การเมือง เลือกตั้ง กับ ปัญหา”ความสงบ” ใคร”รับผิดชอบ”

เหมือนกับว่าคำประกาศ “สถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง การเลือกตั้งได้หรือเปล่า ผมไม่รู้ เพราะฉะนั้น อย่าทำให้มันเกิดขึ้น”

จะแสดงถึง “กำปั้น” แห่ง “อำนาจ”

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปยัง 2 พรรคการเมืองใหญ่ กล่าวคือ 1 พรรคประชาธิปัตย์ และ 1 พรรคเพื่อไทย

เพราะประโยคตามมา คือ “ผมไม่ได้ทำ”

Advertisement

“ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งขอให้มีความสงบสุขเรียบร้อย ถ้าไม่สงบเลือกตั้งไปแล้วยังมีการตีกันอยู่ผมก็รับผิดชอบไม่ได้”

กระนั้น สภาพการณ์นี้ก็เริ่มแปรเปลี่ยน

เป็นการแปรเปลี่ยนนับแต่มีการประกาศและบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ออกมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม

2 พรรคการเมืองใหญ่ก็เริ่มเป็นพวกเดียวกัน

ความจริงหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ย่อมมองเห็นลักษณะแปรเปลี่ยนในทางการเมือง

การปะทะระหว่าง 2 พรรคใหญ่เบาบางลง

แม้จะมีการแขวะ ตอดนิดตอดหน่อยกันบ้าง แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 แสดงเป้าหมายแจ่ม

ชัดว่าต้องการ “มัดตราสัง” ระบบสมาชิกของพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับ “พรรคทหาร”

การแสดงความเห็นไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย

จึงพุ่งไปยัง 1 คสช. 1 กองหนุนของ คสช.

เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทย ล้วนตกอยู่ในสภาพถูกกระทำอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน

จึง “รู้รัก” และ “สามัคคี” กันมากยิ่งขึ้น

ในความเป็นจริง ระยะหลังที่มีความพยายามเตะถ่วง รั้งดึง เพื่อยื้อกำหนดเวลาในการเลือกตั้ง ความขัดแย้งก็เริ่มแปรเปลี่ยน

อย่างที่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สรุป

แนวโน้มความขัดแย้งค่อยๆ พัฒนากลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับ คสช.มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

และรวมศูนย์อยู่กับความขัดแย้งใหญ่และสำคัญ

1 เป็นฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้งหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกของประเทศทำให้ได้รับการยอมรับในทางสากล

1 เป็นฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง

ในเบื้องต้นอาจพยายามจะยื้ออย่างสุดความสามารถบนพื้นฐานบทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” โดยมีความเชื่อมั่นว่าหากทอดเวลาการเลือกตั้งออกไปนานเพียงใด ยิ่งทำให้ได้อยู่ในอำนาจยาวเพียงนั้น

2 ความขัดแย้งนี่แหละจะค่อยพัฒนาและกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทางการเมืองสำหรับปี 2561 อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ในเมื่อ คสช.และรัฐบาลเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน มีหน้าที่ในการรักษาความสงบ แต่ต้องกลายเป็นคู่ความขัดแย้งเสียเอง

ประเด็น “การเลือกตั้ง” จึงละเอียดอ่อน

ไม่ว่าคำประกาศในเชิงข่มขู่ในห้วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่มี “การเลือกตั้ง” เป็นตัวประกัน แม้จะชี้นิ้วเข้าหาคนอื่น ฝ่ายอื่น

แต่ก็ยากที่ คสช.และรัฐบาลจะปฏิเสธการรับผิดชอบไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image