สุจิตต์ วงษ์เทศ : ตื่นกลัว

ความตื่นกลัวคนแปลกหน้าและคนหมู่มากมาจากไหน? ของคนบ้านนอกในไทย และในเพื่อนบ้านบางแห่ง ผมยังไม่เคยอ่านพบคำนิยามหรือคำอธิบาย ไม่ว่าวิชาการหรือไม่วิชาการ

วัฒนธรรมความตื่นกลัวจะเห็นชัดขึ้นเมื่อเทียบคนบ้านนอกแขกๆ แบบอินเดียและลังกา ฯลฯ ซึ่งยื่นหน้าเข้าหากล้องถ่ายรูปหรือต่อสายตาของคนแปลกหน้าอย่างไม่สะทกสะท้าน แล้วพร้อมสู้หน้าและพูดจาทักทายโต้ตอบเมื่อถูกซักถาม

แต่ในไทยและเพื่อนบ้านบางแห่งมีพฤติกรรมตรงข้าม คือ ก้มหน้า หลบตา ออกอาการ “ก้มเกล้าเค้าคุด” มุดหัวซุกหนีด้วยกิริยาสั่นเทาเพราะตื่นกลัวคนแปลกหน้า บางคนแม้ยิ้มหรือหัวเราะก็เอียงอายขวยเขินเดินหนีสุดกู่

ไต-ไท ตื่นกลัวนายจนต้องก้มเกล้าเค้าคุดมุดหัวลงข้างล่างกลางพื้นอย่างลนลาน (ภาพลายเส้นฝีมือคาร์ล บ๊อค พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1884)

เคยได้ยินไกลๆ จากนักวิชาการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ ว่าน่าจะมีเหตุจาก 2 อย่าง คือ อำนาจเหนือธรรมชาติ และอำนาจเหนือคน จริงหรือไม่จริง? ผมบอกไม่ได้ น่าเชื่อหรือไม่? ขอให้พิจารณากันเอง จะสรุปจากฟังห่างๆ มาดังนี้

Advertisement

1.อำนาจเหนือธรรมชาติ ได้แก่ ผีสางเทวดาอารักษ์ในชุมชนยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ล้าหลังทางเทคโนโลยี คนต้องอ่อนน้อมยอมจำนน แล้ววิงวอนร้องขอความมั่นคงและความมั่งคั่งจากอำนาจเหล่านี้ตลอดชีวิต

2.อำนาจเหนือคน ได้แก่ เจ้านาย หรือ เจ้าพ่อ ผู้มีอำนาจเหนือคนอื่น ซึ่งบรรดาบ่าวไพร่ต้องนอบน้อมยอมจำนนตลอดกาล

บรรพชนของผมเป็นคนไม่ไทยทั้งสายแหรกข้างแม่และข้างพ่อ

Advertisement

สายแหรกข้างแม่ เป็นเจ๊กชาวนา รับจ้างทำนาแล้วเก็บหอมรอมริบ เปิดค้าขายของชำหน้าบ้าน สายแหรกข้างพ่อ เป็นลาวขี้ข้าขี้ข้อย ถูกกวาดต้อนจากลุ่มน้ำโขง ราว 200 ปีมาแล้ว เป็นลาวชาวนาทั้งตระกูลมาก่อน

ตั้งแต่จำความได้ บรรดาคนไม่ไทยในชุมชนที่ผมเกิดล้วนถูกหล่อหลอมให้ยอมจำนนต่ออำนาจ 2 อย่างดังกล่าว ตัวผมเองรับมาเต็มๆ แล้วยังเหลือเต็มๆ

คนอื่นไม่รู้เลิกตื่นกลัวหรือยัง? แต่ผมยังตื่นกลัวทุกเรื่องเหมือนเดิม โดยเฉพาะตื่นกลัวคนหมู่มากมาแต่ไหนแต่ไร จนไม่กล้าออกงานไม่ว่าที่ไหนๆ เมื่อรู้ว่าต้องออกงาน จะใจคอสั่นระริกระรัว แล้วตัดสินสุดท้ายไม่ไป หรือไปหลบหลังงาน ก็เพราะตื่นกลัวนี่แหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image