ว่าด้วย ‘นายกฯคนนอก’ คสช.ติดกับดักตัวเอง?

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมือง กรณีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจติดกับดักตัวเองในการเขียนกติกาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งไม่สามารถเลือกคนที่มาจากพรรคการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จำเป็นต้องใช้ช่องทางเลือกนายกฯจากคนนอก แต่อาจติดปัญหาเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอในการขอยกเว้นรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเปิดให้เสนอชื่อนายกฯ จนที่สุดไม่สามารถเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯได้ ทำให้เกิดสุญญากาศการบริหารประเทศ


วิรัตน์ กัลยาศิริ

วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

ปัญหาคาราคาซังมา 4-5 ปี เพราะไม่ได้ปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปที่ดิน หากไม่วางแผนการขับเคลื่อนบ้านเมืองให้ดี เป็นไปได้ว่าจะกลับไปสู่วงจรความขัดแย้งอีก หากเกิดขึ้นรอบนี้เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขอย่างยิ่ง

ในระยะแรกๆ ประชาชนชาวไทยให้การสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างมาก แต่เวลานี้กลับกัน เพราะความเชื่อถือค่อยๆ ลดลง อาจจะมาจากสนิมในเนื้อ หรือมาจากไม่ทำอย่างที่พูด หรือมาจากปัญหาอุปสรรคความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านของรัฐบาลนี้

Advertisement

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ออกแบบไว้เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก และออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ และต้องมีเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สนับสนุนเกินครึ่ง

การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาสนับสนุนนายกฯคนนอกก็เป็นสิทธิ แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องเร่งจัดการคือจัดการกับคนทุจริต ทั้งทุจริตที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลนี้ และการทุจริตในรัฐบาลนี้ เพื่อซื้อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกลับคืนมา และจะนำไปสู่ความผาสุกของบ้านเมืองในอนาคตที่แท้จริง


ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

Advertisement

ไม่อยากจะเรียกว่าเป็นกับดัก หากคนจะมาเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญก็ต้องแสดงว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญโดยรู้แจ้งตลอดแล้ว สมัครใจเข้ามาสู่วังวนการควบคุมตรวจสอบแบบเข้มข้นของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เงื่อนไขการเข้ามาเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญคือบทเฉพาะกาลให้มีการโหวตกันในรัฐสภามิใช่สภาผู้แทนราษฎรแบบปกติสภาผู้แทนฯ 500 คน วุฒิสภาจากการแต่งตั้งของ คสช. 250 คน รวมเป็น 750 คน คนจะเป็นนายกฯได้จึงต้องมีเสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 376 คน มีการพูดกันว่ามีเสียง ส.ว.อยู่แล้ว 250 คน เพียงหา ส.ส.ให้ได้ 126 คนก็ได้เป็นนายกฯแล้ว ดูตัวเลขก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ปัญหาใหญ่คือ ถ้ามาแบบนายกฯคนนอกในการโหวตรอบสอง จะต้องมีผู้เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอไม่น้อยกว่า 500 คน คงต้องมีเสียง ส.ส.เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวไม่น้อยกว่า 250 คน

เท่ากับ ส.ส.อย่างน้อยครึ่งสภาต้องเห็นด้วยที่จะให้คนนอกบัญชีพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯ ถ้าจะมาในบัญชีเลยตั้งแต่ต้นก็ต้องดูว่าพรรคใดจะเสนอ มีเสียง ส.ส.ถึงไหม หากจะได้เป็นไม่ใช่จะมีเสียง ส.ส.เพียง 126 คน สนับสนุนเท่านั้น เพราะการบริหารราชการแผ่นดินปกติ ถ้าเสียง ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง กฎหมายไม่ผ่านสภา หรือโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงอยู่ไม่ได้

หากได้เป็นนายกฯเข้าจริงๆ สิ่งที่ต้องเผชิญด่านแรกคือ การตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญบอกว่า ต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คงโดนยื่นคำร้องต่อศาล ต้องถูกตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันสร้างขึ้น ลองนึกดูเอาเองว่าภาพต่างๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ รัฐมนตรีทั้งหลายรวมถึงนายกฯด้วย จะผ่านด่านหินดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าจะแปลว่าเป็นกับดักก็คงจะพอพูดได้


อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

โดยกติกาแล้ว การตั้งนายกฯแบบปกติต้องใช้เสียง 375 ของสภา โดยมี ส.ส.500 เสียง ส.ว.250 เสียง ทางที่จะเกิดขึ้นได้คือ พรรคใหญ่ 2 พรรครวมกันแล้วอาจมีพรรคกลางอีก 1 พรรค หรือพรรคใหญ่ 1 พรรครวมกับพรรคกลางและพรรคเล็กทั้งหมด จึงจะได้นายกฯจากรายชื่อที่เสนอมา คำถามคือพรรคการเมืองกลาง-ใหญ่ หรือเล็ก-ใหญ่ พร้อมจับขั้วกันหรือเปล่า การจับขั้วมีทั้งจับเพื่อผลทางการเมืองและเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง แต่ประเทศไทยอุดมการณ์ทางการเมืองดูจะไม่ต่างกันมากนัก การจับขั้วนี้จึงต้องมองว่าทุกพรรคมองการจับขั้วเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติในการที่จะได้นายกฯที่มาในระบบการเลือกตั้ง

เรื่องการติดกับดักขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.จำนวนเท่าไร ที่จะทำให้ได้นายกฯตามสูตรปกติหรือไม่ปกติ

การได้นายกฯตามสูตรปกติ คือ 1.ได้จำนวน 375 เสียง จาก ส.ส.ในสภาเอง 2.ได้ 375 เสียงจาก ส.ส.+ส.ว. อาจเป็นทางที่ไม่ต้องใช้พรรคใหญ่ แต่ใช้พรรคขนาดกลางหรือเล็ก คือ 125 ส.ส.+250 ส.ว. ก็จะเกิน 375 เพื่อเลือกนายกฯ หากใช้ 2 วิธีนี้แล้วเลือกนายกฯจากในลิสต์ที่เสนอมาไม่ได้ ทางเดียวที่จะเกิดขึ้นคือต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส.+ส.ว. คือ 500 คน

ที่มีการมองกันว่าการโหวต 2 ใน 3 จะติดกับดักเมื่อหาอีก 250 เสียง เพื่อให้เกิน 500 เสียง ไม่ได้นั้น กับดักนี้อาจไม่เกิดขึ้น ถ้าพรรคใหญ่พรรคหนึ่งมาจับมือกับพรรคขนาดกลางที่เหลือแล้วเข้าร่วมกับ ส.ว. โอกาสมีนายกฯคนนอกก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่อาจไม่ง่าย เพราะขึ้นอยู่กับตัวแปรพรรคใหญ่พรรคหนึ่งที่จะไปจับกับพรรคขนาดกลางขนาดเล็กรวมตัวให้ได้ 500 คน นำเสนอชื่อนายกฯคนนอก กับดักนี้จึงจะเกิดได้

คำถามคือจะมีโอกาสหรือไม่ ที่ ส.ส.ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเลือกใครจากบัญชีที่แต่ละพรรคเสนอชื่อขึ้นมา ทำให้เกิดคำถามจากสังคม นายกฯคนนอกต้องมากับกระแสว่านักการเมืองทะเลาะกันจนต้องเรียกร้องนายกฯคนนอก ก็ต้องตั้งคำถามว่าตอนนี้มีพรรคการเมืองใดที่พยายามประกาศตัวว่าจะเอานายกฯที่มาจากคนนอก ถ้ามีพรรคไหนทำทีท่าอย่างนั้น ก็มีโอกาสเกิดนายกฯคนนอกขึ้นได้

ส่วนการโหวต 2 ใน 3 เพื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อนำมาสู่การเลือกนายกฯคนนอก ถามว่ายากหรือไม่ เมื่อมาคำนวณที่นั่งในสภาโดยพิจารณาจากฐานเสียงการเลือกตั้งที่แล้วมา จะทำให้พรรคใหญ่สองพรรคได้คะแนนประมาณพรรคละ 120-180 เสียง ดังนั้น เมื่อสองพรรคใหญ่รวมกัน ทำให้พรรคที่เหลือมีคะแนนไม่พอไปรวมกับ ส.ว.ให้เกิน 500 จึงต้องอาศัยพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งไปด้วย

ดังนั้น ต้องมองว่าช่วงหาเสียงจะมีกระแสเรื่องจะเอาหรือไม่เอาทหาร หรือเรื่องเอานายกฯคนในหรือเอานายกฯคนนอก พรรคการเมืองอาจอ่านสัญญาณจากสังคมและแสดงตัวในช่วงการหาเสียงได้ว่าในที่สุดแล้วถ้าสังคมไปในทางใดทางหนึ่ง พรรคการเมืองอาจขานรับกับเสียงนั้น ก็อาจเห็นภาพการมีนายกฯคนนอกได้

การหาเสียงเดิมๆ จะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรค ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างวาทกรรม “เอาทหาร หรือไม่เอาทหาร-เอาประชาธิปไตยหรือไม่เอาประชาธิปไตย” เป็นการหาเสียงที่ทำให้คนต้องเลือก ถ้าพรรคการเมืองจับกระแสสังคมได้ แล้วตามกระแสนั้น อาจเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และทิศทางของการมีนายกฯคนในหรือคนนอก จะชัดเจนเมื่อกระแสสังคมได้แสดงให้เห็น


รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ตระกูล มีชัย

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กับดัก และเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นยากมาก เพราะว่า ส.ว.จำนวน 250 คน แบ่งเป็น 200 คน ที่ คสช.แต่งตั้ง และอีก 50 คน มาจากการสรรหาของกลุ่มต่างๆ อาจจะได้ไม่ถึง 50 คน ที่จะเป็นคนของ คสช.ด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ตัวเลข 250 อาจจะได้ 230-240 เพราะการเลือกไขว้ อาจทำให้ได้คนอื่นเข้ามาและคุมเสียงไม่ได้ ส่วนกลุ่ม ส.ส.จำนวน 500 คน หาให้ได้ 250 คน แทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเผื่อพรรคการเมือง 2 พรรค ไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยไม่เอาด้วย เมื่อไม่เอาด้วยก็เกิดปัญหาว่า หลังเลือกตั้งทั้งฝ่ายพรรคการเมืองหรือ ส.ส.เอง ก็ไม่อาจตกลงจับมือจัดตั้งรัฐบาลได้

ทำให้เข้าไปสู่เงื่อนไขที่ 2 คือ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ไปไม่ถึงอีก เพราะจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ต้องลงมติออกมาคะแนนเสียงรวมกัน 500 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น ถามว่า คสช.อ่านเกมนี้ออกหรือไม่ เชื่อว่าอ่านออก แต่เราไม่รู้ว่ากระบวนการการเจรจา การต่อรอง ก่อนเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้ง ระหว่างกลุ่มอำนาจที่เป็นรัฐบาลขณะนี้กับกลุ่มการเมืองต่างๆ จะมีการเจรจากันได้มากน้อยแค่ไหน

เชื่อว่าทุกฝ่ายรู้หมดว่าจะเกิดปัญหานี้ ฝ่ายที่ต้องการมีอำนาจทางการเมืองก็คงต้องใช้การเจรจาต่อรองประโยชน์ทางการเมืองเพื่อให้เกิดทางใดทางหนึ่ง

จึงคิดว่า คสช.ไม่ได้วางกับดักของตัวเองเอาไว้ เพราะรู้อยู่แล้ว จะต้องเจรจาหมด เพราะการเมืองเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยการเลือกตั้ง ใช้ชี้นิ้วสั่งไม่ได้ จะเป็นบทเรียนหนึ่งให้ผู้มีอำนาจได้รู้ว่าการเมืองจากการเลือกตั้งไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ ต้องอาศัยการเจรจา เวลาเจรจาจะเอาตัวตนของตัวเองเป็นตัวตั้งและตั้งเงื่อนไขไม่ได้ เพราะฝ่ายพรรคการเมืองต่างๆ จะบอกว่า เมื่อขอมาก็ต้องนั่งพูดคุยกันบนความเท่าเทียมกัน สิ่งนี้คิดว่าคงจะต้องเกิดการเจรจา ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่มีอำนาจตอนนี้ว่ามีความชอบธรรมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน ทั้งจำนวน ส.ส. ทั้งจำนวนความนิยมชมชอบของประชาชน ถ้ามีความชอบธรรมหลายๆ ด้านตรงนี้สูง ในการเจรจาต่อรองก็จะมีบทบาทมาก แต่ถ้าความชอบธรรมลดลง ไม่มากไปกว่าพรรคการเมือง การเจรจาก็จะเกิดบนความเท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image