ไทยพีบีเอสใต้วิกฤตสื่อ

รศ.ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส  ให้สัมภาษณ์  ในหัวข้อ “ความท้าทายของ Thai PBS ในวิกฤตสื่อ” เนื่องในครบรอบ 10 ปี  สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย

รศ.ดร. วิลาสินี ได้กล่าวว่าแม้ว่าตอนนี้พฤติกรรมการรับสื่อของผู้รับสื่อจะเปลี่ยนไป แต่ว่าผู้รับสื่อก็ยังคงต้องการสื่อที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ไม่ต่างจากเดิม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สถานีจะยังคงต้องรักษาเอาไว้

 “เป็นแหล่งที่เขาจะกลับมาพึ่งเรื่องข้อเท็จจริง”

ทั้งนี้ก็ยอมรับว่าพฤติกรรมผู้รับสื่อที่เปลี่ยนไป เริ่มห่างหายจากการดูจากหน้าจอทีวีก็ส่งผลกระทบไม่น้อย ซึ่งวัดได้จากเรทติ้งที่ตกลงเหมือนกันเกือบทุกช่อง

Advertisement

“นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไม เราเตรียมพร้อมพัฒนาช่องทางสื่อใหม่มาตั้งแต่ 2-3 ปีมาแล้ว เราไม่ได้พร้อมที่สุด แต่ว่าเราก็พยายามปรับตัว กับการเพิ่มขึ้นของงานสื่อใหม่”

แต่ก็ยืนยันว่ายังไม่ทิ้งทีวี เพราะสังคมไทยนั้นผู้สูงอายุก็ยังชมจากหน้าจอทีวีอยู่เช่นเคย ในส่วนของเรทติ้งนั้นก็เพียงแค่นำมาเป็นตัวอ้างอิง เพื่อพัฒนาเนื้อหาและบริการให้เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น

“คาดหวังว่าเนื้อหาและบริการที่เราให้มันจะไปถึงประชาชนกลุ่มต่างๆที่เราออกแบบว่าเราอยากให้เขาได้รับเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ของเรา”

Advertisement

“มันจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเหล่านั้นลุกขึ้นมาแอ๊คทีฟ และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง” รศ.ดร. วิลาสินีว่า

“เราไม่ใช่คู่แข่งของสื่อใดๆ”

นี่คือคำตอบเมื่อถูกถามว่ามองสถานีอื่นเป็นคู่แข่งหรือไม่ เพราะอยากให้เป็นการทำงานแบบ ‘พันธมิตร’ และพยายามที่จะเรียนรู้สื่ออื่นว่าเขาทำงานอย่างไรแล้วเราก็พยายามที่จะพัฒนาคุณภาพของเรา ให้แตกต่างมากขึ้น

“เราต้องดูและเปรียบเทียบกับเราว่า ในข่าวแบบเดียวกัน เขาเสนออย่างไร เราเสนออย่างไร เพราะว่าเรามีความต่างอยู่พอสมควร”

“ข่าวที่เกี่ยวกับผู้เสียหายหรือกระบวนการต่างๆเราจะมีความระมัดระวังมากขึ้น เราจะมีจริยธรรมเป็นข้อกำกับ และพยายามทำข่าวเชิงเจาะลึกมากขึ้น”

ในส่วนของการดึงดูดคนดูข่าวให้มาชมไทยพีบีเอสนั้น รศ.ดร. วิลาสินี บอกว่าต้องอยู่บนความเข้าใจว่าสังคมก็อาจจะเลือกสื่อที่ดูแล้วได้อารมณ์ แต่ว่าก็เป็นหน้าที่ของทางสถานีที่ต้องพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงและสาระ บนฐานของจริยธรรมที่เป็นตัวกำกับอยู่

“เราอาจจะต้องใช้เครื่องมือในการโปรโมตข่าวของเราให้มากขึ้น  แล้วก็ช่องทางของสื่อใหม่  และมีการทำข่าวให้มีรูปแบบ สั้น กระชับ ตัดเนื้อหาเฉพาะ ส่งออกไปตามกลุ่มคนต่างๆ เรียกว่า สื่อใหม่จะทำให้ข่าวหนักๆของเรา มีความเป็นกันเองมากขึ้น”

พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่เล่นข่าวในเชิงเร้าอารมณ์ ไม่เล่นข่าวที่ไม่ใช่ความจริง และเน้นย้ำถึงความชัดเจนในด้านจริยธรรม แต่กระนั้นก็ยังต้องปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับผู้รับสื่อด้วย

นอกจากนี้ยังได้เผยถึง 10 ทิศทาง ก้าวใหม่ของไทยพีบีเอสไว้ด้วยว่า จะเน้นเข้าถึงพลเมืองยุคดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการพัฒนาคอนเทนท์ให้เป็น มายด์ไทยพีบีเอส ที่ไม่ใช่แค่เป็นผู้บริโภคอีกต่อไป แต่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งที่ตนต้องการได้บนฐานของงานวิชาการ

ไทยพีบีเอสไม่เชื่อว่าคนจะอยู่แค่บนจอ จึงได้เปิดที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยจะมีระบบการทำงานที่ใครๆสามารถเข้าถึงได้ ไทยพีบีเอสจะยังคงให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เน้น นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในสังคม เรื่องของการยกระดับ สร้างความเป็นธรรมต่างๆ ในสังคม

 การสร้างพลังพลเมืองให้เข้มแข็ง หลังจากที่ร่วมมือกับเครือข่ายจนเกิดนักข่าวพลเมืองขึ้นมา ปีนี้เราจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ซีไซต์แอพพลิเคชั่น ที่จะสามารถขยายการทำงานของพลเมืองขึ้นไปอีก

 ให้ความสำคัญกับการเชื่อมพลไทยให้เป็นพลเมืองโลก จะมีรูปแบบรายการ ที่สร้างมุมมองแบบตะวันออก บูรพาวิถี เชื่อมท้องถิ่นสู่โลก การปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กรภายในให้มีความโปร่งใส จากนี้ไปมั่นใจว่าระบบทุกอย่างเปิดใจตรวจสอบได้  แล้วก็เป็นระบบที่ถูกต้องทำให้คนทำงานพัฒนาศักยภาพได้ด้วย ไทยพีบีเอสจะสร้างความเข้มแข็งของ กลไลการมีส่วนร่วมภายนอก ไทยพีบีเอส จะต้องเข้มแข็งทั้งภายในภายนอกเพื่อทำให้เราเองก็ถูกต้องตรวจสอบ และไม่ได้ละเลยเสียงของใครเลย

และสุดท้ายคือ ไทยพีบีเอสจะประกาศรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่เราเรียกว่า Content Based Structure จะดึงผู้มีฝีมือจากสำนักต่างๆ สำนักข่าว รายการ ศูนย์ใหม่ ศูนย์สื่อสาธารณะ เอาคนรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อทำประเด็นที่จะเป็นวาระหลัก การปฎิรูปการเมือง การศึกษา วิถีชีวิต และมุมมอง ที่มีต่อโลก ซึ่งมุ่งมั่นจะให้ 4 ครัวนี้ มาทำงานร่วมกัน

“พัฒนาเนื้องานที่เราเรียกว่าซุปเปอร์คอนเทนต์ ทั้งข่าว รายการ ที่มันมาจากการรวมกัน  การผสมผสานกันคนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันปั้นงานออกใหม่ พยายามตอบโจทย์ว่าประชาชนจะรู้อะไร และเรานำมาพัฒนา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image