คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: คอร์รัปชั่นเกม…ที่เวียดนาม

VNA/Doan Tan via REUTERS

เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ศาลประชาชนแห่งฮานอย เริ่มต้นการไต่สวนคดีใหญ่และโด่งดังคดีหนึ่งท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดกว่าปกติ ในขณะที่มีประชาชนทั่้วไปให้ความสนใจมากผิดปกติเช่นเดียวกัน

ความผิดปกติทั้งหมดนั้น สืบเนื่องจาก จำเลยสำคัญในคดีนี้ไม่ใช่คนธรรมดาสามัญทั่วไป และคดีนี้ก็เป็นคดีคอร์รัปชั่น ไม่ใช่คดีดกดื่นที่พบเห็นกันได้บ่อยครั้งนักในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพรรคเดียวอย่างเวียดนาม

จำเลยหลักในคดีนี้ หนึ่งนั้นคือ ดินห์ ลา ธัง เคยดำรงตำแหน่งสูงถึงเป็น 1 ใน 12 สมาชิกคณะโปลิตบูโร (ก่อนที่จะมีการขยายจำนวนสมาชิกออกเป็น 19 คนเมื่อปี 2016) องค์กรนำที่ทำหน้าที่ตัดสินใจทุกอย่าง ทุกเรื่อง ที่เกี่ยวกับการปกครองเวียดนาม รวมทั้งยังดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามประจำนครโฮจิมินห์ซิตี ศูนย์กลางทางการเงินของประเทศอีกด้วย

ดินห์ ลา ธัง ถูกจับกุม และนอกจากจะถูกปลดออกจากโปลิตบูโรด้วยมติเอกฉันท์แล้ว ยังถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคแห่งโฮจิมินห์ซิตี รวมถึงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ “เปโตรเวียดนาม” (พีวีเอ็น) รัฐวิสาหกิจพลังงานที่เป็นองค์กรธุรกิจใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย

Advertisement

ในรอบหลายสิบปีมานี้เคยมีนักการเมืองระดับโปลิตบูโรของเวียดนามถูกดำเนินคดีมาก่อน
อีกคนหนึ่ง คือ ตรินห์ ซวน ธันห์ ผู้บริหารสูงสุดที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการก่อสร้างอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง “เปโตรเวียดนาม คอนสตรัคชั่น” (พีวีซี) หนึ่งในกิจการวิสาหกิจจำนวนมากหลายภายในเครือ “เปโตรเวียดนาม”

ทั้ง 2 ถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นฉกรรจ์หลายข้อหา มีผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดในฐานความผิดเดียวกันนี้อีก 20 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับนำหรืออดีตเจ้าหน้าที่ระดับนำของพีวีเอ็นทั้งสิ้น
คดีคอร์รัปชั่นคดีนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากคดีเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นมีการจับกุม เหวียน ซวน ซอน ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ พีวีเอ็น ระหว่างปี 2014 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนที่ถูกจับกุมเมื่อปลายปี 2015 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ยักยอกเงินจำนวนมากถึง 49,000 ล้านด่อง จากจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด 246,000 ล้านด่อง หรือราว 13,600 ล้านดอลลาร์ ที่ เปโตรเวียดนามเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของธนาคาร โอเชียนแบงก์

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ศาลประชาชนของเวียดนาม พิพากษาให้ลงโทษสูงสุดด้วยการประหารชีวิต
ดคีคอร์รัปชั่นครั้งนี้เป็นคดีใหญ่และได้รับการจับตามองในระดับสากลมากกว่าปกติ ไม่เพียงเพราะเวียดนามถีบตัวขึ้นมาเป็น “แหล่งผลิตสินค้า” สำคัญแหล่งหนึ่งในระบบเศรษฐกิจการค้าของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเหตุการณ์แวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอีกด้วย

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับ ตรินห์ ซวน ธันห์ ที่ก่อเหตุร้าวฉานทางการทูตระหว่างเวียดนามกับเยอรมนีมาจนถึงขณะนี้

 

 

ตรินห์ ซวน ธันห์ เป็นอดีตประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ พีวีซี ถูกตั้งข้อหาว่า บริหารงานผิดพลาด ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่รัฐ คิดเป็นมูลค่า 3.2 ล้านล้านด่อง (147 ล้านดอลลาร์) สมทบด้วยข้อหา ยักยอกเงินอีกจำนวนหนึ่งกับการรับสินบนอีกเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 600,000 ดอลลาร์
โทษสูงสุดสำหรับ ธันห์ คือ ประหารชีวิต

เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับชะตากรรมเดียวกันกับอดีตแกนนำของ พีวีเอ็น อย่าง เหวียน ซวน ซอน ทำให้ ธันห์ตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ เมื่อเดินทางถึงเยอรมนีก็ยื่นขอลี้ภัยการเมืองที่นั่น อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 ตรินห์ ซวน ธันห์ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับจากสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน
ทางการเวียดนามยอมรับในเวลาต่อมาว่า ธันห์ อยู่ในความควบคุมของตน แต่อ้างว่า ผู้ต้องหาคดีคอร์รัปชั่นรายนี้ยินยอมมอบตัวต่อทางการเอง

ปัญหาก็คือ ทางการเยอรมนี มีข้อมูลที่ทำให้คิดไปอีกทาง กระทรวงต่างประเทศเยอรมนีปักใจเชื่อว่า ธันห์ ถูกจารชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเวียดนามลักพาตัวกลับประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือเป็น “อาชญากรรม” และ “ยอมรับไม่ได้” สำหรับเยอรมนี

กรณีดังกล่าวยังพัวพันมาถึงสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมานี้เอง เจ้าหน้าที่สิงคโปร์จับกุมตัว ฟาน วัน อาห์น วู นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์วัย 42 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกของหน่วยข่าวกรอง “ตำรวจลับ” ของเวียดนามอยู่ด้วย ขณะพยายามเดินทางด้วยเอกสารเดินทางปลอมจากสิงคโปร์ไปยังมาเลเซีย โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เยอรมนี

การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ เมื่อ 21 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปตรวจค้นบ้านพักของ ฟาน วัน อาห์น วู ใจกลางนครดานัง และออกหมายจับกุมตัว โดยตั้งข้อหาว่า “เปิดเผยความลับของทางราชการ” ข้อหาที่มีโทษถึงประหารในเวียดนาม

แม้จะไม่ระบุรายละเอียดว่า “ความลับ” ที่ว่านี้คืออะไร แต่ทนายของผู้ต้องหารายนี้เปิดเผยหลังถูกสิงคโปร์จับกุมและส่งตัวกลับไปให้ทางการเวียดนามอย่างรวดเร็วในอีก 2 วันต่อมาว่า ฟาน วัน อาห์น วู กำลังติดต่ออยู่กับทางการเยรอมนี เพื่อขอลี้ภัยการเมืองที่นั่นโดยพร้อมที่จะเปิดเผยรายละเอียดกระบวนการลงมือและผู้รับผิดชอบในการออกคำสั่ง “ลักพาตัว” ตรินห์ ซวน ธันห์ เป็นข้อแลกเปลี่ยน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ เพตรา ชลาเกนฮอฟ ทนายความชาวเยอรมันของ ธันห์ เดินทางไปยังฮานอย เพื่อทำหน้าที่ในคดีนี้ กลับถูกปฏิเสธการเข้าประเทศอีกด้วย

มีคนช่างสังเกตบางคนบอกด้วยรอยยิ้มว่า ก่อนหน้าการส่งตัว ฟาน วัน อาห์น วู กลับเวียดนามนั้น นายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุค ให้บังเอิญ เพิ่งเปิดไฟเขียวให้ บันยัน ทรี โฮลดิ้ง สามารถดำเนินโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในเวียดนามตอนกลางได้

แล้วก็ยิ่งบังเอิญมากขึ้นไปอีกที่ บันยัน ทรี โฮลดิ้ง เป็นบริษัทจากสิงคโปร์!

 

 

สภาพการณ์การกวาดล้างแบบไม่คำนึงถึงวิธีการที่ใช้เช่นนี้ ทำให้ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ “รู้สึกเฉยๆ” กับความพยายาม “ล้างภาพคอร์รัปชั่น” ครั้งนี้ ในขณะที่นักสังเกตการณ์หลายคนแม้จะยอมรับว่า การกวาดล้างคอร์รัปชั่นที่ระบาดอย่างหนักในเวียดนาม เป็นสิ่้งจำเป็น หากเวียดนามต้องการปูพื้นฐานความทันสมัยเพื่อรองรับการลงทุนจากภายนอกในอนาคต

แต่ในเวลาเดียวกันก็อดกังวลไม่ได้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่สงครามกับการคอร์รัปชั่น หากแต่เป็นการทำศึกเพื่อช่วงชิงอำนาจกันภายในมากกว่า

บีบีซี เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การกวาดล้างคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นในเวียดนามมาแล้วเพียง 2 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1986 เรื่อยมา สภาวะการณ์ตามความเป็นจริงในเวลานี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ความพยายามทั้ง 2 ครั้งนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียง “การปะทะกันเองภายในพรรค” มากกว่าอย่างอื่น

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ในเวียดนามในเวลานี้คือ เหวียน ฝู่ ตรอน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามวัย 72 ปี ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคเป็นสมัยที่ 2 วาระ 5 ปี เมื่อเดือนมกราคมปี 2016

ในการประชุมสมัชชาพรรคคราวเดียวกันนั้น เหวียน เติ่น สุง ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2006 ถูกแซะพ้นตำแหน่ง และในเวลาเดียวกันก็หมดโอกาสที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามไปโดยปริยาย

การกวาดล้างคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ของเวียดนามเริ่มต้นมาตั้งแต่บัดนั้น และ ที่น่าสังเกตก็คือ ส่วนใหญ่ของผู้ต้องหาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นพันธมิตร หรืออย่างน้อยก็อยู่ในแนวทางเดียวกันกับ เหวียน เติ่น สุง ทั้งสิ้น

นักสังเกตการณ์บางคนชี้ว่า การขับเคี่ยว แย่งชิงอำนาจระหว่าง เหวียน ฝู่ ตรอน กับ เหวียน เติ่น สุง นั้นเป็นที่รับรู้กันมานานหลายปีแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองฝ่ายยังมีบุคลิก และอุดมการแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนปัจจุบัน เป็นคนเงียบขรึม รอบคอบระแวดระวัง ยึดแนวทางตามอุดมการดั้งเดิม ในขณะที่ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เพียงเป็นคนรุ่นใหม่ ยังเป็นเจ้าหน้าที่หัวใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากนานาชาติสูงมาก และสามารถก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายใต้แนวคิดสร้างความทันสมัยให้กับเวียดนาม อันเป็นความพยายามที่จวนเจียนจะทำให้ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่น อยู่หลายครั้ง ทั้งจากพฤติกรรมของตนเองและพฤติกรรมของคนในครอบครัว

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ กรณีที่ลูกเขยชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนามของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ เป็นผู้นำเอา “แม็คโดนัลด์” เข้ามาในเวียดนามเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 เป็นต้น

 

 

ตัวเลขที่น่าสนใจเมื่อปีกลายที่เผยแพร่ผ่าน เวียดนามเน็ตบริดจ์ ก็คือ เมื่อมีการสำรวจดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับจังหวัดของเวียดนามในปี 2016 เมื่อเดือนมีนาคม 2017 นักธุรกิจเวียดนามราว 66 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขา “เคยเสนอ” ให้สินบน หรือ เคยจ่ายเงิน “อย่างไม่เป็นทางการ” ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้ว

สัดส่วนดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่เคยมีการสำรวจทั้งเมื่อปี 2008 และ ในปี 2013

ในระดับสากล เวียดนาม ถูกจัดอันดับโดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้มีอันดับความโปร่งใสอยู่ในระดับท้ายๆ คือ 113 จากทั้งหมด 137 ประเทศ อันที่จริง เวียดนาม ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชั่นสูงที่สุดในเอเชียเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย เท่านั้น

การปราบคอร์รัปชั่้นอย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเวียดนาม และยิ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งหากสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่กลายเป็นเรื่องการเมือง

คอร์รัปชั่นที่กลายเป็นเกมทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจ ไม่มีวันนำพาประเทศชาติให้รุดหน้าไปได้แน่

ไม่มีวันทำความสะอาดองคาพยพของรัฐให้หมดจดได้แน่นอน รังแต่จะทำให้ความสกปรกดำมืดแพร่ระบาดออกไป ปกคลุมไปทุกภาคส่วนของรัฐในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image