พระอัจฉริยภาพทางกฎหมาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (จบ) : โดย ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน

หมายเหตุ : ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ได้เขียนบทความเรื่อง “พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” ซึ่งเห็นสมควรได้รับการเผยแพร่ไปสู่ประชาชนเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

3.พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2514 โดยพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอุกฤษ มงคลนาวิน อาจารย์ที่ปรึกษานิสิตแผนกวิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” นำคณะกรรมการและนิสิตแผนกวิชานิติศาสตร์ จำนวน 65 คน เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบมูลนิธิอานันทมหิดล สาขานิติศาสตร์ และนำคณะผู้จัดทำหนังสือปัญหากฎหมายสำหรับประชาชน เฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ดังต่อไปนี้

บ้านเมืองที่มีระเบียบเรียบร้อยและมีกฎเกณฑ์ต้องทำตามกฎหมาย

การที่สนใจในด้านกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบ้านเมือง เพราะว่าบ้านเมืองที่มีระเบียบเรียบร้อยและมีกฎเกณฑ์ต้องทำตามกฎหมายในสมัยนี้เราเห็นได้ว่าทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นเวลาที่กฎหมายรู้สึกว่าอ่อนแอลงมาก เพราะว่าความยุ่งยากเพิ่มขึ้นมาทุกวัน ปัญหาว่าทำไมกฎหมายแทนที่จะเจริญขึ้นกลับเสื่อมตามหลังไปในโลกนี้ ก็จะต้องดูว่ามีเหตุผลอะไร เหตุผลอันหนึ่งก็คือ จำนวนพลเมืองของโลกเพิ่มขึ้น และการศึกษาไม่ก้าวทันกับความเจริญของการเพิ่มจำนวนพลโลก

Advertisement

อีกข้อหนึ่งความเจริญในด้านต่างๆ ไม่ก้าวหน้าไปโดยสม่ำเสมอ คือมีความรู้สึกว่ามนุษย์ปัจจุบันดูจะเพ่งเล็งความก้าวหน้าในทางกิจการวิทยาการมากกว่าในทางการดำเนินชีวิตจริงๆ คือ นิยมความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ และในทางวิทยาการต่างๆ โดยที่ลืมว่าวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องมาใช้ทุกวัน ถ้าความก้าวหน้าเช่นนี้ผิดส่วนกับความก้าวหน้าทางเรื่องของชีวิตของทุกวัน คือ การดำเนินชีวิต วิธีดำเนินชีวิตต่างๆ ก็ทำให้….. จะขอใช้คำว่าขาดทาง คือจะยืนไม่อยู่เพราะว่าความก้าวหน้าในทางวิทยาการก็นำไปสู่พระจันทร์ ซึ่งกำลังดำเนินอยู่เดี๋ยวนี้ ส่วนความก้าวหน้าในทางความรู้ในทางชีวิตนั้นก็อยู่กับกินพอใช้ คือเป็นชีวิตทุกๆ วันและไม่ค่อยหรูหรานัก ก็เมื่อทางมันไปอย่างนี้ เราก็หกคะเมน พลโลกก็หกคะเมน

ถ้าอยากที่จะให้โลกไม่แตกหรือเราไม่ หกคะเมนตกเหว ก็จะต้องพยายามที่จะนำวิทยาการมาใช้ในชีวิตทุกวัน แล้วที่ทำแล้วที่พิมพ์หนังสือนี้ ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้วิทยาการมาเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ทุกวันและก็ตามจำนวนที่ว่าพิมพ์ได้เดือนละห้าพันเล่มนั้น พลเมืองในเมืองไทยก็มีตั้งสามสิบกว่าล้านแล้วเดี๋ยวนี้ คนที่จะอ่านแม้จะเขียนไว้ง่ายๆ หรือจะอ่านให้เป็นประโยชน์ก็ยังมีน้อย เพราะว่าการศึกษาในเบื้องต้นก็ยังไม่พอ

ฉะนั้น ที่ทำก็เป็นความพยายามที่ถูกต้อง ที่น่าสรรเสริญ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนใจมากขึ้นและที่จะสนใจจริงๆ ทั้งเวลาเป็นนักศึกษา ทั้งเวลาสำเร็จการศึกษาไปแล้ว จะไปเป็นอาจารย์ หรือจะไปเป็นทนาย จะไปเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นอะไรก็ตามในทางอาชีพ ที่เลือกแล้ว ก็ให้พิจารณาดู จะทำอย่างไรเพื่อให้มีระเบียบเรียบร้อย และกฎหมายเป็นใหญ่ในบ้านเมือง

การทำกฎหมายให้เกิดขึ้น แต่ทำให้การบังคับใช้เกิดผลขึ้นมาไม่ได้ ก็เท่ากับไม่มีกฎหมาย

เท่าที่เคยไปดูตามท้องที่ต่างๆ เห็นว่ามีสิ่งที่สำคัญคือ ความรู้ในทางที่จะอ่านหนังสือรู้หนังสือ ความสนใจที่จะหาความก้าวหน้าของประชาชนโอกาสที่จะเรียนหนังสือและหาความก้าวหน้ายังขาดมากยังมีน้อย แต่ว่าจิตใจที่จะหาความรู้ไม่ขาด ต้องการมาก ที่หมู่บ้านในแดนทุรกันดารแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไกลห่างจากบ้านเมืองที่มีความ ที่เรียกว่าเจริญ ต้องเดินทีละห้าชั่วโมงจึงจะไปได้ถึงก็มีความต้องการการศึกษา ถึงขนาดชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นเข้าหุ้นกันไปจ้างครู เขาจ้างครูแล้วก็มาสอนตามเพิงที่สร้างเอาไว้เมื่อไปเยี่ยมเขา จึงให้เงินไปส่วนหนึ่งไม่มากนักสำหรับสร้างโรงเรียน อันนี้ก็แสดงถึงความต้องการของประชาชนทั่วๆ ไป ที่จะหาความรู้หาความก้าวหน้าในชีวิต ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลาย นักศึกษาและอาจารย์ผู้ที่สนใจในทางวิชาการได้พยายามที่จะให้เขาเหล่านั้นได้ทราบถึงกฎหมายต่างๆ ก็เป็นการดี แต่ว่าก็อยากให้สำนึกและก็รู้ว่า กฎหมายไม่ใช่มีครบทั้งหมด ก็เพราะว่าคนที่มีความรู้ในทางกฎหมายมาทำกฎหมายมาตรากฎหมายให้หรูหราให้มีกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นประโยชน์

ถ้าทำกฎหมายแล้วก็ทำให้การบังคับเกิดผลขึ้นมาไม่ได้ก็เท่ากับไม่มีกฎหมาย หรือยิ่งร้ายกว่านั้นเพราะมีคนที่รู้มีคนที่เขาฉลาดใช้กฎหมายไปต้มคนที่มีความรู้ในทางกฎหมายน้อยกว่า แล้วก็คำที่ว่าทุกคนในบ้านเมืองย่อมต้องทราบถึงกฎหมายก็ไม่เป็นความจริง และเป็นความจริงไม่ได้ เพราะเป็นความผิดของทางปกครองด้วยที่จะต้องแจ้งให้คนทราบถึงกฎหมาย เป็นความผิดของนักกฎหมายด้วยที่สร้างกฎหมายที่ไม่เหมาะกับภาพของภูมิประเทศ

ฉะนั้น การที่นึกถึงว่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยต้องขอให้สนใจในหลักของกฎหมาย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ขอให้สนใจถึงว่าใครเป็นจุดหมาย หรือใครจะเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมาย ก็คือคนอย่างกฎหมายบ้านเมือง เมืองไทยก็คนที่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งจำนวนไม่ใช่น้อยไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเลย ด้วยการไม่รู้เพราะไม่มีการศึกษาอีกอย่างหนึ่งด้วยการไม่รู้เพราะว่าไม่ได้ประกาศป่าวร้องว่ามีกฎหมาย

อีกอย่างหนึ่งด้วยการที่กฎหมายจะใช้บังคับในท้องที่เหล่านั้นและในสภาพนั้นไม่ได้และยังมีปัญหาอีกมากมายหลายเกี่ยวข้องกับการบังคับกฎหมายที่ทำไม่ได้ เช่น การที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจตราไปดูภาพในท้องที่ไม่ได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างไร และจะทำอย่างไรสำหรับกฎหมายให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยที่สนใจถึงชีวิตของกฎหมายและของคนในสภาพปัจจุบัน ในสภาพจิตใจของคนปัจจุบัน ในสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบัน จึงจะได้ทำหน้าที่ของผู้ที่สนใจในทางกฎหมาย

ใช้คำว่าผู้ที่สนใจในทางกฎหมายก็เพราะว่าทั้งผู้ที่กำลังศึกษาโดยตรงเป็นนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งผู้ที่สนใจเพราะเป็นอาจารย์เป็นผู้ที่สนใจเพราะเรียนมา

4.พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 8 มีนาคม 2515 โดยพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอุกฤษ มงคลนาวิน อาจารย์ที่ปรึกษานิสิตแผนกวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” เฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนอานันทมหิดล สาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ดังต่อไปนี้ :

ทำไมอาชญากรรมเพิ่มขึ้น

ในเรื่องที่คนเขาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เสมอ และผลเป็นประการใดไม่ทราบ แต่ว่าตามหัวข้อนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจแก่ประชาชนทั่วๆ ไป คือ คนเราสงสัยอยู่เสมอในปัจจุบันนี้ว่าทำไมอาชญากรรมได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือในข่าวทั่วๆ ไปว่ามีอาชญากรรมสูงมาก มากขึ้นทุกทีและมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ที่ทำอาชญากรรมนั้นถูกจับมาก็ไม่เข็ดหลาบ ไม่สามารถที่จะลงโทษให้ถูกต้องเพื่อที่จะให้ผู้ที่เป็นอาชญากรต่อไปให้เข็ดหลาบและเกรงกลัวต่ออาญาบ้านเมือง

ข้อนี้ ก็เป็นข้อหนักใจแก่ประชาชนทั้งหลาย เพราะอาชญากรรมนั้นย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้บริสุทธิ์ และทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปราบปรามและฝ่ายปกครองด้วย เพราะว่าสะท้อนไปถึงบ้านเมืองเป็นส่วนรวม ทำให้บ้านเมืองก้าวหน้าพัฒนาไม่ได้ตามความประสงค์ ปัญหานี้ก็รู้สึกว่าจะเป็นปัญหาที่ลำบากมาก เพราะโดยมากลืมไปว่าการปราบปรามอาชญากรรมเพื่อมิให้ผิดกฎหมายเท่านั้นกฎหมายเป็นระเบียบการที่วางเอาไว้เพื่อให้บ้านเมืองมีขื่อแป หมายถึงบ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ที่จะปฏิบัติตนเป็นวินัยประจำบ้านเมือง

และเป็นทางที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขโดยที่ประชาชนที่ร่วมอยู่ในแผ่นดินเดียวกันไม่เบียดเบียนกันและกัน

กฎหมายชราภาพ

ที่จะบอกว่ากฎหมายชราภาพในโอกาสวันรพี ก็อาจเป็นการลบหลู่ พระเกียรติขององค์ผู้ได้เป็นพระบิดาแห่งกฎหมาย เพราะว่าทรงเป็นผู้วางรากฐาน ดูเผินๆ ก็อาจจริงที่เป็นเช่นนี้ แต่ในความจริงก็นับว่าอาจอยู่ว่าคำชราภาพนั้นเองที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น แต่ว่าตามหลักของกฎหมายเอง กฎหมายก็จะมีความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าเพราะชราภาพ แต่เพราะว่าคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเปลี่ยนไป และสังคมของโลกเปลี่ยนไป จึงทำให้ดูเหมือนกฎหมายชราภาพ

การที่ได้บอกว่ากฎหมายชราภาพ จึงเห็นได้ว่าอาจมีมูลความจริง เพราะว่าเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็จะต้องเปลี่ยนคำ เปลี่ยนกฎเกณฑ์บางอย่าง หรือบทลงโทษ แต่ว่าถ้าพูดถึงหลักทั่วๆ ไปของกฎหมาย กฎหมายนั้นก็เป็นสิ่งที่จะบังคับให้คนที่อยู่เป็นหมู่เป็นคณะที่อยู่เป็นบ้านเมือง เป็นสังคม ให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยที่ไม่เบียดเบียนกันข้อนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง อยู่ที่วิธีการเท่านั้นเอง นี่ข้อหนึ่ง กฎหมายที่วางเป็นรากฐานที่วางเป็นกฎเกณฑ์นั้น กฎเกณฑ์อาจไม่เปลี่ยนแปลง แต่การปฏิบัติเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเคร่งครัดในวิชากฎหมายอย่างสำหรับในด้านตุลาการ ก็ต้องบอกว่ากฎหมายไม่มีหน้าที่จับ มีแต่หน้าที่ที่จะพิจารณาว่าถูกหรือผิด และเมื่อพิจารณาว่าถูกหรือผิดแล้วก็ให้วางลงโทษ

ฉะนั้น ที่จะชราภาพก็อยู่ที่การลงโทษเท่านั้นเอง การลงโทษอาจไม่สอดคล้องกับอาชญากรรมที่ได้ประกอบขึ้นมา โดยเฉพาะเช่นการลงโทษโดยการปรับเงิน ค่าของเงินก็เปลี่ยนแปลง ถ้าเวลาล่วงไปเงินตราก็อาจเปลี่ยนราคาไป แต่ก่อนนี้มี 5 สตางค์ ก็รู้สึกว่ารวยแล้ว เดี๋ยวนี้มี 10 บาท ก็ยังทำอะไรไม่ค่อยได้ อันนี้ก็เป็นสภาพ ไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจหรือการคลัง อันนี้ในด้านการลงโทษ แต่ในด้านปราบปรามอย่างอื่นให้อาชญากรรมลดลงไปก็อยู่ที่ความสามารถของฝ่ายปราบปรามคือฝ่ายตำรวจ

การที่จะให้สามารถที่จะจับผู้ร้ายมาลงโทษก็อยู่ที่ตำรวจ ไม่ได้อยู่ที่คณะตุลาการหรือทางกฎหมาย ถ้าพูดถึงตำรวจก็ยังมีเรื่องราวของทางการเมืองหรือทางสภาพของสังคมซึ่งก็ไม่ได้อยู่เรื่องนิติศาสตร์เลย ฉะนั้น การที่ได้อภิปรายว่ากฎหมายชราภาพนั้นก็เป็นอันครบถ้วน แล้วก็ความคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นเพราะว่ากฎหมายชราภาพจึงเป็นปัญหาที่ไม่ครบถ้วนและไม่สามารถที่จะปฏิบัติเป็นผลใดๆ เลย

พูดถึงในด้านกฎหมายว่าชราภาพหรือไม่ชราภาพ ก็สรุปว่าพูดไม่ได้ว่าชราหรือไม่ชรา ในด้านอาชญากรรมอาชญากรนั้นก้าวหน้าหรือไม่ ก็คงก้าวหน้าไปตามสภาพของวิทยาศาสตร์และความรู้สึกที่ได้ถ่ายทอดมาในหมู่อาชญากร ซึ่งก็เข้าใจว่าพัฒนาขึ้น เพราะว่าแต่ก่อนนี้ใช้กำลังกายของตัวหรือใช้อาวุธที่ไม่ทันสมัย มาเดี๋ยวนี้อาวุธทันสมัยมากและอาวุธในทางที่ประกอบด้วยตนเองด้วยวัตถุที่มีอยู่ในท้องตลาดก็สะดวกขึ้นมาก จึงเห็นว่าวิชาการของอาชญากรรมหรือฝ่ายอาชญากรก้าวหน้าจริงๆ เพราะว่ามีความสะดวกสบาย วัสดุก่อสร้าง วัตถุระเบิดต่างๆ ก็มีมากขึ้น ทั้งมีสื่อมวลชน มีวิชาทานทางวิทยุและโทรทัศน์อย่างมากมาย ที่จะแสดงวิทยาการอาชญากรรมได้มากขึ้น จึงสรุปได้เหมือนกันว่า อาชญากรเขาก้าวหน้า

แต่ถ้าบอกว่าอาชญากรเขาก้าวหน้าในเวลาเดียวกันก็พูดได้ว่ากฎหมายล้าหลังลงไป หรือตามศัพท์ว่าชราภาพลงไปด้วย รวมความแล้วก็ที่อภิปรายนั้นก็ขอให้ถือว่าเป็นความรู้และเป็นความสนุกสนานในการลับสมอง แต่ว่าถ้าดูในด้านวิชาที่ท่านทั้งหลายเรียกอยู่ก็ออกจะข้างคูมาก เป็นเรื่องของความสนุกสนานและเป็นเรื่องของการเอาใจการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วๆ ไปเท่านั้นเอง มิได้เป็นการอภิปรายหรือการค้นคว้าในหลักวิชาแท้ๆ

อย่างไรก็ตาม ที่ได้ตั้งได้ทำการอภิปราย ก็คงได้เป็นประโยชน์ อย่างหนึ่งอย่างใดสำหรับลับสมองแก่ผู้ที่ได้ไปฟังและผู้ที่ได้ปฏิบัติในการอภิปราย ก็ขอให้ได้รับประโยชน์สูงที่สุดในการจัดงานนี้ว่าความรู้สิ่งใหม่ที่ได้จากอภิปรายนั้นก็รับมาไว้พิจารณาได้และขอให้พิจารณาในเรื่องว่า เมื่อศึกษาเมื่อร่วมเป็นผู้ที่ศึกษาในวิชานี้ให้เห็นความครบถ้วนของการอภิปราย และขอให้เกิดอภิปรายในสมองของแต่ละคนว่าปัญหานี้มีจริงเพียงแต่อาจไม่ได้แสดงออกมาด้วยคำพูดที่ถูกต้อง

แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่ากฎหมายมีความสำคัญสำหรับบ้านเมืองเพื่อที่จะรักษาความมีระเบียบเรียบร้อย และเราจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้สำเร็จผลตามจุดประสงค์นี้ คือ จุดประสงค์ของวิชากฎหมาย ในเวลาที่เรียนอยู่ก็ต้องสนใจในข้อนี้ อย่างเป็นเป้าหมายอันสำคัญ สิ่งใดที่ได้ฟังมาเห็นว่าเป็นหลักวิชาก็ขอให้มาพิจารณาดูว่าเป็นประโยชน์อย่างไร

ขอให้ทุกคนขะมักเขม้นในการค้นหาความรู้ในเมื่อมีโอกาสได้เรียน และเป็นทางที่จะเพิ่มเสริมสร้างความรู้ให้แก่ตัวเป็นพลังอันสำคัญ และขอให้ใช้ความพิจารณาที่รอบคอบในการปฏิบัติวางตัว ในปัจจุบันเมื่อได้สำเร็จการศึกษาออกทำหน้าที่ตามวิชาที่ได้เรียนรู้มา ก็ขอให้รักษาจิตใจที่จะชอบค้นคว้า จิตใจที่จะชอบพิจารณา วิจารณ์ วิจัยในตัวเองว่าจุดหมายของชีวิตมีอะไร จะทำให้บ้านเมืองและส่วนรวมได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากแต่ละคน ซึ่งจะเป็นกำลังแท้ๆ เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองมีขื่อมีแปมีความเรียบร้อยมั่นคง

5.กระแสพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2516 โดยพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอุกฤษ มงคลนาวิน คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” เฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจัดอภิปราย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนอานันทมหิดล สาขาวิชานิติศาสตร์ ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ดังต่อไปนี้

หน้าที่ของผู้รักษากฎหมาย และผู้ที่ปฏิบัติกฎหมาย

อันกฎหมายนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับบ้านเมือง เพราะว่าเป็นหลักของการเป็นอยู่ร่วมกันในชาติบ้านเมือง เพื่อให้การเป็นอยู่มีระเบียบเรียบร้อย และให้ทุกคนที่อยู่ในชาติสามารถที่จะมีชีวิตที่รุ่งเรืองโดยไม่เบียดเบียนกัน หน้าที่ของผู้ที่รักษากฎหมาย และผู้ที่ปฏิบัติกฎหมายก็มีหลายด้าน ด้านแรกก็คือ ที่จะให้บุคคลต่างๆ สามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและถ้ามีเหตุใดก็ทำให้ปฏิบัติการในทางกฎหมายเป็นไปโดยยุติธรรม ไม่ทำให้ผู้ใดเสียเปรียบกันมากเกินไป ในด้านนี้ก็จะต้องให้ประชาชนทั้งหลายมีความรู้ในข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งท่านได้ทำบริการชี้แจงเรื่องกฎหมายแก่ประชาชนอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะต้องศึกษากฎหมายให้สามารถที่จะบริการประชาชนได้ดีที่สุด คือถ้ามีช่องโหว่หรือมีกฎหมายที่ไม่เหมาะสมแก่เหตุการณ์ก็จะต้องพยายามที่จะศึกษาเพื่อที่จะปรับปรุงให้ดี เราจะต้องพิจารณาในหลักว่ากฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมืองมิใช่ว่า กฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน ก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก

ในทางตรงข้ามกฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี และอยู่ได้ด้วยความสงบ บางทีเราต้องตรากฎหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการซึ่งได้มาจากต่างประเทศเพราะว่าวิชากฎหมายนี้ ก็เป็นวิชาที่กว้างขวาง จึงต้องมีทำอะไรอย่างหนึ่ง แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือท้องที่ของเรา บางทีเคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวข้องกับที่ดิน เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกลซึ่งเราเอากฎหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นความผิดของตนเอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกล จึงไม่สามารถที่จะทราบถึงกฎหมาย ความบกพร่องก็อยู่ทางฝ่ายที่บังคับกฎหมายมากกว่าฝ่ายที่จะถูกบังคับข้อนี้ควรจะถือเป็นหลักเหมือนกัน ฉะนั้น ต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฎหมายให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ

มีข้อกฎหมายเฉพาะอย่างหนึ่งที่ได้เคยประสบ อันนี้ก็เป็นกรณีเฉพาะ แต่ก็ขอมาเล่าให้ฟังและถือว่าเป็นข้ออย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง ก็เกี่ยวกับที่ดินอีกและเกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ห่างไกล เช่น ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวน หรือป่าจำแนก แต่ว่าเราขีดเส้นไว้ ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว เราจะเอากฎหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนแล้วเพิ่งไปสงวนทีหลังโดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่เมื่อขีดเส้นแล้วประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายไป

ถ้าดูในทางกฎหมายเขาก็ฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติใครเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเองเพราะว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อนเขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง

ข้อนี้ก็เป็นปัญหาและเกิดวุ่นวายขึ้นมาหลายครั้ง เมื่อได้ดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกในป่าสงวนและข้อนี้ก็เคยพูดมาแล้ว อาจฉงนว่าทำไมมาพูดอีก ก็เพราะว่ามีความคิดไปอีกขั้นหนึ่ง บุคคลเหล่านั้นผิดกฎหมายบ้านเมือง เมื่อป่าสงวนนั้นทางราชการเปิดให้เป็นป่าเปิดจับจองได้แต่บุคคลที่อยู่ในนั้นกลับเป็นผู้บุกรุกที่เจ้าของ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อยู่เพราะว่าเมื่อเปิดแล้ว ผู้ที่อยู่ในป่าและปฏิบัติดำเนินชีวิตอย่างธรรมดาควรจะมีสิทธิในที่นั้น แต่กลับมาเป็นผู้บุกรุก บุกรุกที่ดินที่มีเจ้าของ นี่ก็เพราะเหตุว่าเมื่อป่าสงวนนั้นเปิดออกมาเป็น ป่าเปิด ก็มีผู้ไปจับจองทำกิน

ผู้ที่ไปจับจองก็ถูกต้องตามกฎหมายเพราะไปที่อำเภอแล้ว ก็ไปขอจอง ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ไปจับจองไว้ก็ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไปขับไล่คนที่อยู่ในนั้น คนที่อยู่ในนั้นเดิมก็กลับเป็นจำเลย เป็นจำเลยในกรณีว่าบุกรุกที่ของคนอื่น อันนี้เห็นว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และกฎหมายที่มีอยู่เรื่องการจับจองที่ก็มีว่า ทุกคนสามารถที่จะไปจองที่ที่ว่างเปล่าหรือที่ว่างเปล่าที่ไม่หวงห้ามแต่ว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหนเรื่องนี้ก็พยายามที่จะบอกให้เจ้าหน้าที่ทราบ หมายถึงเจ้าหน้าที่ปกครองว่าน่าจะมีทางหนึ่ง ถ้าเราเปิดป่าที่เป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนกป่าอะไรที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปควรที่จะห้ามไม่ให้จับจองหรือห้ามไม่ให้จับจองเป็นระยะเวลา 1 ปี มีกำหนดบ้าง นี่ก็เป็นเพราะกฎหมายซึ่งต้องปรับปรุง

ถ้าเราทำเช่นนั้นก็สามารถจะป้องกันไม่ให้พวกที่ไปจดชื่อเอาไว้จัดการเปิดคล้ายๆ ไปตั้งคิวอยู่ก่อนที่จะเปิด ผู้ที่จับจองในลักษณะนั้นโดยมากก็รู้ล่วงหน้าซึ่งก็ไม่ยุติธรรมอยู่แล้วรู้ล่วงหน้าว่าจะจัดป่านั้นไม่ให้เป็นป่าสงวนก็ไปเซ็นชื่อหรือไปจองที่จะจองควรจะห้ามไม่ให้เป็นเช่นนั้น แล้วก็ถ้าเปิดออกมาก็น่าจะเป็นที่ที่ทางราชการหรือทางจังหวัดขั้นจังหวัดก็ได้ เป็นผู้ที่จะจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินอยู่ หรือแก่ประชาชนที่อยู่ในนั้นแล้ว แล้วจัดสรรที่ดินให้ทำมาหากินโดยสุจริต จะแก้ปัญหาความวุ่นวาย แม้ปัญหาก่อการร้ายก็จะขจัดไปได้

ฉะนั้น ก็ต้องมีการวิจัยหรือมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วน ซึ่งอาจบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะนิติศาสตร์ที่จะแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง ต้องเป็นเรื่องของทางสภานิติบัญญัติที่จะแก้กฎหมายแต่ว่าถ้าสภานิติบัญญัติซึ่งถ้าตามปกติจะประกอบด้วยผู้แทนราษฎร ผู้แทนราษฎรนั้นอาจมีนักกฎหมายบ้างแต่ส่วนมากก็เป็นผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎรอาชีพ คือเป็นผู้ที่ไปลงหาเสียงแล้วก็ไปเข้าในสภาสังกัดพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นนักวิชาการแท้ จะต้องอาศัยนักวิชาการหมายถึงผู้ที่ศึกษากฎหมายโดยแท้

ถ้านักกฎหมายที่ศึกษาในทางกฎหมายโดยแท้ไม่ได้สนใจในปัญหาที่แท้จริง มัวแต่มาดูเพียงทางทฤษฎีของกฎหมายก็จะไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้านักกฎหมายหรือผู้ที่สนใจกฎหมายได้ไปดูข้อเท็จจริงต่างๆ กฎหมายจะช่วยให้บ้านเมืองมีความเรียบร้อย ก็จะทำให้ช่วยทางนิติบัญญัติชี้ทางให้สภานิติบัญญัติว่าควรจะปรับปรุงกฎหมายที่ตรงไหน

ประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน…ประชาชนจะเป็นทาสคนอื่น

ที่เล่าให้ฟังเช่นนี้เพราะว่าได้ไปประสบปัญหานี้ มีความเดือดร้อยอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนไทยเป็นทาสคนอื่น ในเมืองไทยนี้ที่ผ่านมาประชาชนแต่ละคนเป็นไทยแท้ คือมีที่อยู่อาศัย มีอาชีพที่เป็นเอกเทศที่จะเลี้ยงตัวได้ แต่เวลานี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว คือประชาชนกำลังจะเป็นทาสที่ดินให้มีนายทุนมากดหัว ซึ่งข้อนี้ก็น่าคิดอยู่ เพราะว่าเมืองไทยซึ่งเคยโดนประณามจากคนบางส่วนว่าเป็นระบบศักดินาจักรวรรดินิยม

แท้จริงไทยแท้ของเราอาจมีศักดินาแต่ศักดินาไม่ได้หมายถึงอย่างที่เขาตีความหมาย คือ การกดหัว เรามีระบบว่าแต่ละคนมีที่ดินของตัวแต่ละคนมีที่อยู่อาศัยของตัว มาเดี๋ยวนี้จะกลายเป็นระบบที่เขาประณาม คือระบบแบบสมัยกลางในยุโรป ซึ่งเป็นระบบที่กดหัวต่อๆ กันมา จนกระทั่งใครที่จะแย่ ก็คือคนที่อยู่ติดแผ่นดินที่ได้บัญญัติศัพท์ไว้ว่าเป็นหนอนแผ่นดิน ได้เห็นมาว่าคนที่เคยทำงานในที่ที่ตัวเห็นเป็นของตัวกลายเป็นหนอนติดแผ่นดิน เพราะว่าความคับแค้นความลำบาก

แท้จริงตัวเคยทำงานในที่ที่เป็นของตัว หรือเป็นของตัวได้ ท่ามีนายทุนมาขอซื้อที่ดินจึงขายเพราะว่านึกว่าเงินนั้นจะดี เงินนั้นจะนำความสุขมาให้แก่ตัว แท้จริงเมื่อเงินหมดไปแล้วก็ต้องรับจ้างเขา รับจ้างเขาในราคาถูกและกลายเป็นทาสเขาในที่สุด แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกนี้มาจัดสรรอย่างยุติธรรมอย่างที่มีการตั้ง จะเรียกว่านิคม หรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่มหรือสหกรณ์ก็ตามก็จะทำให้คนที่มีชีวิตที่แร้นแค้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ แต่ต้องอาศัยกฎหมาย อาศัยระเบียบการที่เหมาะสม และอาจต้องปรับปรุงกฎหมายและระเบียบการให้ดี

ฉะนั้น ก็ขอฝากความคิดแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งอาจารย์ ทั้งนิสิตว่ามีปัญหาในทางกฎหมายหลายด้าน ทั้งในด้านปฏิบัติกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องบริการประชาชน ชี้แจงให้ทราบถึงกฎหมาย แล้วก็ชี้แจงให้บริการในทางช่วยเหลือ ทั้งมีปัญหาที่จะปรับปรุงกฎหมายไม่ใช่ปฏิวัติ แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กับท้องที่ กับบ้านเมืองของเรา

สมมุติว่าถ้าเราเริ่มย้ายคนถึงเวลาเริ่มย้ายคนก็บอกว่าครอบครัวที่อยู่ในเขตที่เรากำลังทำงานนี้มีเท่านี้ครอบครัว แล้วก็คนที่อยู่ในเขตนี้ไปอยู่ไหน แล้วให้หนังสือพิมพ์เห็นว่าไปอยู่ที่ไหน อยู่ที่เขาหาให้ที่ที่ทำให้คนอื่นเขาอยู่ตลอดได้… จะทำให้บ้านเมืองของเรามีความสามารถที่จะรักษาความดีรักษาความเป็นปึกแผ่น รักษาความเป็นกันเองของประชาชน ก็ไม่จำเป็นที่จะเป็นทาสของความคิด ซึ่งเราอาจนึกว่าสมัยใหม่ ถ้าเราคิดอะไรออกให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว นั่นน่ะสมัยใหม่พอแล้ว ก็ขอฝากความคิดเหล่านี้ แล้วก็จะเป็นประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ประสบความสำเร็จในความคิดต่างๆ ที่มี ที่ดี ที่งาม และผู้ที่ศึกษาก็ขอให้สำเร็จการศึกษาโดยดีที่สุด เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและส่วนรวม ขอจงประสบแต่ความดีความงาม ความเจริญทุกประการ

พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้อัญเชิญมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ เป็นเพียงส่วนน้อยที่ข้าพเจ้ามีบุญวาสนาได้รับพระราชทานพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้โดยตรงและพระราชดำรัสทั้งหมดไม่ได้ทรงอ่านจากต้นฉบับ เพราะได้พระราชทานจากพระราชดำริและพระราชวิจารณ์ที่อยู่ในพระทัยของพระองค์ท่านโดยแท้ จึงสมควรที่จะได้ศึกษาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง และนำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนให้สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

การปกครองแผ่นดินต้องปกครองโดยกฎหมาย แต่กฎหมายที่นำมาใช้ต้องเป็นกฎหมายที่เป็นธรรม และผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีความยุติธรรม สังคมจึงจะเกิดสันติสุขที่แท้จริง สมแล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ของพวกเราชาวไทย ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2493 ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image