สนช.เห็นชอบ กม.วินัยการเงินการคลัง วางกรอบการจัดทำงบประมาณใหม่

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน โดยได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ…. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี พล.อ.อ.ชนะ อยู่ถาวร เป็นประธานพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจำนวน 87 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การกำหนดคำนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ให้ชัดเจน เพื่อให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานของรัฐทุกประเภทที่ต้องปฏิบัติตามวินัยการเงินการคลัง รวมทั้งความหมายของคำว่า “เงินนอกงบประมาณ” ที่ให้หมายถึงเงินทั้งปวงที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมหรือนิติเหตุหรือกรณีอื่นใด ที่ต้องนำส่งคลัง แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง และ “หนี้สาธารณะ” ที่ให้หมายถึงหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดแนวทางวิธีการสำหรับการดำเนินนโยบายการคลัง

โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดวินัยการเงินการคลัง จัดทำและทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงบประมาณ การจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารทรัพย์สิน ประกาศกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยังได้มีการกำหนดวิธีการหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณและตั้งงบประมาณรายจ่าย กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายที่ให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้หรือเงินอื่นใดส่งคลัง กำหนดการจัดเก็บรายได้แผ่นดินที่เป็นภาษีอากร ขณะที่รายจ่ายนั้นได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการก่อหนี้ผูกพันการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินอื่นของหน่วยงานของรัฐที่ต้องทำอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด การบริหารจัดการทรัพย์สิน การจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการก่อหนี้และการบริหารหนี้นั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ และต้องทำอย่างรอบคอบคุ้มค่า

ผู้สื่อข่าวรายงาน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไข มีเพียงแต่การปรับถ้อยคำในบางมาตราเท่านั้น แต่มีนายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้สงวนความเห็นในมาตรา 53 ที่กำหนดให้การรัฐบาลออกกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อกู้เงินได้ และในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน และมาตรา 54 ที่กำหนดให้การเบิกจ่ายเงินกู้ที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะตามมาตรา 53 ให้หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินกู้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินและระเบียบการเบิกจ่ายเงินกู้อย่างเคร่งครัด และใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด ซึ่งขอให้ตัดออกทั้ง 2 มาตรา โดยให้เห็นว่า 2 มาตรา เป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีหลักเกณฑ์และกรอบเพดานในการกู้เงิน ตนไม่ได้คัดค้านการกู้เงิน แต่เป็นห่วงเรื่องของการจ่ายเงินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณ นอกจากนี้ เงินที่กู้มาก็ไม่ได้มีการนำส่งคลัง แต่มีการจ่ายออกไปตามโครงการ

Advertisement

ตัวแทน กมธ.เสียงข้างมากชี้แจงว่า หลักการตามมาตรา 53 ไม่ใช่เรื่องของการบัญญัติเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารสามารถออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ เนื่องจากอำนาจตรากฎหมายกู้เงิน มีการบัญญัติรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วทุกฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งในการตราพระราชกำหนดตามมาตรา 172 การออก พ.ร.บ.ตามมาตรา 134 เจตนารมณ์ และมาตรา 53 เป็นการกำหนดกรอบวินัยหรือกติกาในการออกกฎหมายพิเศษ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ควบคุมการใช้อำนาจและการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารในการนำเสนอกฎหมาย โดยพยายามแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของการออกกฎหมายกู้เงินในอดีต ทั้งในส่วนของเงื่อนไขและเนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย ซึ่งการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศเท่านั้น และเป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้จ่ายจากงบประมาณตามกระบวนการปกติได้ และยังได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจนขึ้นว่าจะต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ ระยะเวลา แผนงาน โครงการ วงเงินกู้ และหน่วยงานรับผิดชอบบริหารงานให้ชัดเจน สรุป ตัวร่างมาตรา 53 ถือเป็นการกำหนดกรอบวินัยในการดำเนินการกู้เงินของรัฐบาล ในส่วนนอกเหนือไปจากกฎหมายปกติให้รัดกุมมากขึ้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา 53 เห็นด้วยกับเสียงข้างมากให้คงไว้ตามร่างเดิมด้วยคะแนน 128 ต่อ 24 เสียง จากนั้นนายคำนูณได้ขอถอนการสงวนความเห็นไว้ในมาตราอื่นออกทั้งหมด ซึ่งภายหลังพิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ…. ด้วยคะแนน 158 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นหนึ่งในสองฉบับที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่าย ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image