กาลครั้งหนึ่ง..นานมาแล้ว แฝดสยาม (17) แฝดสยามไปสร้างทายาทราว 1,500 คน ในอเมริกา

ความเดิมจากตอนที่แล้ว พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลดประกาศรักจริง-หวังแต่งกับแฝดตัวติดกันจากสยามแบบไม่แยแสต่อคำครหานินทาจากสังคมรอบด้าน วางแผนจะทำวิวาห์เหาะพากันหนีไปครองรักครองเรือนให้รู้แล้วรู้รอด หากพ่อแม่ไม่เห็นชอบ

โอกาสสุดท้ายริบหรี่ที่จะได้ไฟเขียวจากนายเดวิดและนางแนนซี่ เยทส์ ในที่สุดพี่น้องสองสาวได้ขอร้องให้บาทหลวงชื่อ คอลบี้ สปาร์ค (Colby Spark) ที่พึ่งสุดท้ายเป็นผู้ไปอ้อนวอนพ่อ-แม่เป็นครั้งสุดท้าย

บาทหลวงทำหน้าที่ได้ทะลุเป้า หลังเกลี้ยกล่อมพ่อและแม่อยู่พักใหญ่ให้เห็นใจในความรักที่อยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง เดวิดและแนนซี่ยอมรับในความรักและการแต่งงานแบบพิสดารของหนุ่มสาวทั้ง 4 คน

ในที่สุดชัยชนะเป็นของคนรักทั้ง 4 เรื่องรักอมตะแบบนี้ก็ต้องใช้พระนำเฉกเช่นชาวสยาม

Advertisement

13 เมษายน พ.ศ.2386 คือวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ 2 หนุ่มจากเมืองแม่กลอง แฝดหนุ่มได้เข้าพิธีแต่งงานกับ 2 สาวพี่น้องอเมริกันที่บ้านของเจ้าสาว คู่รักทั้ง 4 คนได้ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค ขวากหนาม สร้างความรัก ความเข้าใจมานาน 4 ปี เพื่อที่จะเป็นของกันและสมปรารถนาในที่สุด

ผู้เขียนไม่ทราบว่าใน พ.ศ.2386 มีประเพณีสงกรานต์ในสยามหรือไม่ แต่วันที่แฝดสยามแต่งงานตรงกับวันสงกรานต์

พิธีแต่งงานโดยบาทหลวงพ่อสื่อรักที่ชื่อ คอลบี้ สปาร์ค เป็นไปอย่างรวบรัด เป็นพิธีทางศาสนาแบบเรียบง่าย และเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ ความรักชนะทุกสิ่ง ในที่สุดโลกต้องจารึกว่าเป็นการแต่งงานระหว่าง นายเอ็ง บังเกอร์ กับ นางสาวซาร่าห์ แอน เยทส์ นายจัน บังเกอร์ กับ นางสาวแอดิเลด เยทส์

Advertisement

ในหนังสือของต่างประเทศ ที่บันทึกเรื่องราวของแฝดสยามจะเรียกว่า Eng (อิน) Chang (จัน) นะครับ

และคำว่าบังเกอร์ (Bunker) เป็นนามสกุลของแฝดที่ขอใช้นามสกุลเพื่อนรักชาวอเมริกันตอนที่ขอโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันก่อนหน้านี้

มีแขกเหรื่อ เพื่อนที่เข้าใจ เห็นใจเพื่อนมาร่วมในพิธีแต่งงานพอสมควร ถือได้ว่าเวลาในอนาคตของคนรักทั้ง 4 จะเป็นเครื่องพิสูจน์คำสบประมาท คำครหาทั้งหลาย

คำพูดใดๆ ก็ไม่มีความหมายเมื่อมีความรัก แฝดหนุ่มอิน-จัน ตัวติดกันจากสยามใช้ชีวิตในอเมริกามานาน 14 ปี (มาถึงอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2372) เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ทำไร่ยาสูบ โอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน มีบ้านหรู มีเงินจากการทำมาหาเลี้ยงชีพ วันนี้มีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นตัวเป็นตน เฉกเช่นคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน ใครจะทำไม?

แฝดสยาม (Siamese Twins) ตัวติดกันผู้สร้างตำนานรักกึกก้องโลกแต่งงานเมื่ออายุ 32 ปี

หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น รวมทั้งจากรัฐใกล้เคียง เมื่อทราบข่าวการแต่งงานที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางเสียงติเตียน ต่างก็พากันบรรเลงสีสันบรรยายข่าว เล่าข่าวกันแบบหลุดโลก สังคมอเมริกันติดตามข่าวการแต่งงานแฝดสยามอย่างหิวกระหาย

บ้านของแฝดอิน-จัน ที่สร้างขึ้นมาก่อนนั้น เป็นเรือนหอที่สร้างรอรักมานาน สื่อมวลชนทั้งหลายแย่งกันเล่นข่าวแบบเมามัน ถ้อยคำวาบหวามร้อนแรงเหมือนไปเห็นมากับตา ถึงขนาดบรรยายว่า

เตียงสำหรับ 2 คู่ชู้ชื่น ที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน 4 คนเสมอนั้น เป็นเตียงขนาดพิเศษที่เสริมความมั่นคงแล้ว (super-sized reinforced bed)

ท่านผู้อ่านที่เคารพคงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าเค้าต้องนอนรวมกัน 4 คน เตียงมันก็ต้องแข็งแรง และใหญ่เป็นพิเศษหน่อย แล้วเค้าทั้ง 4 คนเป็นสามีภรรยากัน ไม่ใช่ที่นอนทารกจะมานอนกินนม

ในที่สุดเมื่อบุคคลทั้ง 4 ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว และทำตามกฎหมายทุกประการ เพื่อนบ้านชาวเมืองก็ทำได้แต่เพียงติฉินนินทา ซึ่งต้องขอใช้ศัพท์ว่ายังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแบบด่าไม่เลิก แต่การวิพากษ์วิจารณ์จะออกไปในแนวของการล้อเลียน ติดตลก ขำขัน

คําว่า Siamese Twins เพิ่มน้ำหนักการรับรู้ให้กับสังคมในอเมริกาเป็นทวีคูณ หนังสือพิมพ์จากรัฐต่างๆ ในอเมริกา เดินทางมาสัมภาษณ์ มาทำสกู๊ปข่าวกันอย่างต่อเนื่องด้วยความรู้สึกว่า แฝดตัวติดกันคู่นี้มีหัวนอนปลายตีนเช่นไร และเหตุไฉนสองสาวน้อยแห่งแทรปฮิลจึงยินยอมที่จะใช้ชีวิตสมรสแบบพิสดารเยี่ยงนี้

ในมุมมองด้านลบต่อการสมรสของหนุ่มสาวทั้ง 4 ก็ยังคงรบกวนจิตใจจิกกัดไม่เลิก หนังสือ The Two ของ Wallace เขียนไว้ชัดเจนว่า ความรู้สึกของเจ้าถิ่น คนขาวชาวอเมริกันตอนนั้นเห็นว่าการแต่งงานของบุคคลทั้ง 4 คือการทำผิดจารีตประเพณีของสังคมอย่างร้ายแรง

จารีตที่กำหนดขึ้นมาในอเมริกายุคนั้น เพื่อกีดกันการสมรสระหว่างนิโกร ผิวดำ กับผู้หญิงผิวขาว และยังขัดขวางการสมรสระหว่างผู้ชายอินเดียนแดงกับผู้หญิงผิวขาวโดยเฉพาะ

ผู้เขียนค้นเอกสารหลายสำนักในอดีต โดยเฉพาะเอกสารเก่าของอเมริกาทั้งหลายที่บันทึกไว้แบบมีเหตุมีผล

สรุปได้ว่า การสมรสดังกล่าวเป็นสิ่งที่แหกกฎเกณฑ์เรื่องสีผิว เป็นการสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ เป็นการสมรสกับบุคคลที่มีความผิดปกติของร่างกาย

สำหรับชาวเอเชียทั้งหลายไม่มีใครที่จะเดินทางเข้าไปตั้งหลักแหล่งตอนในของทวีปอเมริกาแบบอิน-จัน ชาวเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนโดยมากจะปักหลักตามเมืองท่า เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นกรรมกร เป็นพลเมืองชั้นสอง แต่แฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ฉีกกฎเหล็กทุกข้อขึ้นมาเทียบชั้นกับเจ้าถิ่นคนขาวเจ้าของประเทศ

แฝดสยามคือคนต่างเผ่าพันธุ์ คือคนต่างถิ่น คือคนที่มีกายภาพไม่ปกติ มันก็ต้องรังเกียจเดียดฉันท์กันหน่อย

ถ้าจะต้องวาดภาพความเป็นอยู่ของแฝดอิน-จัน ต้องดูกันที่บ้านช่องห้องหอ บ้านที่แฝดช่วยกันสร้างขึ้นมาเป็นบ้านขนาดใหญ่ มีฉากหลังเป็นภูเขาสวยงามตามตำรา มีปล่องไฟ 2 ปล่อง มีหน้าต่างกระจกรับแสงแดดขนาดใหญ่ รูปทรงบ้านไม่เป็นสองรองใครในชุมชน

ข้าวของเครื่องใช้ในครัว ของใช้ทั้งหลายเป็นของที่ไปซื้อมาจากนิวยอร์ก ช้อนส้อมเป็นเงิน แก้วน้ำ ถ้วยโถโอชามเป็นของดีมีราคา แฝดคู่นี้ชอบเลี้ยงเพื่อนฝูงผู้มาเยือนไม่ขาดสาย

แปลเป็นภาษาไทยว่า แฝดคู่นี้มีความเป็นอยู่แบบคนมีอันจะกิน เหนือชั้นกว่าเพื่อนบ้านทั้งหลายเลยทีเดียว

ก็นับว่าพี่น้องสองสาวได้สองคหบดีต่างสีผิว ต่างเผ่าพันธุ์ มาเป็นสามี ใช้ชีวิตมีระดับแนวหน้าในท้องถิ่น แฝดสยามมิได้รักกันหนาพากันหนีไปกัดก้อนกินเกลือให้ลำบากเหมือนความรักในหนังมนต์รักลูกทุ่งแต่อย่างใด

อันที่จริง ตอนต้นๆ ของบทความนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องที่แฝดไปแสดงตัวในอังกฤษ แล้วแฝดจันไปพบรักกับสาวอังกฤษที่ขอรวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัว แต่งงานด้วยแบบ 1 รุม 2 เป็นที่ฮือฮามาแล้วในลอนดอน แต่ครั้งกระนั้น อิน-จัน ยังไม่มีหลักแหล่ง ไม่มีเงิน ยังไม่หล่อ ยังไม่มีสถานะที่จะไปใช้ชีวิตร่วมกับใครได้เลย เป็นความรักแบบรักหมารักแมว

ย้อนเวลาไป 173 ปีนะครับ ว่าคุณทวดอิน-จันของชาวสยามไปเลือกมีเมียฝรั่งหน้าตาแบบไหน หนังสือของ โจเซฟ เอ. ออเซอร์ บรรยายไว้ดังนี้

ซาร่าห์ เป็นคนเรียบง่าย ประหยัด อดออม ทำอาหารเก่ง ทำอาหารอร่อยมาก ผมสีน้ำตาล ฟันขาวเป็นระเบียบสวยงาม นัยน์ตาสีน้ำตาลอมแดง เธอไม่ได้รับการศึกษา รูปร่างเจ้าเนื้อ ค่อนข้างท้วม เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายเอ็ง (Mrs. Eng)

แอดิเลด รูปร่างสูงกว่าพี่สาวเล็กน้อย ผอมเพรียว ฉลาดเฉลียว แต่งตัวดูประณีตสวยงาม งามสง่าและสวยกว่าพี่สาว ก่อนแต่งงานมีหนุ่มๆ คาวบอยมาขายขนมจีบมากหน้าหลายตา เมื่อแต่งงานแล้วเป็นคุณนายจัน (Mrs. Chang)

ท่านผู้อ่านกรุณาดูในภาพนะครับ

ในประเด็นของชีวิตส่วนตัว มีแต่การคาดเดาจากเพื่อนมนุษย์ในสังคมมะริกันว่าคงทำอย่างนั้น คงเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องเพศรส ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าตัวแฝดติดกันมีท่อนเนื้อยาวประมาณ 6 นิ้ว เหมือนกระบอกข้าวหลามเชื่อมต่อ การขยับตัวของแต่ละคนคงทำได้ในลักษณะจำกัด ไม่มีความเป็นอิสระจากกันแน่นอน การแสดงความรัก การมีเพศสัมพันธ์ในแบบของมนุษย์ปกติทั่วไป คงทำไม่ถนัดถ้าขาดความร่วมมือ ร่วมแรง

นั่นย่อมหมายความว่า พี่น้องสองสาว ซาร่าห์และแอดิเลด อาจจะต้องยินยอมพร้อมใจด้วยเช่นกัน หมายความว่า น่าจะต้องเกิด 4 ประสานเท่านั้น นี่แหละคือสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายกระหาย กระเหี้ยนกระหือรืออยากรู้ ใจจะขาด

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2387 (ราว 9 เดือนเศษถัดมา) สมาชิกใหม่ของครอบครัว ลูกครึ่งไทย-อเมริกันของแท้รุ่น 1 ได้ออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของอิน-ซาร่าห์ ตั้งชื่อว่า แคเธอรีน มาร์เซลลัส (Catherine Marcellus) เธอได้รับการจารึกว่าเป็นลูกครึ่งสยาม-อเมริกัน คนแรกในประวัติศาสตร์

16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2387 สมาชิกใหม่คนที่ 2 คลานตามออกมาลืมตาดูโลก เป็นลูกสาวของจัน-แอดิเลด ตั้งชื่อว่า โจเซฟฟิน เวอร์จิเนีย (Josephine Virginia)

วันที่คลอดออกมาห่างกัน 6 วัน เป็นการบ่งบอกถึง การปฏิสนธิของชีวิตเด็กน้อยในครรภ์ของ ซาร่าห์ และแอดิเลดว่า เริ่มต้นใกล้เคียงกันมาก หรืออาจจะเริ่มพร้อมๆ กัน

คุณปู่ทวด อิน-จัน บรรพบุรุษ สุภาพบุรุษของชาวสยามท่านคำนวณแม่นมีโรดแมปชัดเจนจริงๆ

ความเหนื่อยยากผสมผสานกับความปลื้มปีติของครอบครัวบังเกอร์อีกประการหนึ่ง คือ การมีคนมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะนักเขียน นักข่าว ที่ขอมาเป็นแขกทานอาหาร พูดคุย มาขอพักอยู่กับครอบครัวเพื่อเขียนเรื่องราวของครอบครัวนี้

และผ่านไป 4 ปี อิน-จันและภรรยา 2 พี่น้อง ให้กำเนิดลูกอีกฝ่ายละ 4 คน สมาชิกในบ้านหลังนี้อุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งบ้านเต็มไปด้วยเด็กเล็กไล่เลี่ยกันแบบหัวปีท้ายปี

อิน-จันและภรรยา 2 พี่น้องได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า นี่คือรักแท้ของคนธรรมดา ลูกที่เกิดมาทุกคนมีอวัยวะครบถ้วน ไม่มีใครพิกลพิการ หรือเป็นภูตผีปีศาจแต่อย่างใด

ผู้เขียนพยายามเสาะหา เรื่องส่วนตัวที่ทุกท่านต้องการความกระจ่างว่า ทั้ง 4 คนมีรูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศอย่างไร

ต้องย้อนกลับไปอ้างอิงข้อมูลของแพทย์ที่เคยตรวจและทดสอบความรู้สึกทางเพศของแฝดทั้งสองตอนที่มาถึงอเมริกาใหม่ๆ ว่า ความรู้สึกทางเพศของแฝดแยกออกจากกัน แฝดคนหนึ่งจุมพิตสาว แฝดอีกคนจะไม่ได้เสียวซ่านแต่อย่างใด

ผู้เขียนค้นหาจากหนังสือ เอกสารทุกชิ้นในอดีตในภาษาอังกฤษ และภาษาไทยบางส่วน เพื่อตอบโจทย์ที่แฟนคลับเรียกร้องให้นำมาบอกเล่าให้หนำใจ ให้บรรยายภาพ กลิ่น รส และเสียง เหมือนกับได้ไปแอบอยู่ใต้เตียงนอนของแฝด ผู้เขียนก็จนใจจริงๆ ครับ ฝรั่งผู้เขียนหนังสือในอดีตก็มีเพียงข้อมูลจากการคาดเดา มีจินตนาการในลีลาหลากหลาย

มีข้อมูลบางเบาชิ้นหนึ่งระบุเพียงว่า ตอนอยู่บนเตียงแฝดทั้งสองน่าจะใช้ผ้ากั้นสายตาป้องกันการขวยเขิน

บ้างก็มโนไปทั้ง 4 ไม่ได้ปิด ไม่ได้บังอะไรกันเลย เพราะทุกคนรับสภาพและทุกคนสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็อาจจะเป็นบรรยากาศของความรักสามัคคี ที่จับต้องได้

ลูกที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันข้างละ 4 คน เป็นคำตอบทางวิทยาศาสตร์ว่า ก็ถ้าเริ่มมีเพศสัมพันธ์พร้อมๆ กันก็น่าจะคลอดออกมาไล่เลี่ยกัน

ไม่ใช่มีลูกแค่นี้นะครับ ในช่วงท้ายก่อนปิดโรงงานผลิตเด็ก คู่รักบันลือโลกคู่นี้มีลูกรวม 21 คน ถ้าใช้ศัพท์การตลาด ต้องเรียกว่า แฝดสยามลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ จริงใจ แจกไม่อั้น ใจดีสุดสุด

ลูกดกถี่ยิบขนาดนี้ คงไม่ได้ใช้ผ้าบังกั้นฉากแน่นอน

เมื่อไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นเรื่องแบบนี้ และคุณปู่ทวดอิน-จัน ของชาวสยามก็ไม่เคยมาเปิดใจ เราคงต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของท่านทั้งหลาย ที่จะไม่ก้าวล่วงบรรพบุรุษสยาม

มาถึง พ.ศ.2559 นี้ จากแฝดสยามจากแม่กลองคู่นี้ แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกันในปี พ.ศ.2386 มาจนถึงปัจจุบันได้ขยายวงศ์ตระกูล แตกหน่อเป็นลูก หลาน เหลน โหลน นับได้ราว 1,500 คนอยู่ในอเมริกาครับ มีการเลี้ยงรวมญาติประกาศตัวกันชัดเจน

ผู้เขียนวิงวอนขอให้พี่น้องชาวเมืองสมุทรสงคราม ตามหาญาติพี่น้อง ของแฝดอิน-จัน ที่ต้องมีการสืบวงศ์ตระกูลต่อมาถึงปัจจุบันแน่นอน ถ้าเริ่มการสืบหาได้เค้าลาง เมืองสมุทรสงครามจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศ และในประเทศอีกมหาศาล

กลับมาที่เรื่องของบรรพบุรุษสยามที่ดังสนั่นอเมริกาเมื่อราว 173 ปีที่แล้วครับ

ในช่วงเวลาต่อมา ข่าวหนังสือพิมพ์ที่ถูกนำเสนอออกไปสู่สาธารณชน พลิกกลับเป็นกระแสยกย่องสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความมีน้ำใจ ความเป็นชาวเอเชียที่ขยันขันแข็ง ที่สำคัญที่สุดคือ แฝดสยามคู่นี้เป็นพลเมืองน้ำดีของสหรัฐอเมริกา

วันเวลาและพฤติกรรมดีที่ผ่านไปได้พิสูจน์ว่าแฝดอิน-จัน คือพลเมืองดีของชุมชน เป็นพลเมืองดีของสหรัฐ แฝดทั้งสองตามภรรยาไปเข้าโบสถ์สวดมนต์แบบคริสต์ มีน้ำใจ ช่วยเหลือสังคม ต้อนรับขับสู้ผู้คนทั้งหลายจนกระทั่งชนะใจชาวเมือง

ซาร่าห์และแอดิเลด สองศรีพี่น้องมีลูกคนละ 4 ต้องทำงานหนัก เลี้ยงดูลูกทั้งสองฝ่าย ทำอาหาร ดูแลสามี แฝดสยามเคยได้รับของขวัญวันแต่งงานเป็นหญิงผิวดำชื่อ เกรซ เกทส์ (Grace Gates) มาเป็นทาสในบ้านเพื่อดูแลงานและช่วยเลี้ยงลูก นอกจากนั้นครอบครัวบังเกอร์ยังมีทาสผิวดำอีกจำนวนหนึ่งทำงานในไร่ดูแลพืชผลการเกษตร

บรรยากาศในบ้านดูเหมือนจะไม่ราบรื่น บ้านหลังใหญ่ที่อยู่ในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นบ้านหลังเล็ก เพราะมีเด็กจาก 2 ท้องเกิดเพิ่มมาไล่เลี่ยกันถึง 8 คน แต่หลังจากคลอดลูกไล่เลี่ยกัน 4 คู่ ครอบครัวบังเกอร์มีการจัดระเบียบ คุมกำเนิดให้ตั้งท้องสลับกัน เพื่อแบ่งเบาภาระการงานทั้งปวง ซึ่งการคลอดลูกคนต่อๆ มาก็เป็นไปตามแผนทุกประการ

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่ถ้าขืนอยู่กันแน่นในบ้านแบบปรากระป๋องเช่นนี้ เห็นจะต้องเกิดเรื่องทะเลาะกันเป็นแน่แท้ เพราะลูกๆ กำลังเข้าคิวกันมาเกิดอีกจำนวนมาก

ชีวิตครอบครัวบังเกอร์จะดำเนินไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image