2561 เช่นเดียวกัน ทั้งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

เพราะนอกจากจะมีเนื้อหาร้อนๆ อย่าง วิธีการเลือกไขว้ ส.ว.20 กลุ่มอาชีพ หรือ การแยกเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.รายเขตที่ต้องติดตามแล้ว

ยังจะมีผลต่อ “โรดแมปสู่การเลือกตั้ง” ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อีกด้วย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image