เล็งจุดเดือดโลก มองหา “สงครามแห่งปี2018”

เมื่อโลกย่างก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ วิกฤตการเงินครั้งสำคัญหลังสุดก็ผ่านพ้นไปหนึ่งทศวรรษเต็มๆ ในสามัญสำนึกปกติทั่วไปล้วนคาดหวังถึงความรุดหน้าครั้งใหม่ การกลับคืนสู่สภาวะสูงสุดทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ภายใต้กรอบคิดอย่างมีสติของยุคสมัยที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์ยังควรเป็นสิ่งต้องการและแสวงหา อย่างน้อยที่สุดเพื่อเป็นเครื่องมือในการระงับยับยั้งการเติบใหญ่ขยายตัวของลัทธิชาตินิยมทางทหารที่นิยมวิถีรุนแรงและพร้อมสู้รบก่อสงคราม

สัมปชัญญะบอกด้วยว่า การหลอมรวมขึ้นเป็นเนื้อเดียวของการค้า และการเงินของโลก จะส่งผลให้สงครามหรือความขัดแย้งด้วยอาวุธขนานใหญ่ ไม่เพียงเป็นพฤติการณ์ที่ไม่คุ้มค่า หากแต่จะยังความสูญเสียใหญ่หลวงชนิดที่คาดคิดไปไม่ถึง

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ เข้าแทนที่ความแข็งแกร่งทางทหาร ในฐานะมาตรวัดความสำเร็จและแข็งแกร่งของชาติใดชาติหนึ่ง

Advertisement

ผู้รู้ทั้งหลายยังบอกเราไว้ในกาลที่ผ่านมาว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ใดที่กลายเป็นวิถี “สากล” จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลดปล่อยสังคมทุกแห่งหนให้เป็นเสรี ปลอดพ้นจากคอร์รัปชั่นตะกละตะกลาม พ้นจากการกดขี่ และดิ้นรนรอดพ้นจากภาวะชะงักงัน

ประชาคมนานาชาติ จะร่วมกันทำหน้าที่ลงทัณฑ์ต่อใครก็ตามที่ฝ่าและฝืนขนบเหล่านั้นอย่างฉับไว

กระบวนคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดผลอยู่บ้างในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่ทั้งหมด และไม่สมบูรณ์

Advertisement

การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องวัดความสำเร็จพื้นฐานของชาติก็จริงอยู่ แต่ยังคงมีอีกมากมายไม่น้อย ที่พลานุภาพทางทหารต่างหากเป็นเครื่องชี้ขาด ตัวอย่างในเรื่องนี้

มีให้เห็นชัดเจนยิ่งในหลายขวบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่จอร์เจีย เรื่อยไปจนถึงซีเรีย และแม้กระทั่งในทะเลจีนใต้

ข้อมูลข่าวสาร ดูเหมือนทำงานได้ผลดียิ่งในห้วงเวลา “อาหรับสปริง” แต่ก็เป็นข้อมูลข่าวสารในรูปแบบเดียวกันนั้นที่กลายเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดความพยายาม “ทดลอง” เข้าครอบงำ บิดเบือน ปลอมแปลง และลงเอยด้วยการใช้มันเป็น “อาวุธทำลาย” ภายใต้ชื่อเรียกขานเดียวกันว่า “โซเชียลมีเดีย”

ประชาคมนานาชาติเอง ถกเถียงซึ่งกันและกันมากกว่าจะเห็นพ้อง สถาบันระหว่างประเทศทั้งหลายกลับกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐที่ทรงอำนาจเท่านั้น

น่าสนใจที่จุดเริ่มของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ทั้งหมดเกิดจากวิกฤตการณ์การเศรษฐกิจ การเงิน เมื่อ 10 ปีก่อน วิกฤตที่ลุกลามออกไปทั่วโลกได้ก็ด้วยภาวะโลกาภิวัตน์

ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม การคุกคามจากการบูรณาการหลอมรวมเข้าด้วยกันที่ถูกมองว่าเกิดขึ้นจริงทั้งต่อสังคมและต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ถูกเคี่ยวกรำให้เข้มข้นขึ้นและใช้มันเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์

การค้าพหุภาคีกลายเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ผู้อพยพย้ายถิ่นข้ามเขตแดนรัฐกลายเป็น “อันตราย” และ โลกาภิวัตน์ รวมทั้งผู้ที่ยึดถือความเชื่อนี้คือคนที่ควรตำหนิ ควรต่อต้าน

ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่สภาวะการณ์ดังกล่าวนี้ชัดเจนเท่ากับในช่วงขวบปีที่ผ่านมา เมื่อกระบวนการทางการเมืองทำให้คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา

แล้วเราก็ต้องมานั่งตรวจสอบเงื่อนไขแวดล้อม ประเมินความคิดและแรงจูงใจของประดาผู้นำโลกทั้งหลาย ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการจำแนกวาทกรรมและความเป็นจริงออกจากกันในปี 2018

เพื่อดูว่าจุดที่ร้อนแรงแต่เปราะบางใดบ้างในโลกนี้ มีโอกาสเดือดพล่านกลายเป็นสงครามจริงๆ เต็มรูปแบบขึ้นมาในปีใหม่นี้

“เคาน์ซิล ออน ฟอรีน รีเลชั่น” หรือ “ซีเอฟอาร์” องค์กรทางวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รัฐบาล 436 รายทุกปี เพื่อจัดทำลำดับ “ความเสี่ยง” ที่ความขัดแย้งในจุดใดจุดหนึ่งหรือหลายจุด จะยกระดับขึ้นมากลายเป็นสงคราม วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบสำหรับบรรดาผู้นำทั้งภาครัฐ ภาคนิติบัญญัติ สามารถจัดลำดับภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาได้

แต่ผลสำรวจดังกล่าวก็กลายเป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงของนานาประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

งานสำรวจครั้งนี้อยู่ในการควบคุมดูแลของ พอล สแตเรส ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปฏิบัติการเพื่อการป้องกัน สแตเรสตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ผลสำรวจในปีนี้แตกต่างออกไปจากหลายๆ ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ในปีนี้ สหรัฐอเมริกากลับกลายเป็น “ผู้แสดง” ที่ “ไม่อาจคาดการณ์ใดๆ ได้” มากที่สุดในโลก

ไม่มีใครมั่นใจได้ในระดับสูงว่า ในสถานการณ์หนึ่งๆ สหรัฐอเมริกาจะมีปฏิกิริยาไปในทิศทางใด

แน่นอน แหล่งที่มาสำคัญของสภาพ “อันพรีดิคเทเบิล” ก็คือ ผู้นำอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยืนยันด้วยตัวเองว่า ไม่ต้องการให้ใครมาล่วงรู้ว่าตนจะทำอะไรหรือคิดอย่างไร

แต่สิ่งเดียวกันนี้ก็กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนโดยตรงในความขัดแย้ง 2 สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะยกระดับกลายเป็นสงครามในปี 2018 ในความเห็นที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้

หนึ่งคือ สงครามที่มีเกาหลีเหนืออยู่ฝ่ายหนึ่ง กับสหรัฐอเมริกา หรือ สหรัฐอเมริกากับเพื่อนบ้านทั้งหลายของเกาหลีเหนือ อยู่อีกฟากหนึ่งของความขัดแย้ง

สองคือ การเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน หรือระหว่างอิหร่านกับบรรดาพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ทั้งในประเด็นที่อิหร่านเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหลายในภูมิภาคตะวันออกกลาง (โดยเฉพาะในเยเมน ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอิรัก)

การให้การสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธทั้งหลาย รวมไปถึงประเด็นการพัฒนาอาวุธทันสมัยและอาวุธนิวเคลียร์

สแตเรสระบุว่า ทั้งสองกรณีเป็นวิกฤตที่กำลังเดือดพล่านและเปลี่ยนแปลงผันแปรได้ตลอดเวลามากที่สุดในโลกในยามนี้

ในขณะเดียวกันก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความคิดเห็นต่อต้านวิธีการทำตัวให้ “คาดเดาไม่ได้” ของสหรัฐอเมริกา ว่า สุดท้ายแล้วน่าจะไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดนัก

เพราะเป็นวิธีการที่แทนที่จะให้ผลดีกลับจะก่อให้เกิดผลเสียเสียมากกว่า สามารถก่อให้เกิด การคาดการณ์ผิด คำนวณสถานการณ์ผิดพลาด ก่อให้เกิดการเข้าใจผิด และอื่นๆ อีกมากมายได้ง่ายดายยิ่ง

ในขณะที่ย้ำไว้ด้วยว่า ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ เชื่อว่าหากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือขึ้นมา

สงครามนี้จะเป็นการสู้รบที่รุนแรง อำมหิตที่สุดที่จะได้พบเห็นกันนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

กรณีเกาหลีเหนือ และอิหร่าน ทำให้ความเสี่ยงที่เคยถูกจัดอยู่ในลำดับสูงอย่างการก่อการร้ายที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ต่อสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญของสหรัฐอเมริกา ถูกลดระดับลงมา แต่ที่ถูกยกระดับสูงขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจก็คือ โอกาสที่เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างรัสเซียกับบรรดาชาติพันธมิตรภายใต้สนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ “นาโต” ในภาคพื้นยุโรปและ สงครามระหว่างจีนกับชาติใดชาติหนึ่งหรือหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรณีของรัสเซียกับชาตินาโตนั้น สแตเรสระบุว่าเป็นผลสะท้อนจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ที่ยิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลของการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2016 มากเท่าใดความสัมพันธ์ก็จะยิ่งแย่ลงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เหตุขัดแย้ง หรือเหตุปะทะย่อยๆ ในที่ใดที่หนึ่งในยุโรปตะวันออก อาจลุกลามขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ได้เช่นกัน

ในกรณีของทะเลจีนใต้ นั้นสแตเรสตั้งข้อสังเกตว่า การที่ สี จิ้นผิง สามารถกระชับอำนาจไว้กับตัวเองได้อย่างที่ต้องการในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคม 2017 อาจก่อให้เกิดความรู้สึกได้ว่า สถานการณ์ภายในสงบและลงตัวแล้ว และจีนอาจรุกคืบอย่างมั่นใจและย่ามใจได้อีกครั้งในทะเลจีนใต้

ในละตินอเมริกา มีโอกาสสูงมากที่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ การเมืองในเวเนซุเอลาจะยิ่งวิกฤตหนักและลึกมากยิ่งขึ้น ในแอฟริกานอกเหนือจากกรณีการก่อการร้ายไม่สิ้นสุดของ อัล ชาบับ ในโซมาเลียแล้ว ยังมีปัญหาในลิเบีย เรื่อยไปจนถึงซิมบับเว

กรณีที่น่าสนใจใกล้ตัวก็คือ การขยายตัวของความรุนแรงระหว่างทหารรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยโรฮีนจาในพม่า ซึ่งยังมองไม่เห็นทางออกที่สมบูรณ์พร้อมในเวลานี้

ยังพร้อมปะทุขึ้นมาอีกได้เสมอตลอดทั้งปีใหม่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image