เผยดัชนีความเชื่อมั่น ปชช.14จว.ใต้ ต้องการรัฐบาลช่วยด่วน”ค่าครองชีพ-หนี้สินครัวเรือน-ราคาสินค้าการเกษตร”

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ ในเดือนธันวาคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ 420 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และรายได้จากการท่องเที่ยว

ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาฯ และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เนื่องมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น จากการจัดเลี้ยงฉลองปีใหม่ของหน่วยงานภาครัฐ บริษัทห้างร้านและการท่องเที่ยวและเดินทางพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดปีใหม่

“รายได้จากการทำงาน มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากรายได้จากภาคเกษตรลดลงราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งรัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชนแก้ไขปัญหา โดยออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อ ให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อกิโลกรัม ที่จะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2561”

ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.80 และ 34.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.70 และ 49.10

Advertisement

“ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือค่าครองชีพร้อยละ 32.40 หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้าร้อยละ 28.20 และ 15.40 ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนมองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมาหนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า” ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image