ย้อนคดี ‘นักการเมือง’ ปี’60 หลังประตูเรือนจำ

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีนักการเมืองไทยหลายคนผ่านเข้า-ออกประตูเรือนจำอยู่จำนวนไม่น้อย

บางคนผ่านเข้าและผ่านออกมาแล้ว บางคนผ่านเข้า-ผ่านออกอยู่บ่อยๆ ส่วนบางคนผ่านเข้าแต่ยังไม่ผ่านออก ขณะที่บางคนต้องผ่านเข้าเรือนจำแต่ไม่ยอมผ่าน

ดังนั้น ลองมาไล่เรียงกันว่ามีใครน่าสนใจบ้าง …

คนแรกเป็นใครไปไม่ได้ เขาคือ “เฮียชู” นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้จำคุก 2 ปี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 ในคดีที่นายชูวิทย์และพวกรื้อบาร์เบียร์ย่านสุขุมวิทจนราบเป็นหน้ากลอง นับเป็นคดีที่ต่อสู้กันยาวนานกว่า 13 ปี

Advertisement

ตั้งแต่ปี 2546 ตั้งแต่ชั้นศาลฎีกา ซึ่งระหว่างทางที่ต่อสู้คดีนายชูวิทย์ได้กลายเป็นเจ้าพ่อจอมแฉ โดยเริ่มจากการที่ออกมาแฉว่า ตัวเองโดนตำรวจอุ้ม จากนั้นก็เดินหน้าแฉวงการตำรวจ ทั้งเรื่องการรับส่วย สินบน และอื่นๆ อีกมากมาย จนในที่สุดก็มุ่งหน้าสู่ถนนสายการเมือง ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 และถูกพิพากษาในวันที่ 28 มกราคม 2559 โดยนายชูวิทย์ได้มีการชดเชยให้ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจ พร้อมนำที่ดินไปทำเป็นสวนสาธารณะให้กับประชาชนแทนการสร้างศูนย์การค้า จึงถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี

ทั้งนี้ นายชูวิทย์เดินเข้าเรือนจำแบบทำใจมาก่อนแล้ว พร้อมบอกนักข่าวว่า ไม่เคยคิดแม้วินาทีเดียวที่จะหลบหนีไปจิบไวน์บนเรือยอชต์ จากนั้นไม่กี่เดือน คือวันที่ 16 ธันวาคม 2559 “ชูวิทย์” ก็พ้นคุก โดยได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วยการปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2559 โดยก่อนหน้านั้นเดือนสิงหาคม 2559 นายชูวิทย์ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วยการ “ลดโทษ” ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้รับการลดโทษ 1 ใน 4 ของโทษทั้งหมด เพราะเป็นนักโทษชั้นดี ก่อนเข้าเงื่อนไขได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว

อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปีไม่รอลงอาญา ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ในคดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนพ.สุรพงษ์ สมัยรัฐบาลนาย ทักษิณ ชินวัตร ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์

Advertisement

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาพักโทษของกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาพักโทษ นพ.สุรพงษ์ เนื่องจากมีความประพฤติดี จนถูกจัดอยู่ในผู้ต้องขังชั้นดี โดยคณะกรรมการให้สิทธิลดโทษ 1 ใน 5 หรือเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน จากโทษจำคุก 1 ปี ทำให้ นพ.สุรพงษ์เดินออกจากเรือนจำมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

นี่คือสองนักการเมืองที่เดินเข้าไปในเรือนจำ และได้รับการปล่อยตัวแล้ว

ต่อมาคือนักการเมืองที่เดินเข้าไปในเรือนจำ และยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

คนหนึ่งคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่หลังจากเข้าๆ ออกๆ คุก เพราะทำผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวในคดีต่างๆ จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ศาลฎีกาก็มีคำสั่งพิพากษาให้นายจตุพรในฐานะจำเลยต้องโทษ จำคุก 1 ปี ในคดีหมิ่นประมาท นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 ที่วัดไผ่เขียว แขวงสีกัน เขตดอนเมือง นายจตุพรได้ปราศรัยโดยใช้เครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนกว่าหมื่นคน กรณีปราบปรามม็อบเสื้อแดง ลักษณะว่าเป็นรัฐบาลที่สั่งทหารให้ไปยิงประชาชน การกระทำของจำเลยทำให้นายอภิสิทธิ์ในฐานะโจทก์ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทำให้นายอภิสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลเอาผิดกับนายจตุพรฐานหมิ่นประมาท

ทั้งนี้ เบื้องต้นคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยกฟ้องนายจตุพร โดยศาลเห็นว่า การนำสืบรับได้ว่าเป็นกรณีที่มีการปราศรัย แถลงข่าว วิพากษ์วิจารณ์ เป็นการตอบโต้ทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่นายอภิสิทธิ์ก็เดินหน้าสู้คดีต่อ โดยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุที่นำมาสู่การกล่าวหมิ่นประมาท ที่ไม่ใช่เพียงการตอบโต้ทางการเมือง ซึ่งศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากรูปคดีมีเหตุผลที่ทำให้นายจตุพรในฐานะจำเลยเชื่อว่าน่าจะมีมูลเหตุในเรื่องที่กล่าวถึงจริง ซึ่งการกล่าวของนายจตุพรเป็นการปกป้องตน หรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 239 (1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

สุดท้าย นายอภิสิทธิ์ก็ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฎีกาคดีอีก ซึ่งเป็นเหตุให้นายจตุพรต้องเข้าไปนอนในเรือนจำอีกครั้งเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 วัน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาพิพากษายืน จำคุกนายจตุพร 12 เดือน จากกรณีนายจตุพรขึ้นเวทีชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 11 และ 17 ตุลาคม 2552 ปราศรัยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ประวิงเวลาในการทำความเห็นเสนอต่อสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตามที่กลุ่มเสื้อแดงร่วมกันลงชื่อถวายฎีกา รวมทั้งการกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์เป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน ดังนั้น เมื่อนายจตุพรถูกจำคุกมา 1 ปีแล้ว คาดว่านายจตุพรจะพ้นโทษประมาณกลางปี 2561

ขณะที่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และ ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งมีคำพิพากษาในคดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไปสดๆ ร้อนๆ หลังจากที่นายบุญทรงและนายภูมิสู้คดีมายาวนานกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตาม คดีนี้นับว่าเป็นคดีใหญ่ของการเมืองไทยส่งท้ายปี”60 คดีหนึ่งเลยก็ว่าได้ โดยจุดเริ่มต้นของคดีขายข้าวจีทูจีของนายบุญทรง และนายภูมิเกิดขึ้นจากการที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรค ปชป. ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.เมื่อปี 2555 การร้องครั้งนี้ของ “หมอวรงค์” ทำให้นายบุญทรงและนายภูมิถูก สนช.ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 พร้อมคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (ช่วงต้นปี 2558) เพื่อพิจารณาส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่ออัยการสูงสุดได้พิจารณาร่วมกับ ป.ป.ช.แล้ว วันที่ 19 มีนาคม 2558 จึงส่งฟ้องศาล โดยศาลรับฟ้อง ซึ่งคำฟ้องโดยสรุปคือ จำเลยทั้งหมดร่วมกันกระทำความผิด แบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้บริษัท GSSG และบริษัทไห่หนาน เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศในราคาพิเศษแบบจีทูจี ทั้งที่ 2 บริษัทนี้ไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน และไม่ต้องแข่งขันราคากับรายอื่น และนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าตลาดในประเทศไปขายต่อให้ บริษัท สยาม อินดิก้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการข้าวในประเทศ ขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ คำฟ้องยังระบุด้วยว่า จำเลยที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการประจำ รู้หรือน่าจะรู้ว่าการกระทำดังกล่าวผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ควรยกเลิกการทำสัญญาขายข้าว แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ ศาลได้เริ่มไต่สวนพยานนัดแรก วันที่ 2 มีนาคม 2559 และไต่สวนนัดสุดท้าย วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ก่อนนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งผลของคดีศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ส่งผลให้นายบุญทรงและนายภูมิต้องรับโทษจำคุก 42 ปี และ 36 ปี ตามลำดับ

สุดท้ายที่นับเป็น “คดีประวัติศาสตร์” อีกคดีหนึ่งของการเมืองไทย นั่นคือคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่คดียังไม่ทันตัดสิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็หายตัวลึกลับผ่านช่องทางธรรมชาติ หลังจากเทียวขึ้นศาลสู้คดี 26 นัด ยาวนานกว่า 2 ปี 6 เดือน สืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยรวมกว่า 50 ปาก

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของคดีนี้เริ่มจากที่เมื่อปี 2555 โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.ปชป. ยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว และปี 2557 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่ามีความผิดฐานไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน และส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด จากนั้นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยหนึ่งเดือนถัดมาองค์คณะตุลาการก็ได้ประทับรับฟ้อง

จากนั้น วันที่ 15 มกราคม 2559 เริ่มการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์นัดแรก ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2559 เริ่มการไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เบิกความเป็นพยานปากแรกเอง และวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 เป็นการไต่สวนพยานนัดสุดท้าย ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 และวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำตัดสินตามกำหนด โดยทางทีมทนายความแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นป่วยด้วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นเหตุให้ศาลออกหมายจับ เนื่องจากพิเคราะห์เห็นว่าจำเลยไม่น่าจะเจ็บป่วยจนถึงขนาด
มาศาลไม่ได้ พฤติการณ์นี้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหลบหนี และให้ยึดเงินประกันจำนวน 30 ล้านบาท พร้อมนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 27 กันยายน 2560

เมื่อถึงกำหนดเวลาฟังคำพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่ปรากฏตัว และเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์มาศาลได้ตามหมายจับ องค์คณะจึงปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยทันที โดยสรุปพิพากษาให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลยในคดีเป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image