ผ่าแผนระบบรางปี’61 ‘ทางคู่-ไฮสปีด-รถไฟฟ้า’

หมายเหตุ – กระทรวงคมนาคมเดินหน้าโครงการระบบรางภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2559 หรือแอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 1 และแอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 2 ปี 2560 ได้สำเร็จจนสามารถลงนามในสัญญา และก่อสร้างหลายโครงการ ดังนั้นในปี 2561 จึงเป็นปีแห่งการสานต่อโครงการต่างๆ ให้เดินหน้าตามแอ๊กชั่นแพลนที่กำหนดไว้


โครงการระบบรางภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง แอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 1 และแอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 2 ปี 2560 ได้สำเร็จจนสามารถลงนามในสัญญาและก่อสร้างหลายโครงการไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 7.92 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 3.97% ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท อยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อลงมือก่อสร้างแล้ว

นอกจากนี้ ยังมี รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง 702 กม. รวม 9 สัญญา มูลค่า 69,531 ล้านบาท ก็สามารถลงนามในสัญญาได้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา คือ 1.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 136 กม. แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290 ล้านบาท 2.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 168 กม. แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย วงเงิน 6,465 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร วงเงิน 5,992 ล้านบาท 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน 8,198 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,520 ล้านบาท 4.ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กม. แบ่งเป็น สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม วงเงิน 10,050 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ท่าแค-ปากน้ำโพ วงเงิน 8,649 ล้านบาท และ 5.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 5,807 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงานภายในปลายปี 2565

ขณะเดียวกันก็มี รถไฟไทย-จีน หรือ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ที่ได้ลงมือก่อสร้างตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ไป เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีก 3 ตอน คือ ตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กม. ตอนที่ 3 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กม. และตอนที่ 4 ช่วงแก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กม. ได้แบ่งประกวดราคาออกเป็น 13 สัญญา จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2561 เช่น ตอนที่ 2 ช่วงปากช่อง-คลองขนานจิตร์ จะเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 1 เป็นต้น ตั้งเป้าหมายเปิดบริการปี 2564

Advertisement

ส่วนการดำเนินงานระยะที่ 2 จากนคราชสีมา-หนองคาย จะดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ในปี 2561 โดยไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเอง จะใช้ผลการศึกษาและแบบการก่อสร้างที่ รฟท.เป็นผู้ดำเนินการนำเสนอ ครม.อนุมัติ ซึ่งการก่อสร้างในระยะที่ 2 กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าไม่มีอะไรยุ่งยากเหมือนระยะที่ 1 เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ไม่มีภูเขา

สำหรับปี 2561 นี้ การก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ทางรางที่ต้องเดินหน้าต่อยังมีอีกหลายโครงการเช่นเดียวกัน ทั้งที่อยู่ภายใต้แอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 1 และแอ๊กชั่นแพลน ระยะที่ 2 ที่จะต้องเดินหน้าต่อเนื่อง

เริ่มจากรถไฟทางคู่อีก 9 เส้นทาง วงเงินรวม 398,383.25 ล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ 1.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กม. วงเงิน 51,823.83 ล้านบาท 3.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท 4.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท 5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กม. วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท 6.ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท 7.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท 8.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. วงเงิน 35,839.74 ล้านบาท และ 9.ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 60,351.91 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้

Advertisement

โดยในบรรดารถไฟทางคู่ทั้งหมดนี้มี 2 เส้นทางที่เป็นรถไฟสายใหม่ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ซึ่งช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 57 ปีแล้วที่ประชาชนในพื้นที่รอคอยที่จะใช้บริการ ขณะที่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ก็เป็นเส้นทางสายใหม่เช่นเดียวกัน ได้ศึกษาตั้งแต่ปี 2537 ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่พยายามผลักดันให้มีรถไฟทางคู่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ขนส่งสินค้า และพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่

ยังมี ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทาง คือ สายสีม่วง (ด้านใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงานจะได้ตัวผู้ชนะประมูลในเดือนกันยายน และเริ่มก่อสร้างปลายปี 2561 และ สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ ระยะทาง 12.9 กม. วงเงิน 111,186 ล้านบาท

รถไฟชานเมืองอีก 2 เส้นทาง คือ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 7,596 ล้านบาท สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 31,149.35 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 7 กม. เงินลงทุน 11,989 ล้านบาท ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. เงินลงทุน 13,701 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 17,262 ล้านบาท

ที่สำคัญมี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 260 กม. วงเงิน 200,000 ล้านบาท โดยเส้นทางนี้จะพาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มี 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน รวมถึงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม.วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาทด้วย

นอกจากนี้ ยังมี รถไฟไทย-ญี่ปุ่น หรือ รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. วงเงิน 4.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. วงเงิน 2.8 แสนล้านบาทก่อน โดยปลายปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ได้ส่งรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้ไทยแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมของไทยอยู่ระหว่างเร่งสรุปแนวทางการดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนให้เสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ก่อนทยอยเปิดประมูลต่อไป

โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เฉพาะรถไฟทางคู่ ที่ค้างคามานาน รัฐบาลก็จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนจากการใช้รถบรรทุกหรือรถยนต์มาใช้รถไฟมากขึ้น ในปี 2561 ก็ยังมุ่งมั่นที่จะขยายทางคู่ออกไปอีก เพื่อให้ครบทั้งประเทศ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะทยอยนำเสนอที่ประชุม ครม.อนุมัติ เพื่อทำการประกวดราคาหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้างได้ ซึ่งในเส้นทางที่จะเดินหน้าก่อสร้างนี้ ก็มีเส้นทางใหม่ที่ประชาชนในพื้นที่รอมานานมาก คือ สายบ้านไผ่-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

ทั้งนี้ ในอนาคตกระทรวงคมนาคมก็มอบหมายให้ รฟท. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์) เพิ่มเติมด้วย เพราะขณะนี้อีสต์-เวสต์ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมแล้ว ส่วนทางด้านนครสวรรค์-บ้านไผ่ ยังขาดอยู่ ดังนั้นช่วงระหว่างนครสวรรค์-บ้านไผ่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ขณะที่ช่วงนครสวรรค์ไปแม่สอด ทาง รฟท.มีผลการศึกษาไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องของรถไฟทางคู่ยังไม่หยุดยั้งเพียงเท่านี้ ยังต้องวางแผนให้มีรถไฟเส้นเลือดฝอยไปยังอำเภอต่างๆ โดยเป็นเส้นเลือดฝอยที่เกาะเกี่ยวเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งก็จะต้องมีการศึกษาต่อไป เพื่อวางแผนไว้ในอนาคต โดยเส้นเลือดฝอยที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นความเร็วสูง เพราะรถไฟปกติก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะมีส่วนสร้างขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานของไทยได้เพิ่มขึ้นด้วย

นายอาคมยังระบุด้วยว่า ในปี 2561 การเบิกจ่ายของกระทรวงคมนาคม จะมากกว่าปี 2560 ส่วนหนึ่งมาจากรถไฟทางคู่ เพราะเมื่อลงนามก่อสร้าง 5 เส้นทางระยะเร่งด่วนแล้ว ก็สามารถเบิกจ่ายได้เลย 15% โดยปลายเดือนมีนาคม ก็น่าจะเริ่มเคลียร์พื้นที่เพื่อก่อสร้างได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นที่ดินของ รฟท.เอง ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เมื่อลงมือก่อสร้างตอนที่ 1 แล้ว ตอนที่ 2 อีก 11 กม.ก็จะเดินหน้าตามแผนงานที่กำหนดต่อไป โดยเป็นเม็ดเงินลงทุนในปี 2561 ด้วย

ด้านรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีเริ่มก่อสร้างแล้ว จะเดินหน้าสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ต่อไป โดยจะเสนอ ครม.ไปพร้อมกับการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) การเดินรถตลอดเส้นทาง คือ จากมีนบุรี-บางขุนนนท์ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ ส่วนสายสีม่วง (ด้านใต้) ครม.อนุมัติแล้ว อยู่ระหว่างทำทีโออาร์ คาดว่าจะประกวดราคาเพื่อก่อสร้างได้ในปีนี้ ขณะที่สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา จะเสนอ ครม.ปีนี้เช่นเดียวกัน โดยจะพยายามประกวดราคาเพื่อก่อสร้างให้ทันปีนี้ด้วย ซึ่งตามกำหนดการในเดือนมกราคมจะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพราะฉะนั้นเดือนกุมภาพันธ์จะเข้า ครม.ได้

สำหรับสายสีแดง ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ทางนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถามมาอย่างต่อเนื่อง เพราะอยากให้ก่อสร้าง ก็ยืนยันไปแล้วว่า ทำไปถึงแน่นอน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็จะประมูลปีนี้

“การลงทุนภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยไตรมาส 3 ปี 2560 จีดีพีอยู่ที่ 4.3% ส่วนทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 4% และปี 2561 เมื่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งออกดีขึ้น ตัวการลงทุนภาครัฐช่วยเสริม จีดีพีก็จะพุ่งขึ้นไปอีก โดยแผนลงทุนคมนาคมเป็นแผนลงทุนระยะ 8 ปี จนถึงปี 2565 ดังนั้นในช่วงปี 2558-2565 การันตีได้ว่าเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐด้านคมนาคมจะยังมีต่อเนื่อง” นายอาคมระบุ

ท้ายที่สุดจะมีโครงการไหนเดินหน้าได้สำเร็จตามแผน ยังต้องจับตาใกล้ชิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image