สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประชาธิปไตยไทยนิยม เป็นเผด็จการซ่อนรูป

“วันครู ปี 2561” กระทรวงศึกษาธิการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 62 รูป จากนั้นเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานภายใต้แนวคิด “เฉลิมรัชสมัย ครูไทยพัฒนา” โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ครูต้องรู้เรื่องราวต่างๆ ของโลก เพื่อประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน (ภาพและคำบรรยายจาก http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/9413)

ประชาธิปไตยไทยนิยม มีผู้บอกว่าหมายถึงเผด็จการซ่อนรูป ข้างนอกสุกใสด้วยชื่อประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ, มีเลือกตั้ง ฯลฯ แต่ข้างในไม่อนุญาตให้คิดต่าง, ไม่อนุญาตประชุมพรรคการเมือง, ต้องยอมจำนนต่อกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ ฯลฯ

“ไทยนิยม” เป็นถ้อยคำผูกขึ้นปลุกใจยุคชาตินิยมคลั่งชาติ คลั่งความเป็นไทย ช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เคยมีตึกชื่อ “ไทยนิยม” อยู่เชิงสะพานผ่านฟ้า หัวมุมถนนราชดำเนินกลาง-ถนนพระสุเมรุ

ไทยนิยมของคนชั้นนำ

ไทยนิยม คือ นิยมความเป็นไทย ที่ไม่มีอยู่จริง จึงไม่เคยมีตลอดกรุงธนบุรี และย้อนถึงยุคกรุงศรีอยุธยา (แม้กรุงสุโขทัยก็ไม่มี)

Advertisement

แต่เป็นสิ่งที่ถูกเสกสรรปั้นแต่ง หรือสร้างขึ้นโดยคนชั้นนำ ราว 150 ปีมานี้ เพื่อผดุงโครงสร้างอำนาจตามอุดมคติของพวกตน ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

จึงมีลักษณะหยุดนิ่ง แข็งทื่อ ไม่เคลื่อนไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงความสืบเนื่องจากอดีตยาวนาน (ซึ่งเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเอง) แล้วยัดเยียดคนทั่วประเทศ (โดยผ่านสื่อมวลชน) ให้เชื่อว่ามีอยู่จริงๆ

ความเป็นไทย ไม่เท่าเทียม

Advertisement

ความเป็นไทยของคนชั้นนำ มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่หล่อหลอมกล่อมเกลา และควบคุมคนทั่วไปให้ยอมจำนนต่อความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ได้แก่ ที่สูง ที่ต่ำ, ผู้ใหญ่ ผู้น้อย, รุ่นพี่ รุ่นน้อง, สมบัติผู้ดี, ภาษาสุภาพ ฯลฯ

ซึ่งไม่ใช่สมบัติเป็นส่วนรวมทั้งสังคมของสาธารณชนคนทั่วไป จึงกลวงโบ๋ และอ่อนแออย่างยิ่งเมื่ออยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกที่ไม่เหมือนเดิม ดังจะได้ยินเสียงเอะอะโวยวายต่อว่าด่าทอวัยรุ่นที่ไม่ทำตามความเป็นไทย แล้วตีโพยตีพายว่าความเป็นไทยจะล่มจมหายวับไปกับตา เพราะความเปลี่ยนแปลง

ต้นตอความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของความเป็นไทย (เช่น ที่สูง-ที่ต่ำ, ผู้ใหญ่-
ผู้น้อย, รุ่นพี่-รุ่นน้อง ฯลฯ) มีรากเหง้าจากลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติตั้งแต่
ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ตกทอดถึงอำนาจในระบบอุปถัมภ์แบบ
เจ้าพ่อกับลูกน้อง ที่ส่งต่อเป็นมรดกถึงรัฐราชการทุกวันนี้

ระบบราชการกับระบบโซตัส เข้ากันได้ดีอย่างยิ่ง ที่สถาบันการศึกษาในไทยรับเข้ามาแล้วใช้ปูสำนึกพื้นฐานต่อต้านระบอบประชาธิปไตย

ในอีกทางหนึ่ง ระบบโซตัสเฟื่องฟูแข็งแรงในสถานศึกษาไทย เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างเคร่งครัดโดยวัฒนธรรมของรัฐราชการที่มาจากอำนาจนิยมเผด็จการทหาร

วัฒนธรรม “ไม่ไทย” ในสากล

วัฒนธรรม (ในความหมายสากล) หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงโลกทรรศน์และค่านิยมที่แฝงอยู่เบื้องหลังทั้งหมด

ระบบความสัมพันธ์ มีทั้งระหว่างคนกับธรรมชาติรวมถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ และระหว่างคนกับคนด้วยกัน (ตามวิถีชีวิต กิน ขี้ ปี้ นอน หรือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย) ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่แตกต่างไปตามเวลาและสถานที่ โดยมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา พอพูดจบคำว่าวัฒนธรรม ทันใดนั้นวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้มีสืบเนื่องหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว ผ่านยุคสมัยมากมาย

เฉพาะไทยผ่านตั้งแต่ยุคหิน, ยุคโลหะ เข้าสู่ยุคการค้าโลก

สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติต่างกัน ภูมิประเทศไม่เหมือนกัน วิถีวัฒนธรรมย่อมต่างกันไป เช่น ภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคกลาง, ภาคใต้

ในแต่ละภาคยังมีต่างกันแต่ละท้องถิ่น คนแต่ละท้องถิ่นแต่ละภาคต่างเลือกสรรกันเองว่าวัฒนธรรมจะเป็นอย่างไร? แค่ไหน? ฯลฯ

วัฒนธรรมที่ว่ามานั้น “ไม่ไทย” จึงตรงกับสากลว่า culture เป็นสมบัติของมนุษยชาติทั้งโลก (ซึ่งมีคนไทยอยู่ด้วย) โดยไม่จำเป็นต้องมีมูลนายคอยควบคุมกำหนดการเลือกสรรใช้งาน (เช่น กระทรวงวัฒนธรรม)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image