บิ๊กตู่ ถกฮุนเซน เร่งสร้างทางรถไฟอรัญฯ-ปอยเปต 6.5 กม. เสร็จเดือนนี้

บิ๊กตู่ จับเข่าถก ฮุนเซน เร่งสร้างทางรถไฟอรัญฯ – ปอยเปต ให้เสร็จเดือนนี้ พร้อมลุยต่อถึงกรุงพนมเปญปี 63

เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 10 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้นเวลา 14.00 น. ที่สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา (Peace Palace) พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือทวิภาคีกับ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ก่อนการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ความร่วมมือด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเดินรถไฟร่วม โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเพื่อเร่งรัดจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการเดินรถร่วมเพื่อให้มีการลงนามโดยเร็ว สำหรับการสร้างทางรถไฟเส้นทางจากสะพานรถไฟอรัญประเทศ – ปอยเปต ไปยังตัวเมืองปอยเปต ระยะทาง 6.5 กิโลเมตรนั้น มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 95 และกัมพูชากำหนดก่อสร้างเสร็จเส้นทางรถไฟและสถานีรถไฟให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนมกราคม 2561 และจะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากชายแดนไทย – กัมพูชาไปยังกรุงพนมเปญต่อไป เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถเดินทางข้ามแดนระหว่างกันได้ภายในปี 2563 ตามเป้าหมายที่วางไว้

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า จุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว – สตึงบท จังหวัดบันเตียเมียนเจย มีการเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร ศุลกากรทั้งในฝั่งไทยและกัมพูชา ตลอดจนสะพานข้ามพรมแดน หรือ “สะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา” เพื่อให้สามารถเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งนี้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องขอบคุณที่กัมพูชาช่วยแก้ปัญหาการนำเข้าเครื่องมือที่จำเป็น ส่วนการขนส่งสินค้าผ่านแดน ไทยได้ดำเนินการภายในของไทยเกี่ยวกับการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเสร็จแล้ว และหวังว่าจะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ได้เร็ว ๆ นี้

Advertisement

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า การทำกินของคนไทยบริเวณ ชายแดนไทย-กัมพูชา (หลักเขตแดนที่ 43)
นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้เคยเห็นชอบร่วมกันให้ประชาชนของทั้งสองประเทศซึ่งอยู่อาศัยและทำมาหากินบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา สามารถทำมาหากินได้ต่อไปได้ตามที่เป็นมา ระหว่างที่การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ โดยต้องไม่ขยายพื้นที่ออกไปมากกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เรื่องเขตแดนเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนตามแนวชายแดน ส่วนความร่วมมือด้านแรงงาน ไทยได้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานกัมพูชา กลุ่มที่มีใบจับคู่แสดงความสัมพันธ์นายจ้าง – ลูกจ้างให้ถึง 30 มิถุนายน 2561 จึงขอให้มีการเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและการแจกเอกสารเดินทางให้กับแรงงานกัมพูชาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ทั้งนี้ ความร่วมมือให้แรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานในไทยโดยถูกกฎหมายอันจะช่วยส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานกัมพูชา ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ไทยยินดีเปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากกัมพูชา อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายมีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก ไทย อาจมีความจำเป็นต้องจัดระเบียบการนำเข้า เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร ของทั้งสองประเทศ โดยกัมพูชาอาจพิจารณาจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 6 เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือแนวทางการนำเข้าในรายละเอียด และหวังว่า กัมพูชาพิจารณานาเข้าสุกรมีชีวิต จากไทยเพิ่มขึ้น โดยไทยมีศักยภาพผลิตสุกรมีชีวิตและมีความพร้อมที่จะส่งออกสุกรมีชีวิตที่มีคุณภาพดี ราคาเหมาะสมให้แก่กัมพูชา

รองโฆษกฯ ระบุว่า การเปิดจุดผ่านแดนถาวร บ้านป่าไร่ การเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว สำหรับพื้นที่บริเวณบ้านป่าไร่ – โอเนียง คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ของทั้งสองฝ่ายควรประสานงานกันเพื่อเริ่มหารือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดนถาวร ณ พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้ง ขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงร่วมหารือมาตรการป้องกันการใช้อาวุธตามแนวชายแดน ในกรณีที่มีการรุกล้ำเขตแดน เพื่อลักลอบตัดไม้ เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างหน่วยทหารในพื้นที่ด้วย และโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หวังว่าไทยจะสนับสนุนสินค้าเกษตรของกัมพูชา รวมทั้งการเชื่อมโยงทางรถไฟด้วย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image