คอลัมน์ไฮไลต์โลก: จะหญิงหรือชายต้องจ่าย(ค่าจ้าง)เท่า!

รอยเตอร์

เป็นข่าวฮือฮาในวงการสื่อเมื่อวันก่อน กรณี แคร์รี เกรซี บรรณาธิการข่าวหญิงของสำนักข่าวบีบีซีประจำจีน ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากต้นสังกัด ด้วยเหตุผล “ความไม่เท่าเทียม” ของค่าจ้างตอบแทน ที่เธอได้รับซึ่งต่ำกว่าของเพื่อนร่วมงานชายอยู่มากทั้งๆที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน

เนื้อความในจดหมายเปิดผนึกถึงต้นสังกัดที่ เกรซี โพสต์ไว้ในบล็อกของตนเองชี้ว่า มี”วิกฤตของความเชื่อใจ” เกิดขึ้นในองค์กรข่าวที่เธอทำงานให้มานานถึง 30 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียม

ความไม่เท่าเทียมที่เกรซีประสบกับตัวคือ การจ่ายค่าจ้างตอบแทน ที่เกรซีบอกว่า บีบีซีมีบรรณาธิการต่างประเทศ 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน เธอเป็นหนึ่งในนั้น แต่จากการเปิดเผยตัวโครงสร้างเงินเดือนขององค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำความตกลงกับรัฐบาลในช่วงกลางปีที่แล้ว นั่นทำให้เธอรู้ว่าบรรณาธิการข่าวชายทั้งสองคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานได้รับเงินเดือนมากกว่าบรรณาธิการข่าวหญิงอย่างเธอมากถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

เกรซียังเปิดเผยต่อไปบนบล็อกว่าหลังจากเรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้น เธอได้รับข้อเสนอที่จะจ่ายเงินเพิ่มให้จากทางต้นสังกัด แต่นั่นก็ยังห่างไกลจากอัตราที่เพื่อนร่วมงานชายของเธอได้รับอยู่ดี นั่นทำให้เกรซีตัดสินใจลาออกจากบีบีซีเมื่อสัปดาห์แล้ว!

Advertisement

กรณีของเกรซีหนึ่งเป็นในตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติด้านค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นกรณีที่บีบีซีตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อเร็วๆนี้จากการมีโครงสร้างการจ่ายเงินเดือนลูกจ้างชายสูงกว่าลูกจ้างหญิง เป็นผลให้บีบีซีต้องออกมารับปากรับคำที่จะจัดการปัญหาช่องว่างเรื่องค่าจ้างผลตอบแทนของลูกจ้างชายและหญิงให้ได้ภายในปีค.ศ.2020

ในประเด็นเดียวกันยังกลับมีข่าวดีรับปีใหม่สำหรับลูกจ้างแรงงานในไอซ์แลนด์ ประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 9 จากการจัดอันดับของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม เพราะเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกที่เริ่มบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดให้การจ่ายเงินค่าจ้างแรงงานลูกจ้างชายสูงกว่าลูกจ้างหญิง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่มีบทลงโทษเป็นโทษปรับนายจ้าง ภายใต้กฎหมายนี้ยังกำหนดให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่มีการจัดจ้างแรงงานลูกจ้างมากกว่า 25 คนขึ้นไป จะต้องมีใบรับรองด้านนโยบายการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมกันจากรัฐบาลไอซ์แลนด์ด้วย

ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการให้หลักประกันสิทธิความเท่าเทียมแก่ลูกจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายภายใต้กฎหมายที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image