งบซื้ออาวุธปี’60 ตอบโจทย์ “กองทัพ-ประชาชน”?

นับตั้งแต่ “รัฐบาลทหาร” ภายใต้ร่มเงา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ งบประมาณเหล่าทัพเพิ่มขึ้นอย่างอู้ฟู่ จะเห็นได้ว่าปี’ 60 ที่ผ่านมา มีการช้อปปิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทั้งกองทัพบกกองทัพเรือ กองทัพอากาศ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บอย่างมากมาย 

เริ่มที่ “กองทัพบก” ได้ “รถถัง-แบล๊กฮอว์ก” โดยเป็นการจัดซื้อรถถัง VT-4 จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะที่ 2 ปี’60 ที่มี “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดซื้อจำนวน 10 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท ในวันที่ 4 เมษายน 2560 หลังจากจัดซื้อในระยะแรกจำนวน 28 คัน วงเงิน 4,985 ล้านบาท ในสมัย “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็น ผบ.ทบ. ยังคาดการณ์ว่าจะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 11 คันให้ครบ 1 กองพัน (49 คัน) จะใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 13 มิถุนายน ครม.ยังไฟเขียว โครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยางรุ่น VN-1 จากประเทศจีน อีก 34 คันมูลค่า 2,300 ล้านบาท เพื่อนำยานเกราะไปบรรจุไว้ที่กองทัพภาคที่ 3 ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ

จากนั้นเขยิบมาที่อภิมหาโปรเจ็กต์ “เรือดำน้ำ” นับเป็นของขวัญก้อนโตของเหล่าราชนาวีไทย “กองทัพเรือ” 

Advertisement

วันที่ 18 เมษายน รัฐบาลอนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S26T จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 7 ปี และมีความต้องการอีก 2 ลำ เพื่อให้ครบตามยุทธศาสตร์การรบ

ปิดท้ายที่ “ทัพฟ้า” ได้เครื่องบินไอพ่น วันที่ 11 กรกฎาคม โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงรุ่น T-50TH จากประเทศเกาหลีใต้ โครงการนี้เป็นการซื้อระยะที่สอง จำนวน 8 ลำ มูลค่า 8,889 ล้านบาท หลังจากที่ระยะแรกจัดซื้อจำนวน 4 ลำ มูลค่า 3,750 ล้านบาท ปี”58 โดยมีความต้องการทั้งหมด 16 ลำ ขณะที่ระยะที่ 3 จะมีการจัดซื้ออีก 4 ลำ ยังไม่มีกำหนดการจัดซื้อ

กระนั้น ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งสามเหล่าทัพ “บก เรือ อากาศ” ล้วนได้อาวุธมาเสริมแสนยานุภาพให้กองทัพ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และประชาชน

Advertisement
ภาพจากเฟสบุ๊ก Dulyapak Preecharush

ในมุมมองวิชาการของ “ดุลยภาค ปรีชารัชช” อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วิเคราะห์ถึงงบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุโธปกรณ์อย่างน่าสนใจว่า ควรจัดซื้อ เพราะพื้นฐานอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ทรงอานุภาพมีความจำเป็นต่อการป้องกันประเทศและปกป้องผลประโยชน์ชาติ 

จากนั้น “ดุลยภาค” ได้ขยายความให้ฟังว่า ผลของการจัดซื้ออาวุธนำไปสู่การเพิ่มพูนสมรรถนะทางการทหารของกองทัพไทยได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ทุ่มเทลงไปหรือเปล่า เพราะการจัดซื้อย่อมเชื่อมโยงกับการซ่อมบำรุงระยะยาวและทักษะความชำนาญของกำลังพลในการใช้อาวุธในภาคสนามจริง โดยกองทัพมักให้เหตุผลว่าการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยย่อมส่งผลดีต่อการป้องปรามข้าศึก พูดง่ายๆ คือ การครอบครองอาวุธที่ทรงอานุภาพสามารถหลีกเลี่ยงสงครามได้ เพราะจะทำให้ข้าศึกไม่กล้าโจมตีเราก่อน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและการรักษาอธิปไตย 

อ.ดุลยภาค ยังกล่าวอีกว่า เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งตัดสินใจซื้ออาวุธจำนวนมาก จะทำให้รัฐรอบข้างเห็นความจำเป็นที่จะต้องสะสมยุทโธปกรณ์ขึ้นมาบ้าง เพื่อถ่วงดุลเพื่อนบ้าน วัฏจักรแบบนี้จะทำให้ไม่เกิดการผลีผลามในการบุกโจมตีกันก่อน แต่จะทำให้รัฐต่างๆ หันมาจัดซื้ออาวุธเพิ่ม เพื่อประกันความมั่นคงปลอดภัยระยะยาว วิธีคิดของกองทัพไทยเอง คงหนีไม่พ้นเรื่อง “Security Dilemma” อันเป็น “Snowball Effect” ที่กระทบจากพฤติกรรมของกองทัพเพื่อนบ้าน แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองโลก ในทางกลับกัน การจัดซื้ออาวุธของกองทัพไทยในแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดซื้ออาวุธของเพื่อนบ้านด้วย

“ผมคิดว่าการจัดซื้ออาวุธย่อมผูกติดกับอำนาจกำลังรบ และความอยู่รอดของรัฐ อันมีผลต่อความปลอดภัยของประชาชน เพียงแต่ว่า ประชาชนคือแหล่งที่มาของรายได้ทั้งหมดในการจัดซื้ออาวุธให้กองทัพ แต่กระบวนการจัดซื้อของกองทัพต้องควรโปร่งใส ตรวจสอบได้ ว่าแหล่งจัดซื้ออาวุธ เช่น ตลาดจากสหรัฐ ยุโรป จีน รัสเซีย ย่อมสัมพันธ์ในบางระดับกับความรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับคุณภาพอาวุธ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินของประเทศ ตลอดจนระบอบการเมืองการปกครองในช่วงเวลานั้น” ดุลยภาค กล่าว

และว่า สรุปงบประมาณปี’ 60 ของกองทัพไทย หากพิจารณาที่กระบวนการจัดซื้อ พิจารณาในแง่กำลังเศรษฐกิจของประเทศ หรือระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมทหาร ก็ไม่แปลกที่จะถูกตั้งคำถามจากประชาชน

แต่การทุ่มงบประมาณซื้ออาวุธของกองทัพจะสะท้อนนัยยะอะไรได้บ้าง กับสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ 

นักวิชาการหนุ่ม ตอบว่า หากมองผ่านแนวคิดเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบัน งบประมาณจำนวนมาก จะส่งผลให้กองทัพถูกทำให้เป็นสถาบันการเมืองที่ทรงพลังขึ้น ในการผูกขาดภารกิจบริหารความมั่นคงผ่านยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต และทำให้งานความมั่นคงโดดเด่นขึ้นเหนือกลุ่มงานประเภทอื่นๆ ในโครงสร้างรัฐ ทั้งยังส่งผลดีต่อการสะสมฐานอำนาจของชนชั้นนำทหารบางกลุ่ม แต่ในระยะยาวแล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นมาจริงๆ และอาวุธที่จัดซื้อมาไม่สามารถแสดงสมรรถนะการรบได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป และหากรัฐไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบหนักหน่วงขึ้นมาจริงๆ จนขาดประสิทธิภาพในการบริการสาธารณะ ย่อมสร้างความคับข้องใจในหมู่ประชาชน พร้อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กองทัพหรือแม้กระทั่งความทนทานของระบอบการเมือง

เมื่อเคลียร์ชัดกระจ่างถึงการวิเคราะห์งบประมาณการซื้ออาวุธแล้ว ขอเขยิบมาคุยกันที่การตอบโจทย์มิติความมั่นคงในศตวรรษที่ 21 ประเด็นนี้ “ดุลยภาค” มองว่า คิดว่า ตอบโจทย์ โดยจะขอแบ่งประเด็นวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วน

1.การทำสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือทรัพยากรชาติเช่น ข้อพิพาทเขตแดนทั้งทางบกและทะเล ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ในวงรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เช่น ความขัดแย้งระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเมียนมา, กองทัพไทยกับกองทัพกัมพูชา โดยผลสงครามทำให้กองทัพเพื่อนบ้านระดมจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มอำนาจการรบภาคพื้นดิน รวมถึงนาวิกานุภาพและเวหานุภาพ ซึ่งผลที่ตามมาก็กระตุ้นให้กองทัพไทยหันมาพิจารณาเรื่องการเพิ่มงบประมาณทหารเพื่อป้องกันความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านในอนาคตเช่นกัน 

2.ในอนาคตภูมิภาคอาเซียนย่อมเผชิญกับโจทย์ความมั่นคงใหม่ๆ เช่น ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกทางทะเลของจีน แม้ว่าจะเน้นเศรษฐกิจการค้า แต่ก็สัมพันธ์กับการพัฒนากองทัพของรัฐต่างๆ ในอาเซียน เช่น การใช้กองเรือที่ทันสมัยในการคุ้มครองเรือสินค้าชาติต่างๆ ในเขตทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ หรือช่องแคบมะละกา ตลอดจนใช้ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงมนุษย์ระยะยาว หรือการใช้เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ทันสมัยในการช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติทั้งในลักษณะที่เกิดขึ้นภายในรัฐหนึ่งๆ หรือในลักษณะที่สร้างภารกิจร่วมมือกับเพื่อนบ้านเป็นกรณีๆ ไป

“ผมคิดว่ากองทัพไทยนิยามความมั่นคงใหม่มาได้ซักระยะหนึ่งแล้ว แต่เป็นในลักษณะของการแบ่งความมั่นคงออกเป็นความมั่นคงแบบเก่า (Traditional Security) เช่น ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนและการทำสงครามกับรัฐคู่ปรปักษ์โดยตรง กับความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) เช่น การป้องกันแรงงานอพยพผิดกฎหมาย ภัยพิบัติธรรมชาติ การก่อการร้าย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับกรอบคิดการจัดการความมั่นคงทั้งในยุคสงครามเย็นและยุคหลังสงครามเย็น” 

ในเมื่อกองทัพเริ่มนิยามความมั่นคงรูปแบบใหม่ แล้วความแน่ชัดในการบริหารจัดการเป็นอย่างไร เพราะดูเหมือนการปฏิบัติ วิธีคิดยังเหมือนว่าติดรูปแบบเก่าอยู่ “ดุลยภาค” อธิบายว่า แนวทางจัดการบริหารความมั่นคงของกองทัพไทยก็มีการถกเถียงกันทั้งเรื่องการปรับลดกำลังพลให้คล่องแคล่วกะทัดรัด รบได้หลากหลายรูปแบบ หรือการลดการพึ่งพาตลาดอาวุธต่างประเทศผ่านการสนับสนุนหน่วยวิจัยทหารและสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพียงแต่แนวโน้มการพัฒนาเหล่านี้ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีการพูดถึงกันมากนักในสังคม

เมื่ออธิบายจบ “นักวิชาการหนุ่ม” ยังได้แนะนำกองทัพว่า สิ่งที่กองทัพไทยยังขาดและจำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ คือ การจัดการปกครองภาคความมั่นคง หรือ SSG-Security Sector Governance ซึ่งพยายามนำหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เข้ามาเชื่อมโยงปรับปรุงงานบริหารความมั่นคง 1.ทำอย่างไรที่จะให้กระบวนการจัดซื้ออาวุธของกองทัพมีลักษณะโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความชอบธรรมในสายตาประชาชน 2.ทำอย่างไรที่จะให้เรื่องการจัดซื้ออาวุธที่ถูกมองว่าเป็นความลับของชาติ มีการเปิดเผยข้อมูลในบางประเด็นเพื่อให้การจัดซื้ออาวุธได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

3.ทำอย่างไรที่จะให้ทหารกลายเป็นทหารอาชีพจริงๆ ที่ทุ่มเททรัพยากรประจำหน่วยเพื่อใช้ในภารกิจป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว มากกว่าที่จะแบ่งกำลังไปใช้ในงานการเมืองหรือเพื่อปกครองประเทศระยะยาว และ 4.ทำอย่างไรที่จะให้กองทัพสามารถทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในการทำความเข้าใจหรือบริหารภาคความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งมีหลายเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่ทหารเคยคุ้นชิน เอาเข้าจริงแล้ว กองทัพอาเซียน เช่น ไทย เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ล้วนแต่เผชิญปัญหาเรื่อง SSG กันทั้งสิ้น

“แต่ผมคิดว่า กองทัพสิงคโปร์เริ่มประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะกระบวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ และมีการคำนวณความคุ้มค่าของงบประมาณผ่านตัวแปรจำนวนมากเพื่อสร้างความเที่ยงตรงแม่นยำให้กับการจัดซื้อ พร้อมมีการวางแนวทางบำรุงรักษาและประเมินสมรรถนะอาวุธหลังช่วงจัดซื้ออย่างเป็นระบบสืบเนื่อง จนทำให้สิงคโปร์ที่แม้จะมีกองทัพที่จัดซื้อยุทโธปกรณ์มากเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน หากแต่ก็ไม่มีปัญหามากนักในเรื่องความโปร่งใส ประสิทธิภาพของอาวุธ หรือการตั้งคำถามจากประชาชน” นักวิชาการหนุ่ม ระบุปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image