มุมมอง กก.ปฏิรูปสื่อ ชู 6 ประเด็นหลัก ‘ปชช.-สังคม’ เป็นตัวตั้ง

สมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานเครือมติชน และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

ในที่ประชุมได้หารือกันว่ากรอบความคิดทิศทางในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ เอาประชาชนและสังคมเป็นตัวตั้ง สิ่งที่เราคาดหวังคือสื่อทุกประเภท รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นไปเพื่อให้เป็นโรงเรียนของสังคม เพื่อที่จะเพิ่มอำนาจและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้เอาสื่อมาเป็นตัวตั้ง

โดยการปฏิรูปเพื่อให้เกิดดุลยภาพทั้ง 3 ส่วน คือ ประชาชน สื่อ และ ภาครัฐ ในรูปแบบสามเหลี่ยมโดยมีประชาชนอยู่ส่วนบนสุดเป็นตัวตั้ง แล้วทำให้เกิดความร่วมมือกันในการปฏิรูปทุกภาคส่วน

ขณะเดียวกันดุลยภาพตรงนี้ก็วางอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการทำหน้าที่ ในการรายงาน การแสวงหาข้อเท็จจริง และการเผยแพร่ บนพื้นฐานจริยธรรมและความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ สื่อเองจะต้องมีการกำกับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นสังคมประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้เป็นหลักใหญ่ที่กรรมการวางไว้

Advertisement

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ การปฏิรูปครั้งนี้ต้องสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ด้านคือ 1.เทคโนโลยี ที่มีการหลอมรวมสื่อทุกแขนง 2.ความเปลี่ยนแปลงมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งนอกจากสื่อจะเป็นผู้ผลิตสื่อแล้ว ผู้บริโภคก็ยังเป็นผู้ผลิตสื่อด้วย

เพราะฉะนั้น ทุกภาคส่วนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคสื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาสู่แนวทางปฏิบัติว่าเราจะปฏิรูปอะไรกันบ้าง ซึ่งจะจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเพื่อเสนอต่อที่ประชุมร่วมคณะกรรมการทั้ง 13 คณะและจะมีการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

โดยแบ่งเป็น 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

Advertisement

ประเด็นที่ 1 ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปสื่อภาคประชาชน ให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการใช้สื่อร่วมกัน ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันสื่อ

ขณะเดียวกันมีการสร้างระบบกลไกในการเรียนรู้ในภาคการศึกษา สนับสนุนให้มีหลักสูตรการเรียนรู้ด้านสื่อเกิดขึ้นในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา เพื่อให้สังคมและผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ยังมีการสนับสนุนให้มีกลไกในการติดตาม ดูแล ตรวจสอบ

และร้องเรียนในภาคประชาชนในการดูแลกำกับสื่อ เพราะการที่สังคมเข้มแข็ง รู้เท่าทันสื่อก็จะทำให้สื่อต้องมีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น

ประเด็นที่ 2 เรื่องการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หลักใหญ่สำคัญคือ มีกลไกทำให้ระบบการกำกับตัวเองของสื่อมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเราจะพบว่าการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อก็จะเน้นด้านจริยธรรมเป็นหลัก

ขณะเดียวกันก็มีการทำให้มาตรการทางสังคมเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้มาตรฐานการควบคุมดูแลกันเองของสื่อมีสภาพบังคับมากขึ้น ตรงนี้พบว่าสื่อจะไม่ค่อยชอบที่จะมีกฎหมายเฉพาะมาบังคับ

แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ ประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ การทำหน้าที่เป็นหลัก แต่เมื่อสังคมเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าแค่นั้นไม่สามารถเป็นหลักประกันเพียงพอว่ามาตรการต่างๆ ที่ใช้กันนั้นไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร สังคมก็ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร

จึงมีการออกกฎหมายเพื่อเสริมและส่งเสริมให้มาตรการการดูแลกันเองของสื่อมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีมาตรฐาน จริยธรรมกลางขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพในการกำกับกันเองด้วย

ประเด็นที่ 3 การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยปฏิรูปสื่อทุกแขนง รวมถึงสื่อทีวีดิจิทัลที่กำลังประสบปัญหา ส่งผลถึงเนื้อหาสาระด้วย แล้วยังมีมาตรการในการสนับสนุนส่งเสริมและจูงใจในการพัฒนาคุณภาพเนื้อหาสาระให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปมองในเรื่องอุตสาหกรรมสื่อ ไม่ได้มีเพียงเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ยังเน้นไปถึงเรื่องเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทั้งสื่อภาคเอกชน และสื่อภาครัฐ ที่เรามีข้อเสนอว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาเนื้อหาสาระของสื่อภาครัฐให้น่าสนใจ ทั้งเนื้อหาและรูปแบบให้มีความถูกต้องแม่นยำบนพื้นฐานความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนาโครงข่ายที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ หรือโครงสร้างโทรคมนาคม ซึ่งมีมาตรการหลายอย่างออกมาสนับสนุน

“ที่ประชุมได้หารือกันว่ากรอบความคิดทิศทางในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ เอาประชาชนและสังคมเป็นตัวตั้ง สิ่งที่เราคาดหวังคือสื่อทุกประเภท
รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นไปเพื่อให้เป็นโรงเรียนของสังคม เพื่อที่จะเพิ่มอำนาจและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้เอาสื่อมาเป็นตัวตั้ง”

 

ประเด็นที่ 4 มีการเสนอให้มีแนวทางการปฏิรูปและการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ซึ่งมีหลายจุดที่น่าเป็นห่วงและมีผลกระทบในการใช้สื่อออนไลน์ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สังคมมีหลักประกัน ให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น

รวมถึงมีมาตรการปกป้องและคุ้มครองในการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมทั้งการนำนวัตกรรมและสารสนเทศมาบูรณาการ ในการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันยังมีการให้จัดทำกลไกประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในต่างประเทศ ในการแก้ปัญหา

ตลอดจนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลและคุ้มครองการทำธุรกรรมออนไลน์ของประชาชน และแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต ภายใต้การพัฒนาระบบการประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังจากทุกภาคส่วน

ประเด็นที่ 5 การปฏิรูปการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศ และระบบเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ โดยการนำสื่อมาใช้เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ

โดยเฉพาะการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชนมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ประเด็นที่ 6 การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เพราะการปฏิรูปสื่อ ถ้าเราปฏิรูปแค่ 2 ด้าน คือสื่อ และประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่เพียงพอ เพราะอีกส่วนหนึ่งคือ ภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการข้อมูลข่าวสารต่างๆ จึงมีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปและการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ได้ไปถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้องและทันสมัย

ถ้าภาครัฐเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น มีการจัดตั้งระบบคลังข้อมูลข่าวสาร รวมถึงพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ สื่อเองก็ไม่ต้องประสบปัญหากำแพงความลับต่างๆ

ตรงนี้จะทำให้การปฏิรูปครั้งนี้ครบถ้วนทุกภาคส่วนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

เป็นประเด็นหลัก 6 ประเด็น ที่คณะกรรมการเห็นว่าต้องดำเนินการตามลำดับ โดยที่ประชุมร่วมของประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะพิจารณา โดยแต่ละห้วงเวลามีกำหนดเวลา 30 วัน ในการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีในที่ประชุม สนช.แล้วออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามกระบวนการตามกฎหมาย

ในส่วนการปฏิรูปมีกรอบระยะเวลา ดังนั้น จึงมีเรื่องของความต่อเนื่อง แต่ประเด็นที่สำคัญมากคือการเปิดให้มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน การปฏิรูปจึงจะสำเร็จและมีความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่ใช่การคิดขึ้นมาเองเป็น 11 อรหันต์ ทำกันเองโดยเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง

สำหรับผลหลังการปฏิรูปแล้ว ในส่วนตัวสื่อในรายปัจเจกจากทุกแขนงต้องกลับมาดูแลตัวเองและควบคุมตัวเองให้มากขึ้น และยึดมั่นในมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมอย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกันกลไกการกำกับดูแลตนเองที่ผ่านมา จะต้องมีการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นจริงและมีสภาพบังคับยิ่งขึ้น เพราะมีกลไกและกระบวนการภาคประชาชน จะตรวจสอบและติดตามสื่อตลอด เป็นการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ส่วนสื่อภาครัฐ ก็จะหันมาพิจารณาว่าการทำหน้าที่ของสื่อภาครัฐ ก็ต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้งด้วย!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image