ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : ถอดบทเรียน ประชาธิปไตย วิเคราะห์การเมืองไทยยุคคสช.

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว สำหรับการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายใต้คำสัญญาที่จะคืนความสุขให้คนในชาติ และวาระสำคัญคือการปฎิรูปสังคมในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านการเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างปัญหาหลักสำคัญของประเทศ

ภายใต้ระบอบการเมืองที่ไม่ปกติตลอดสามปีที่ผ่านมา มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และอะไรจะเป็นบทเรียนให้กับสังคมจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา

มติชนออนไลน์ นำคำถามทางการเมืองเหล่านี้ ไปถาม ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ช่วยถอดบทเรียนปัญหาประชาธิปไตยไทย วิเคราะห์การเมืองปัจจุบัน และนำเสนอมุมมองต่ออนาคตการเมืองไทย

 

Advertisement

-ในสังคมประชาธิปไตยนักการเมืองสำคัญอย่างไร ทำไมที่ผ่านมาดูเหมือนคนเบื่อนักการเมือง

เมื่อพูดถึงนักการเมืองแล้วต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเราเข้าใจความหมายของคำนี้อย่างไร นักรัฐศาสตร์ชื่อฮาโรลด์ ลาสแวลล์ นิยามการเมืองว่าคือเรื่องของใคร จะได้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร ฉะนั้นนักการเมืองคือคนจัดการสิ่งเหล่านี้ ทรัพยากรในประเทศ งบประมาณแผ่นดินจากภาษีอากร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่า ใครควรจะได้อะไรบ้าง งบประมาณควรจะจัดสรรอย่างไร การศึกษารักษาพยาบาล งบเพื่อป้องกันประเทศควรมีเท่าใด คนที่มาจัดการคือนักการเมือง ฉะนั้นใครที่มายุ่งกับเรื่องนี้ ก็ถือว่าเป็นนักการเมืองหมด เรามักเข้าใจว่าเมื่อพูดถึงนักการเมืองคือต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว ความจริงพลเอกประยุทธ์ก็พูดล่าสุดชัดเจน ว่าตนเองไม่ใช่ทหาร แต่เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร แปลว่าเขาเข้าใจว่านักการเมืองมีทั้งมาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราต้องการนักการเมืองที่มีที่มาอย่างไร หรือจะได้นักการเมืองมาด้วยวิธีไหน

85 ปีที่ผ่านมาเรามีการเมืองสองแบบ คือการเมืองและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กับอีกแบบคือการเมืองและนักการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ และช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมานี้คือการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ เพราะก่อนหน้านั้นเราไม่พอใจการเมืองจากการเลือกตั้ง คำถามคือแบบไหนดีกว่ากัน หรือเราสามารถที่จะไปไกลกว่าทั้งสองแบบได้ไหม เพราะถ้าระบอบประชาธิปไตยมันคือการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ เพราะฉะนั้น ใคร หรือ คนที่จะเป็นคนจัดสรรทรัพยากรประเทศก็คือประชาชน นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็คือคนที่ประชาชนเลือก แต่การตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศก็ต้องเป็นเรื่องของประชาชน แล้วพรรคการเมืองคืออะไร? ถ้าพูดให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้น พรรคการเมืองก็คือบริษัทต่างๆ ที่มาแข่งกันกันเสนองาน เสนอวิธีบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมาย เจ้าของประเทศชอบบริษัทไหนก็เลือกบริษัทนั้นเข้ามาบริหารให้ หากบริหารไม่ได้ความ รอบหน้าก็เลือกใหม่ มันไม่ใช่การเลือกคนมาเป็นเจ้าของประเทศแทนเรา ทีนี้นักการเมืองของเราจำนวนหนึ่งก็ไม่ค่อยเข้าใจตรงนี้ บางทีมีอำนาจแล้วก็ลืม ว่าตัวเองก็เป็นเพียงผู้บริหารประเทศให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง ส่วนถ้าถามว่าการเมืองที่มาจากการปฏิวัติจะดีกว่าไหม ผมคิดว่าประชาชนก็ต้องเรียนรู้นะครับที่ผ่านมาสามปี สี่ปี เข้าปีที่ห้าในปีหน้าเป็นอย่างไร

Advertisement

-เราชอบประชาธิปไตยแต่เราไม่ชอบนักการเมือง เราสามารถปฏิเสธนักการเมืองได้ไหม

ผมพูดอีกทีว่านักการเมืองมีทั้งมาจากการปฏิวัติ นักการเมืองมีทั้งที่เป็นเผด็จการ บางทีเริ่มต้นจากประชาธิปไตยและอยู่นานไปจนกลายเป็นเผด็จการก็มีมาก เราชอบไปผูกประชาธิปไตยกับนักการเมือง เราเบื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็เลยพาลไปเบื่อประชาธิปไตย นี่คือปัญหาของเราที่เราไม่แยกแยะ ระหว่างระบบกับคน พอคนทำอะไรไม่ได้ความ เราก็บอกไม่ต้องมีแล้วประชาธิปไตย แล้วก็ได้แบบนี้มาแทน สุดท้ายเราต้องมีนักการเมือง ที่จะต้องเข้ามาบริหารประเทศ ประเด็นคือใครเป็นคนเลือกนักการเมืองมาบริหาร หรือจะให้คนมีกำลังมากที่สุดในบ้านเมืองมาบริหาร ที่ผ่านมาตั้งแต่ 22 พฤษภาปี 2557 มันเป็นแบบนั้น เพราะทหารมีกำลังมากสุด แต่ก่อนหน้านั้นประชาธิปไตยเราล้มเหลวเพราะเราผลัดกันม็อบ คนมากกว่าก็ชนะหรือ เราไปทางนั้นไง คือถ้าเราว่าตามกติกา การเมืองมันเหมือนการเล่นกีฬา ฟุตบอลมันแข่งกันได้ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายก็อยากชนะ แต่มันแข่งกันได้เพราะมันมีกติกา แต่เราไม่ว่าตามกติกาเอาแต่อำเภอใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือใครกำลังมากกว่าคนนั้นชนะ สุดท้ายทหารก็เข้ามา ถ้าเราเล่นตามกติกาเราคงไม่มาไกลถึงขั้นนี้หรอกครับ

-เปรียบเทียบการครองอำนาจ ของนักการเมืองจากการยึดอำนาจ กับนักการเมืองจากเลือกตั้งในการเมืองไทยใครนานกว่ากัน

จุดที่นับเป็นการปฏิวัติและทำให้เกิดวงจรอุบาทว์เริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจปี 2490 แต่การยึดอำนาจช่วงแรกๆ ก็แตกต่างกับตอนนี้มาก การยึดอำนาจแบบปัจจุบันคือ ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้ประกาศคณะปฏิวัติในการปกครอง แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จากนั้นก็ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วก็ค่อยมีการเลือกตั้ง โมเดลนี้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้เริ่มต้นไว้ในปี 2501 แต่ก็ไม่มีเลือกตั้งเสียทีจอมพลสฤษดิ์ตายปี 2506 จอมพลถนอมก็เป็นนายกฯ ต่อจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หลังจากนั้นสามปี ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็อยู่ภายใต้การปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัย พล.อ.เปรม จนถึงปี 2531 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ 3 ปี แล้วก็ถูกทหารปฏิวัติในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งจบด้วยเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้วก็เว้นยาวไปจนถึงการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 พอธันวาคม 2550 ก็มีเลือกตั้งอีกครั้ง แล้วก็อยู่จนถึงยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ที่อยู่มาจนปัจจุบัน จะเห็นว่ามันจะสลับกัน ในภาพรวมต้องบอกว่ามันพอๆ กัน

-พัฒนาการการเมืองไทย ดูเหมือนนักการเมืองจากเลือกตั้งกับการคอร์รัปชั่นเป็นเหมือนของคู่กัน และเป็นเหตุผลหลักในการยึดอำนาจครั้งสำคัญเสมอ

ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจประเด็นนี้นะครับ มีคนสองคนคนหนึ่งไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล เจอหมดนะครับ ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็งระยะที่สามที่สี่ อีกคนนอนอยู่บ้าน ไม่ได้เจอโรคอะไร คำถามคือเราสรุปได้ไหมว่าคนนอนอยู่บ้านสุขภาพดีกว่าคนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล มันสรุปไม่ได้ คนนอนอยู่บ้านมันอาจจะป่วยหนักกว่าก็ได้ หรือไม่ป่วยเลยก็ได้ เราไม่รู้เพราะมันไม่มีการตรวจ ประชาธิปไตยเครื่องมือมันเยอะ มันมีฝ่ายค้าน สิทธิข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพสื่อมวลชน หลักความโปร่งใส ไฟฉายมันส่องไปหมดจะทำอะไรในที่มืดไม่ได้ มาตรา 44 ก็ไม่มี ศาลก็เป็นอิสระตรวจสอบได้เต็มที่ ดังนั้นตรวจอะไรมันก็เจอ หรือโอกาสเจอมากกว่า ประชาธิปไตยเครื่องมือมันเยอะเหมือนเข้าโรงพยาบาล ส่วนคนนอนอยู่บ้านไม่มีอะไรไปตรวจเลย ระบอบเผด็จการก็คือการนอนอยู่บ้าน สิทธิข้อมูลข่าวสารก็ไม่มี ฝ่ายค้านก็ไม่มี สื่อมวลชนก็มีเสรีภาพในขอบเขตอันหนึ่ง แม้ท่านนายกฯจะบอกว่าผมเคยไปห้ามอะไรสื่อได้บ้าง แต่ท่านไม่รู้หรือว่าคนของท่านมาเที่ยวบอก บก.ข่าวช่องต่างๆอยู่เรื่อยๆ คสช.อาจคุมหนังสือพิมพ์ได้น้อยจริง แต่สื่อทีวี คสช.คุมพอสมควรนะครับ อย่างกรณีพลเอกประวิตร เราสรุปยังไม่ได้ไม่นะครับว่าได้นาฬิกามาโดยมิชอบ แต่ถ้าเป็นยุคสมัยประชาธิปไตยคนระดับนายกหรือรองนายกฯถูกสงสัยเรื่องนาฬิกา เสร็จไปแล้ว ไม่ต้องถึง 20 เรือนหรอก แค่เรือนเดียว สองเรือนก็เสร็จแล้ว ถ้าไม่ชี้แจงว่ามันมาอย่างไร

กระบวนการประชาธิปไตยก็เหมือนคนเข้าโรงพยาบาล มันตรวจเจอโน่นนี่นั่น เพราะฉะนั้นการสรุปว่าคนนอนอยู่บ้านสุขภาพดีกว่าคือไม่มีคอร์รัปชั่น มันสรุปไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าเผด็จการคอร์รัปชั่นน้อยกว่าหรือมากกว่า มันสรุปไม่ได้ แบบเดียวกับคนอยู่บ้านสุขภาพดีกว่าคนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ฉะนั้นการมาเปรียบเทียบโดยสรุปว่าประชาธิปไตยมีคอร์รัปชั่นมากกว่าผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม เป็นการสรุปที่ไม่มีพื้นฐานของข้อมูล และความเข้าใจอย่างเพียงพอ ถ้าหากว่ามีเครื่องมือแบบเดียวกันเลย กล้าไหมล่ะครับ ไม่มีมาตรา 44 ให้มีฝ่ายค้าน ประชาชนมีสิทธิขอข้อมูลได้ ประชาชนไปฟ้องศาลได้ แต่นี่มี มาตรา 44 คุ้มครอง ศาลก็ไม่รับฟ้อง ลองไม่มีมาตรา 44 ลองให้มีฝ่ายค้านสิครับ ถึงจะพูดได้ว่าเผด็จการ หรือประชาธิปไตยมีคอร์รัปชั่นมากกว่ากัน ย้ำอีกครั้งผมไม่ได้บอกว่า เผด็จการมีคอร์รัปชั่นมากกว่า แต่ผมกำลังบอกว่าเราไม่รู้ แล้วผมถามต่อว่าคนสองคนที่คนหนึ่งไปตรวจร่างกายเจอโรคเยอะกับอีกคนที่นอนอยู่บ้านผมถามว่าใครมีโอกาสอายุยืนกว่ากัน ก็คนไปตรวจโรค เพราะตรวจเจอแล้วสามารถรักษาได้ คนนอนอยู่บ้านถึงเวลาก็ตายเลย ระบอบประชาธิปไตยเครื่องมือคือการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุล หลักความโปร่งใส ศาลที่ประชาชนไปฟ้องได้ ระบอบเผด็จการคือมาตรา 44 ครับ ฟ้องศาลไม่ได้ เพราะถึงที่สุด ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ สิทธิข้อมูลข่าวสารก็ไม่มี

มันเหมือนกับเราผิดหวังกับใครคนหนึ่งที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เราก็เลยประกาศว่าจากนี้ไปเราจะไม่รักใครอีกตลอดชีวิต ผมถามว่าเราไปสรุปอย่างนี้ได้หรือ ก็แบบเดียวกันครับ หากเราเคยเจอนักการเมืองไม่ดี และเราเรียกร้องระบบปฏิวัติให้อยู่ไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับที่เคยมีคนมาทำให้เราอกหักแล้วบอกว่าจากนี้ไปไม่ขอรักใคร ผมคิดว่าเราต้องแยกแยะนะ ประชาธิปไตยมันคือการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ เราบอกว่าเลือกตั้งแล้วมีปัญหาก็ให้ทหารบริหารบ้านเมืองไป มันเป็นของที่ยากจะยั่งยืนนะครับ

-ปัญหาด้านธรรมาภิบาลของการเมืองปัจจุบันเป็นอย่างไร

เราพูดกันว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่มี แต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรามีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ทราบมั้ยครับ ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance ของฝรั่งมี 8 ข้อ ของไทยไปรับเขามาแค่ 6 ข้อ ของไทยคือ คุณธรรม นิติธรรม โปร่งใส รับผิดชอบ คุ้มค่า มีส่วนร่วม รู้ไหมครับข้อไหนหายไป การมีส่วนร่วมของเขามีอีกสองคำคือ Inclusive กับ Consensus-oriented ซึ่งเราตัดทิ้งไป Inclusive คือความเดือดร้อนของผู้คนที่ไปรับฟังมาต้อง include คือต้องเข้ามาอยู่ในแผนด้วย ไม่ใช่รับฟังอย่างเดียว ของเรามันมีแค่การมีส่วนร่วมแบบแค่เอาแผนที่คิดไว้แล้ว ไปบอกให้ประชาชนเข้าใจ แต่ประชาชนบอกว่าไม่เอา หน่วยงานของรัฐก็จะบอกไม่ได้ นึ่ประชาพิจารณ์เราเป็นแบบนี้ พอไม่เอาเขามารวม ก็เกิดการประท้วง เพราะมันขาดเรื่อง Consensus-oriented หรือการมุ่งไปสู่ความเห็นพ้องต้องกัน อันนี้ก็พอกันกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ใช้หลักการมุ่งไปสู่การเห็นพ้องต้องกัน ผมถามว่ามันจะเกิดปัญหาจนกระทั่งสภาแก้ปัญหาไม่ได้ไหม เพื่อไทยแม้จะปล่อยให้ประชาธิปัตย์พูด แต่ก็ยกมือแบบเดิมไม่ได้ฟังเลย ส่วนประชาธิปัตย์ก็ไม่เข้าใจว่าเสียงข้างน้อยเขามีไว้ต่อรอง ไม่ได้มีแค่เพื่อยกมือแพ้ สุดท้ายก็ออกมาสู้นอกสภาแล้วทหารก็เข้ามา ถ้าเราทำอะไรโดยยึดหลักความเห็นพ้องต้องกัน ความแตกแยกมันก็จะหมดไป

อย่าง มาตรา 44 ทำอะไรก็ไม่ผิด แล้วจะเป็นนิติธรรม ได้ยังไง มันคือหลักการปกครองโดยอำเภอใจ เพราะรัฐบาลอยู่เหนือกฎหมายทั้งหมด เหนือรัฐธรรมนูญด้วย เพราะฉะนั้นการบอกว่าคสช.มีธรรมาภิบาลมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้าอันนี้มีปัญหา นี่พูดด้วยเหตุและผลนะครับ หลักความโปร่งใสซึ่งฝรั่งและไทยก็มี ที่จะต้องให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ นอกจาก Transparency ยังมีคำว่า Accountable หรือการตรวจสอบได้ กับ Responsive คือต้อง response หรือต้องตอบ ต้องชี้แจงเมื่อประชาชนเขาสงสัยนะครับ ถามว่า คสช. ตอบข้อสังสัยประชาชนแค่ไหน ผมว่าหลายเรื่องยังไม่ตอบนะครับ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ลองมาดูข้ออื่น ข้อหลักนิติธรรม สากลเขาใช้ Following Rule of Law หรือปฏิบัติตามหลักการปกครองโดยกฎหมาย ของเราใช้ว่าหลักนิติธรรม ซึ่งฝรั่งเค้าใช้คำว่าการปกครองโดยกฎหมาย แล้วต้องปฏิบัติตามด้วย แล้วหลักการปกครองตามกฏหมายคืออะไร ข้อแรกเลยคือการแบ่งแยกอำนาจครับ ต้องมีนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถ่วงดุลกัน เพื่อจะคุมรัฐบาลให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ถ้าใช้อำนาจเกินขอบเขตเมื่อไหร่ประชาชนก็ไปฟ้องศาลได้ แต่ขอโทษครับมาตรา 44 เป็น The Rule of Law หรือเปล่า อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ คสช.ทำทุกอย่างชอบด้วยกฎหมายหมด ฟ้องศาลไม่ได้เลย ถามว่ามีธรรมาภิบาลหรือครับ ถ้าจะบอกว่ามีธรรมาภิบาล แต่ มาตรา 44 ตรงข้ามนะครับ รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายทำผิดเมื่อไหร่ก็ฟ้องศาลได้ แต่ มาตรา 44 ทำอะไรก็ไม่ผิดแล้วจะเป็น การปกครองโดยกฎหมายได้อย่างไรครับ มันคือหลักการปกครองโดยอำเภอใจ เพราะรัฐบาลอยู่เหนือกฎหมายทั้งหมด เหนือรัฐธรรมนูญด้วย เช่น ประกาศ คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการรีเซตสมาชิกพรรค ก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญใช่ไหม อย่างนี้ก็อยู่เหนือรัฐธรรมนูญสิ ไม่ได้นะครับ การปกครองโดยกฎหมาย รัฐบาลต้องอยู่ใต้กฏหมาย เพราะฉะนั้นการบอกว่า คสช. มีธรรมาภิบาลมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ ผมว่าต้องพูดกันด้วยเหตุและผลตามหลักวิชาการนะครับ หลักความโปร่งใสซึ่งฝรั่งและไทยก็มี ที่จะต้องให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ นี่อยากรู้นะครับตกลงนาฬิกาท่านเป็นอย่างไรแน่ ที่ว่ายืมเพื่อนมาแต่คนเขาก็ยังสงสัยอยู่

ทั้งหมดที่พูดไปคือหลักธรรมาภิบาลแบบสากลนะครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลต้องอยู่ใต้กติกา ต้องตอบคำถามประชาชน มิใช่พูดเพียงแต่ว่ารับผิดชอบแต่ไม่ตอบคำถาม ด้วยความเคารพนะครับ ดูเหมือนธรรมาภิบาลของหลักสากล กับธรรมาภิบาลของ คสช. มันคนละเรื่องกันเลย ผมพูดและอธิบายตรงนี้ไม่ได้โจมตี คสช. แต่เพื่อจะบอกว่าเราต้องเรียนรู้นะครับ ว่าเราต้องการรัฐบาลแบบไหน ถ้าต้องการรัฐบาลที่มีหน้าที่ตอบประชาชน ถูกตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส รัฐบาลที่ทำตามกฏหมายหากทำผิดก็ถูกฟ้องได้ รัฐบาลที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม นำปัญหาของประชาชนใส่ในแผนมิใช่นำแผนไปบอกประชาชนอย่างเดียว เป็นระบอบที่ตรวจสอบได้ มีฝ่ายค้าน สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลไม่ตอบเราก็ถามให้ตอบได้ มันคือระบอบอะไรล่ะครับ มันก็คือประชาธิปไตยนี่แหละครับ โปรดแยกแยะว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองของนักการเมือง แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชนเจ้าของประเทศ หากที่ผ่านมามันล้มเหลวก็แก้ไขมันให้สำเร็จสิ มิใช่หันไปหาระบอบอื่น

-คนที่เชื่อว่าหากประเทศไม่มีนักการเมืองประเทศน่าจะเจริญขึ้นก็ไม่เป็นความจริง?

ก็ปัจจุบันนี้ก็นักการเมือง พลเอกประยุทธ์ท่านก็ประกาศเองว่าเป็นนักการเมือง คือใครที่ยุ่งกับเรื่องการเมือง การจัดสรรทรัพยากรของประเทศทั้งหมดก็ถือว่าเป็นนักการเมืองหมด มันอยู่ที่ว่าเราต้องการนักการเมืองแบบไหน เจ้าของประเทศเป็นคนเลือกหรือว่ายังไง

ผมถามว่าอะไรมันยั่งยืนกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ ลีกวนยู ที่คนไทยชอบอ้างถึง ยกตัวอย่างสิงคโปร์ว่าไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยมากนักยังเจริญขนาดนี้ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “เผด็จการที่ดีย่อมดีกว่าประชาธิปไตยที่เลว” คำพูดนี้ถามว่าเราเถียงได้ไหม ผมคิดว่าโดยตรรกะมันถูกนะ เผด็จการที่ดีมันก็ต้องดีกว่าประชาธิปไตยที่เลวอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือแล้วยังไงต่อ ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับ ถ้าจะพูดในตรรกะแบบเดียวกัน ว่า” ศัตรูที่ดีย่อมดีกว่าเพื่อนที่เลว” ถูกต้องไหม อันนี้ก็ถูกต้อง แต่คำถามคือแล้วยังไงต่อ เลิกคบเพื่อนให้หมดแล้วไปแสวงหาศัตรูที่ดีเหรอครับ มันไม่ใช่ เพราะศัตรูที่ไม่ดีก็มีนะครับ และเผด็จการที่ไม่ดีก็มีนะครับ ประชาธิปไตยที่ดีก็มีนะครับ แต่อันไหนละที่เราตรวจสอบได้ อันไหนล่ะที่เราควบคุมได้มากกว่า

-อาจมีคนตอบว่าอยากให้เป็นแบบยุคพลเอกเปรม

พลเอกเปรมอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นนายกฯได้เพราะส.ส.ไปยกมือให้เขานะ ยุคครึ่งใบไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองเองด้วย จอมพลสฤษดิ์หรือ? สฤษดิ์ตอนตาย มีทรัพย์สิน 2,800 ล้านบาท ในยุคสมัยที่ทองคำบาทละ 300 บาท ถ้าคูณกับมูลค่าเงินในปัจจุบัน จะเท่ากับเงินกว่า 150,000 ล้านบาท นะครับ จอมพลถนอมหรอ ก็โดน นศ.ขับไล่ แล้วก็โดนยึดทรัพย์ 80 กว่าล้านนะครับ ส่วนในยุคปัจจุบัน มันก็ยังสรุปไม่ได้ต้องดูกันไป คนอาจจะไว้ใจท่านนายกฯ แต่คนอื่นล่ะ คนรอบข้าง ญาติพี่น้องล่ะ ผมคิดว่าถ้าเราไม่มีหลักการตรวจสอบ ถ่วงดุล หลักความโปร่งใส ระบอบแบบนี้ เราจะมั่นใจเหรอครับว่ามันจะยั่งยืนกับเรา ต่อให้เรามั่นใจว่านายกฯ เป็นคนดีให้อยู่ตลอดไป แต่ทุกคนก็ต้องมีวันที่จะจากโลกนี้ไปนะครับ แล้วใครจะมาแทน สุดท้ายก็ต้องกลับมาเรื่องเดิมอยู่ดีว่า นักการเมืองที่จะมาบริหารประเทศจะมาอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ต้องถามประชาชนเจ้าของประเทศ

-มีคนเสนอระบอบสังคมธรรมาธิปไตยเป็นไปได้ไหม

มันเป็นอย่างไร?

-ตามความหมายคือ ระบอบการเมืองที่ปกครองด้วยหลักธรรม ใช้หลักคุณธรรมเป็นใหญ่ ในการบริหารประเทศและสังคม

ธรรมคืออะไรครับ? ที่ผ่านมาทุกคนก็มีหลักธรรมของตัวเองหมด ทุกคนก็ล้วนแต่บอกว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้อง เสื้อเหลืองยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพ 6 เดือน เขาก็บอกว่าเป็นความเสียสละเพื่อส่วนรวม ส่วนเสื้อแดง ปิดแยกราชประสงค์ ก็ทำเพื่อประชาธิปไตย ทุกฝ่ายก็ล้วนแต่ทำเพื่อเป้าหมายดีงามของตัวเองทั้งคู่ เมื่อนิยามความดีของทั้งสองฝ่ายต่างกันคำถามคือของใครถูกละครับ มันจะวัดกันอย่างไร ขณะที่ธรรมาภิบาลของสากล มันคือการปกครองที่ทุกคนอยู่ใต้กติกา มันคือการตรวจสอบการถ่วงดุล ไม่ใช่อำเภอใจของใครของมัน

แต่สังคมไทยมักเข้าใจธรรมาภิบาลในเชิงนามธรรม แบบที่ในทางวิชาการเขาเรียกว่า subjective เช่นเราบอกว่าดอกไม้ของฉันสวยสุด อย่างนี้ก็เถียงกันแน่ แต่ถ้าเป็น objective ก็บอกว่าดอกไม้ดอกนี้สีเหลือง สีแดง อันนี้คือการดูสิ่งต่างๆจากข้อเท็จจริง ซึ่งเราต้องแยกมันออกจากความเห็น ของเรามันพันกันไปหมด เราต้องมองทุกอย่างบนข้อเท็จจริงนะครับ ฉะนั้นหลัก Good Governance เป็น objective เช่นความโปร่งใส การตรวจสอบได้ การตอบสนองการมีส่วนร่วมของประชาชน ความมีประสิทธิภาพ แต่ของเรามีเรื่องนิติธรรม คุณธรรม ที่ตีความกันงงๆ ของใครของมัน หลักความรับผิดชอบก็แค่ประกาศว่ารับผิดชอบแต่ตรวจสอบไม่ได้ และไม่ต้องชี้แจง ธรรมาภิบาลของเราก็เลยเหลือความหมายแค่ไม่โกง ทั้งๆ ที่ Good Governance มันคือเครื่องมือในการคุมรัฐบาลไม่ให้โกง แต่เราไม่เอามาใช้ครับ

สุดท้ายแล้วมันก็จะเกิดการเปรียบเทียบระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับนักการเมืองที่มาจากการปฏิวัติ แต่เราจะไปวิจารณ์นักการเมืองจากการปฏิวัติอย่างเดียวไม่ได้ ผมถามนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกลับกันว่าทำกันอีท่าไหนจนแพ้การเมืองที่มาจากการปฏิวัติ ทหารปฏิวัติไม่ได้นะครับถ้าประชาชนไม่สนับสนุน แล้วอยู่นานได้แบบนี้นี่เป็นชุดแรกนะครับ นับแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เอาง่ายๆ ครับ การปฏิวัติปี 2549 เดือนกันยายน ก็มีเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 เพียงแค่ 1 ปี กับ 3 เดือน ก่อนนั้นคือการปฏิวัติในเดือน กุมภาพันธ์ 2534 ก็มีเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 เพียงแค่ 1 ปีกับ 1 เดือนนะครับ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่หลัง 14 ตุลา รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติอยู่ได้แค่ปีกว่าๆ ก็ต้องเลือกตั้งแล้ว

คือรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เขาจะเขียนไว้เลยครับว่า ต้องเลือกตั้งภายใน 120 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ฉบับนี้อาจารย์มีชัยได้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วแต่ยังไม่มีเลือกตั้งก็ได้ สามารถขยายไปได้เรื่อยๆ เพราะอาจารย์มีชัยเขียนให้เลือกตั้งหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสี่ฉบับมีผลบังคับใช้ โดยหากทั้งสี่ฉบับนี้เพียงแค่ฉบับเดียวยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ยัง เลือกตั้งไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าถ้าไม่ผ่านสนช.ซักฉบับจะเกิดอะไรขึ้น ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนนะครับ การปฏิวัติก่อนหน้านี้ทุกครั้ง กรอบการเลือกตั้งมันชัดเจน รอบนี้ไม่ชัดเจนเลย และที่สำคัญเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ยังไม่มีมีผลบังคับใช้ทันทีตามปกติ เพราะอาจมีการเขียนเช่นให้ พรป.ฉบับนี้มีผล 30 วันหลังประกาศใช้ได้ หรือจะเพิ่มเป็น 60 วันจนถึง 90 วันก็ยังได้ คือต่อให้ประกาศใช้แล้วก็ยังนับ 150 วันไม่ได้ 150 วันจะนับเมื่อมีผลบังคับใช้

ที่เล่าให้ฟังเพื่อจะบอกว่านี่เป็นครั้งแรก รวมถึงเป็นครั้งแรกด้วยที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วยังมีมาตรา 44 อำนาจครอบจักรวาลอยู่ ประเด็นสำคัญกว่าคือว่าการที่ทหารอยู่ได้นานเพราะประชาชนแตกแยกกัน รวมถึงการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งล้มเหลว ประเด็นผมคือ ดังนั้นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะเอาแต่วิจารณ์การเมืองที่มาจากการปฏิวัติรวมถึงเรียกร้องให้มีการปลดล็อคอย่างเดียวไม่ได้ นักการเมืองจากการเลือกตั้งต้องฟื้นฟูศรัทธาทางการเมืองกลับมาด้วย ภารกิจนี้คือเพื่อประชาธิปไตย แล้วต้องสรุปบทเรียนด้วย ว่าที่ผ่านมาทำไมมีประชาชนไปเชียร์การปฏิวัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง และไม่กลับไปหาอะไรแบบนี้อีก

-ทำไมอาจารย์วิเคราะห์ว่าการเมืองในอนาคตจะแบ่งเป็นฝ่ายเอาทหารกับไม่เอาทหาร

คือต้องเข้าใจอย่างนี้นะครับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2517 เป็นต้นมา เราบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เพิ่มเป็นต้องสังกัดพรรคก่อน 90 วัน ไม่ใช่สมัครสมาชิกพรรคแล้วจะสมัคร ส.ส. ได้เลย รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ก็ต้องสังกัดพรรค 90 วัน ดังนั้น ส.ส.เก่า ถ้าจะย้ายพรรคเขาต้องเตรียมการล่วงหน้าก่อน ทีนี้เขาเป็นสมาชิกพรรคอยู่ หากต้องการย้ายค่ายก็ต้องลาออกจากพรรคเก่าก่อน ผลของคำสั่ง คสช. ดูเผินๆ ไม่ค่อยมีอะไร แค่ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค แต่ถ้าไปอ่านดูเขาใช้คำว่าต้องต่ออายุสมาชิกเป็นหนังสือ มันคือการต่ออายุใหม่ซึ่งเท่ากับการสมัครใหม่ ต้องมีเอกสารหลักฐานต่างๆ มากมาย แถมต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคด้วย เผลอๆ การต่ออายุสมาชิกจะยุ่งว่าการสมัครใหม่ด้วยซ้ำ ซึ่งผลของมันคือ เมื่อผ่านไป 30 วันนับจาก 1 เมษายน พอถึงวันที่ 1 พฤษภาคมหากใครยังไม่ยืนยันการต่ออายุจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิก ดังนั้นถ้าผมเป็น ส.ส. เก่าและต้องการจะย้ายพรรคผมก็แค่อยู่เฉยๆก็จะหมดสภาพการเป็นสมาชิกไปเอง ไม่ต้องไปลาออกให้เสียเวลา ไม่ต้องให้มีการต่อรองเจรจา ดังนั้น มันก็คือการรีเซต ส.ส. เก่านั่นเองครับ

คือนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฎิวัติ เลือกนายกได้ ไม่เคยมีมาก่อนนะครับ สมัยปี 2534 รสช. เคยอยากได้อำนาจนี้แต่ถูกประท้วงจนต้องตัดอำนาจนี้ออกไป ดังนั้น จำนวนเสียงที่จะเป็นนายกฯ ได้ คือต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ส.ส. มี 500 ส.ว. มี 250 รวมเป็น 750 คน จะเป็นนายกฯได้ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน คือต้องมากกว่า 376 คสช. มีแล้ว 250 ก็แปลว่าขาดแค่ 126 เสียง จาก 500 คนของ สส. ไม่มากเลย พรรคขนาดกลางสองพรรคก็ได้แล้ว จะเป็นพรรคเดิมหรือตั้งใหม่ก็แล้วแต่ แต่อย่าลืมนะครับ กฎหมายมันพิจารณาทีละสภาและมันต้องเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนถึงจะเข้าวุฒิสภาได้ ต่อให้มีวุฒิสภาเป็นเอกฉันท์รอไว้ก่อนก็ตาม แต่ถ้าไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็ไปไม่ถึงวุฒิสภา จึงต้องมีเสียงครึ่งหนึ่งของ ส.ส. มันถึงจะผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีได้ ไหนจะมีการลงมติไม่ไว้วางใจอีก ซึ่งเป็นอำนาจของส.ส. เท่านั้น ดังนั้นการจะเป็นนายกฯได้ต้องมีเสียง ส.ส. มากกว่าครึ่ง แต่ปัญหาคือว่าสองพรรคใหญ่คือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ร่วมกันเกินครึ่ง และสองพรรคนี้ดูทีท่าคงไม่มีใครมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ โอเค ทางประชาธิปัตย์ฝั่งของคุณสุเทพอาจจะเชียร์อยู่ แล้วจะทำอย่างไรได้ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในพรรคไม่เอา เพื่อไทยก็ไม่เอาอยู่แล้ว ดังนั้นก็มีอีกวิธีคือทำยังไงให้สองพรรคนี้รวมกันไม่ถึง 250 ก็นี่ไงครับ ประกาศ คสช. 53/2560 ล้างไพ่ ส.ส. เก่าเลยครับ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเด็นคือว่า ถ้าหาก คสช. ไม่มีส่วนได้เสียก็เถียงกันได้ว่าดีหรือไม่ดี แต่ถ้า คสช. มีส่วนได้เสีย เช่น คสช. ตั้งพรรคทหารขึ้นมา หรือมีพรรคใหม่ประกาศสนับสนุน คสช. ให้เป็นนายกฯ ต่อ แล้วท่านนายกฯ ก็ไม่ปฏิเสธ ก็จะกลายเป็นว่าท่านนายกฯ ออกประกาศฉบับนี้เพื่อตัวเอง ท่านนายกฯ ก็จะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียทันทีจากที่เคยเป็นคนกลาง นี่จะทำให้ คสช. ขาลงหนักเข้าไปอีกนะครับ

ที่นี้ที่ว่าจะเกิดการแบ่งข้างระหว่างฝ่ายเอาทหารกับฝ่ายไม่เอาทหารคือ ส.ส. ส่วนใหญ่อยากเป็นฝ่ายรัฐบาล ส.ส. เก่าที่อยากเป็นรัฐบาลแล้วอ่านเกมว่า คสช. จะเป็นรัฐบาลต่อ ก็จะมาอยู่พรรคนี้ อาจจะเป็นพรรคเดิมที่มีอยู่หรือตั้งใหม่ก็แล้วแต่ ส่วน ส.ส. เก่าที่ไม่เอา เพราะคิดว่าไม่ควรให้ คสช. เป็นนายกฯ ต่อ ถ้าคิดแบบนี้ก็จะไปอีกข้างหนึ่ง นี่จึงเป็นการแบ่งข้างครั้งใหม่ แต่จะไม่ใช่เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ หรือเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งข้างระหว่างฝ่ายเชียร์ทหารให้เป็นรัฐบาลต่อกับฝ่ายที่ไม่เชียร์ทหารครับ

ท่านนายกฯ บอกว่าท่านไม่ใช่ทหาร ท่านเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร อาจจะด้วยเหตุผลเพื่อไม่ให้ขัดแย้งในเรื่องว่าเป็นทหาร ก็เลยเลี่ยงไปว่าไม่ใช่ทหารแล้ว แต่อย่าลืมนะครับท่านยังเป็นหัวหน้า คสช. อยู่ แล้ว คสช. ไม่ใช่ทหารหรือครับ ตอนตั้งท่านเป็นทหาร โครงสร้างประกอบไปด้วยทหาร ซึ่งก็ดีนะครับถ้าท่านนายกฯ เปิดหน้าลงการเมือง ให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนท่านเอาชื่อท่านไปประกาศเป็นนายกฯเลย แต่มีปัญหาข้อเดียวครับ ท่านต้องเลือกเอานะครับ ระหว่างการเป็นนักการเมืองเต็มตัวกับการจะเป็นหัวหน้า คสช. ต่อไปด้วย มันเป็นได้แค่อย่างเดียว

-สมมติอาจารย์เป็นหัวหน้าคสช. ในเงื่อนไขปัจจุบัน เหลือเวลาอีกเกือบปีอาจารย์จะทำยังไง

คงไม่ใช่คำแนะนำนะครับ แต่ผมคิดว่าการสมมุติแบบนี้อาจจะทำให้เห็นทางไป ส่วนจะทำหรือไม่ทำก็อีกเรื่องหนึ่ง คือ เราต้องเข้าใจว่า คสช. ไม่ใช่เรื่องดีชั่วนะครับ เขาไม่ใช่คนไม่ดี แต่เขาเป็นเผด็จการ แล้วเขาก็ไม่เข้าใจเรื่อง Good Governance ที่จะต้องเอาปัญหาและความเห็นของประชาชนมาใส่ในแผนด้วย ไม่ใช่เอาแผนไปชี้แจงอย่างเดียว หรือไปรับฟัง แต่ไม่เอามาใส่ในแผนเลย ทีนี้พอไม่ฟังเขา เขาก็เลยต้องประท้วง พอประชาชนประท้วง รัฐบาลก็จะบอกหน่วยงานเจ้าของเรื่องให้ไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี มันจึงมีปัญหาในข้อนี้ไงครับ คืองานของผู้นำประเทศคือการตั้งโจทย์ แล้วชวนประชาชนมาช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ร่วมกันยังไง อย่างเรื่องพลังงานภาคใต้รัฐบาลก็มีคำตอบแล้ว ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มันก็เกิดการประท้วง พอมีการประท้วงรัฐบาลก็หาทางไม่ให้ประท้วง ซึ่งมันผิด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็จะเป็นปัญหาแบบเดียวกัน คือมีแผนหมดแล้วหน่วยงานของรัฐก็มีหน้าที่แค่ชี้แจงประชาชนว่ามีแผน ล่าสุดลองไปอ่านกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เพิ่งประกาศใช้ไปดูนะครับ ก็เป็นแบบนี้คือมีแผนแล้วค่อยไปรับฟัง เป็นแบบนี้หมด ซึ่งผิด มันต้องมีโจทย์เป้าหมายและไปฟังประชาชน ว่าจะบรรลุเป้าหมายและร่วมกันแก้โจทย์ปัญหายังไง รวมถึงต้องมุ่งไปสู่การหาข้อสรุปแบบเห็นพ้องต้องกันให้ได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลมีปัญหา ท่านนายกฯ พูดก็ฟังดูดีว่าอยากให้ประชาชนแก้ปัญหาไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว ปัญหาคือท่านไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนมาร่วมเพียงพอ ท่านคิดให้หมดแล้ว พอประชาชนไม่เห็นด้วย ท่านก็สั่งให้ไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ แบบนี้มันไม่ใช่การมีส่วนร่วมหรอกนะครับ

ผมไม่ได้บอกว่าแผนและยุทธศาสตร์ของท่านดีหรือไม่ดี แต่ผมจะบอกว่ามันจะไม่สำเร็จ ประเทศจะเดินหน้าไปต้องให้เจ้าของประเทศเขาเข้มแข็ง สุดท้ายแล้วคนจะปกครองประเทศดีสุดไม่ใช่ใคร ก็คือประชาชน ระยะเปลี่ยนผ่านห้าปีข้างหน้า มันควรเปลี่ยนผ่านไม่ใช่ไม่ผ่าน ส.ว. ที่ คสช. จะตั้งขึ้นมาและจะอยู่ไปห้าปี มีอำนาจเลือกนายกฯ ผมคิดว่า คสช. ควรเลือกคนที่ดีที่สุดในแง่ของการทำเพื่ออนาคตประเทศ อย่าไปเลือก ส.ว. บนพื้นฐานเพื่อให้เขามาเลือกตัวเองเป็นรัฐบาล เมื่อเลือกเสร็จแล้วก็ควรปล่อยเป็นอิสระ ให้เขาฟรีโหวตจะเลือกใครเป็นนายกฯ จะยกมือผ่านกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่อย่างไรก็ปล่อยไป ถ้าทำอย่างนี้ได้การเมืองห้าปีแรกจะเป็นการเมืองแบบเปลี่ยนผ่าน หมายความว่า รัฐบาลก็จะมีการหาเสียงกับ ส.ว. ต้องขอความสนับสนุนและฟัง ส.ว. ก็จะเกิดการประนีประนอม แต่ถ้าหาก คสช. ไม่ปล่อย ส.ว. และคุม ส.ว.ให้ยกมือตามที่ตัวเองต้องการมันก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างสภาสูงกับสภาล่างทันที

-แนะนำประชาชนสองฝ่ายอย่างไร หากการเมืองในอนาคตเป็นแบบนี้

เราต้องสรุปบทเรียนนะครับว่าเราอยู่แบบนี้มา 85 ปีแล้ว ผมเห็นด้วยกับนายกฯนะครับว่า การยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 ต้องเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการยึดอำนาจ และไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างธรรมนูญปี 2560 แต่มันก็ประกาศใช้แล้ว ก็ต้องว่ากันไปตามนี้ ดีสุดคือ ผมคิดว่าเราเห็นต่างกันได้ครับแต่จากนี้เราต้องไม่ทำแบบที่ผ่านมา เราว่ากันตามกติกายอมรับความเห็นที่แตกต่างกันให้ได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน ขัดแย้งกันก็ยังได้ แต่ต้องว่ากันตามกติกา ผมเปรียบเทียบเป็นเหมือนการเล่นกีฬา แม้จะเลือกพรรคต่างกันความเห็นทางการเมืองไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถที่จะอยู่ร่วมประเทศกันได้และผมคิดว่าการปรองดองที่แท้จริงไม่ใช่การทำให้คนคิดเหมือนกันนะครับ การปรองดองที่แท้จริง คือคิดต่างกันนี่แหละแต่สามารถอยู่ร่วมประเทศกันได้และนั่นแหละคือระบอบประชาธิปไตยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image