พระอัจฉริยภาพทางกฎหมาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 : โดย ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน

หมายเหตุ : ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ได้เขียนบทความเรื่อง “พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ซึ่งเห็นสมควรได้รับการเผยแพร่ไปสู่ประชาชนเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ปรากฏอยู่ชัดเจนในคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติเป็นเอกฉันท์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2530 ซึ่งมีข้อความที่ควรจะนำมาแสดงให้ปรากฏไว้อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้

“จำเดิมแต่สมัยที่แรกเสด็จขึ้นผ่านพิภพปกเกล้าปกกระหม่อมทวยนิกร ชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใฝ่พระราชหฤทัย ในการศึกษาวิชากฎหมายและการปกครองมาตั้งแต่ต้น ด้วยจักมีผลเป็นคุณประโยชน์แก่พระราชภาระในวันข้างหน้าได้ ทรงพระราชอุตสาหะวิริยะศึกษาวิชานิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยโลซานน์ ทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญในวิชากฎหมายอย่างบริบูรณ์ มิได้บกพร่อง ตามครรลองนัยวิธีเนติศึกษาในอารยประเทศ ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปตามวิถีทางแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญในนานาชาติ เป็นเหตุให้เพิ่มพูนพระวุฒิปรีชาสามารถในพระราชกรณียกิจให้ยิ่งยง

ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาดำรงฉัตร เป็นร่มเศียรชาวไทยในกรุงสยาม ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกิจตามนัยแห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้เคลื่อนคลาด ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชกระแสแนะนำอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ประเพณีการปกครองของบ้านเมืองบรรดารัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติทุกเรื่อง ตลอดจนพระราชกำหนดพระราชกฤษฎีกาก็ได้อาศัยพระมหากรุณาธิคุณตราขึ้นไว้เป็นหลักยุติธรรมของแผ่นดินกระทรวงศาลทั้งสิ้น ต่างก็ได้พิพากษาในพระปรมาภิไธย ครั้นเมื่อคดีวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว ก็ยังทรงเป็นประหนึ่งดวงแก้วตามคติโบราณอันมีมาในประเทศนี้ คือ เป็นพระผู้ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษโปรดให้คนโทษได้ลดหย่อนผ่อนพ้นทัณฑกรรม ด้วยอำนาจแห่งพระมหากรุณาทรงพระปรีชาสองส่องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษทุกเรื่องด้วยพระองค์เองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทรงทบทวนไตร่ตรองข้อความจริงทั้งปวงด้วยพระอัจฉริยภาพและความที่ทรงมั่นในพรหมวิหารธรรม มิได้ทรงลำเอียงหวั่นไหวด้วยอำนาจแห่งคติในข้อใดๆ ทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยแต่ที่จะอำนวยความยุติธรรมเป็นมั่นคงไม่คลอนแคลน

Advertisement

ทรงเป็นเสมือนหนึ่งแก่นของโลกยุติธรรม อันจักธำรงอยู่ตราบฟ้าและดิน

นอกจากพระราชจรรยาทั้งสิ้นที่ได้แสดงข้างต้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังทรงพระมหากรุณาเป็นพิเศษแก่วงการกฎหมายของชาติ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเหยียบศาลแพ่งและศาลอาญาสำหรับพระนคร เพื่อทรงเน้นความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมให้เห็นประจักษ์แจ้ง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดที่ทำการศาลหลายแห่งตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญทุกครั้งที่มีโอกาสได้ประทับบัลลังก์ประภาษคดีความโดยหลักกฎหมายและยุติธรรมอันเป็นสัตย์พระมหาการุณยภาพปรากฏชัดแก่ผู้ที่ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารจำนวนมาก ต่างก็ออกปากแซ่ซ้องชื่นชมพระบารมีปรีชาญาณทางฝ่ายกฎหมายกันอยู่โดยทั่วไป

ทรงเป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์แห่งเนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยพระราชประสงค์ที่จะหนุนนำวิชาชีพกฎหมายให้รุ่งเรืองเฟื่องฟู ทรงพระมหากรุณาเชิดชูเกียรติของนักกฎหมายให้ปรากฏแผ่ไกล โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักศึกษาอบรมกฎหมายของเนติบัณฑิตยสภามิได้ขาด แม้ในวงการกฎหมายระดับนานาชาติก็ได้ทรงประกาศเกียรติไทยให้กำจาย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมนักกฎหมายนานาชาติเป็นหลายครั้งหลายคราว พระราชดำรัสที่พระราชทานในที่ประชุมนั้นมีเรื่องราว สาระที่ควรคิดในทางนิติปรัชญา พระราชกฤดาภินิหารขจรกำจายไปในสากลประเทศ

Advertisement

แต่ที่นับว่าเป็นเหตุอันควรอัศจรรย์ และเป็นผลแห่งพระปรีชาสามารถใหญ่หลวงก็คือ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาททั้งปวงที่พระราชทานแก่นักกฎหมายหรือวงการที่เกี่ยวข้องในวาระโอกาสต่างๆ ได้ทรงเป็นต้นแบบที่ดำริสร้างแนวปรัชญากฎหมายที่เหมาะสำหรับสังคมไทย

ทรงย้ำเตือนไว้ในหลายแห่งว่า กฎหมายนั้นเป็นแต่เพียงเครื่องมือเสาะแสวงหาความยุติธรรม แต่กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความถูกต้องเที่ยงตรงเปี่ยมประสิทธิภาพได้ขึ้นอยู่กับการใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ เป็นสำคัญ นักกฎหมายจึงต้องมีเจตนาอันสุจริตปราศจากอคติไม่บริสุทธิ์ต่างๆ และที่สำคัญยิ่งคือทรงแนะแนวทางอันควรดำเนินสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านนิติศาสตร์ว่า พึงต้องมีบทบาทถือเป็นภารกิจในการเผยแพร่วิทยาความรู้ทางกฎหมายสำหรับประชาชน เพื่อเป็นเบื้องต้นของความสงบเรียบร้อยร่มเย็นตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาเขต

พระราชดำริเหล่านี้กระจ่างชัด ปราศจากเลศนัยอันพึงสงสัย หากแต่เป็นผลสุดท้ายจากพระบรมราชวิจารณญาณอันลุ่มลึกส่องสอบดูถี่ถ้วนทุกประการ พระบรมราโชวาทที่พระราชทานทุกครั้งสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีเอกภาพเพราะได้ทรงหยั่งทราบความเป็นไปในสังคมไทยโดยถี่ถ้วนประมวลกับพระปรีชาญาณด้านนิติศาสตร์ จึงได้พระราชทานปรัชญาฝ่ายกฎหมายอันเหมาะสมแก่สภาพการณ์ที่เป็นจริง และที่นับว่าเป็นมหามหัศจรรย์ยิ่งก็คือ ในเวลาที่พระราชทานพระราชกระแสเหล่านี้สมัยแรกๆ พระราชดำริเช่นนั้นเป็นของแปลกที่ไม่เคยมีผู้ใดริเริ่มดำเนินการมาก่อน เช่น การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายสำหรับราษฎรเป็นต้น

ครั้นเหตุการณ์ผ่านพ้นไปร่วมยี่สิบปีมาในบัดนี้ก็ปรากฏชัดแล้วว่านักกฎหมายทั่วหน้าต่างเห็นพ้องด้วยกับพระบรมราชบริหาร ต่างได้มีโครงการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริอยู่ทั่วไป ทั้งในฝ่ายหน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหลือล้นแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็คือ ในสมัยแรกเริ่มที่พระราชทานแนวคิดเชิงปรัชญาเช่นนี้ได้มีพระเมตตาธิคุณพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณาจารย์และนิสิตที่ศึกษาในทางด้านนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลายครั้ง

และได้เป็นจุดเริ่มของความคิดที่จะก่อตั้งศูนย์แนะนำกฎหมาย อันได้ดำเนินการอยู่ในบัดนี้ เดชะพระปรีชาบารมีบันดาลให้เกิดการพัฒนาอย่างสำคัญในวงการวิชาชีพกฎหมายโดยทั่วไป”

ในส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระราชดำรัสในเรื่องของกฎหมายหลายครั้ง ตั้งแต่พุทธศักราช 2512 ในฐานะอาจารย์และในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำนิสิตเข้าเฝ้าฯ ในโอกาสต่างๆ ซึ่งพระราชดำรัสทุกครั้งได้ปรากฏอยู่ในประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาททุกครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าจะได้หยิบยกพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายของพระองค์ท่านมากล่าวถึงเฉพาะในบางเรื่อง ที่ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานโดยตรงเท่านั้น เพราะยังมีพระราชดำรัสที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายโดยตรงอีกมาก ซึ่งพระราชทานแก่คณะบุคคลอื่นๆ ดังปรากฏอยู่ในประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ตั้งแต่พุทธศักราช 2493 เป็นต้นมา

นอกจากนั้น ในส่วนที่ได้มีโอกาสรับพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับกฎหมาย พร้อมทั้งพระราชวิจารณ์โดยลึกซึ้ง ซึ่งพระราชทานแก่ข้าพเจ้าในฐานะประธานรัฐสภา และในฐานะที่นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และในโอกาสอื่นๆ ซึ่งไม่ได้บันทึกพระสุรเสียงและไม่ได้ขอพระราชทานเผยแพร่นั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถหยิบยกนำมากล่าว ณ ที่นี้ได้ แม้ว่าพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ นั้น ได้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายอย่างสูงยิ่งของพระองค์ท่าน ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณนี้จะขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดไป

ในที่นี้ข้าพเจ้าขออัญเชิญพระราชดำรัสบางเรื่องมาแสดงให้ปรากฏไว้ดังต่อไปนี้ :

1.พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวัน “นิติศาสตร์จุฬาฯ” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม 2512 โดยพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอุกฤษ มงคลนาวิน อาจารย์ที่ปรึกษาแผนกวิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะกรรมการจัดงานวัน “นิติศาสตร์จุฬาฯ” จำนวน 40 คน เฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินซึ่งเป็นรายได้ส่วนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อ “ความมั่นคงของชาติ” ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ประมุขของสามอำนาจได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี, พ.อ.นายวรการบัญชา ประธานรัฐสภา และ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฏีกา โดยมี ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512 เพื่อพระราชทานเป็นทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาของผู้เสียชีวิตในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ซึ่งสรุปเป็นหัวข้อต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

กฎหมายกับความเป็นจริง

กฎหมายกับความเป็นอยู่ที่เป็นจริงอาจขัดกัน และในกฎหมายก็มีช่องโหว่มิใช่น้อย เพราะเราปรับปรุงกฎหมายและการปกครองอย่างโดยอาศัยหลักการของต่างประเทศ โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนว่า ในที่ใดเป็นอย่างไร ร้ายกว่านั้นก็ไม่คำนึงถึงว่าการปกครองของทางราชการบางทีไปไม่ถึงประชาชนด้วยซ้ำ จึงทำให้ประชาชนต้องตั้งกฎหมายของตนเองซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลวเป็นแต่มีบางสิ่งบางอย่างขัดกับกฎหมายของทางบ้านเมือง เช่น อย่างทางแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปีสองปีมานี้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ที่อพยพย้ายมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งหมู่บ้านอยู่ใกล้ขอบป่าสงวน คือ เรียกว่าล้ำเข้าไปในป่าสงวนบ้าง

คนเหล่านั้นเข้ามาทำมาหากินและอยู่กันด้วยความเรียบร้อยหมายความว่าได้มีการปกครองหมู่บ้านของตนเอง ไม่มีโจรไม่มีผู้ร้าย มีการทำมาหากินที่เรียบร้อย ขาดแต่อย่างเดียวคือนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแท้จริงเขาเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าที่จะเอานายอำเภอมาปกครองเขาเสียอีก แต่ว่าเมื่อขาดนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่ เขาก็เลยไม่เป็นประชาธิปไตยและปรากฏว่าเขากลายเป็นผู้ร้าย จวนๆ จะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

เราไม่ได้ปรารถนาเลยที่จะให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แต่เราก็สร้างขึ้นมาเองโดยไปชี้หน้าชาวบ้านที่เขาปกครองตัวเองดีแล้ว เรียบร้อยแล้ว เป็นประชาธิปไตยอย่างดีอย่างชอบแล้ว ว่าบุกรุกเข้าอยู่ในป่าสงวน และขับไล่ให้เขาย้ายออกไป คนเหล่านั้นเขาทำการงานเข้มแข็ง ทำงานดีตลอดเวลาหลายปีมาแล้วจากนครศรีธรรมราช ไม่เคยทำลายป่า แต่บังเอิญกฎหมายบอกว่าป่าสงวนนั้นใครบุกรุกไม่ได้ เขาจึงเดือดร้อน ป่าสงวนนั้นเราขีดเส้นบนแผนที่ เจ้าหน้าที่จะไปถึงได้หรือไม่ได้ก็ช่าง และส่วนมากก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไป ดังนั้น ราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่าที่ที่เขาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวน และเมื่อเราถือว่าเขาเป็นชาวบ้าน ก็ไปกดหัวเขาว่าเขาต้องทราบกฎหมาย แต่กฎหมายอย่างนี้เป็นแต่เพียงขีดเส้นทับเขาไม่ใช่กฎหมายแท้ ที่เป็นกฎหมายก็เพราะพระราชบัญญัติป่าสงวนเป็นกฎหมาย ซึ่งจะให้เขาทราบเองเป็นไปไม่ได้ เพราะทางฝ่ายปกครองเองไม่ได้นำเอากฎหมายนั้นไปแจ้งแก่เขา

สมัยโบราณจะให้ทราบเรื่องอันใดเขาต้องตีกลอง มาสมัยผู้ใหญ่ลีก็ยังตีกลอง แต่วันนี้ไม่มีผู้ใหญ่ลีจะตีกลองประกาศด้วยปากหน่อยเดียวก็เหมือนยังไม่มีกฎหมาย จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปว่าเขาว่า ไม่ทราบกฎหมาย ประชาชนย่อมทราบ แต่ว่าการปกครองไม่ดี และโดยประการนี้ จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่กฎหมายเพราะต่างคนต่างมีผิดมีถูกด้วยกันอยู่ ทางกฎหมายก็ว่ามีกฎหมายแล้วก็มีอำนาจหน้าที่ ทางประชาชนก็ว่าการเข้ามาทำกินเป็นกฎหมาย ที่นี้เมื่อขัดกันก็เกิดความเดือดร้อนทั้งสองฝ่าย

จึงเป็นหน้าที่ของผู้รู้กฎหมายที่จะต้องไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่ไปกดขี่ให้ใช้กฎหมายโดยเข้มงวด แต่ไปทำให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราอยู่ร่วมประเทศเดียวกัน ต้องอยู่ด้วยกันด้วยความอะลุ้มอล่วยไม่ใช่กดขี่ซึ่งกันและกัน

กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีช่องโหว่ในทางปฏิบัติ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปพูดถึงคำ “พอสมควร” ว่าเป็นหัวใจของประชาธิปไตย อธิบายว่าคนเรามีสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าใช้สิทธิเสรีภาพของแต่ละคนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะต้องไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย คนเราจึงมีสิทธิเสรีภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ต้องมี “พอสมควร” เสรีภาพต้องมีจำกัด จะว่าไม่จำกัดไม่ได้ ในสังคมหรือในประเทศ เสรีภาพของแต่ละคนจะต้องถูกจำกัดด้วยเสรีภาพของผู้อื่น จึงเห็นได้ว่า “พอสมควร” เป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ “พอสมควร” ก็เป็นสิ่งสำคัญถ้าเราจะปกครองหรือจะช่วยให้บ้านเมืองมีขื่อแป เราจะปฏิบัติตรงตามกฎหมายทั้งหมดไม่ได้ เพราะถ้าเราดูกฎหมายอย่างเช่น

เมื่อวานนี้ได้ดูกฎหมายการพิมพ์ มาตรา 36 ที่ว่า เมื่อมีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าพนักงานการพิมพ์เห็นว่าอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น เจ้าพนักงานการพิมพ์มีอำนาจเรียกตัวผู้โฆษณามาตักเตือน สั่งให้เสนอเรื่องที่จะพิมพ์ให้ตรวจก่อนหรือกระทำอย่างอื่นต่อไปอีกจนถึงลงโทษจำคุก ทั้งนี้ แล้วแต่จะตีความว่าฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เพียงไร

ดังนี้ เราจึงเห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่ตราขึ้นเพื่อให้การพิมพ์ข้อความต่างๆ เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่เบียดเบียนศีลธรรมของประชาชน ไม่เบียดเบียนความมั่นคงของประเทศนั้น เมื่อนำมาปฏิบัติย่อมขึ้นอยู่กับการตีความทั้งสิ้น

ความยืดหยุ่น (การใช้หลักรัฐศาสตร์)

ในด้านการปกครองนั้นก็สำคัญที่จะใช้หลักกฎหมาย ข้อนี้จะต้องใช้คำที่ ไม่ค่อยดี คือ “ความยืดหยุ่น” ต้องขอให้พิจารณาคำนี้ให้รอบคอบสักหน่อย ได้เห็นมามากเหมือนกันว่าถ้าปกครองด้วยหลักที่แข็งแกร่งแล้ว แม้ว่าจะสุจริตเท่าไรทุกสิ่ง ทุกอย่างก็พังหมด จึงต้องมีความยืดหยุ่น คือ ยืดหยุ่นในทางที่ดีเพราะความยืดหยุ่นนี้ ถ้าใช้ในทางที่ดีก็ดี แต่ถ้าใช้ในทางยืดหยุ่นตามใจตัวก็อาจกลายเป็นทุจริตไป จึงใช้ลำบากยิ่งนัก ยิ่งตัวมีความกดดันต่างๆ อยู่ ก็จะเป็นความทุจริตไปได้ง่ายๆ

เมื่อสามวันมานี้ ไปจังหวัดน่าน ได้เห็นความลำบากในการปกครองเพราะที่จังหวัดน่าน การคมนาคม ยังไม่สะดวก ท้องที่บางส่วนเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง อย่างอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขา เวลาที่บินผ่านไปที่หุบเขาข้างล่าง ก็กำลังมีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรและตำรวจจากบ้านด่านกับผู้รุกรานที่เขาเรียกว่าผู้ก่อการแม้ว ซึ่งรุกเข้ามาจากทางด้านเหนือในเขตประเทศลาวใกล้แม่น้ำงึม

หมายความว่า แถวนั้นพวกที่มาจากต่างประเทศซึ่งไม่ได้มาด้วยความเป็นมิตร แต่เข้ามารุกรานนั้นเดินเข้าเดินออกได้ง่ายๆ อย่างสบาย กฎหมายของประชาชนที่อยู่แถบนั้น จะถือกฎหมายไทยได้อย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่ของเราไม่กล้าไป ไปอยู่ก็โดนตีโดนยิง โดยยิงก็ไม่ใช่ยิงด้วยปืนลูกซอง แต่เป็นปืนกล ปืนครก รวมทั้งปืนที่ร้ายแรงต่างๆ อย่างที่ใช้ในสงคราม

เมื่อเจ้าหน้าที่ของเราไม่สามารถเข้าไปถึงเช่นนั้นจะมีการปกครองได้อย่างไร จะเรียกว่าเป็นป่าสงวนได้อย่างไร ดูจะไม่มีทางและก็พวกแม้วหรือพวกชาวเขาที่นั่น เราจะให้เขาทำตามกฎหมายของไทยเราได้อย่างไร เป็นปัญหาอยู่

ประชาธิปไตยโดยแท้ตามจุดประสงค์ ตามหัวใจของประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ตามตัวหนังสือ

ข้าพเจ้าได้กราบบังคมทูลเรื่องการจัดตั้ง “ศูนย์แนะนำกฎหมายสำหรับประชาชน” ขึ้นที่แผนกวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการโดยอาจารย์และนิสิต เพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ได้พระราชทานพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า

“ขอให้ทุกคนเรียนให้สำเร็จแล้วมาพิจารณาว่าต่อไปควรจะทำอะไรอย่างไร แต่หลักใหญ่ที่ได้ทำกันมาแล้วจนถึงวันนี้ก็คือรวมกลุ่มกันขึ้นมา แล้วจัดให้มีงานโดยมีอาจารย์ที่หวังดีที่เข้าใจกัน มาช่วยจัดงานสร้างศูนย์ ศูนย์กลางที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกที่ดี ในการติดต่อกับประชาชน ก็ขอให้เป็นการช่วยส่วนตัว และเมื่อพูดถึงหน้าที่ของตนก็ไม่ใช่ในทางรับหน้าที่ราชการ เพราะหน้าที่ราชการจะต้องไปสังกัดโน่นสังกัดนี่ มีผู้บังคับบัญชา มีผู้อยู่เหนือหัว แล้วต่อไปก็มีผู้ที่อยู่ใต้ตัว ขอให้พูดในฐานะที่เป็นนักศึกษา ในฐานะที่ตัวเป็นคนไทยที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้ที่มีความรู้น้อยกว่า ให้ความสะดวกเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขกันได้ ซึ่งจะเป็นการดีมาก และต่อไปก็จะต้องใช้สิ่งนี้รักษาสิ่งนี้ไว้เท่าที่จะทำได้ เพื่อที่บ้านเมืองของเราอยู่ด้วยการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยโดยแท้ตามจุดประสงค์ ตามหัวใจของประชาชนทั่วไป ไม่ใช่ตามตัวหนังสือ”

2.พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2513 โดยพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอุกฤษ มงคลนาวิน อาจารย์ที่ปรึกษานิสิตแผนกวิชาการนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” และนิสิตแผนกวิชานิติศาสตร์ จำนวน 47 คน เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการแสดงละครทางโทรทัศน์ เรื่อง “สายเสียแล้ว” ณ สถานีไทยโทรทัศน์ โดยเสด็จพระราชกุศลพระราชทานเป็นทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาของผู้เสียชีวิตในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย

ซึ่งการแสดงละครทางโทรทัศน์ในโอกาสดังกล่าวนั้น ได้เน้นปัญหาเยาวชนที่ขาดความอบอุ่นจากบิดา-มารดา ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “บ้านแตก” ในที่สุดได้ประกอบอาชญากรรมขึ้น เป็นการสะท้อนถึงปัญหาสังคมไทย ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ดังต่อไปนี้

ปัญหาเยาวชนต้องร่วมกันแก้ไข

การที่ทางนิติศาสตร์ได้จัดละครขึ้นในครั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง เพราะว่ากฎหมายนี้ต้องให้ประชาชนทราบถึงกลไกและความเป็นมาโดยตลอด ทั้งให้ได้เห็นว่ามีประโยชน์อย่างไรโดยเฉพาะที่ได้แสดง ก็ได้แสดงถึงความเป็นอยู่ในบ้านเมืองปัจจุบัน ในสังคมปัจจุบันซึ่งทุกคนมีความห่วงใยว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ที่เรียกว่าปัญหาเยาวชน หมายความว่าเยาวชนขาดความรู้และขาดที่เรียนก็เกิดทำตัวเป็นอันธพาล ตั้งกันเป็นแก๊งและได้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่สมมากขึ้นทุกที

การที่มีปัญหาเยาวชนนี้ไม่ใช่เรื่องของเจ้าหน้าที่ทางรัฐบาล หรือของทางการตำรวจที่จะปราบปรามเท่านั้นเอง เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะพยายามหาทางป้องกันและแก้ไข ตามที่เห็นอยู่และตามที่สังเกต มีปัญหาเยาวชนที่เกิดขึ้นนี้สาเหตุว่า เพราะเยาวชนเห็นว่าการทำมาหากินอย่างสุจริตนั้นมีความลำบากยากเข็ญ ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องมีความรู้ และต้องมีความอดทน การทำมาหากินในทางทุจริต คือ ในการตั้งกันเป็นแก๊งโจรง่ายกว่า แล้วก็มีตัวอย่างตามข่าวหนังสือพิมพ์ ตามโทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการหากินในทางเป็นผู้ร้าย ก็อาจสะดวกเหมือนกัน แล้วก็มีวิธีการที่ง่ายๆ แต่ว่าถ้าเยาวชนเหล่านั้นมีความรู้ และทราบถึงอันตราย ทราบว่ามีการคุ้มครองบ้านเมือง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและมีการตัดสินในโรงศาล ที่จะทำให้เข้าใจถึงอันตรายของอาชีพเหล่านั้น ก็จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจมากขึ้นที่จะขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเองและมีความพยายามในทางดีมากขึ้น งานที่ได้จัดขึ้นจึงเป็นงานที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

การช่วยกันให้ความรู้แก่เยาวชน

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนเพิ่มขึ้นมากก็หมายความว่ามีเด็กเกิดขึ้นมาก จะทำให้เกิดภาระบ้านเมืองที่จะหาที่เรียนหาที่สอนเยาวชนเหล่านั้นมากขึ้นทุกที ทางบ้านเมืองเราจะสร้างโรงเรียนและผลิตครูให้มากให้เหมาะกับจำนวนของเยาวชนที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ยาก ต้องหาวิธีอื่นที่จะแก้ปัญหานี้

วิธีอื่นก็มีอยู่ที่ว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่าและมีคุณวุฒิทางความรู้มากกว่าทุกคน ควรที่จะเอาใจใส่ในปัญหานี้คือ แม้ตัวจะไม่ได้เป็นครูหรือเป็นผู้มีอาชีพมีหน้าที่โดยตรงในการให้การศึกษา ก็สมควร ที่จะเอา ใจใส่ในการให้ความรู้แก่ผู้อื่น ผู้ที่เยาว์กว่าหรือผู้ที่เยาว์กว่าในคุณวุฒิ นักศึกษาซึ่งบางคนก็นับว่ายังเป็นเยาวชนอยู่เพราะอายุยังไม่มากนักก็เกิดมีหน้าที่ขึ้น แต่เพราะว่ามีอายุและมีคุณวุฒิมากกว่าประชาชนจำนวนมาก ก็เกิดเป็นหน้าที่ขึ้นมาที่จะต้องพยายามสอน ที่จะชี้แจงให้ผู้ที่เยาว์กว่าในอายุและวุฒิให้ทราบ และให้สามารถที่จะประกอบการงานอาชีพเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัว โดยไม่เบียดเบียนบ้านเมืองและต่อส่วนรวม

ขอให้ทุกคนได้นึกว่าเมื่อได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะเข้ามาเรียนในด้านกฎหมาย ก็มีหน้าที่อันใหญ่ที่จะต้องทำตั้งแต่บัดนี้ มิใช่ว่าสำเร็จการศึกษาไปแล้วจึงจะไปทำโดยที่อาชีพการงานของท่านต่อไปจะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งในบัดนี้ได้เล่าเรียนมาพอสมควรแล้ว ก็ควรจะได้เริ่มทำประโยชน์ได้ต่อส่วนรวมบ้าง ถ้าทำดังนี้ก็นับว่า แต่ละคนได้ทำประโยชน์ตามฐานะของตัวและประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยิ่ง ที่จะได้ป้องกันบ้านเมืองมิให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวาย ที่มีความยุ่งยากวุ่นวายก็มีมากพอแล้ว เราต้องพยายามที่จะระงับไป

อย่างที่เอาเงินมาให้สำหรับช่วยผู้ที่ปฏิบัติงานป้องกันบ้านเมืองก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าถ้าผู้ที่ป้องกันบ้านเมืองตามชายแดนต้องเสียชีวิตหรือต้องบาดเจ็บทุพพลภาพมีความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงเหล่านั้นได้ป้องกันประเทศสำเร็จแล้วแต่ประเทศข้างในมีความเน่าเฟะ ก็จะทำให้การเสียสละเสียเปล่าไม่มีประโยชน์เลย น่าเสียดายทั้งชีวิตคนทั้งสิ่งของ ทั้งเงินทอง ทั้งกำลังที่ได้ทุ่มเทไว้

เราทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะรักษาความเรียบร้อยในบ้านเมืองตามกำลังที่มีอยู่

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image