สภานักเรียนเสนอ 5 ข้อ ‘ลุงตู่’ ช่วยดัน ‘ประชาธิปไตย’ ใน ‘บ้าน-ร.ร.’ ส่งเสริมเทคโนโลยี 4.0

 

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายปริวัตร เทียบทอง นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ประธานสภานักเรียน ประจำปี 2561 พร้อมสภานักเรียนฯ กว่า 100 คน กล่าวในการยื่นข้อเสนอในการพัฒนาการศึกษาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ว่า คณะสภานักเรียนได้จัดประชุมสัมมนาวิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหา สถานการณ์ต่างๆ ในสถานศึกษา ชุมชน สังคมและประเทศชาติ และได้ข้อสรุปใน 5 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การนำหลักคิดประชาธิปไตยมาใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนี้ สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่ปรองดอง เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ในฐานะที่เป็นผู้มีประสบการณ์ และเป็นผู้รับผิดชอบต่อครอบครัว พ่อแม่ยอมรับฟังความเห็นความต้องการของลูก ตัดสินปัญหาต่างๆ โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ การส่งเสริมการนำหลักคิดประชาธิปไตยมาใช้ในโรงเรียน โดยการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม กระตุ้น และเปิดโอกาสให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ฝึกหัดให้นักเรียนยอมรับฟังความคิดเห็น และเหตุผลของคนอื่น พยายามโน้มน้าวใจให้นักเรียนเข้าใจถึงเหตุผลในกฎระเบียบต่างๆ มากกว่าที่จะใช้อำนาจบังคับเพียงอย่างเดียว การส่งเสริมการนำหลักคิดประชาธิปไตยเข้ามาในชุมชน โดยร่วมในการประชุม หรือกิจกรรมของชุมชนอย่างเต็มใจ รับฟังความคิดเห็นของทุกคน และไม่ถือโทษโกรธเคืองกันแม้จะมีความขัดแย้ง ตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ปรึกษาหารือกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ มากกว่าที่จะคอยซ้ำเติม

นายปริวัตรกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 การเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้ตรงกับความถนัดเพื่อการมีงานทำ เสนอให้ส่งเสริม และพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนในวิชาแนะแนวของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ให้สะท้อนถึงความสำคัญของการศึกษาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และต่อยอดเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคตได้จริง รวมถึง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา หรือหน่วยงานทางการศึกษากับภาคประชารัฐให้มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ให้มีความเชื่อมโยงกัน ประเด็นที่ 3 การเรียนรู้ และใช้เทคโนโลยียุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เห็นว่า นักเรียนควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าถึงเทคโนโลยีในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มีช่องทางให้เข้าถึงแหล่งที่ถูกต้องเหมาะสม และเปิดโอกาสให้ได้เรียนหลักสูตร และวิชาเพิ่มเติม ที่ส่งเสริมนักเรียนด้านการใช้เทคโนโลยียุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคม มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา

Advertisement

“ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมให้เยาวชนรัก และสนใจในอาชีพครู โดยสภานักเรียนเสนอโครงการ “TSC ครูที่หนูรัก” โดยเชิญชวนให้นักเรียนทุกโรงเรียนเสนอเรื่องราวความดีของครูผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพจสภานักเรียนระดับประเทศ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของอาชีพครู เนื่องจากปัจจุบันเยาวชนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจอาชีพครูมากขึ้น เนื่องจากอาชีพครูเป็นอาชีพที่มั่นคง มีเกียรติ มีความสำคัญในการสร้างคน สร้างอนาคตของชาติ และประเด็นที่ 5 การเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตของนักเรียน ขอเสนอแนวทางการส่งเสริมดังนี้ ส่งเสริมสภานักเรียนทุกโรงเรียนจัดกิจกรรม ‘หนึ่งโรงเรียน หนึ่งค่ายพัฒนาทักษะชีวิต’ เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น เอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชนในลักษณะประชารัฐ ทั้งด้านการดำเนินงาน และด้านงบประมาณ” นายปริวัตร กล่าว

นพ.อุดม กล่าวว่า ขอชื่นชมสภานักเรียนทุกคน ที่ได้ร่วมกันให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะซึ่งหลายๆ ข้อนั้น ตรงกับสิ่งที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย การสร้างค่านิยม โดยเฉพาะเรื่องการเรียนสายอาชีพ ที่ปัจจุบันพ่อแม่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีค่านิยมให้ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ปริญญา แต่ที่เรากำลังต้องอย่างมาก คือคนที่เรียนสายอาชีพ เรียนอาชีวศึกษา แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่อยากให้ลูกเรียนอาชีวะ เพราะรู้สึกว่าต่ำต้อย ทั้งที่ในต่างประเทศ จะให้ความสำคัญกับคนเรียนอาชีวะมาก เพราะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา จึงเป็นที่มาที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ ศธ.ปฏิรูปอาชีวศึกษาให้เป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน

Advertisement

“อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสภานักเรียน คือการพัฒนาทักษะชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเราเน้นแต่ทักษะเชิงลึก แต่ยังขาดในเรื่องความรู้ด้านกว้าง เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การเป็นผู้นำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การทำงานของสภานักเรียนจนถึงเวลานี้มีทั้งสิ้น 12 รุ่น ถือว่าเกิดผลดี แต่ผมมองว่าเท่านี้ไม่พอ ต้องขยายให้เยอะขึ้น เพราะเรามีเด็กเป็นแสนๆ คน ต้องช่วยกันส่งเสริมให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมคิด” นพ.อุดม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image