คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “ไอเอส” ในอุษาคเนย์

อัล มูฮัมหมัด อัลฟี ไคเรียล (ภาพ-MFT)

ล่วงพ้นปีใหม่ คงจำเป็นต้องปรับปรุงข้อมูลเพื่อการรับรู้เกี่ยวเนื่องกับ “กองกำลังรัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” กันใหม่อยู่บ้างบางประการ เพราะแม้ในทางสากลการคุกคามจากการก่อการร้ายของไอเอส ถูกลดระดับความสำคัญลงไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม สัญญาณบอกเหตุหลายอย่างในปีที่ผ่านมากลับแสดงให้เห็นว่าอุษาคเนย์ของเราอาจต้องติดตามพัฒนาการของกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกนี้อย่างใกล้ชิด

ชนิดเผลอกะพริบตาเมื่อไหร่ อาจเป็นเรื่องได้ทุกเมื่อเหมือนกัน

หากเราไม่นับการสู้รบอย่างเปิดเผย ระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกองกำลังติดอาวุธเมาเตและกลุ่มอาบู ไซยาฟ ที่เมืองมาราวี ประเทศฟิลิปปินส์ ต่อเนื่องนานถึง 5 เดือน กว่าจะได้ผลสรุปเบ็ดเสร็จก็ปาเข้าไปปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนที่ว่านั้น ก็ยังมีความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับกองกำลังติดอาวุธที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไอเอสในภูมิภาคที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกหลายเหตุการณ์ตามมา

แรกสุดเป็นเรื่องของการค้นพบ “เซลล์” ก่อการร้ายของไอเอส ในรัฐกลันตัน ตอนเหนือของมาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นพรมแดนติดต่อกันกับ จ.นราธิวาส หนึ่งในพื้นที่ “มีปัญหา” ชายแดนใต้ของไทยเรา เซลล์ย่อยขนาดเล็กที่ตำรวจมาเลเซียบุกเข้าทลายในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ถูกระบุว่ามีหน้าที่ “ลักลอบขนอาวุธ” ข้ามแดน เพื่อไป “สะสม” ไว้สำหรับปฏิบัติการในมาเลเซีย

Advertisement

ข้อมูลของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายบอกว่า เซลล์ไอเอสกลุ่มนี้ทำหน้าที่เช่นนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

พ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว หลายฝ่ายคิดว่าสถานการณ์ลักลอบค้าอาวุธข้ามแดนจะจบลง แต่กลับตรงกันข้าม ในเดือนธันวาคม ทางการปากีสถานรวบตัว อัล มูฮัมหมัด อัลฟี ไคเรียล เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ชาวเมืองคูชิง ในรัฐซาราวักของมาเลเซีย ขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินการบินไทยเดินทางจากท่าอากาศยานจินนาห์มายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฐานต้องสงสัยว่าเป็นหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสและลักลอบขนอาวุธ

หลังตรวจสอบพบอาวุธปืนสั้น 4 กระบอก กับแม็กกาซีนและกระสุนอีกเป็นจำนวนมากในกระเป๋าสัมภาระ

แม้ข้อมูลจากการสอบสวนเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องสงสัยไม่ได้มีเจตนาจะ “ลงมือ” ก่อการร้ายในประเทศไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ชี้ให้เห็นกระจ่างชัดว่า เครือข่ายลักลอบขนและสะสมอาวุธของไอเอส ยังคงดำเนินต่อไปเป็นปกติดีหลังการกวาดล้างเมื่อกลางปี

โดยภาพรวมแล้ว ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญการ “รองรับ” จาก 2 ทาง ทางหนึ่งคือการรองรับการ “กลับบ้าน” ของนักรบไอเอส เมื่อที่มั่นในซีเรียและอิรักล่มสลาย อีกทางหนึ่งก็คือรองรับสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธที่ประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งของไอเอส ที่ “แตกพ่าย” และหลงเหลือมาจากศึกมาราวี

ทั้ง 2 ทาง ก่อให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า พัฒนาการลำดับถัดไปของ “ไอเอส” ในอุษาคเนย์คืออะไร?

พาเวล วอยจ์ชิค นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวโปแลนด์ บอกกับ ซัม ยูซา แห่ง “ฟรีมาเลเซียทูเดย์” (เอฟเอ็มที) เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาว่า นักรบไอเอสจากอุษาคเนย์ที่เดินทางไปร่วมกับรัฐกาหลิบอิสลามก่อนหน้านี้ น่าจะรวมตัวกันอยู่ที่ เดเอียร์ อิซ ซอร์ เขตปกครองท้องถิ่นที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนซีเรีย-อิรัก

หลังจากที่ส่วนหนึ่งตกเป็นเชลยอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพซีเรียประชาธิปไตย (เอสดีเอฟ) หรือไม่ก็กองทัพอิรัก อีกส่วนหนึ่งหลบหนีไปพร้อมกับกองกำลังไอเอสอื่นๆ เข้าไปอยู่ในแหล่งหลบซ่อนในดินแดนตุรกี เมื่อ รอกเกาะ ที่ไอเอสสถาปนาขึ้นมาเป็นเมืองหลวง ถูกยึดไปตอนปลายปีที่แล้ว

ข้อมูลของวอยจ์ชิคน่าสนใจอยู่ 2 ประเด็น หนึ่งคือ นักรบไอเอสที่ถูกระบุว่ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น หลักๆ แล้ว ประกอบด้วย คนสัญชาติอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ไม่มีคนที่ถือสัญชาติไทย ประเด็นถัดมาก็คือ คนเหล่านี้ยังเลือกที่จะเกาะกลุ่มกันอยู่ ไม่ได้ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ตั้งใจจะเดินทางต่อ เพื่อไปทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ในความเชื่อของตนเองในที่อื่นๆ อาทิ ในโซมาเลีย เป็นต้น

“นักรบจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักตัดสินใจอยู่สู้จนถึงที่สุดหรือตายในซีเรีย หรือไม่ก็กลับมาบ้านเกิดเท่านั้น ไม่คิดจะไปที่อื่น” วอยจ์ชิคระบุ

วอยจ์ชิคระบุว่า วันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา กองกำลังไอเอสในระดับ อัล-คาห์เอียร์ วิลายัต หรือระดับจังหวัด เพิ่งเผยแพร่คลิปโฆษณาชวนเชื่อแสดงการปฏิบัติหน้าที่ “ประหารชีวิตเหยื่อ” ของ เมกัต ชาห์ดาน อัลดุล ซามัด หรือที่รู้จักกันในชื่อจัดตั้งว่า “อาบู อูเคย์ล” ผู้ก่อการร้ายไอเอสสัญชาติสิงคโปร์ ร่วมกับบุคคลอื่นอีก 2 คนซึ่งเชื่อว่าเดินทางไปจากอุษาคเนย์เช่นเดียวกัน

อัล-คาห์เอียร์ วิลายัต อยู่ในเดเอียร์ อิซ ซอร์ เป็นพื้นที่ปฏิบัติการหลังแนวรบของไอเอส และเคยประสบความสำเร็จในการยึดเมืองเล็กๆ ฝั่งขวาของแม่น้ำยูเฟรติสมาแล้ว

เอเอียร์ อิซ ซอร์ จึงเป็นไปได้ที่สุดที่จะเป็นศูนย์รวมของนักรบไอเอสจากอาเซียน อย่างน้อยก็ในช่วงนี้

ในการสู้รบระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกองกำลังติดอาวุธเมาเต และอาบู ไซยาฟ ที่มาราวี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อราวเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และกว่าที่จะยุติลงได้ กองทัพฟิลิปปินส์ก็ต้องใช้เวลาถึงปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกันเลยทีเดียว

พาเวล วอยจ์ชิค ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในแง่ของการกล่าวอ้างถึง “นักรบต่างชาติ” ที่ตามรายงานในสื่อตะวันตกระบุว่ามีไม่น้อยกว่า 80 ราย และมีที่มาหลากหลายมาก ตั้งแต่จากซาอุดีอาระเบีย, เยเมน, เชชเนีย เรื่อยไปจนถึงอุยกูร์และจากภาคพื้นทวีปแอฟริกา ว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดกันมากกว่าอย่างอื่น

โดยข้อเท็จจริงแล้ว “นักรบต่างชาติ” ดังกล่าว ไม่ได้มาจากชาติในยุโรป หากแต่หลักๆ แล้วเป็น “ต่างชาติ” ที่เดินทางไปจากมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นหลัก ข้อมูลของเทอเรอริสม์ รีเสิร์ช และอนาไลซิส คอนซอร์เตียม หรือแทรค ระบุว่า กว่า 30 คนหรือเกือบครึ่งในจำนวนนั้นเดินทางไปจากมาเลเซีย ที่เหลือก็เป็นอินโดนีเซีย ถือเป็น “นักรบต่างชาติ” ที่มีนัยแตกต่างกับนัยที่หน่วยข่าวตะวันตกใช้กันจริงๆ

สิ่งที่วอยจ์ชิคกำลังจะบอกก็คือ เมื่อมาราวีถูกกองทัพฟิลิปปินส์ยึดคืนนั้น คนเหล่านี้ไม่ได้เดินทางออกนอกภูมิภาค แต่ยังคงอยู่ในภูมิภาค ขึ้นอยู่กับว่าจะไปที่ใดต่อเท่านั้นเอง

ยอดรวมของผู้เสียชีวิตในระหว่าง “ศึกมาราวี” นั้น มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นสมาชิกของกองกำลังติดอาวุธที่เคยประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งของไอเอส

นาธาน เซเลส เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านต่อต้านการก่อการร้ายให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยกย่องว่าฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในการกวาดล้างที่มาราวี แต่ก็เตือนด้วยว่าทั้งภูมิภาคยังจำเป็นต้องระแวดระวัง และจับตาความเคลื่อนไหวของทั้งบรรดาคนที่ “เล็ดลอด” จากมาราวีไปได้ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่มีอยู่อีกมากมาย

ถึงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือผู้เชี่ยวชาญอิสระทั้งหลาย ยังคงถกกันไม่ได้ข้อยุติว่าความเคลื่อนไหวต่อไปของไอเอสในภูมิภาคนี้คืออย่างไร

ส่วนหนึ่งเชื่อว่า บรรดานักรบไอเอสที่พ่ายแพ้อาจจำเป็นต้องเก็บตัว ซุกงำตัวเองอยู่พักใหญ่ เพื่อสั่งสมทั้งกำลังคนและกำลังอาวุธ

อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า คนที่มีประสบการณ์เหล่านี้อาจตัดสินใจเคลื่อนไหวไปยังจุดที่มีความขัดแย้ง และมีการต่อสู้กันอยู่ในเวลานี้ในภูมิภาค

นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่เป็นภาคใต้ของไทย ก็คงต้องเป็นรัฐยะไข่ในพม่านั่นเอง

ในฟิลิปปินส์ ไอเอสมีกลุ่มติดอาวุธที่ประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามอยู่หลายกลุ่ม หลังผ่านศึกมาราวี กองกำลังที่ได้รับความเสียหายที่สุดเป็นเมาเต ซึ่งเชื่อกันว่ามีสมาชิกหลงเหลือไม่มากมายนัก ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมาเต สูญเสียแม้กระทั่ง อิสนิลอน ฮาปิลอน ที่เป็นหัวขบวนและได้รับการสถาปนาจากไอเอสให้เป็น “เอเมียร์” ของไอเอสประจำภูมิภาคนี้ ตอนนี้เชื่อกันว่าอยู่ในความควบคุมของ “อาบูดาร์”

แต่นอกเหนือจากเมาเต ยังมีอาบู ไซยาฟ ขบวนการนิยมความรุนแรงสุดโต่ง ที่ตอนนี้อยู่ในความควบคุมของ ฟูรูยี อิดามา และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “บังซาโมโร นักรบเสรีภาพอิสลาม” (บีไอเอฟเอฟ) ที่อยู่ภายใต้การนำของ อิสมาอิล อับดุลมาลิก ที่ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “อาบู ทูรัยฟี” ซึ่งมีรายงานบางกระแสระบุว่าเคยส่งคนของตนไปช่วยเหลือเมาเตและอาบูไซยาฟ ในศึกมาราวีด้วยเช่นเดียวกัน

หลังการสู้รบที่มาราวี กองทัพฟิลิปปินส์อ้างว่าได้สังหาร ซาบาฮัน โมฮัมหมัด อามิน บาโค ชาวมาเลเซียวัย 31 ปี ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหมายเลข 1 ของมาเลเซีย ในระหว่างการ “จับตาย” ผู้ก่อการร้าย 42 คนสุดท้ายที่อยู่ในสภาพ “จนมุม”

ซาบาฮัน โมฮัมหมัด อามิน บาโค (ภาพ-MFT)

แต่ไม่นานต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์ที่ได้ตัวนักรบต่างชาติที่พยายามหลบหนีออกจากมาราวีรายหนึ่งได้ เปิดเผยว่า ตอนนี้ อามิน บาโค คือผู้นำกลายๆ ของนักรบไอเอสในภูมิภาคนี้ แทนที่ฮาปิลอน ซึ่งเสียชีวิตที่มาราวีเช่นเดียวกัน ที่สุดกองทัพฟิลิปปินส์ก็จำเป็นต้องยอมรับว่า เป็นไปได้ที่ อามิน บาโค จะหลุดรอดร่างแหไปได้

อายุบ ข่าน มัยดิน พิทเชย์ ผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซีย เคยเปิดเผยเอาไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า อามิน บาโค คือ “ลูกเขย” ของฮาปิลอน

หลายคนเชื่อว่า เป็นไปได้ที่ อามิน บาโค จะก้าวขึ้นมาแทนที่ ด้วยบุคลิกแข็งกร้าวและความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายและการสู้รบแบบกองโจร โดยเฉพาะฝีมือในการประกอบระเบิด ที่เรียนรู้โดยตรงจาก ซุลกีฟลี ฮีร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “มาร์วัน” อดีตมือระเบิดหมายเลข 1 ของมาเลเซีย ที่ถูกล้อมปราบเสียชีวิตในอินโดนีเซียเมื่อปี 2015

ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญ อามิน บาโค จึงอันตรายกว่าผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่มติดอาวุธของไอเอสในภูมิภาคนี้่ ไม่เว้นแม้แต่ อิสนิลอน ฮาปิลอน เองด้วยซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image