แหวกม่านสวรรค์ชั้น 7 ! จาก ‘โรงรับชำเราบุรุษ’ ยุคอยุธยา ถึง ‘อาบอบนวด’ ไทยแลนด์ 4.0

ฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง "หลงทาง" ปรากฏ "ฉากจูบ" ฉากแรกในประวัติศาสตร์หนังไทย สะท้อนค่านิยมด้านลบต่อการเที่ยวกลางคืน

กลายเป็นข่าวครึกโครมเขย่าแวดวงสีกากี เมื่อมีการพบ ‘โพย’ รายชื่อนายตำรวจหลายนายในบัญชีรับรองส่วนนวดหลังดีเอสไอเข้าตรวจค้นสถานอาบอบนวด ‘วิคตอเรียซีเคร็ท’ นำมาสู่การตั้งคำถามสำคัญในสังคมหลายประการ

มาลองย้อนดูความเป็นมาของสถานบันเทิงในลักษณะดังกล่าว ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีหลักฐานย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้คำว่า ‘โรงรับชำเราบุรุษ’ ปรากฏในเอกสารจากหอหลวง ระบุถึงย่าน ‘ตลาดบ้านจีน’ บริเวณปากคลองขุนละคอนไชย (คลองตะเคียน) ซึ่งมีหญิงละครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ

ตลาดดังกล่าวเป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด

สถานเริงรมย์เช่นนี้มีอยู่ในสังคมไทยเรื่อยมา โดยในยุคต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่าในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2420 (สมัยรัชกาลที่ 5) โรงโสเภณีและโรงบ่อนเป็นพื้นที่บันเทิงยามค่ำคืนของเมืองที่คนชาวบางกอกเข้าไป “หาความสุข” และแสวงโชค

Advertisement
ภาพถ่ายเก่าสตรีรายหนึ่ง คาดว่าเป็น “โสเภณี” บันทึกภาพโดยชาวตะวันตก

หนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี ของ วีระยุทธ ปีสาลี ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว โรงโสเภณีและโรงบ่อนมีทั้งบนบกและเรือนแพ โดยเฉพาะในเขตชุมชนชาวจีนที่สำเพ็ง อย่างไรก็ตาม ลูกค้าโรงบ่อนไม่ได้มีแค่คนจีนและชาวบ้านทั่วไป แต่ยังมี “คนในวงราชการใหญ่ๆ” เข้าเสี่ยงโชคด้วย ส่วนโรงโสเภณีมีการขับร้องเพลงให้แขกฟังด้วย

พัฒนาการในขั้นต่อมาในการเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนของผู้ชายคือ การไป “คลับ” ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงไปสมาคมหรือสโมสรตามคำแปลเท่านั้น แต่หมายถึงไปเที่ยวโรงโสเภณีด้วย โดยในทศวรรษที่ 2420-2450 หรือเมื่อราว 100 กว่าปีที่ผ่านมา คำว่าคลับรวมถึง “บาร์” ยังถูกใช้เรียกโรงโสเภณีด้วย

คลับที่เป็นโรงโสเภณีมีลักษณะคล้ายสถานกินดื่มสาธารณะและสถานเริงรมย์ที่มีหญิงสาวไว้คอยบริการลูกค้า หากถูกใจกันก็ “ร่วมหลับนอน” ด้วยได้ ในช่วงเวลานี้มีโรงโสเภณีหรือคลับดัง เช่น “เบลีวิวบาร์” และ “สะเปล็นดิดบาร์” ย่านบางรัก สำหรับคลับที่มีชื่อเสียงในหมู่คนไทยและจีนคือ “คลับจางวางหม็อง” ที่ถนนวรจักร และ “คลับเบอร์ 10” ที่ถนนเจริญกรุง รวมถึง “คลับยี่สุ่นเหลือง” ที่ตรอกยายแพ่ง

Advertisement

คลับเหล่านี้ สะท้อนถึงความแพร่หลายของการค้าประเวณีในกรุงเทพฯซึ่งขยายออกนอกพื้นที่สำเพ็งไปสู่จุดอื่นๆอีก เช่น ย่านบางรัก เน้นลูกค้าชาวตะวันตก ส่วนย่านวรจักร เน้นคนไทย อย่างไรก็ตาม แหล่งใหญ่สุดยังคงเป็นสำเพ็งแต่เปลี่ยนที่ตั้งจากริมน้ำเป็นตรอกซอกซอยเพื่อเลี่ยงสายตาคน โดยยุคนี้ยังเป็นโสเภณีที่มีลักษณะแบบ “นางประจำสำนัก” สำนักที่โด่งดังที่สุด คือ “สำนักยายแฟง” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีกิจการร่ำรวยจนยายแฟงนำเงินไปสร้างวัดชื่อว่า วัดใหม่ยายแฟง หรือ วัดคณิกาผล หมายถึง ผลที่ได้จากโสเภณี หรือนางคณิกา

วัดคณิกาผล ภาพจาก wikimedia.org

ต่อมาในยุคปลายรัชกาลที่ 5 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 สำนักโสเภณีต้องแขวน “โคมเขียว” เป็นสัญลักษณ์ เพื่อให้รู้ว่าเสียภาษีแล้ว แต่โสเภณีที่ไม่สังกัดสำนักและไม่อยากเสียภาษีมักแอบยืนขายบริการตามโรงบ่อนและโรงหวย

ในยุคต่อมากิจการโสเภณีเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหลังทศวรรษที่ 2460 คือ สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาโรงโสเภณีเปลี่ยนรูปแบบแอบแฝงตามสถานบันเทิงยามค่ำคืนของเมืองโลกสมัยใหม่ ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โรงแรม และสถานเริงรมย์ เป็นต้น

คณะนางระบำของตึกไพบูลย์สมบัติ หรือ “ตึก 9 ชั้น” ซึ่งโด่งดังมากใน พ.ศ.2474

ครั้นยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานเริงรมย์แบบ “เต้นรำ” คาบาเรต์ และระบำเปลือยกายเกิดขึ้นในกรุงเทพ ปิดเฉพาะอวัยวะเพศและหัวนม สามารถ “เสียดสี” กันระหว่างจับคู่เต้นคณะระบำที่มีชื่อเสียงคือ “ระบำนายหรั่งหัวแดง” ระบำแบบนี้รับอิทธิพลตะวันตก ก่อนพัฒนาเป็นการเต้นอะโกโก้ในยุคสงครามเย็น และสงครามเวียดนาม

การเต้นรำลักษณะยั่วยวนกามารมณ์เป็นที่วิพากษ์ต่อปัญหาศีลธรรม

สำหรับ ‘อาบอบนวด’ ในยุคปัจจุบันเป็นสถานบริการประเภทหนึ่งที่มีพนักงานนวดไว้บริการลูกค้า เมื่อลูกค้าเข้าไปภายในจะมีตู้กระจกซึ่งมีพนักงานติดเบอร์นั่งอยู่ อันเป็นที่มาของเพลงนางงามตู้กระจก ด้านหน้าจะมีบริกรที่เรียกว่า คนเชียร์แขก คอยแนะนำ เพื่อเลือกพนักงาน แล้วขึ้นห้องเพื่อรับบริการ การเปิดสถานบริการอาบอบนวดในประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในส่วนของสถานบริการทั่วไป ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามมักจะมีการค้าประเวณีแอบแฝงนั่นเอง.

ข้อมูลและภาพบางส่วนจากหนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image