70 ปี สัมพันธ์ไทย-พม่า

จักร บุญ-หลง เยี่ยมคาราวะและหารือนางออง ซาน ซูจี

ปี 2561 นี้เป็นปีที่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-พม่าครบ 70 ปี นับตั้งแต่พม่ามีการปกครองภายใต้รัฐบาลทหารจนถึงรัฐบาลพลเรือนในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า อาจไม่ได้ราบรื่นเรียบร้อยมาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายตามแนวชายแดน การหลั่งไหลเข้ามาในไทยของผู้พลัดถิ่นชาวพม่า จนทำให้ไทยกลายเป็นที่พักพิงของชาวพม่าจำนวนมากในอดีต และยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน กระทั่งในทุกวันนี้ที่พม่าได้เปิดประเทศ ก็ยังมีชาวพม่าที่ทำงานในไทยหลายล้านคน

จะน้อยจะมากก็พูดได้ว่าไทยและพม่าเป็นประเทศที่มีความผูกพันระหว่างกัน ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ที่สำคัญ พม่ายังเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยมากที่สุด จากพรมแดนซึ่งทอดยาวตั้งแต่จ.เชียงรายจรดจ.ระนอง ด้วยระยะทางถึง 2,202 กิโลเมตร 70 ปีแห่งความสัมพันธ์ไทย-พม่า จึงมีความหมายและน่าสนใจอย่างยิ่ง

นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จเยือนพม่าในปีพ.ศ.2503 ขณะนั้นพม่าเจริญมาก พระองค์ได้เสด็จเยือนองค์การเภสัชกรรมของพม่า เสด็จไปทรงสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และทรงรับสั่งประดุจดังเห็นอนาคตว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งสองประเทศจะต้องรักกันไว้ โดยมีพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสองประเทศเข้าด้วยกัน

จักร บุญ-หลง

นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ท่านทูตจักรบอกว่า การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าถือว่ามาไกลมาก จากเดิมเป็นการพบปะคบหาระหว่างกองทัพต่อกองทัพ และประชาชนต่อประชาชน ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-พม่าอยู่ในขั้นที่ดีมาก เราให้การช่วยเหลือพม่าอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ การฝึกอบรมต่างๆ อาทิ เรื่องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ภาคการธนาคาร ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมเรื่องการประกันภัย และมีการเซ็นบันทึกความเข้าใจระหว่างตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย พม่าเพิ่งเปิดประเทศได้ 2 ปี ดังนั้นไม่ว่าจะแตะไปที่จุดไหนก็ช่วยได้ทั้งนั้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่อเตรียมให้พม่ามีความพร้อม

Advertisement

นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว ท่านทูตจักรในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอลและนอร์เวย์ยังได้ช่วยประสานให้มีการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ทางทะเลให้กับทีมแพทย์พม่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตไทยในพม่า กับโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ(ไทก้า) กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์การแพทย์ทางทะเลและการดำน้ำ(Norwegian Centre for Maritime and Diving Medicine หรือ NCMDM) ของนอร์เวย์ ภายใต้หลักสูตรเวชศาสตร์ทางทะเลสำหรับแพทย์ โดยผู้อำนวยการของ NCMDM และคณะ ได้บรรยายถึงความสำคัญของเวชศาสตร์ทางทะเลและแบ่งบันประสบการณ์ด้านเวชศาสตร์ทางทะเล ด้านนาวาเอก ธนษวัฒน์ ชัยกุล ผู้อำนวยการกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กองแพทย์ทหารเรือ และผู้แทนกรมการแพทย์ทหารเรือ ก็ยังได้ช่วยให้ข้อมูลแก่แพทย์ชาวพม่า

มอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่

ท่านทูตจักรบอกว่า ความรู้ด้านเวชศาสตร์ทางทะเลจะมีความสำคัญกับพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อพม่าเปิดประเทศ การลงทุนด้านประมง การเดินเรือ ไปจนถึงการขุดเจาะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติจะเกิดขึ้นตามมา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะได้มีทีมแพทย์เฉพาะทางไปให้การช่วยเหลือ

ท่านทูตจักรได้ยกตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานว่า เมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีเครื่องบินทหารของพม่าตกทะเล ทีมนักประดาน้ำของพม่าได้เข้าไปดำน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือ แต่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อาจอยู่ในทะเลนานเกินไป ที่สุดแล้วไม่กี่วันต่อมา นักประดาน้ำของพม่าก็เสียชีวิต ทางการพม่าตระหนักดีว่าหากได้รับการฝึกอบรมที่ดี ความสูญเสียเช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นของเวชศาสตร์ทางทะเล

Advertisement

ขณะที่ในเดือนมกราคมนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ นครย่างกุ้ง ไทก้า ร่วมกับอิสราเอล ก็จะมีโครงการและการฝึกอบรมในลักษณะบูรณการ หลักสูตร Trauma Center Development and Mass Casualties/Disaster Management ให้แพทย์ชาวพม่าอีกด้วย โดยทางอิสราเอลจะส่งทีมแพทย์มาบรรยายร่วมกับแพทย์จากกรมแพทย์ทหารบกของไทย ซึ่งท่านทูตจักรเชื่อว่าก็น่าจะเป็นประโยชน์มากเช่นกัน

ชาวบ้านในรัฐฉานเข้าคิวรอทำฟัน

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง ยังจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-พม่า ครบ 70 ปีตลอดทั้งปีนี้ ทั้งในมิติด้านวัฒนธรรม วิชาการ ไปจนถึงการกีฬา

ท่านทูตจักรบอกว่า ในอนาคตข้างหน้า ประเทศพม่าจะต้องเติบโตและเจริญขึ้นเรื่อยๆ มองไม่เห็นว่าพม่าจะถอยหลังได้อย่างไร เพราะผู้นำพม่าทุกคนก็พยายามที่จะทำให้พม่าก้าวต่อไปข้างหน้า ไทยในฐานะเพื่อนบ้านก็ต้องให้ความช่วยเหลือ แบ่งปันประสบการณ์ให้พม่ามีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจกับไทยได้ ขณะที่สถานทูตก็พยายามสนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยเข้ามาทำธุรกิจในพม่าให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

สำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าที่แม่ฮ่องสอน

ท่านทูตจักรย้ำว่า การทำธุรกิจของคนไทยในพม่าจะต้องไม่เป็นไปในลักษณะตีหัวเข้าบ้าน แต่ต้องแบ่งปันให้สังคมของเขา เมื่อไปลงทุนแล้วก็ต้องช่วยเหลือคืนกำไรให้กับเขา เราจะได้โตไปด้วยกัน ถ้าคนพม่าลืมตาอ้าปากได้ เราก็จะได้ประโยชน์จากการที่มีคู่ธุรกิจที่มีความสามารถ อนาคตของไทยและพม่า เราต้องโตไปด้วยกัน เพราะเราแยกจากกันไม่ได้ ย้ายหนีกันไปไหนไม่ได้ การอยู่กับประเทศที่เขามีความเจริญเติบโตและเข้มแข็งก็จะเป็นประโยชน์กับเราซึ่งเป็นเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

สิ่งต่างๆ ที่ท่านทูตจักรได้เล่าให้ฟังล้วนแต่สะท้อนความจริงตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จเยือนพม่าในครั้งนั้นที่ว่า “ยึดมั่นในสัจจะแห่งพุทธศาสนาอย่างเดียวกัน รวมทั้งการยึดมั่นในสันติภาพและความร่วมมือต่อกัน… ถือเป็นการกระชับเกลียวสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศไว้ทั้งด้านวัฒนธรรม ศาสนา และความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป…”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image