อดีตส.ส.นิวบลัด ชาติไทยพัฒนา แนะ รบ.ดูโมเดลแก้จนจากจีน สร้างความยั่งยืนกว่าแจกเงิน

อดีตส.ส.นิวบลัด ชาติไทยพัฒนา แนะ รบ.ใช้นโยบายแก้จนจากจีนเป็นโมเดลสร้างความยั่งยืนกว่าแจกเงิน วอน พณ.คุมราคาสินค้า ก่อนค่าแรงปรับขึ้น

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพท.) กลุ่มนิวบลัด นำโดย นายภราดร ปริศนานันทกุล นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีตส.ส.อ่างทอง และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ชทพ. ร่วมแถลงเรียกร้องให้รัฐบาล ทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่ให้วงเงินเพื่อคนที่มีรายได้ต่ำตามเกณฑ์กำหนด รายละ 200-300 บาทต่อเดือนเท่ากับทั่วประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและมาตรฐานค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบทไม่เท่ากัน เพื่อสร้างมาตรฐานการตามสถานะของบุคคลที่ถูกจำแนกว่า เป็นคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์หรือต่ำกว่ามาตรฐานรายได้ ซึ่งตนคิดว่า ตัวอย่างที่น่าสนใจที่อยากให้รัฐบาลพิจารณา คือ นโยบายการช่วยเหลือผู้ยากจนอย่างตรงจุดของนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ กว่า 2 ล้านคน ออกสัมภาษณ์ผู้ยากไร้ทั่วประเทศและทุกหลังคาเรือนว่า สาเหตุและปัญหาของความยากจนแต่ละครัวเรือนเกิดจากอะไรบ้าง ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลถึง 89 ล้านชุดและมี 89 ล้านโครงการเพื่อนำมาแก้ปัญหา และเป็นทางออกให้กับประเทศจีน โดยการประกาศนโยบายของจีนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2015 ถึงปีปัจจุบัน ทำให้คนจีนหายจนมากถึงปีละ 10 ล้านคน ตนคิดว่าไทยอาจมีปัญหาเรื่องบุคลากร แต่ก็จ้างเอกชนมาร่วมดำเนินการได้ ตนมองเป็นทางออกที่ดีและมีประสิทธิภาพ สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนมากกว่าการแจกเงินเพียงอย่างเดียว

ด้าน นายสิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า พรรคอยากเสนอให้รัฐบาลเป็นช่างตัดเสื้อผ้าที่ไม่ใช่เสื้อโหล แต่ต้องเป็นเสื้อผ้าที่ทุกคนใส่แล้วพอดี โดยเฉพาะการมีแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่รัฐบาลต้องใส่ใจรายละเอียด โดยเฉพาะแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาที่แตกต่าง เช่น กรณีกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่แต่ละพื้นที่ที่มีสภาพเป็นอยู่แตกต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลควรให้อำนาจกับท้องถิ่นในการตัดสินใจแก้ปัญหามากกว่า ขณะที่รัฐบาลเป็นผู้กำกับดูแล

ขณะที่ นายกรวีร์ กล่าวว่า ตนเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ กำหนดมาตรการควบคุมราคมสินค้า หลังจากที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระหว่าง 5-22 บาท และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ในสัปดาห์หน้า และให้มีผลบังคับใช้เดือนเมษายน 2561 ทั้งนี้การปรับดังกล่าวยอมรับว่าอาจไม่เพียงพอต่อการครองชีพของผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อดูภาพรวมการขึ้นราคาทั่วประเทศพบว่ามีการปรับเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อมีข่าวปรับขึ้นค่าแรง แต่ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ระหว่างก่อนที่จะถึงเวลาปรับขึ้นค่าแรง อย่างน้อยช่วง 2 เดือน รัฐบาลควรมีกลไกไม่ให้สินค้าราคาปรับเพิ่มเกินความจำเป็น

Advertisement

//////////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image