สพฐ.ผุด 73 ร.ร. 3 จังหวัดใต้เป็น “ร.ร.ประจำพักนอน” เปิดรับสมัครป.1-ม.6  ถึง 31 ม.ค.นี้ เน้นเด็กครอบครัวรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นต่อปี  

เมื่อวันที่ 3 มกราคม  นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการ “โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ โรงเรียนประจำพักนอน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) โดยได้คัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1 แห่ง ระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง รวม 73 แห่งใน 37 อำเภอ ซึ่งจะรับเด็กทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่1-ม.6 เริ่มรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้  -31 มกราคมนี้  อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังมีวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัดเข้าร่วม 4 แห่งด้วย

“เนื่องจากวันนี้เป็นการรับสมัครวันแรก ได้ทำความเข้าใจต่อผอ.สพท.ทั้ง 13 เขตพื้นที่ฯ เพื่อให้ดำเนินการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งกำกับดูแลพื้นที่ในภาคใต้ก็ได้เน้นย้ำให้ดูแลให้เด็กในพื้นที่ที่ขาดโอกาส ได้รับโอกาสทั้งการดูแลชีวิตและการศึกษา โดยไม่ได้สนใจเรื่องของผลการเรียน แต่เน้นให้เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนด และไม่ได้จำกัดจำนวนการรับ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้นก็พบว่าขณะนี้มีนักเรียนที่สนใจอยากมาสมัครเข้าร่วมแล้วประมาณ 3,000 คน อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ผอ.สพท.ทุกแห่งเร่งดำเนินการติดตั้งป้ายในจุดที่เห็นชัดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และตั้งคณะทำงาน 1 ชุดในการประสานงานและติดตาม รวมถึงรายงานผลการปฏิบัติงานให้สพฐ.ทราบในช่วงเย็นของทุกวันด้วย สำหรับโรงเรียนทั้ง 73 แห่งก็ขอให้ติดป้ายหน้าโรงเรียนซึ่งจะมีข้อความ “สมัครเป็นนักเรียนประจำพักนอนที่โรงเรียนนี้” ให้เห็นเด่นชัด และขอให้เอาใจใส่ให้บริการแก่ผู้ปกครอง นักเรียนที่เข้ามาสอบถาม ซึ่งการสมัครเข้าเรียนนั้นผู้ปกครองและเด็กสามารถสมัครได้ทั้ง 73 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนกรณีเด็กมาสมัครเข้าเรียนระหว่างช่วงชั้น ขอความร่วมมือโรงเรียนต้นสังกัดดำเนินการออกเอกสารต่างๆให้เรียบร้อย หลังสิ้นสุดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 นี้เพื่อที่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ในเดือนพฤษภาคมเด็กก็สามารถเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนประจำพักนอนได้ทันที”นายบุญรักษ์ กล่าว

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้ดำเนินการสำหรับดูแลนักเรียนพักนอนนั้น ระดับประถม ประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อปี ม.ต้น ประมาณ 20,000 บาทต่อคนต่อปี และม.ปลาย 30,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่ง สพฐ.ก็จะดูแลเพื่อจัดสรรลงไปให้ แต่ในระยะสั้นการดำเนินงานบางเรื่อง สพท.สามารถใช้งบทดลองจ่ายดำเนินการไปก่อนได้ จากนั้นเดือนมีนาคม 2561 เมื่อการพิจารณาคัดเลือกเด็กเรียบร้อยแล้วนั้น ถ้าพบว่าโรงเรียนแห่งใดมีแนวโน้มจะมีนักเรียนจำนวนมาก จำเป็นต้องสร้างอาคารหอพักเพิ่มก็จะดำเนินการตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2562 ต่อไป อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของเด็กที่จะเข้าร่วมโครงการต้องครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ,นักเรียนถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะ,นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุความไม่สงบแต่ในกรณีที่ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำในพื้นที่เห็นว่าเด็กคนใดมีลักษณะขาดโอกาส สามารถให้ข้อเสนอแนะและแจ้งมายังโรงเรียนที่ร่วมโครงการพิจารณารับเด็กคนดังกล่าวได้ โดยเด็กกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลทั้งเรื่องของที่พักนอน ความปลอดภัย อาหารครบ 3 มื้อ อุปกรณ์ที่ใช้พัก-ใช้ประกอบอาหาร ตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆตามความจำเป็นพื้นฐานของวัยเรียน ขณะเดียวกัน โรงเรียนจะจัดครูคอยดูแลสอนทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และส่งเสริมให้ฝึกอาชีพตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image