สุจิตต์ วงษ์เทศ : คุณค่าวัดพญากง อยุธยา กรมศิลป์รู้ดีเกือบ 50 ปีแล้ว

(ซ้าย) พระเศียรพระพุทธรูปศิลาขาวจากวัดพญากง กรมศิลปากรติดตามกลับคืนมา เมื่อเดือนมิถุนายน 2501 (ขวา) ชิ้นส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปศิลาขาวในวัดพญากง ถูกทำลายก่อนกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษา (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือพระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี กรมศิลปากรพิมพ์แจกครั้งแรก พ.ศ. 2510)

วัดพญากง อยุธยา ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนเป็นพิเศษมานานแล้ว

เพราะกรมศิลปากร ตระหนักดีมากๆในความสำคัญของวัดนี้เกือบ 50 ปีแล้ว ดูจากกรณีพระพุทธรูปศิลาขาวนั่งห้อยพระบาท สมัยทวารวดี นายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เขียนบอกไว้เองในหนังสือชื่อ พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี (กรมศิลปากรพิมพ์แจก พ.ศ. 2510)

จึงไม่ควรอ้างอย่างที่อ้างตามประเพณี ว่าที่ยังไม่ได้ดูแลวัดพญากง เพราะไม่มีคน ไม่มีเงินงบฯ และต้องทำตามคิว ฯลฯ เพราะนี่ล่วงเลยมา 50 ปี นานเกินไปแล้ว ทั้งๆ ความจริงเคยไปเสริมความแข็งแรงบ้างแล้ว เพียงแต่ไม่บอกสาธารณชน และปล่อยทิ้งไปไม่ดูแลต่อเนื่อง

สำรวจวัดพญากง

ราว 50 ปีมาแล้ว ยังมีพยานเห็นความสำคัญอีกคือ น. ณ ปากน้ำ (นักปราชญ์สยาม) เคยบุกป่าฝ่าดงกลางซากอิฐปูนที่อยุธยาลงไปสำรวจที่วัดพญากง ราว พ.ศ. 2509-2510

Advertisement

[จากหนังสือ ห้าเดือน กลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ของ น. ณ ปากน้ำ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2558 หน้า 376-377]

เขียนบันทึกว่าสิ่งที่เหลือล้วนมีความสำคัญ จะคัดมาสืบอายุหลักฐานให้อ่านง่ายๆดังนี้

“เราได้พบหลักฐานพระพุทธรูปหินทรายขาว ปางมารวิชัย ขนาดใหญ่มหึมาจำนวนมากมาย แต่หาเศียรไม่พบเช่นเดียวกับวัดอื่นทั่วไป และยังพบกระเบื้องลอนดินเผาด้วย”

Advertisement

“กลางเนินดินมีซากเจดีย์ก่อฐานสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปสามชั้น ข้างบนพังทลายลงมา เดาไม่ออกว่ารูปร่างเป็นอย่างไร เข้าใจว่าจะเป็นเจดีย์รูปแบบเดียวกับเจดีย์สมัยลพบุรี หรืออาจจะเป็นเจดีย์รุ่นทวารวดีก็ได้ เพราะเป็นซากเก่าแก่มาก กรุข้างในเจดีย์ก่อเพดานโค้งด้วยอิฐบากสำเร็จรูป ดูจะเป็นคติการก่อสร้างรุ่นเก่าเหนือสมัยกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป”

“นอกจากเศษอิฐรอบๆ องค์เจดีย์ ยังพบชิ้นศิลาแลงขนาดโตอีกมากมาย”

“เศษพระพุทธรูปศิลาที่พบล้วนทำด้วยศิลาทรายสีขาว พระพักตร์กลม พระหนุป้านใหญ่ ดูจะเป็นพระแบบอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะเก่ากว่านั้น เศียรที่พบนั้นชำรุดขนาดหนัก ถ้ายังดีอยู่ต้องถูกขนไปขายนักค้าของเก่าเสียแล้ว เศียรอีกแบบหนึ่งนอกจากพระหนุใหญ่กว้างแล้ว ยังมีขอบกะบังพระพักตร์ เส้นพระศกเป็นตุ่มเล็กๆ เหมือนพระพุทธรูป อู่ทอง”

แนะนำเบื้องต้น

1. ทำแผงนิทรรศการชั่วคราวอย่างแข็งแรงไว้บริเวณวัดพญากง อธิบายความสำคัญของวัด โดยสแกนภาพประกอบพร้อมไปด้วย เช่น แผนผัง, ชิ้นส่วนพระพุทธรูป, องค์พระที่ต่อเติมสมบูรณ์อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ฯลฯ

2. ทำป้ายทางเข้าไว้ริมถนนปากกราน-บ้านรุน ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับบ้านโปรตุเกส และอยู่ใกล้ๆ กัน จะมีส่วนชักจูงคนเข้าชมได้ แต่ตอนนี้ไม่มีป้ายบอกทางเลี้ยวเข้าวัด

3. อย่าทิ้งข้อมูลความรู้เก่า ฉะนั้นควรพิมพ์เผยแพร่ พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี ที่กรมศิลปากรเคยพิมพ์แจกครั้งแรก พ.ศ. 2510 โดยสแกนของเก่าทั้งเล่ม 37 หน้า ตั้งแต่ปกหน้าถึงปกหลัง โดยมีคำนำเสนอที่ก้าวหน้า

4. ควรอนุญาตให้แม่ชีซึ่งตั้งสำนักอยู่ตรงนั้น ใช้สถานที่ทำพิธีกรรมได้ เช่น นั่งสมาธิ, สวดมนต์ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ให้ช่วยดูแลรักษาซากวัดพญากงด้วย ซึ่งเขาทำอยู่แล้วด้วยศรัทธา ถ้าอย่างนี้จะวิเศษมากๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image