ประมวล ‘สถานการณ์การเมือง’ ตลอดปี 2560

ปี 2560 เป็นปีแรกที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากประชาชนชาวไทย ด้วยการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถึง 16 ล้านเสียง 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ได้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บรรจงร่างขึ้น มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 อย่างมาก โดยเฉพาะในหมวดว่าด้วยการเมือง การเลือกตั้ง นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปูทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงอยู่ในอำนาจต่อไปอีกยาวนาน

ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่นำทุกคะแนนเสียงมานับรวมกันหาค่าเฉลี่ยของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, การกำหนดให้ ส.ว. 250 คน มาจากการคัดเลือกโดย คสช., กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ซึ่งมีวาระการคงอยู่ 5 ปี ฯลฯ

เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ เริ่มจากด้านการศึกษาและคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จากนั้น วันที่ 15 สิงหาคม จึงประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการเมือง มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฤษฎา บุญราช เป็นประธาน 3.ด้านกฎหมาย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน 5.ด้านเศรษฐกิจ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน 6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายรอยล จิตรดอน เป็นประธาน 7.ด้านสาธารณสุข นายเสรี ตู้จินดา เป็นประธาน 8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ นายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน 9.ด้านสังคม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน 10.ด้านพลังงาน นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธาน 11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน

Advertisement

ต่อมา ครม.ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานโดยตำแหน่ง พร้อมตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อีก 1 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ด้านสังคม นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

จากนั้น วันที่ 29 กันยายน ประกาศตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 6 ด้าน 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตร 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เดินหน้าเขียนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 10 ฉบับ โดย 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ประกาศใช้แล้ว คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังเหลืออีก 2 ฉบับที่ยังไม่แล้วเสร็จ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

Advertisement

ตลอดปี 2560 พรรคเพื่อไทย (พท.) เล่นเกมรุกกดดันรัฐบาล คสช.อย่างหนัก ชนิดที่ว่าไม่หวาดหวั่นการใช้อำนาจ เช่น นายวัฒนา เมืองสุข ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รวมถึง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่างออกวิพากษ์รัฐบาลอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน แต่ในทางกลับกันแล้ว ปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยถูกเล่นงานอย่างหนักเหมือนกัน เริ่มจาก นายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากร ให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เรียบร้อยก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560

เรื่องนี้ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี หลายรัฐบาลถกเถียงกันมาโดยตลอดว่า ในทางกฎหมายแล้วสามารถเรียกเก็บภาษีได้จริงหรือไม่ เพราะในขณะที่ สตง.ซึ่งดูจะรับลูกกับรัฐบาลทุกเรื่อง เห็นว่าควรเก็บ แต่กระทรวงการคลังกลับเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะตามกฎหมาย อายุความหมดไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2555

ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. (ในขณะนั้น) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) (ในขณะนั้น) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) (ในขณะนั้น) หารือเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ป

โดย นายวิษณุเห็นว่า กรมสรรพากร สามารถเรียกเก็บภาษีดังกล่าวได้ โดยมีช่องทางกฎหมายอื่นอำนวย จากนั้น วันที่ 28 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรนำหนังสือแจ้งประเมินภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปของนายทักษิณ รวมเป็นเงินกว่า 17,629 ล้านบาท ไปติดไว้บริเวณหน้าบ้านพักของนายทักษิณ ต่อมานายทักษิณจึงมอบหมายให้ทนายความยื่นอุทธรณ์

เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการวิธีพิจารณาวิธีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ประกาศใช้ วันที่ 29 กันยายน นายทักษิณก็ถูกเล่นงานในทันที เพราะกฎหมายใหม่นี้เปิดทางให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในกรณีที่หลบหนีได้ ต่อจากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประชุมเพื่อศึกษาดูมีคดีใดบ้างที่จะสามารถรื้อขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ จนต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช.จะรื้อคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีหวยบนดิน 2.คดีปล่อยกู้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท โดยมิชอบ หรือคดีเอ็กซิมแบงก์

พ.ร.ป.ว่าด้วยการวิธีพิจารณาวิธีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ ที่นายมีชัย และคณะร่างขึ้นเป็นที่วิจารณ์ว่า มีเป้าหมายเล่นงานทางการเมืองกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล โดยพยายามเหยียบอำนาจบารมีของนายทักษิณให้จม เพี่อที่อนาคตจะได้ไม่มีวันกลับเข้าสู้อำนาจอีก

นอกจากนายทักษิณแล้ว ปี 2560 ยังเป็นปีที่น้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องระหกระเหินออกนอกประเทศ โดยเป็นการหนีก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาจำคุก 5 ปี ในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

หลังจากเดินหน้าสู้คดีด้วยความเชื่อมั่นมาโดยตลอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกที่จะหนีออกนอกประเทศก่อนที่ศาลจะพิพากษาจำคุก เพราะประเมินแล้วว่า คงไม่รอดเป็นแน่ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปทางกัมพูชา จากนั้นจึงเดินทางไปประเทศอังกฤษ ภายหลังจึงมีกระแสข่าวว่าเธอได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษแล้ว

ก่อนหน้านั้นมีการประเมินว่าหากศาลพิพากษาให้จำคุก แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมเผชิญหน้ากับท้าชนด้วยการยอมติดคุก กำลังฝ่ายสนับสนุนโดยเฉพาะจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะเข้มแข็งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ว่ากันว่า “คุกจะแตก” หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมติดคุก แต่เมื่อเธอเลือกที่จะหนี จึงประเมินกันว่าพรรคเพื่อไทยและมวลชนผู้สนับสนุนจะอ่อนกำลังลง เพราะถือว่าขัดใจมวลชนอย่างมาก

25 สิงหาคม 2560 วันที่คนไทยทั้งประเทศรู้แล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนี เป็นวันเดียวกับที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยในคดีการทุจริตในโครงการระบายข้าวแบบ “จีทูจี” หรือ รัฐต่อรัฐ ดังนี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำคุก 42 ปี นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำคุก 36 ปี, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำคุก 40 ปี, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำคุก 32 ปี, นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำคุก 24 ปี และ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” จำคุก 48 ปี

ด้าน นายพานทองแท้ ชินวัตร ต้องอ่วมในคดีทุจริตในการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร โดยสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานฟอกเงิน โดยเจ้าตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 และส่งทนายสู้คดีเข้ายื่นแก้ข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ดูจะเป็นปีของการเตรียมการวางแผนเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไปของ คสช.ดังจะเห็นได้จากการที่ คสช.ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้เตรียมการสู่การเลือกตั้ง ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้ ซ้ำยังใช้มาตรา 44 แก้ไขกฎหมายดังกล่าว ขยายเวลาให้พรรคการเมืองใหม่เริ่มต้นเตรียมการได้ในเดือนมีนาคม 2561 พรรคการเมืองเก่า เริ่มต้นในเดือนเมษายน 2561

ปลายปี 2560 มีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ คือกระแสข่าว “บิ๊กรัฐบาล” เตรียมตั้งพรรคการเมือง ชื่อ “พรรคประชารัฐ” วางตัว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าพรรค ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ ทว่าสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกองเชียร์ “บิ๊กตู่” ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหา รวมถึง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอก

ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่” ก็มีพฤติกรรมเข้าหาประชาชนมากขึ้น โดยได้เดินสายลงพื้นที่และประชุม ครม.สัญจรอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง สะท้อนว่าเป็นความพยายามที่จะเข้าถึงประชาชน เรียกคะแนนนิยม ซึ่งในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้พบกับนักการเมืองในพื้นที่ 

แต่ในช่วงสุดท้ายของปี พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่ยืนยันให้เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 อย่างที่เคยปรารภไว้ก่อนหน้า แถมยังบอกอีกว่าถ้าบ้านเมืองยังไม่สงบก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

ดังนั้น คอการเมืองทั้งหลาย ต้องมาลุ้นกันอีกครั้งว่าจะได้กาบัตรในปีนี้หรือไม่??!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image