พุทธศาสนาไทยกับประชาธิปไตย โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประชาธิปไตยที่ไม่มีธรรมะ คือหายนะมวลรวมประชาชาติ” พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งเพิ่งโพสต์ลงเฟซบุ๊กของท่าน หลายคนคงนึกถามว่า “แล้วเผด็จการล่ะ?” ระบอบปกครองอะไรก็ตามที่เปิดให้คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ใช้อำนาจเด็ดขาด โดยปราศจากการตรวจสอบต่อรองจากใครทั้งสิ้น ยิ่งต้องการธรรมะหรือเครื่องเหนี่ยวรั้งทางใจเสียยิ่งกว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นไหนๆ ทำไมถึงไม่เตือนผู้นิยมเผด็จการ กลับมาเตือน
ผู้นิยมประชาธิปไตยอยู่ฝ่ายเดียว

คำถามเดียวกันนี้สามารถใช้กับคำกล่าวของพระภิกษุอีกท่านหนึ่ง ซึ่งแม้มรณภาพไปแล้ว ยังมีชื่อเสียงมากกว่ารูปแรกอีกซ้ำ คำกล่าวของท่านมีว่า “เมื่อไม่มีศีลธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ระบอบประชาธิปไตยนั่นแหละเป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด

อันที่จริงไม่ว่าระบอบอะไรก็ต้องการศีลธรรมเป็นพื้นฐานทั้งสิ้น โดยเฉพาะระบบที่ยกอำนาจให้คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว หากไร้ศีลธรรมเป็นพื้นฐานแล้วย่อมเป็นระบบที่เลวร้ายกว่าประชาธิปไตยแน่

จะว่าคนไทยอยากเป็นประชาธิปไตยนัก จึงต้องเตือนไว้ก่อน ก็ฟังไม่ขึ้นนัก นับตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 จนถึงปัจจุบัน เราตกอยู่ใต้อำนาจของระบอบที่เป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ หรือระบอบเผด็จการทหาร มากเสียยิ่งกว่าได้ลิ้มรสประชาธิปไตยจริงอย่างเทียบกันไม่ได้ หากจะเตือนอะไรใครละก็ ไม่มีใครต้องเตือนมากไปกว่าจอมพลหรือนายพลที่ใช้อำนาจขึ้นไปนั่งบนหัวประชาชน และคำเตือนอะไรก็ไม่เหมาะไปกว่าคำเตือนที่อาจกำกับหรือรอนอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของคนเหล่านั้น

Advertisement

เว้นไว้แต่ “ธรรมะ” และ “ศีลธรรม” ในเมืองไทย ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงทางสังคม, เศรษฐกิจ, และการเมืองของไทยเลย และนี่แหละคือประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยไม่อาจตั้งมั่นขึ้นได้สักที และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม พระไทยนั่นแหละคือผู้สนับสนุนเผด็จการที่เหนียวแน่นที่สุดกลุ่มหนึ่ง

“ธรรมะ” หรือ “ศีลธรรม” ที่หมายถึงคืออะไรกันแน่ หากหมายถึงธรรมะและศีลธรรมของพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย ก็เห็นจะไม่ใช่แล้วล่ะ ในสังคมประชาธิปไตยอื่นๆ อีกมากในโลก เขาก็อยู่กันโดยสงบสุขมาได้โดยไม่ได้มีธรรมะและศีลธรรมของพุทธเถรวาทแบบไทย

Advertisement

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ธรรมะหรือศีลธรรมของประเทศประชาธิปไตยเหล่านั้นล้วนไม่เป็นธรรมะหรือศีลธรรมของศาสนาใดทั้งสิ้น เพราะส่วนใหญ่ล้วนประกาศตนเป็นรัฐฆราวาส คือความเชื่อทางศาสนาก็ตาม การจัดองค์กรทางศาสนาก็ตาม ฯลฯ เป็นเสรีภาพของบุคคล ซึ่งรัฐไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ นอกจากปกป้องเสรีภาพนั้นไว้อย่างเต็มที่

พระไทยอาจกล่าวว่า แม้ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่โลกเราก็มี “ธรรมะ” และ “ศีลธรรม” อันเป็นสากล ซึ่งบางอย่างก็ตรงกับธรรมะและศีลธรรมทางศาสนา

สมมุติว่าเราเห็นด้วยว่ามีศีลธรรมที่เป็นสากลจริง ทำไมพระไทยไม่เคยสอนศีลธรรมเหล่านี้บ้าง เช่น ความเสมอภาคระหว่างเพศ, ความเท่าเทียมของคน ไม่แต่เพียงเพราะต่างมีศักยภาพจะบรรลุพระนิพพานได้เท่านั้น แต่ควรเข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยเหมือนกัน, การศึกษาที่ดีเหมือนกัน, การรักษาพยาบาลที่ดีเหมือนกัน, มีเวลาและโอกาสที่จะแสวงหาความสุขในชีวิตได้เหมือนกัน ฯลฯ หรือเสรีภาพในการนับถือศาสนา, แสดงความคิดเห็น, เดินทาง, ประกอบการทางเศรษฐกิจ, เป็นสมาชิกขององค์กร, และเสรีภาพด้านอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนบางกลุ่มเชื่อว่าเป็นศีลธรรมหรือคุณค่าอันเป็นสากลของโลกปัจจุบัน

นอกจากพระไทยไม่สอนหรือไม่พูดเรื่องเหล่านี้แล้ว ท่านยังมักเฉยเมยหรือบางครั้งถึงกับสนับสนุนการล่วงละเมิดศีลธรรมอันเป็นสากลเหล่านี้ด้วยซ้ำ (โดยส่วนตัวซึ่งอาจผิด ผมเชื่อว่าเราสามารถกลมกลืนเอาคุณค่าที่ควรเป็นสากลเช่นนี้เข้ามาในพุทธธรรมได้ด้วย ซึ่งนักคิดชาวพุทธไทยไม่เคยทำ)

พระท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า นักบวชหรือผู้นำทางศาสนาของเกือบทุกสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนเคยมีบทบาทออกมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในประเทศของตนเอง เพื่อฟื้นฟูเอกราชของชาติบ้าง ประชาธิปไตยบ้าง เสรีภาพในการนับถือศาสนาบ้าง ยับยั้งอำนาจเผด็จการบ้าง ฯลฯ แต่พระไทยไม่เคยเคลื่อนไหวอะไรในเรื่องเหล่านี้เลย

ที่พูดนี้ไม่ได้ต้องการให้พระเป็นผู้นำการเดินขบวน แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่านักบวชหรือผู้นำทางศาสนาของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ต้องเผชิญกับ “ธรรมะ-ศีลธรรม” ใหม่ที่อาจไม่ตรงกับ “ธรรมะ-ศีลธรรม” ทางศาสนานัก กลายเป็นปัญหาที่ต้องกลมกลืนเข้าหากัน หรือวางจุดยืนทางศาสนาของตนให้ตั้งอยู่ได้ในสถานการณ์ทางศีลธรรมซึ่งเปลี่ยนไปของโลกปัจจุบัน

โดยสรุปก็คือ “ธรรมะ-ศีลธรรม” ที่พระไทยใช้ในคำกล่าวเพื่อทอนความสำคัญของประชาธิปไตยนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะเป็นธรรมะ-ศีลธรรมของพุทธลุ่นๆ โดยไม่ได้ผนวกกลืนเอาศีลธรรมของประชาธิปไตยลงไว้ด้วยเลย

ประชาธิปไตยมีศีลธรรมของตนเองที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา นักการเมืองในระบอบนี้ไม่ได้รับผิดชอบกับพระเจ้าหรือสวรรค์นรกที่ไหน แต่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เขาจะมีศีลธรรมทางศาสนาหรือไม่ก็ตาม ตราบเท่าที่ประชาชนเห็นว่าเขาเป็นตัวแทนที่ดีของตน เขาก็ยังได้รับเลือกตั้งสืบมา

ดังนั้นเสรีภาพในการเสนอและรับข่าวสารข้อมูลจึงเป็นศีลธรรมพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบตัวแทนของเขาได้ ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่น่าพอใจ ประชาชนก็ต้องมีเสรีภาพในการจัดองค์กรและเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้มีผลต่อรัฐบาลและนักการเมืองได้ เสรีภาพด้านนี้ก็เป็นศีลธรรมพื้นฐานอีกอย่างของประชาธิปไตย ซึ่งจะล่วงละเมิดมิได้… คิดไปเถิด จะเห็นได้เองว่าประชาธิปไตยมี “ธรรมะ-ศีลธรรม” ที่สลับซับซ้อนและจำนวนมากเหมือนกัน ซึ่งไม่อาจทดแทนได้ด้วย “ธรรมะ-ศีลธรรม” ของพระพุทธศาสนา

พระจะพูดถึงประชาธิปไตยโดยละเลยต่อศีลธรรมประชาธิปไตยไม่ได้ อย่าลืมว่ากิจกรรมที่มนุษย์ต้องกระทำต่อคนอื่น ล้วนมีศีลธรรมกำกับทั้งสิ้น และไม่จำเป็นว่าศีลธรรมนั้นจะต้องตรงกับศาสนาเสมอไป

เพราะละเลยต่อศีลธรรมของประชาธิปไตยเช่นนี้แหละ ที่ทำให้พระไทยเป็นปราการอันแข็งแกร่งให้แก่ระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ ในเมืองไทยตลอดมา

ที่น่าเศร้าไม่น้อยไปกว่าพระภิกษุก็คือ แนวคิดด้านสังคมของไทยที่อิงกับหลักพุทธธรรม ดูจะเอื้อต่อระบอบเผด็จการและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเสมอ เช่นทฤษฎีให้อำนาจแก่คนดี หรือสังคมสงบสุขที่ทุกคนเพียงทำหน้าที่ของตนเอง หรือบทบาท หน้าที่และสิทธิ ล้วนมาจาก “อัตภาพ” หรือ “เสถียรภาพ” คือความไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ หรือ “ระเบียบ” ทางสังคมย่อมตั้งอยู่บนฐานของช่วงชั้น

แม้แต่แนวคิดที่ไม่ได้อ้างหลักพุทธธรรมโดยตรง แต่อิงกับหลักความสามัคคีแบบพุทธไทย ก็มีส่วนเอื้อให้แก่ระบอบเผด็จการ เช่นทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (ซึ่งกลายเป็นประชารัฐในปัจจุบัน) เพราะสามด้านของสามเหลี่ยมคือรัฐ-เอกชน-ประชาชนถูกเสนอให้ประหนึ่งเป็นเนื้อเดียวกันหมด

ในขณะที่ในความเป็นจริง ใครๆ ก็รู้ดีว่า ที่เราเรียกว่า “รัฐ” นั้นประกอบด้วยหน่วยงานจำนวนมากที่ขัดแย้งกันเอง และแย่งอำนาจกันเอง จนไม่สามารถประสานงานกันทำอะไรได้สักอย่าง ที่เรียกว่าเอกชนหรือภาคธุรกิจ ยิ่งแข่งขันกันอย่างหนัก ซ้ำเป็นการแข่งขันที่ไม่สร้างสรรค์ด้วย เพราะไม่ได้อาศัยการพัฒนาเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน แต่อาศัยการเข้าถึง “เส้น” ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อชิงข้อได้เปรียบจากอำนาจรัฐ

ส่วนประชาชนไทยไม่ได้เป็นชาวนาขนาดเล็กที่ผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองอีกแล้ว แต่เข้าสู่ตลาดด้วยบทบาทที่แตกต่างหลากหลาย และขัดแย้งกันเอง

หากมองจากความเป็นจริง สามเหลี่ยมเดียวที่อาจเขยื้อนภูเขาได้ คือ ประชาธิปไตย ซึ่งเปิดให้ความขัดแย้งปรากฏเป็นสาธารณะ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่สามด้านที่ไม่มีความขัดแย้งภายในหันหน้ามาร่วมมือกัน  ด้วยความสามัคคีคือภาพของนิทานชาดก ซึ่งต้องมีพระโพธิสัตว์มากำกับด้วยธรรมะ-ศีลธรรมเท่านั้น

โดยสรุปก็คือ พุทธธรรมถูกใช้ในเมืองไทยโดยไม่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งพระและฆราวาสช่วยกันวางท้องเรื่องของปัจจุบันและอนาคตของไทย เหมือนเป็นชาดกนอกนิบาตอีกเรื่องหนึ่ง (หรือหลายเรื่อง) แต่ละเรื่องล้วนเอื้อให้ระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในสังคม และทำให้นักประชาธิปไตยกลายเป็นคนบาปหรือคนพาล (คนโง่)

พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของเจ้าชายที่มีกำเนิดในรัฐที่เป็นสาธารณรัฐ กลับถูกนักปราชญ์ไทยทำให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยไปอย่างมั่นคงแน่นอน

ในฐานะชาวพุทธ นี่เป็นเรื่องน่าสลดอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image