ณรงค์ ปรางค์เจริญ ชวนไปชม ‘TIJC 2018’ 1 ทศวรรษ เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ

ก้าวสู่ปีที่ 10 แล้ว สำหรับ เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ หรือ Thailand International Jazz Conference (TIJC) เทศกาลของจักรวาลดนตรีแจ๊ซที่มี “การศึกษา” เป็นตัวขับเคลื่อน

ด้านเจ้าภาพยังคงเป็น วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เจ้าเดิม เตรียมพร้อมยกทัพศิลปินแจ๊ซทั้งไทยและเทศร่วมทำการแสดงรวมแล้วกว่า 60 วง ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคมนี้

งานนี้มี ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกสากล ร่วมแจมกับ “วงซิมโฟนีออเคสตรา” ในฐานะผู้เรียบเรียงเพลงพื้นบ้านภาคเหนืออย่างน้อยใจยาและเซเลเมา บรรเลงในลักษณะ “แจ๊ซซิมโฟนี”

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และในชีวิตของ อ.ณรงค์ ที่หันมาเขียนให้แจ๊ซ

Advertisement

“ถามว่าหนักใจไหม หนักใจ เพราะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ถามว่าตื่นเต้นและสนุกไหม ตื่นเต้นและสนุก เพราะไม่เคยทำเพลงแบบนี้เหมือนกัน ทุกคนตื่นเต้นเหมือนกันหมด” อ.ณรงค์เล่า และว่า ตอนนี้ตนเองพยายามทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อให้ผสมงานออกมาได้กลมกลืนอย่างพอดี ประกอบกับ “แบกรับความเชื่อมั่น” จากอาจารย์ท่านอื่นๆ อยู่ด้วย

“เขาบอกว่า ทุกครั้งที่อยากให้มีอะไรไทยๆ ผมสามารถผสมความเป็นไทยกับสากลลงในเพลงตัวเองได้ดี จึงเชื่อว่ามันน่าจะออกมาเป็นเพลงที่ดี”

อ.ณรงค์บอกเล่าด้วยรอยยิ้ม พร้อมเปิดประสบการณ์และเชิญชวนผู้สนใจร่วมสัมผัสเทศกาล TIJC 2018 อันใกล้จะถึงนี้…

Advertisement

TIJC ต่างจากเทศกาลดนตรีอื่นอย่างไร?

เราเรียกเขาว่า Thailand International Jazz Conference ไม่ใช่ Jazz Festival (แจ๊ซเฟสติวัล) เพราะฉะนั้นเราจะไม่โฟกัสเหมือนแจ๊ซเฟสติวัลที่จัดในประเทศ ซึ่งเขาจะเชิญศิลปินมาเล่นคอนเสิร์ต แต่เราเป็นกึ่งวิชาการ ใช้วิชาการขับเคลื่อนสังคมแจ๊ซและวงการดนตรีแจ๊ซ

การเล่นคอนเสิร์ตมันก็ดี เพียงแต่ว่าการเล่นคอนเสิร์ตควรขยายผลมากกว่านั้น แทนที่เราจะเล่นคอนเสิร์ตอย่างเดียว เราจะขยายผลอย่างไร เพราะฉะนั้นในงานของเราจึงประกอบด้วยการเล่นคอนเสิร์ตจากวงต่างๆ มีแคมป์ มีการประกวดในแคมป์ และถ้ามองดูดีๆ เรามีแคมป์ที่สอนเด็กๆ ว่า ถ้าอยากเป็นนักดนตรีแจ๊ซต้องทำยังไง เล่นอย่างไร มีเทคนิค มีการสอนอิมโพรไวเซชั่น เขาจะได้เรียนรู้จากศิลปินที่เราเชิญมา ได้เห็นตัวอย่างจากคนเหล่านั้น ซึ่งเราไม่ใช่แค่สอน แต่เราเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่ Learning by doing หรือ Learning by seeing

เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ของ TIJC คือเด็กได้เข้ามาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกตลอดช่วงแคมป์ ทั้งยังมีเทรนเนอร์สอนให้ การมีเทรนเนอร์ช่วยเทรนทำให้รู้เลยว่าถ้าเขาทำผิดก็คือผิด แล้วลองทำใหม่ เขาก็จะรู้ว่าการลองผิดลองถูกโดยไม่มีเทรนเนอร์ ถ้าไม่มาเข้าแคมป์กับเราก็จะติดนิสัยการทำผิดไปเรื่อยๆ จนเป็นนิสัย อันนั้นแก้ยาก (หัวเราะ)

แต่ทำไมถึงบอกว่าในแคมป์ของเราสนับสนุนให้เด็กลองผิดลองถูก? เพราะเมื่อเขาทำผิดปุ๊บ จะมีคนบอก เขาจะได้เรียนรู้ว่าวิธีนี้ผิด แล้วต้องทำอย่างไรจึงถูก พอทำเสร็จจบเรียบร้อย เขาก็จะเห็นตัวอย่างจริงๆ บนเวที เขาจะได้รู้ว่าที่เทรนเนอร์สอนมาทั้งหมดคือสิ่งที่เขาเล่นอยู่บนเวที

TIJC เป็นเทศกาลที่รวมนักแจ๊ซทุกสถาบัน ทั่วทุกมุมโลก ที่มีความหลากหลายทางด้านสไตล์ มีตั้งแต่ป๊อป อาร์แอนด์บี ไปจนถึงฮาร์ดคอร์แจ๊ซ ซึ่งขอบเขตของเราจริงๆ ทำเพื่อคนทุกประเภทอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทุกคนไม่ควรพลาด อย่างเวลาไปเทศกาลอื่น ผมว่าบางทีเขาเลือก เพราะเทศกาลเหล่านั้นเป็นเทศกาลดนตรีที่คนจัดมีความรักในเสียงดนตรีแล้วอยากจะจัด เขาเลยเลือกแต่เพลงที่เขาชอบ หรือวงที่เขาชอบมาจัดรวมกัน

ในขณะที่ของเราเป็นคอนเฟอเรนซ์ ใช้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นจะไม่เลือกเฉพาะเพลงที่เราชอบ เพราะเรารู้แล้วว่าการศึกษามีหลายแบบ กว้างขวาง เราควรจะต้องเปิดโอกาสให้คนรับข้อมูลได้เยอะ เพื่อเขาจะได้รู้ว่าเขาอยากได้อะไร ชอบอะไร

และนั่นเป็นจุดแตกต่างที่ผมว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเทศกาลนี้

แตกต่างจาก 9 ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?

ปีนี้เราได้นักทรัมเป็ตที่เก่งมากมาเล่นกับวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ส่วนทั้ง 4 วงอย่าง Will Vinson Quintet, Claudio Filippini Trio, Alfredo Rodriguez Trio และ Enrico Zanisi ตัว Will Vinson เอง กว่าจะได้ตัวมาก็ค่อนข้างลำบาก หรือ Fabrizio Bosso นักทรัมเป็ตที่เราเชิญมาเล่นกับทีพีโอช่วงแจ๊ซเฟสติวัลปีนี้ ก็เป็นความร่วมมือกับสถานทูตด้วย

ความแตกต่างของปีนี้คือ ปกติเราจัดคอนเสิร์ตวันศุกร์-อาทิตย์ โดยมีทีพีโอคั่นอยู่ตรงกลางวันเสาร์ ตอนนี้ทีพีโอย้ายมาเล่นวันศุกร์-เสาร์ ตามคอนเสิร์ตปกติ และการที่ทีพีโอมาเล่นแจ๊ซ นับเป็นปีละครั้งที่เขาจะทำอย่างนี้ เพราะปกติเล่นแต่คลาสสิกหนักๆ พอมีแจ๊ซหรืออย่างอื่นเข้ามาเกี่ยว คนก็จะสนใจมากขึ้น อยากมาดูทีพีโอที่มีความแตกต่างมากขึ้น

เป็นพัฒนาการที่ใหญ่โตมาเรื่อยๆ?

ใช่ครับ เพราะว่ามันค่อยๆ ขยาย เราใช้ 10 ปีค่อยๆ ขยาย ผมว่าทุกคนเห็นเหมือนกันว่า อะไรที่โตเร็วเกินไปนั้นอยู่ยาก เราจึงค่อยๆ เพิ่มทีละหน่อย

เมื่อก่อนไม่เคยจัดแคมป์ ตอนหลังเลยได้จัดแคมป์ เมื่อก่อนเราอยากทำเทศกาลดนตรี ซึ่งการมีคอนเสิร์ตมันสร้างอิมแพคได้ในระดับหนึ่ง แต่เราจะทำอย่างไรให้มันต่อยอด จึงเพิ่มเรื่องการศึกษาเข้ามาในคอนเสิร์ตนั้น แล้วจะทำอย่างไรให้ขยับขึ้นไปอีก เลยดึงทีพีโอเข้ามาเพื่อช่วยต่อยอด ค่อยๆ ทำกันไป

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เทศกาล TIJC อยู่มาถึงปีที่ 10 หรือจะก้าวสู่ปีต่อๆ ไป?

ผมว่าดนตรีแจ๊ซเป็นดนตรีที่ค่อนข้างมีแฟนเยอะ ในประเทศไทยมีคนรักดนตรีแจ๊ซเยอะมาก ดนตรีแจ๊ซเป็นดนตรีที่ผูกพันกับคนไทยมานาน ช่วงที่เราปลี่ยนยุคแรกๆ ดนตรีแจ๊ซค่อยๆ ซึมเข้ามาพร้อมกับคลาสิเคิล (Classical) แต่คนที่เอาคลาสิเคิลเข้ามา กับคนที่เอาแจ๊ซเข้ามา คือกลุ่มคนคล้ายๆ กัน นั่นคือคนที่ถูกส่งไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่สมัย ร.5 แล้วทุกคนค่อยๆ กลับมาพร้อมดนตรีนั้น ผมว่ามันทำให้แจ๊ซค่อยๆ ซึม ค่อยๆ ผูกพัน

สังเกตว่าเราค่อนข้างมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับดนตรีแจ๊ซอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลวง ร.9 ทรงโปรดดนตรีแจ๊ซมาก ทำให้รู้ว่าดนตรีแจ๊ซเป็นดนตรีที่คนไทยเข้าถึงได้ง่าย

เพราะฉะนั้นเวลาเราจัดเทศกาลขึ้นมาครั้งหนึ่งคนก็อยากมาฟังดนตรีแจ๊ซ ถ้าลองโปรโมตว่าเป็นเทศกาลดนตรีคลาสสิก 1 อาทิตย์ ผมว่าเราหาคนดูยาก แต่พอเป็นแจ๊ซปุ๊บจะรู้สึกสนุก แล้วมันขยายขึ้นทุกปีอยู่แล้ว

แนวทางการพัฒนา TIJC เป็นอย่างไร?

ตอนนี้เราเป็นเทศกาลค่อนข้างใหญ่ มีคนต่างชาติรับรู้เทศกาลนี้ค่อนข้างเยอะ ในคอนเฟอเรนซ์นี้มีคนถามถึงเยอะมาก

ผมไปต่างประเทศเมื่อกลางปีที่แล้ว เจอนักดนตรีแจ๊ซกลุ่มหนึ่งที่มาเล่นคอนเสิร์ตเหมือนกัน พอผมบอกว่าอยู่ประเทศไทย และเขารู้ว่าเรามีงาน TIJC แล้วอยากมาร่วม จะทำอย่างไร ผมเลยถามเขาว่ารู้จักด้วยเหรอ เขาบอกว่ารู้จัก (ยิ้ม) มีเพื่อนมาหลายคนแล้ว เขาอยากมา จะทำยังไง ผมบอกว่าปี 2018 ไม่ได้แล้ว ต้องเป็นปี 2019 แทนนะ (ยิ้ม)

เรามีคนรู้จักเยอะแล้ว แต่ทำยังไงที่เราจะเป็นฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำยังไงที่เราจะเปิดโอกาสให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้เราให้โอกาสกับคนไทยได้สัมผัสถึงนักดนตรีแจ๊ซระดับโลก ขณะเดียวกัน การชวนประเทศเพื่อนบ้านมาเล่นดนตรีแจ๊ซด้วยกัน ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยน พูดคุย ช่วยเหลือกัน แล้วคุยให้เสร็จเลยว่าเราจะไปทางไหน อีก 5 ปีเราจะไปยังไง มีการพัฒนาอย่างไร จะสร้างนักดนตรีแจ๊ซยังไง

ในอนาคตผมอยากเห็นทุกประเทศเข้ามา หมายถึงว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามารวมตัวกัน ทำแคมป์ด้วยกัน ดึงเด็กต่างชาติเข้ามา แล้วเราเป็นส่วนผลักดัน ในอนาคตสไตล์แจ๊ซของเราเป็นอย่างไร สไตล์แจ๊ซของไทยจะเป็นอย่างไร ของประเทศเพื่อนบ้านเป็นยังไง เราขับเคลื่อนไปด้วยกันเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สไตล์ ถ้าเล่นแบบนี้คือรู้เลยว่ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมว่าเราทำได้ ถ้าเรามีพาร์ตเนอร์

เราสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แล้ว?

ตอนนี้เราพร้อมแล้ว เพียงแต่ว่าเรามีความพร้อม แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อไปคือต้องสร้างคอนเน็กชั่น

เทศกาลนี้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณภาพ เพราะถ้างานไม่มีคุณภาพมันอยู่ถึง 10 ปีลำบาก เรามีแฟนเบส มีแฟนคลับ มีศิลปินที่ให้ความสนใจมากมาย อย่างศิลปินที่มา วงในประเทศไทยค่าตอบแทนหลักหมื่นบาทเท่านั้น แต่บางวงขนเสื้อผ้า หน้าผม เครื่องเสียงมาไม่ต่ำกว่าแสนบาท แต่ทำไมเขาถึงยังมา? เพราะว่าอย่างน้อยในปีหนึ่งเขาได้มาพบปะพี่น้องเพื่อนฝูง ได้มาแลกเปลี่ยนเล่นดนตรีกัน

เขารู้สึกว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่มีเกียรติ การได้มาเล่นเหมือนกับได้โชว์ศักยภาพของตัวเอง เหมือนกับเวที SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย คือให้ทุกคนมี Set Goal ของตัวเอง

ที่นี่เป็นที่เดียวที่รวมนักดนตรีแจ๊ซได้มากที่สุด รวมจากทุกสถาบัน เพราะเราไม่เชื่อในระบบการเป็นเอ็กซ์คลูซีฟของมหิดลเสียทีเดียว เราเชื่อในความร่วมมือ เพราะฉะนั้นศิลปากรก็มา รังสิตก็มา ที่ไหนที่มีแจ๊ซเขาก็ส่งวงมาเล่น และเราไม่เคยกีดกัน เราพยายามรวบรวมเขามา นี่คือเสน่ห์ของการทำความร่วมมือกัน

อจ.มีส่วนสำคัญในไฮไลต์พิเศษของงานอย่าง “แจ๊ซซิมโฟนี”?

ผมคุยกับ อ.หลง (นพดล ถิรธราดล) ซึ่งเป็นคีย์เพอร์เซอร์ของงานนี้ รวมถึงอาจารย์ท่านอื่นๆ เขาบอกว่าอยากเห็นวงออเคสตราไทยเล่นแจ๊ซแบบจริงจัง ผมเลยบอกว่าจริงๆ อเมริกันก็มี Rhapsody In Blue ที่ทุกคนเล่นและยอมรับได้ว่าเป็นออเคสตรากับแจ๊ซผสมกัน และคนชอบ เขาเลยมาทาบทาม อยากให้ผมทำแบบนั้นให้ได้ไหม ผมก็ถามว่าทำแบบนั้นคือทำระดับไหน เพราะถ้าเอาเพลงมา เอาออเคสตราเล่นกับวง ผมว่าอันนั้นไม่จำเป็นต้องให้ผมทำก็ได้ (ยิ้ม) ใครทำก็เหมือนกัน

เขาเลยบอกว่า อยากเห็นแบบที่เป็นเพลงจริงจัง เป็นออเคสตรา ซึ่งเขามีเพลงที่เคยทำอยู่แล้วคือน้อยใจยากับเสเลเมา และทำเหมือนแจ๊ซแล้วเช่นกัน ผมฟังแล้วรู้สึกว่าอนาคตของแจ๊ซไทยต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เอาเพลงไทย เอาเมโลดี้เพนทาโทนิกมา แล้วมารวมกับแจ๊ซหรืออื่นๆ แต่ควรมีรูปแบบความเป็นไทยเข้ามาปนแล้วกลืนกันได้ด้วยดี

เวอร์ชั่นแรกที่เขาทำคือค่อนข้างเป็นนวัตกรรม และผมเห็นเลยว่าหลักการอิมโพรไวซ์มันมีสำเนียงของเพลงเหล่านั้นอยู่ จากทำนองชัดๆ ก็เริ่มกระจายไปจนเกือบเป็นฟรีอิมโพรไวเซชั่น แล้วในที่สุดก็ตีกลับมาใหม่ ผมเลยบอกว่า ไม่แน่ว่าสิ่งนี้อาจเป็นอนาคตของแจ๊ซสำเนียงไทยจริงๆ ซึ่งไม่เหมือนกับวงอื่นๆ ที่เขาทำมา เพราะหลายๆ วงเป็นการนำเครื่องดนตรีใส่เข้าไปแล้วเล่นสเกลสากล ซึ่งผมไม่เห็นด้วยที่เอาเครื่องดนตรีไทยไปเล่นสเกลสากล ผมรู้สึกว่ามันควรจะต้องอยู่ของมันอย่างนั้น

เวลาฟังเพลงแอฟริกัน สไตล์แอฟริกันมันมีเสียงเพี้ยนเยอะมาก แต่พอร้องรวมกับวง เขาสามารถทำได้ ผมบอกว่าจริงๆ แล้วของเราก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราต้องมีการจัดสรร มีวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยว พอผมฟังที่วงเขาเล่นเป็นตัวอย่าง ผมก็บอกว่าอันนี้น่าจะเป็นงานที่ดี โอเค เดี๋ยวผมช่วยทำฝ่ายออเคสตรา (ยิ้ม)

ในที่สุดบทเพลงแจ๊ซซิมโฟนี ฝีมือการประพันธ์ของ อ.ณรงค์ ซึ่งได้รับการยอมรับในฝีมือการประพันธ์ดนตรีว่าอยู่ในระดับโลกก็บังเกิดขึ้น

และกลายเป็นหนึ่งในไฮไลต์ในการฉลอง 1 ทศวรรษของเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้

เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ TIJC 2018


งานดนตรีที่ ‘ใคร’ ก็เข้าถึงได้

ได้ถาม อ.ณรงค์เพิ่มเติมว่า งาน TIJC 2018 เสมือนทำเพื่อตอบโจทย์ผู้รักเสียงดนตรี หรือผู้ต้องการศึกษาต่อด้านดนตรีเท่านั้นหรือไม่ แล้ว “บุคคลทั่วไป” อย่างเราๆ สามารถฟังเข้าใจไหม เข้าถึงง่ายหรือเปล่า

อ.ณรงค์บอกว่า “งานนี้มีวาไรตี้มากพอให้เข้าถึงได้แน่นอน”

เพราะ วาไรตี้ ที่ อ.ณรงค์ยินดีนำเสนอไม่ใช่เพียงการแสดงดนตรีแจ๊ซเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมด้านการศึกษา การแข่งขันแสดงเดี่ยวดนตรีแจ๊ซ การแข่งขันเวิร์กช็อป รวมแล้วกว่า 100 กิจกรรม

ทีเด็ดสุดสุดคือ “แจ๊ซแคมป์” ที่ได้ศิลปินแจ๊ซขั้นเทพ “Will Vinson Quintet” ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมขึ้นเวทีแสดงสด

ตลอดจนศิลปินแจ๊ซทั้งไทยและต่างประเทศ มากันตั้งแต่รุ่นเล็ก วัยนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงรุ่นใหญ่ชื่อดังระดับโลกกว่า 60 วง อาทิ Will vinson Quintet, Claudio Filippini Trio, Alfredo Rodr?guez Trio, Enrico Zanisi, Keng Tachaya, Silpakorn Faculty Jazz Ensemble, Changton Kunjara Quartet, Rangsit University Jazz Orchestra, Mahidol University Jazz Orchestra, Mahidol University Jazz Big Band, Bansomdejchaopraya Rajabhat U.Jazz Orchestra, Silpakorn University Jazz Orchestra, Royal Thai Navy Jazz Orchestra, Horwang Big Band, Vajiravudh College Big Band

“งานนี้เหมือนเทศกาลแบบสตรีทแฟร์” อ.ณรงค์เปรียบ ก่อนอธิบายว่า เป็นเหมือนงานฟู้ดแฟร์ที่ได้ชิมอาหารหลายอย่าง โดยแต่ละร้านล้วนประสบความสำเร็จ และนำของที่ดีที่สุดของตัวเองมาโชว์

“ผมว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเปิดกว้าง หลากหลาย อยากให้ทุกคนเข้ามาลองดูว่าเวลาที่เราเป็นแบบนี้จริงๆ เราชอบหรือไม่ชอบอะไร”

หรือพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) ลองชิมลางก่อนได้ที่งานดนตรีแจ๊ซในสวน “Jazz in the park with Mahidol University Jazz Orchestra 2018” ที่ The Jam Factory (คลองสาน) ตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น. ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

แล้วค่อยมาชมแบบจุใจในงาน TIJC 2018 ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2561 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

หาซื้อบัตรได้ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร 0-2849-6565-6 ต่อ 6604, 6609 และที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ พร้อมเช็กตารางการแสดงและรายละเอียดเพิ่มเติมใน www.tijc.net หรือเฟซบุ๊ก Thailand International Jazz Conference (TIJC)

อย่าพลาด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image