บทความ สมหมาย ภาษี เรื่อง สวัสดีปีใหม่ แด่เศรษฐกิจไทยปี 2561

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว จนกระทั่งได้เริ่มปีใหม่ 2561 มาแล้ว มีแต่คนตั้งคำถามให้ได้ยินกันทั่วไปว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าดีขึ้นแล้วปี 2561 นี้ จะดีต่อเนื่องไปอีกหรือไม่

คำถามที่มาจากคนไทยทั้งระดับกลางและระดับล่างแบบชาวบ้านเช่นนี้ จะได้คำตอบที่ต่างกันออกไป ถ้าเป็นคนของรัฐบาลทั้งระดับสูงและผู้ทำงานใกล้ชิด รวมทั้งนักวิชาการที่ความรู้ไม่เกินครึ่งตุ่มก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าดีขึ้นแล้ว ดีไม่น้อยทีเดียว ก็ดูซิตัวเลขที่ชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศ หรือ GDP นั้น เดิมทีเมื่อต้นปีที่แล้วรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบตัวเลขนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างก็กำหนดอัตราการขยายตัวไว้ที่ 3.2-3.5% เท่านั้นแหละ แต่ดูซิตอนนี้หน่วยงานเหล่านี้ได้ปรับเป็น 3.9-4.0% แล้ว จะไม่ดีได้อย่างไร หรือใครจะเถียง

ถ้ามองแต่ตัวเลข GDP นี้ ผมเองคนหนึ่งละที่ไม่กล้าเถียงคนของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันเมื่อได้คุยกับเพื่อนฝูงหลายคนที่ทำมาค้าขาย และที่เท้าติดดินอยู่ตลอดเวลา คนเหล่านี้กลับพูดตรงกันข้ามกับตัวเลข GDP ที่ออกมา อย่างเช่น ปัดโธ่เว้ยมันดีขึ้นตรงไหนครับ ในเมื่อพรรคพวกที่รู้จักพากันทยอยปิดกิจการ เดินไปตามตรอกซอยชาวบ้านชาวช่องที่มีอาชีพขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขายอาหาร ก็บอกว่าไม่ดีขึ้นเลย กำลังคิดจะเลิกทำแล้วไปหาอย่างอื่นทำ หรือไปรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ให้พอยังชีพได้ดีกว่า

ในมุมที่กว้างใหญ่อีกมุมหนึ่ง ถ้ามีโอกาสไปบ้านนอก เที่ยวไปสอบถามชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนทั่วทุกภาค ก็จะได้รับคำตอบที่เหมือนกันว่า อะไรดีขึ้นหรือ ไม่เห็นอะไรจะมาช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้เลย ปีที่ผ่านมาดินฟ้าอากาศดีปลูกข้าว ปลูกพืช ได้ดีกว่าเก่า แต่ไม่เห็นจะขายได้ราคาดีขึ้นเลย อย่างปลูกข้าวได้ผลมากขึ้น แต่ได้เงินเพิ่มมานิดเดียว ดีที่ยังมีข้าวเหลือให้เก็บไว้กินเองได้บ้าง

Advertisement

ชาวสวนทางใต้ก็ส่ายหัวเหมือนกัน เขาบอกว่ายางกรีดได้ปกติ ปริมาณการส่งออกของยางแผ่นรมควันและน้ำยางข้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาไม่ดีขึ้นเลย น้ำมันปาล์มก็เช่นกัน แม้ผลผลิตในปี 2560 ออกมาต่อเนื่องเพราะดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย แต่กลับปรากฏว่าราคาปรับลดลงค่อนข้างมาก แล้วชาวสวนจะเก็บเงินได้อย่างไร พวกชาวสวนปลูกผักผลไม้ขายก็พูดเสียงเดียวกันว่าจะฟื้นกันได้ยังไง ในเมื่อที่ทำๆ อยู่ทุกวันนี้ ยังไม่เคยมีเงินติดกระเป๋าเป็นเรื่องเป็นราวเลย

ตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ปี 2560 ของทางการบ่งบอกชัดเจนว่าได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ถึงร้อยละ 4.3 โดยภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 9.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตสาขาเกษตรกรรมและการประมง แต่อนิจจาดัชนีราคาสินค้าเกษตรกลับลดลงร้อยละ 12.9 นี่แหละที่เกษตรกรร้องกันว่า ทำไร่ทำนาได้ผลดีในปีที่ผ่านมา แต่เงินรายได้ไม่เห็นเพิ่มขึ้นมาเลย

ดังนั้น หากจะถามว่าปีใหม่ 2561 นี้ เศรษฐกิจรากหญ้าจะดีขึ้นไหม ตอบได้เลยว่าคงจะยาก นอกเสียจากว่าราคาสินค้าเกษตรทั้งหลายของไทยจะพร้อมใจกันขายได้ราคาดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม เช่น การผลิตของประเทศคู่แข่งที่มีมากขึ้นทุกขณะ ทั้งในเรื่องข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอื่นๆ จะไม่เปิดโอกาสให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยดีขึ้นจากภาวะปัจจุบันได้ง่ายๆ

Advertisement

ทีนี้ลองหันมาดูสถานการณ์ด้านแรงงาน จากสภาพข้อเท็จจริงที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้แรงงานขั้นต่ำของไทยได้ถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมากทั่วทุกภาคของประเทศ อันนี้จะโทษการทะลักเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ เพราะในปัจจุบันนี้เด็กไทยไม่อยากทำงานระดับต่ำ ในระดับไร่นาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีระดับคนแก่คนเฒ่าและแรงงานวัยกลางคนทั้งนั้น ชาวนาทุกวันนี้จะพยายามส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือเพื่อรับการศึกษาที่สูงขึ้น เรียนจบกันแล้วหางานที่สูงขึ้นได้บ้าง ในด้านบริการ ในด้านการค้า และด้านอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือก็หายไปกับการทำงานที่ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของสังคม นับตั้งแต่เรื่องการพนัน เรื่องผิดกฎหมาย ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงการค้ายาเสพติด ภาวะแรงงานวัยหนุ่มวัยสาวของไทยทุกวันนี้จึงนับว่าหาอนาคตที่มั่นคงยากมาก

เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจรากหญ้า ยังมีอีกมิติหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก คือมิติของคนหากินด้วยการประกอบอาชีพอิสระเล็กๆ น้อยๆ เช่น แม่ค้าพ่อค้าขายของในตลาด หรือขายโชห่วยเล็กๆ ร้านขายอาหาร แผงขายไข่ ขายผักสดผักแห้ง ฯลฯ ที่มีอยู่ตามตรอกซอกซอยมุมถนนต่างๆ บนฟุตปาธที่เคยมีอยู่ทั่วไปในเขตชุมชน ทั้งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร หรือในต่างจังหวัด บรรดารากหญ้าเหล่านี้นับวันแต่จะหดหายไปตามกาลเวลา เพราะถูกแย่งอาชีพโดยร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย ซึ่งแผ่กระจายออกไปอย่างไม่มีจุดจบ ทั้งในส่วนของเมืองหลวงและในส่วนภูมิภาค นับวันที่ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งบางแห่งมีชาวต่างชาติถือหุ้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง ประเทศไทยกิจการของร้านเหล่านี้โตเร็วมาก และในขณะเดียวกันพวกรากหญ้าที่เคยทำมาค้าขายมาแต่โบราณกาล ก็ถูกเบียดให้ออกไปนอกเส้นทางทำมาหากินมากยิ่งขึ้นทุกวัน เรื่องนี้มีให้เห็นได้ชัดเจนทั่วทุกหัวระแหง

ขอให้ดูสถิติการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อที่เป็นคู่แข่งใหญ่ของธุรกิจโชห่วยของชาวบ้านร้านตลาดซึ่งเป็นคนจนทั้งหลายกันบ้าง ขณะนี้ยักษ์ใหญ่ มีร้านเปิดใกล้จะทะลุ 10,000 สาขาในประเทศไทย และยังคงสยายปีกในอัตราสปีดสูงสุด ขณะที่ รองลงมามีสาขาแล้วประมาณ 1,500 สาขา และ อีกแบรนด์ 1,130 สาขา อีกยี่ห้อ 400 สาขา และอื่นๆ อีกหลายยี่ห้อ ที่กำลังไล่ตามมา

ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มีสูตรจัดบริการให้ตรงกับลักษณะและขนาดของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในซอยเล็กซอยน้อย คอนโดมิเนียมในเขตเมือง ส่วนบริการที่จัดให้ทุกอย่าง ไม่ว่าอาหารจานด่วน ไข่ต้ม ไล่ไปจนถึงการให้บริการแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เช่น การชำระค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ รับเรื่องซักรีด บริการถ่ายเอกสาร ตลอดทั้งรับส่งแฟกซ์ 24 ชั่วโมง ขอให้ทราบไว้ด้วยครับว่า ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ ล้วนแต่มีทุนต่างชาติปนอยู่ทั้งนั้น แล้วจะมีหนทางให้เศรษฐกิจรากหญ้าของไทยลืมตาอ้าปากได้อย่างไร นี่แหละยุคประเทศไทย 4.0

ในเรื่องการสยายปีกแผ่เงาของร้านสะดวกซื้อทำให้พ่อค้าแม่ขายหวาดกลัว ช่างตรงกับคลิปทางโซเชียลมีเดียออกมาวิจารณ์และต่อต้านการขยายกิจการของร้านเหล่านี้กันมาก และทั้งได้ทราบคำบอกเล่าจากผู้รู้ว่าที่ประเทศเวียดนาม รัฐบาลเขายังไม่ยอมเปิดให้มีร้านสะดวกซื้อแบบนี้ในประเทศเขา จึงให้สงสัยว่ารัฐบาลไทยยุค คสช. ได้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้กันบ้างไหม รู้หรือเปล่าว่ารากหญ้าเขาจะทนไปได้อีกนานสักแค่ไหน

อีกมิติหนึ่งที่อยากพูดถึง คือ เศรษฐกิจจะโตแค่ไหนให้ดูจากการใช้จ่ายภาครัฐ นี่เป็นสูตรตายตัว ไม่ว่ารัฐบาลจะจ่ายจากเงินงบประมาณ จะจ่ายจากเงินกู้ไม่ว่าในรูปใด หรือจะเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจจ่าย แต่ข้อเท็จจริงของการเร่งจ่ายทั้งการลงทุนและการบริโภคภาครัฐนั้น ต้องดูว่าจ่ายเรื่องอะไร จ่ายไปทำไม จ่ายไปให้ใคร ไม่ใช่สักแต่จ่ายอย่างเดียว

ตามทฤษฎีของการคิดรายได้ประชาชาติในประเทศ หรือผลผลิตมวลรวมผลิตภัณฑ์รายได้ประชาชาติที่เรียกว่า GDP นั้น ถ้าการใช้จ่ายเพื่อนำเข้าสินค้าและบริการ รวมถึงการจ่ายจ้างที่ปรึกษาหรือบริษัทก่อสร้างต่างประเทศนั้น รายจ่ายส่วนใหญ่จะไปสร้าง GDP ให้กับต่างประเทศ ที่ว่าจ่ายไปซื้อเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วจะเกิดผลผลิตและรายได้ในอนาคตให้ประเทศนั้นถูกต้อง แต่เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เกิดในอนาคต แต่เงินที่เราซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศเข้ามานั้น เป็นการเพิ่ม GDP ให้เขาทันทีในตอนที่เราชำระเงินมัดจำ และค่าสินค้าออกไป ส่วนลูกเศรษฐีรวยๆ ที่นำเข้ารถซุปเปอร์คาร์มาขับขี่ทุกวันนี้ หรือที่ซื้อนาฬิกาแพงๆ ยี่ห้อดังๆ มาใช้นั้น ล้วนเป็นการเพิ่ม GDP ให้ต่างชาติทั้งนั้น คนญี่ปุ่นนั้นรวย เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นมั่นคง เป็นเพราะคนญี่ปุ่นถูกสอนไม่ให้ซื้อสินค้าบริโภคใดๆ จากต่างชาติถ้าไม่จำเป็นจริงๆ และคนญี่ปุ่นเขาก็ปฏิบัติตัวแบบนี้อย่างเคร่งครัดตลอดมาถึงทุกวันนี้

ลองมาดูการใช้จ่ายของรัฐบาล คสช. ซึ่งจะอยู่ครบ 4 ปีในเร็ววันนี้ ว่ามีรายการใช้จ่ายที่จะช่วยเพิ่ม GDP ให้ต่างชาติแค่ไหน รายการใหญ่สุดที่ทำมา 3 ปีเศษ คือการช้อปอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่จะใช้งบรวมทุกเหล่าทัพถึง 72,000 ล้านบาท นับตั้งแต่เรือดำน้ำจากจีน 36,000 ล้านบาท ซึ่งได้จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว เครื่องบินฝึกและขับไล่ฝูงใหญ่ 20 ลำ จากเกาหลีใต้ รถถังและรถหุ้มเกราะ 72 คัน จากจีนและยูเครน เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ จากรัสเซียและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น รายการใหญ่ถัดมาคือ การสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราช ที่ได้วางศิลาฤกษ์ไปแล้วเป็นโครงการจากจีน มูลค่าโครงการ 179,413 ล้านบาท การศึกษาออกแบบและคุมงานใช้บริษัทจีนเป็นหลัก บริษัทรับเหมาติดตั้งเป็นของจีน บริษัทไทยรับแต่งานโยธา ส่วนเหล็กที่เป็นราง ตัวล้อเลื่อนและตัวถังรถไฟ รวมทั้งอุปกรณ์สัญญาณต่างๆ จากจีนหมด ผมไม่อยากกล่าวว่าโครงการเหล่านี้ดีไม่ดี จำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่แค่ไหน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า โครงการเหล่านี้เราจ่ายเงินให้กับต่างประเทศเป็นค่าสินค้าและค่าจ้าง หรือค่าใช้บริการที่ปรึกษาแค่ไหน เท่าไหร่ ก็จะทำให้ GDP ของไทยติดลบเท่านั้น

เมื่อพูดถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่พูดถึงโครงการที่มีโฆษณาประชาสัมพันธ์รายวันในขณะนี้ คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือที่เรียกว่า EEC ไม่ได้ ซึ่งจะเป็นโครงการใหญ่ในอนาคตของชาติ ที่จริงทำขึ้นมาไม่ยาก โดยเอาทำเลที่ดินแถวภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี นครนายก เป็นต้น นำมาออกกฎหมายพิเศษ แล้วใส่สิทธิพิเศษสารพัดอย่างนับตั้งแต่ที่ดินซึ่งต่างชาติจะมีกรรมสิทธิ์ในระยะยาวได้ หรือเป็นเจ้าของได้ บวกกับการลดหย่อนหรือยกเว้นสารพัดภาษีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่รัฐบาลไทยหรือการนิคมอุตสาหกรรมต้องลงทุนสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เป็นเงินมหาศาล ที่พูดว่าต่างชาติมาลงทุนเพราะทุนหลักและเทคโนโลยีหลักของการลงทุนจะมาจากต่างชาติแทบทั้งหมด เทคโนโลยีของไทยยังไม่ถึงขั้น คนไทยเก่งๆ บางคนที่เป็นนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมทุกวันนี้ยังต้องสั่งซื้อเครื่องจักรใช้แล้วมือสองจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีนอยู่เลย

โครงการนี้ต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจมาก แต่ก็จะมีทั้งนักลงทุนจีนและฝรั่งเข้ามามากพอสมควร สมกับที่รัฐบาลพยายามยกสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ให้ แต่ถ้าถามว่าประเทศไทยจะได้อะไรจากโครงการนี้ คำตอบก็มีว่า เราต้องได้จากการจ้างงานแต่ไม่มากมาย เพราะเป็นอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหลัก เมื่อโครงการผลิดอกออกผลซึ่งประมาณว่าไม่เร็วกว่า 7-8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะมีการส่งออกด้านสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น แต่อย่าลืมทุนมาจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่แถมเทคโนโลยีเป็นของเขาหมด เขาก็จะต้องได้ค่าตอบแทนจากการส่งออกในรูปของกำไรมากกว่าที่ส่วนที่เราจะได้

โครงการ EEC นี้ในช่วงการลงทุน นักลงทุนต่างชาติจะชอบ โดยเฉพาะจากนี้ไปจนถึง 7-8 ปีข้างหน้า เขาก็จะกอบโกยรายได้เพิ่ม GDP ให้เขา จากการขายเครื่องจักรและเทคโนโลยีให้โครงการนี้ ขอย้ำว่าเขาจะได้ก่อนเราและมากกว่าที่เราจะได้แยะ สำหรับประเทศไทยนั้นจะคุ้มจริงหรือไม่แค่ไหน ต้องขอให้นักวิจัยคนไทยที่เก่งๆ ช่วยนำไปคิดและวิเคราะห์เป็นการบ้านหน่อย เพราะโครงการนี้จริงๆ แล้ว การจ้างงานคนไทยได้แต่ไม่มาก ได้ความรู้ (Know How) บ้าง ส่วนภาษีรัฐบาลแทบไม่ได้สักเท่าไหร่ เพราะยกเว้นให้เขาแทบทุกด้าน ที่สุดแล้ว คนไทยอาจเหลือแต่เสื้อผ้าอาภรณ์ชิ้นเล็กน้อยไว้ปิดแค่ของพึงสงวนเท่านั้น ที่กล่าวเช่นนี้เพราะไม่เห็นรัฐบาลของเราคิดปรับปรุงการศึกษาของชาติให้รับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เห็นรัฐบาลของเราเร่งกระตุ้นงานวิจัยที่ลึกซึ้งให้ตามกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทัน เป็นต้น ที่เห็นอยู่ก็คือยังคงมีความคิดแค่เปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาผลิตสินค้าไฮเทคขายเหมือนที่เคยทำกันมาในอดีตแค่นั้น สิ่งที่เห็นทุกวันนี้ยังไม่ชัดอีกหรือว่าคนไทยระดับเศรษฐกิจรากหญ้ายังตกอยู่ในวงจรของความยากจนเหมือนเดิม

สุดท้ายนี้ขอสรุปให้ตรงกับหัวข้อเรื่องที่จั่วหัวไว้ และให้ตรงกับคำถามของคนส่วนใหญ่ว่า ต่อไปนี้เศรษฐกิจจะฟื้นดีขึ้นจริงไหม และประเทศไทยเราคนจนจะน้อยลงไหม ซึ่งที่วิเคราะห์มาให้ฟังตั้งแต่ต้นก็เห็นอยู่แล้วว่า การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพของเกษตรกรชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ยังไม่เห็นแววของการที่ราคาสินค้าเกษตรโดยส่วนใหญ่จะดีขึ้นแต่อย่างใด มาดูเรื่องการจ้างงานของคนระดับล่างก็ไม่มีแววว่าจะให้ไปทำงานอะไรที่เป็นอาชีพที่มั่นคงได้นอกจากงานขายบริการ และเมื่อมองไปถึงคนระดับล่างที่ทำมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาเงินประทังชีวิตไปวันๆ เขาเหล่านั้นก็ต้องหยุดประกอบอาชีพที่เคยทำมากขึ้นทุกหัวระแหง เพราะถูกร้านสะดวกซื้อสารพัดชื่อเข้ามาแย่งอาชีพหมด ส่วนโครงการใหญ่ที่รัฐบาลเป่าหูอยู่ทุกวัน เช่น โครงการ EEC นั้น กว่าจะเป็นเรื่องเป็นราวจับต้องได้ ก็ต้องคอยไปอีกอย่างน้อย 7-8 ปี อีก 2-3 รัฐบาลว่างั้นเถอะ ก็ดูตัวอย่าง “โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน” ทั่วทุกภาคที่รัฐบาล คสช.ได้ริเริ่มและส่งเสริมกันอย่างหัวปักหัวปำตั้งแต่ปี 2557 จะ 4 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังเงียบเป็นเป่าสาก สรุปแล้ว คนไทยเรายังไม่มีอะไรในประเทศตนเองที่จะทำให้หัวใจพองโตได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image