‘สมพงษ์ จิตระดับ’ เสนอปฏิรูปงานวันเด็ก แนะอย่าปิดกั้นความเห็น ‘ดูรถถัง-ตั้งสแตนดี้’ ไม่ได้อะไร 

เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 11 มกราคม ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “วันเด็ก…ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ” ซึ่งก่อนเริ่มการเสวนาได้มีการเปิดคลิปวีดีโอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะกล่าวคำขวัญวันเด็ก รวมถึงการสัมภาษณ์เด็กๆ เนื่องในโอกาสวันเด็กที่จะถึงนี้ เพื่อสะท้อนมุมมองที่แตกต่างระหว่างกัน

ในคลิปวีดีโอย้อนภาพที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 22 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2561 แต่กลับกล่าวเป็นคำขวัญวันครูว่า “ศิษย์ดี ครูดี มีศรัทธา” ก่อนรีบรุดขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งแท้จริงแล้วคำขวัญวันเด็กคือ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”

จากนั้นคลิปวีดีโอตัดภาพมาที่การสัมภาษณ์กลุ่มเด็กไทย ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่จำคำขวัญวันเด็กไม่ได้ เมื่อสอบถามว่าอยากได้อะไรจากนายกฯ ในวันเด็ก เด็กๆ กล่าวว่า

“ผมอยากให้เลิกพูดวันศุกร์ เพราะผมจะดูหนัง”

Advertisement

“ให้ทำงานต่อไป แต่อยากให้เกษียณเร็วๆ ผมเบื่อๆ ยังไงไม่รู้”

“อยากพูดถึงการศึกษาที่มีการสอบโอเน็ตหลายช่วง รู้สึกต้องเรียนหนักจนเกินไป อยากให้กระจายการเก็บคะแนนออกไป”

“ไม่อยากให้การศึกษาเน้นการแข่งขัน แต่ให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่า และอยากให้ส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษ เพราะมีความสำคัญ”

Advertisement

“การศึกษาสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก อยากได้การเรียนรู้ ลงมือทำด้วยตัวเอง และความรู้นั้นต้องเชื่อมโยงกับชุมชนได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้มากกว่านี้”

จากนั้นเวลา 9.45 น. นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้กล่าวในประเด็น ”วันเด็ก = รักหรือหลอกเด็ก” โดยนำเสนอผ่านกรณีศึกษาของวันเด็กในต่างประเทศ เพื่อเปรียบเทียบกับวันเด็กของไทย

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ตนเห็นช่องโหว่ของประเทศไทยที่ทำให้ไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลางสักที จากการศึกษาจากประเทศอื่นทำให้เห็นว่า ต่างประเทศให้ความสำคัญกับเด็กมากกว่าประเทศไทย

นายสมพงษ์ กล่าวว่า คำขวัญวันเด็กเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2499 ในยุค จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อย้อนดูหลายๆ คำขวัญจึงเกิดคำถามว่าเป้าหมายคืออะไร อย่างนายกฯ ในปัจจุบัน ชอบไล่เด็กไปเรียนหนังสือและไม่ให้ยุ่งเรื่องการเมือง แต่ปีนี้ก็มีเพิ่มเติมเรื่องสร้างสรรค์เทคโนโลยี คำขวัญเหล่านี้เป็นธรรมเนียมที่ซ้ำไปซ้ำมาทุกปี ให้เด็กไปดูรถถัง ดูเครื่องบิน ปีหน้าเตรียมดูเรือดำน้ำ ผมมองว่าเด็กไทยไม่ได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้เลย การมีส่วนร่วมของเด็กอยู่ตรงไหน เราเห็นคุณค่าของเด็กแค่เพียงในวันเด็ก แต่อีก 364 วัน เราปล่อยปละละเลย เต็มไปด้วย เหล้า บุหรี่ ร้านเกม กับอีก 200 วันที่เด็กถูกกักไว้ในโรงเรียน กับระบบการศึกษาที่เด็กถูกกดทับและทำลาย จนมีเด็กบางกลุ่มเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวเพราะอึดอัด ผมมองว่าเราต้องให้ความสำคัญกับเด็กมากกว่านี้

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ในวันเด็กของหลายประเทศจะมีการจัดทำโครงการระยะยาว เช่น ประเทศไอซ์แลนด์ ที่มีวัยรุ่นดื่มเหล้ามากที่สุดในยุโรป ก็ได้จัดโครงการแก้ปัญหาที่ตรงจุด โดยให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง รวมถึงเพิ่มกิจกรรมทางเลือกให้กับเด็กด้วยงบ 11,000 บาท ต่อคน ต่อปี

“ประเทศลัตเวีย ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยเยอะ ก็ได้มีการแก้กฎกระทรวง จ้างครูผู้ช่วย ให้เด็กกลุ่มน้อยนี้ได้มีโอกาสมาเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆ”

“ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโครงการ Let’s talk เพื่อลดความเสี่ยงวัยรุ่นติดยา รวมถึงเรื่องเพศและการฆ่าตัวตาย โดยให้ผู้ปกครองรับฟังแบบเพื่อน แต่ตอบแบบพ่อแม่ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว”

“ประเทศสวีเดน ได้จัดโครงการ Young Voices โดยเปิดเวทีให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น สอบถามปัญหาต่างๆ จากนักการเมือง”

“ประเทศแคนาดา ได้ให้ ส.ส. เยี่ยมชมโรงเรียนในพื้นที่ 1 ชม. และนำข้อมูลมาตัดสินใจเชิงนโยบาย เพราะเห็นว่าเด็กเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและมีสิทธิเท่าเทียม” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า องค์กรยูนิเซฟบอกว่าประเทศไทยมีกฎหมาย มีกองทุนพัฒนาด้านเด็กเทียบเท่าต่างประเทศ แต่เราขาดความจริงจัง เราขาดความเข้าใจว่าเด็กสำคัญ ผมเห็นว่าเราทำตามระบบกลไกราชการ เช้าชามเย็นชาม เราจึงไม่ไปไหน จมปลักอยู่กับที่ หากเรามองไปยังอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กทั้ง 4 ด้าน ว่าด้วย 1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด 2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา 3.สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และ 4.สิทธิที่จะมีส่วนร่วม จากผลสำรวจประเทศไทยสอบตกทั้งหมด ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นฮับด้านอาหาร แต่เด็กไทยกลับเสี่ยงทางด้านโภชนาการ เด็กไทยเตี้ย แคระแกรน เด็กในเมืองก็อ้วน นมผงที่ผลักดันให้ทานกัน ก็ด้วยเหตุผลทางการตลาดทั้งนั้น ผู้ปกครองชอบให้เด็กเล่นแทบเล็ต ภาวะการอ่านหนังสือก็ลดลง เด็กถูกทำร้ายร่างกาย เนื่องจากผู้ใหญ่เชื่อว่าเป็นการสร้างวินัย และที่ฉุดรั้งมากที่สุดคือการปิดกั้นความคิดเห็นเด็ก อย่างนี้เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีสำนึกทางประชาธิปไตยได้อย่างไร

“เรามองเด็กไทยเป็นแค่เด็ก ไม่อยากให้พวกเขาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพราะไม่เชื่อว่าทำได้ และกลัวจะเสียการเรียน ทุ่มเทแต่เรื่องการสอบ ต่างจากสังคมสากลที่เขาให้ความเชื่อใจแก่เด็ก ทำให้เด็กกล้าคิด ให้สิทธิในการเป็นเจ้าของโจทย์ กล้าสงสัย กล้าตั้งคำถาม” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า เราต้องปฏิรูปงานวันเด็ก เลิกธรรมเนียมนิยม เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษา สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้มีชีวิตชีวา สร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก ให้เด็กสร้างโจทย์ ไม่ส่งเสริมความรุนแรง ส่งเสริมให้สภานักเรียนมีเครือข่าย มีการเคลื่อนไหว อยากให้ผู้มีอำนาจพูดคุยกับเด็ก อย่าไปกลัวเด็ก ไม่ใช่ไปพื้นที่ไหนก็พูดคุยกับแต่หน่วยงานเอกชน หรือแค่เอาสแตนดี้มาตั้ง

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่รักเด็กอยู่ แต่ผู้ใหญ่ยังติดกรอบไม่กล้าคิดอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมเรียกร้องให้วันเด็กปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากเสียงของเด็ก ดีกว่าคำขวัญปีแล้วปีเล่าที่ไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติ” นายสมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image