ฟร้อนต์เพจ : รถไฟสาย “ทรานส์เอเชีย” ขอให้ลื่นไหลไปตลอด

เห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กับ สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ อย่างชื่นมื่นก็ดีใจ

เพราะเพื่อนบ้าน รั้วติดกัน ไม่ผูกมิตรไว้ ก็มีแต่ระแวงแคลงใจ อยู่ไม่มีความสุขกันเปล่าๆ

ในฐานะคนมีบ้านอยู่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร

เหตุการณ์ล่าสุดในปี 2552 ที่นักการเมืองฝ่ายอกหักจากการเลือกตั้งของไทยใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนบานปลายกลายเป็นการสู้รบ

Advertisement

ภาพผู้คนแถบชายแดน จ.บุรีรัมย์ – สุรินทร์- ศรีสะเกษ รวมถึงชาวกัมพูชาวิ่งหลบลูกปืน ลูกระเบิด เป็นสิ่งที่น่าสลดหดหู่อย่างยิ่ง จนไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21

ในการประชุมผู้นำครั้งนี้ ยิ่งได้รู้ว่าไทย-กัมพูชา เตรียมเร่งรัดจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการเดินรถไฟร่วม เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ ก็ยิ่งเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคอย่างมหาศาล

การไปมาหาสู่ การค้าขายแลกเปลี่ยน จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟสายนี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยวาดฝัน และเรียกชื่ออย่างโก้หรูว่า “ทรานส์เอเชีย (Trans-Asian Railway initiative)” กำลังจะเกิดขึ้นจริง

Advertisement

ผมไปเยือน จ.ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้

เห็นความคืบหน้าการก่อสร้าง เชื่อมต่อเส้นทางคืบหน้าไปมาก จุดไหนที่เป็นคาสิโนทับแนวรางรถไฟก็รื้อถอน วงเวียนที่เคยทับก็รื้อออก

โดยตรงสุดปลายชายแดนที่ทางรถไฟสายตะวันออกของไทยไปจ่อบริเวณคลองลึก ไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบสร้างไปจนถึง จ.ปอยเปต ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาสร้างต่อไปจนถึงกรุงพนมเปญ โดยอาศัยเส้นทางเดิมที่เคยมี แต่ก็ถูกรื้อทิ้งไปในช่วงสงครามกลางเมือง

ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีการสร้าง-รื้อ-สร้าง-รื้อ เหมือนดังในอดีต

กล่าวสำหรับ เส้นทางรถไฟสาย “ทรานส์เอเชีย” เป็นแนวความคิดที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ มหาธีร์ โมฮาหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียน

เป็นเส้นทางจากสิงคโปร์ ผ่านมาเลเซีย-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม และขึ้นไปจนถึงเมืองคุณหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน  ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร

ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหลายฝ่าย แต่ทว่าก็ยังไม่สำเร็จเสียที ติดในส่วนประเทศกัมพูชา

เพราะจากชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปสู่กรุงพนมเปญ แม้เคยมีเส้นทางรถไฟไปถึง แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้งาน ขณะที่จากพนมเปญไปถึงเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ก็ยังไม่มีเส้นทาง

นี่น่าจะเป็นอีกก้าวสำคัญ หวังว่า “ทรานส์เอเชีย” จะลื่นไหล และไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ซึ่งน่าจะช่วยยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ ให้ดีขึ้นได้มากทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image