ส่งฝันตุงตาข่าย ธีรศิลป์ แดงดา ยอดกองหน้าผู้ไม่กลัวความล้มเหลว

บนสนามที่ขรุขระในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว วันแล้ววันเล่าที่เด็กชายคนหนึ่งต้องซ้อมฟุตบอลตามคำสั่งพ่อ โดยไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องทำ

ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฟุตบอลคืออะไร ผ่านไปเกือบ 30 ปี เด็กชายผู้นั้นครอบครองคำยกย่อง “ยอดศูนย์หน้าทีมชาติไทย”

“ธีรศิลป์ แดงดา” เกิดปี พ.ศ.2531 ยายของเขาซึ่งเป็นชาวสุรินทร์ตั้งชื่อเล่นให้ว่า “มุ้ย” ภาษาเขมรหมายถึง “เลข 1”

ในช่วงเวลาที่ลีกไทยยังห่างไกลจากคำว่ามืออาชีพ ไม่มีระบบการฝึกฝนเยาวชนหรือ “อคาเดมี่” อย่างจริงจัง ทว่า สิ่งที่ธีรศิลป์ได้รับตั้งแต่เด็กนั้นเข้มข้นไม่ต่างจากอคาเดมี่ เขามีคุณพ่อ “พ.อ.อ.ประสิทธิ์ แดงดา” เป็นโค้ชคนแรก คอยเคี่ยวเข็ญสอนทักษะฟุตบอล โดยเฉพาะจังหวะเข้าทำประตู จนได้รับโควต้านักกีฬาจาก “อัสสัมชัญธนบุรี” โรงเรียนที่ลับความฝันของธีรศิลป์ให้คมชัด เป็นแรงผลักดันให้เขามุ่งมั่นไต่เต้าเป็นนักฟุตบอลทีมชาติในทุกรุ่นอายุ

Advertisement

เส้นทางระดับสโมสรเริ่มต้นที่โรงเรียนจ่าอากาศ ราชประชา ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องกับ “เมืองทองยูไนเต็ด” สโมสรที่ธีรศิลป์เขียนประวัติศาสตร์อันน่าจดจำแก่ตัวเองไว้มากมาย ทั้งการเป็นดาวซัลโวสายเลือดไทยสูงสุดตลอดกาลของไทยลีก เป็นผู้เล่นไทยเพียงคนเดียวที่ยิงได้มากกว่า 10 ประตูในหลายฤดูกาล อีกทั้งเป็นนักเตะคนเดียวในไทยลีกที่ยิงประตูกับทีมเดียวได้เกิน 100 ประตู

แต่ผลงานในประเทศที่เฟื่องฟุ้ง ไม่อาจการันตีเส้นทางที่สวยงามในต่างแดน ธีรศิลป์เผชิญ “ความไม่ราบรื่น” อยู่เสมอเมื่อต้องคว้าโอกาสในลีกต่างชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2550 “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” เซ็นสัญญารับเขาร่วมทีม แต่ประสบปัญหาการขอใบอนุญาตทำงานที่อังกฤษ ทำให้ไม่สามารถลงเล่นได้ ต้องย้ายแบบยืมตัวไปสโมสรสวิตเซอร์แลนด์ “กราสฮอปเปอร์ ซูริค” แต่ก็ไม่ได้ลงเล่นอีก ธีรศิลป์จึงเดินทางกลับไทย ก่อนที่ทีมเรือใบสีฟ้าจะยกเลิกสัญญากับเขาในเวลาต่อมา พ.ศ.2556 ธีรศิลป์ทดสอบฝีเท้ากับทีมชั้นนำแห่งลาลีก้าสเปน “แอตเลติโก มาดริด” ทว่าก็ได้แค่ซ้อม ไม่ได้เซ็นสัญญาแต่อย่างใด

Advertisement

โอกาสลงเล่นในลีกยุโรปมาเป็นความจริงใน พ.ศ.2557 เมื่อ “อูเด อัลเมเรีย” ในลาลีก้าขอยืมตัวธีรศิลป์ไปเล่น 1 ฤดูกาล จาก 6 นัด 132 นาที ที่เขารับใช้ทีม ธีรศิลป์ทำได้ 1 ประตูในเกมโกปาเดลเรย์ แต่นานวันเข้า โอกาสลงเล่นยิ่งน้อยลง จากไม่มีรายชื่อในผู้เล่นตัวจริง ไม่มีรายชื่อตัวสำรอง จนทำได้แค่นั่งดูฟุตบอลบนอัฒจันทร์ ธีรศิลป์ที่แบกความฝันของตัวเองและความหวังของคนไทยต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ขอยกเลิกสัญญากับอัลเมเรียหลังจากย้ายไปไม่ถึง 1 ปี กลับประเทศบ้านเกิดพร้อมคำวิจารณ์ที่ถาโถม บ้างก็ว่าธีรศิลป์ล้มเหลว บ้างก็ว่าฝีเท้าไม่ถึง และบ้างก็ว่าเขาใจไม่สู้

ล่าสุด ปลาย พ.ศ.2560 ธีรศิลป์ต้อนรับความท้าทายจากลีกต่างชาติอีกครั้ง เมื่อตกลงย้ายไปร่วมทีม “ซานเฟรซเช่ ฮิโรชิมา” ในญี่ปุ่นด้วยสัญญายืมตัว 1 ปี ทำให้เขาเป็นนักเตะไทยคนที่ 2 ต่อจาก “ชนาธิป สรงกระสินธ์” ที่มีโอกาสไปโลดแล่นในเจลีก

ก่อนเหินฟ้าไปแดนซามูไร “มติชน” ได้รับโอกาสพูดคุยกับ “พี่มุ้ย” ธีรศิลป์ ที่เอสซีจีสเตเดียม ตั้งแต่ช่วงเย็นแดดร่มลมตกจนกระทั่งมืดค่ำ ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลาย จนได้บทสัมภาษณ์ที่น่าจะเปิดเผยความคิด-จิตใจและมุมส่วนตัวของกองหน้าอันดับหนึ่งของเมืองไทยคนนี้มากที่สุดครั้งหนึ่ง

อยากเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่เด็ก?

ตอนเด็กๆ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นอะไร ด้วยสังคมทหารก็จะเห็นครอบครัวอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีลูกก็ส่งลูกเป็นทหาร รับราชการมันมั่นคงอยู่แล้ว ผมเคยบอกพ่อว่าอยากเป็นเหมือนพ่อ พ่อบอกว่าจะเป็นทั้งที เป็นทำไมเหมือนพ่อ ต้องเป็นให้ดีกว่าพ่อ

ตอนเด็กๆ ซ้อมบอลอย่างไร?

ผมเล่นกองหน้าตั้งแต่แรก พ่อนี่แหละเลือกให้ ดูวิดีโอศูนย์หน้าคนดังๆ แบบเดลปีเอโร่ ซีดาน ฟานบาสเท่น เบิร์กแคมป์ อองรี ผมชอบซีดานในช่วงหนึ่งนะ แต่พอได้ดูทั้งหมด ทุกคนเก่งหมดเลย ผมพยายามเอาจุดเด่นของแต่ละคนมา ภาพในหัวก็จะจำว่าคนนี้เก่งลูกแบบนี้ พอเจอสถานการณ์คล้ายๆ ก็ “เฮ้ย อารมณ์เราอยากเป็นคนนี้”

จริงๆ ไม่ได้รู้เรื่องฟุตบอล แต่พ่อเป็นคนบ้าบอล พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าพ่อหนีปู่ไปเตะบอล ปู่ไม่ให้เล่น พอมีผม พ่อเลยอยากให้ผมเล่นบอล เด็กคนอื่นเลิกเรียนแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ผมต้องไปสนามทุกวันเหมือนเป็นวินัย ไม่ได้เล่นกับเพื่อนๆ ได้แต่รอผู้ใหญ่มาแปบอลด้วย แล้วพ่อก็มีเพื่อนอยู่ที่สนาม ถ้าเราไม่ไปพ่อก็จะรู้ว่าเราไม่ไป เพราะเราเคยไม่ไปไง

สนามที่ซ้อมก็เป็นหินลูกรัง ประตูก็ไม่มี มีแค่เสา แค่นั้น (หัวเราะ) พื้นไม่มีเรียบเลย ล้มไปยังไงก็มีเลือด ตอนนั้นเรารู้สึกอายจริงๆ นะ คนที่ขับรถผ่านไปผ่านมาคงรู้สึกว่า “ไอ้สองคนนี้มันบ้า” เสาร์อาทิตย์ตอนเที่ยงมาเตะบอล มาโยนบอลให้ลูกยิง ผมทำไปก็ร้องไห้ไป

เคยอยากเลิกซ้อมอยู่หลายช่วง เพราะตอนอยู่บ้านเราไม่รู้ว่าเตะบอลไปทำไม แต่พอไปอยู่โรงเรียนประจำที่อัสสัมชัญธนบุรี ได้โควต้านักกีฬา เรียนฟรี ทุกคนจะมีฝีเท้าที่ดีอยู่แล้ว เริ่มเล่นบอลแบบไม่ได้เอาสนุก แต่เล่นเพื่อชนะเลิศ เริ่มมีการแข่งขัน เริ่มอยากลงเล่น อยากได้แชมป์ เพราะมีคนเก่งกว่า เราเลยอยากเก่งขึ้น มันเริ่มมีเป้าหมายทีละนิด พอเพื่อนติดทีมชาติก็อยากติดบ้าง เพราะตอนแรกไม่ติด

เคยถูกหาว่าเป็นเด็กเส้น รับมือยังไง?

ตอนนั้นก็เป๋ไปพักใหญ่ๆ ด้วยบอลไทยยังไม่มีลีก โค้ชเป็นคนไทย โค้ชใช้ใครบ่อยๆ คนก็มองว่า “เด็กเส้น” ความหมายเดียวกับ “ลูกรัก” แต่ก่อนเราเล่นบอลนักเรียน มีคนดูไม่เยอะ พอเป็นทีมชาติ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เหมือนเราปรับตัวไม่ทัน เราจบมัธยมต้องมาเจอพี่แบน (ธชตวัน ศรีปาน) พี่โก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) ซึ่งเราเพิ่งนั่งดูอยู่เมื่อปีสองปีที่ผ่านมา เราเป็นคนขี้เกรงใจ ไม่ค่อยพูด กว่าจะรู้จักพี่เขา กว่าจะเริ่มคุยปรึกษาก็ใช้เวลานาน

บุคลิกไม่ค่อยพูด ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จกับอัลเมเรีย?

อาจจะจริงนะ แล้วแต่คนมอง ที่ไปตอนนั้นตั้งใจว่าไม่อยากเปลี่ยนอะไรมากมาย เพราะก่อนหน้านั้นไปมาหลายครั้ง เราทำเต็มที่ ปรับตัวทุกอย่าง สุดท้ายก็ไปแค่ซ้อม ไม่ได้เซ็นสัญญา เราก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ดีสำหรับเรา จึงตั้งใจว่าจะไม่เปลี่ยนอะไรมาก เพื่อจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหาคืออะไร อาจจะเป็นคนพูดน้อย คนอื่นก็ได้รู้แล้วว่าถ้าพูดน้อยก็อยู่ยาก เหมือนเป็นบทเรียนให้ตัวเองและคนอื่นด้วยว่าการจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ มันไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอล ยังมีอาหารการกิน ภาษา อากาศ การปรับตัว วัฒนธรรม

ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีมตอนนั้นก็ปกติ คุยกับเพื่อนได้บ้างอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สื่อสารรู้เรื่อง

ไม่เคยรู้สึกเหงาเลย โฟกัสแค่ในสนาม คิดแค่ว่าทำไมไม่ได้เล่น เราอยากเล่น ไม่ได้คิดว่าอยากกลับไทยเพราะคิดถึงบ้าน มันดูเด็กน้อยมาก อยู่ที่นั่นมีที่พัก มีรถ วันหยุดก็ขับรถเที่ยว

อุปสรรคในการค้าแข้งต่างแดนที่ไม่ได้เกิดจากตัวเอง?

น่าจะเป็นเรื่องการสื่อสารกับโอกาสลงเล่นที่น้อย ปัญหาอย่างอื่นไม่มี ตอนนั้นตกรอบโกปาเดลเรย์แล้ว เหลือแค่ลาลีก้า ส่วนใหญ่จะซ้อม แล้วไม่มีชื่อไปร่วมแข่งด้วย แค่ไปนั่งดูอยู่บนอัฒจันทร์เฉยๆ เป็นแบบนี้อยู่นานเหมือนกัน อัลเมเรียตอนนั้นเป็นทีมหนีตกชั้น เปลี่ยนโค้ช มีผู้เล่นเข้ามา-ย้ายออก โค้ชก็ไม่สนใจว่าจะต้องให้โอกาสหรือต้องปั้นใคร เขาต้องการสามแต้ม ต้องการคนที่ทำตามที่เขาต้องการได้ คนที่เขาพูดแล้วรู้เรื่องเลย

ถ้าเราไม่ได้เล่นก็ไม่อยากเสียเวลา รู้ว่าไม่ได้หาโอกาสได้ง่าย แต่ฟุตบอลใครจะไปรู้ หยุดเล่นไปปีหนึ่งอาจจะไม่ได้กลับมาเหมือนเดิมอีกเลยก็ได้ เพราะฟุตบอลเหมือนการทำซ้ำ ใครฝึกเยอะกว่าก็ทำได้ดีกว่า การเล่นในแมตช์แข่งขันยิ่งน้อยเท่าไหร่ ความมั่นใจยิ่งน้อยตาม เพราะฉะนั้น ต้องหาที่ที่เป็นของเรา” กลับจากอัลเมเรียก็ใช้เวลานานพอสมควรนะกว่าจะจับจังหวะได้ เหมือนเริ่มจากศูนย์ ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาใหม่

นักเตะไทยที่ฝันจะไปเล่นยุโรป ควรเตรียมตัวอย่างไร?

พยายามพัฒนาในเรื่องของฟุตบอลให้มีคุณภาพมากที่สุด แต่เรื่องนอกสนามยังมีตัวช่วยอย่างอื่น เช่น เรื่องภาษา ก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปเล่นต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นก็จะตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว แต่ใครจะไปรู้ บางคนพูดอังกฤษได้แต่ไม่เคยออกไปต่างประเทศเพราะความสามารถในเรื่องฟุตบอลมันไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จว่าทำแบบนั้นแบบนี้แล้วจะได้ไป มันอยู่ที่จังหวะโอกาสของแต่ละคน

“…ไม่มีใครอยากล้มเหลวหรือผิดหวัง ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามองแค่ว่าล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จมันก็ดูไม่โอเคเท่าไหร่ ในเมื่อระหว่างทางมันสนุกมาก….”

มองอัลเมเรียเป็นความล้มเหลวหรือเปล่า?

ไม่ได้มองว่าผลลัพธ์เป็นยังไง แต่มองว่าตอนอยู่ที่นั่น โคตรมันส์ โคตรสนุกเลย (ยิ้ม) แม้สุดท้ายจะล้มเหลว ไม่ได้ลงเล่น แต่มันก็คือชีวิตจริงๆ ไม่สามารถลบทิ้งแล้วเริ่มใหม่ได้ ไม่มีใครอยากล้มเหลวหรือผิดหวัง ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามองแค่ว่าล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ มันก็ดูไม่โอเคเท่าไหร่ ในเมื่อระหว่างทางมันสนุกมาก ตอนเดินทางไปแข่ง ตอนซ้อม ตอนเจอบรรยากาศใหม่ๆ โรนัลโด้ เมสซี่ เนย์มาร์ ตายแล้วเกิดใหม่ยังไม่รู้จะมีโอกาสแบบนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น เราไม่สนใจหรอกว่ามันจะล้มเหลว ถ้าจะล้มเหลวอีกสักสองสามทีก็พร้อมไป(ยิ้ม)

ยังจำประโยคทักทายภาษาสเปนได้?

จำได้ (ยิ้ม) โอ้ลา บูเอนาส โนเชส (สวัสดีตอนเย็น)

ตั้งชื่อลูกชายว่า “มาดริด”?

ชอบเมืองมาดริด เป็นความทรงจำที่ดี พอมีลูกก็เลยนึกถึงเมืองมาดริด อย่างที่บอกว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่ดี ไม่ได้มีความทรงจำที่เลวร้ายที่ไหนสักที่ (ยิ้ม)

ถ้าไม่เล่นบอล กิจกรรมยามว่างคืออะไร?

เล่นเกม ฟังเพลง ดีดกีตาร์

เล่นกีตาร์ด้วย?

ดีดเป็นอยู่ แต่ไม่ได้เก่งมาก ซื้อตอนอยู่อัลเมเรีย แล้วกีตาร์ก็อยู่ที่สเปน 3 ปี เพิ่งไปเอากลับมาจากมาดริด (หัวเราะ) ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะต้องแบกกีตาร์นั่งเครื่องบินกลับมา เห็นนักดนตรีดูเท่ แต่คนธรรมดาทำก็เหมือนคนบ้า

แนวเพลงและแนวเกมที่ชอบ

ฟังเพลงจะฟังความหมาย แนวที่ชอบก็ฮิพฮอพ แร็พ ส่วนเกมก็ไม่ชอบอะไรที่จำเจ เกมสร้างเมืองก็ชอบ แต่สนุกแค่ช่วงแรกๆ พอสร้างแล้วต้องบริหาร แต่เกมฟุตบอลไม่มีอะไรซ้ำ บางครั้งเราได้บอลในพื้นที่ที่มีผู้เล่นสามคน บางทีสองคนหรือคนเดียว พอสถานการณ์เปลี่ยน มีอะไรให้คิดตลอด

กลับมาที่เรื่องเจลีก มีความรู้สึกและความคาดหวังอย่างไร?

ดีใจ อึ้งอยู่เหมือนกันว่าจะเอายังไงดีกับชีวิต ไม่ได้คิดเลยว่าไปแล้วจะต้องเจออะไรที่ปวดหัว คิดแค่ว่าได้ใช้ชีวิต ความรู้สึกก็คล้ายๆ กับตอนไปอัลเมเรีย อาจจะน้อยลงด้วย เพราะครั้งนั้นความกดดันเยอะ แต่ครั้งนี้เราพอรู้แล้วว่าต้องเจออะไรบ้าง

ยากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องในสนาม เกี่ยวกับฟุตบอลล้วนๆ อย่างที่รู้มา เจลีกจะมีทีมงานล่ามซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของเขาเลย เพราะฉะนั้นในสนามฟุตบอลก็มีล่ามคอยแปล แต่อย่างสเปนจะไม่มี ล่ามติดต่อเฉพาะเรื่องนอกสนามกับแถลงข่าว บางทีเราไม่เข้าใจแทคติคต่างๆ ที่โค้ชต้องการในสนามก็จะเป็นปัญหาตอนอยู่สเปน แต่ที่ญี่ปุ่นคิดว่าไม่น่ามีปัญหา

“ก็หวังว่าตัวเองไปแล้วจะเต็มที่ ความสามารถที่มีจะช่วยเหลือทีมได้ อยากไปแล้วให้ตัวเองสนุก ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม”

เรื่องอายุสำคัญแค่ไหนสำหรับนักฟุตบอล?

จริงๆ ก็สำคัญนะ แต่ความฝันมีได้ตลอด ไม่มีวันหมดอายุ เคยคิดเรื่้องแขวนสตั๊ด ถ้ารู้สึกเบื่ออยากเลิกก็เลิกเลยนะ แต่อยู่กับฟุตบอลมาทั้งชีวิตแล้ว ยังไม่อยากรู้สึกแบบนั้น

ถ้ามีโอกาสเข้ามาก็พร้อมคว้าไว้ ไม่สนเลยว่าอายุเท่าไหร่ ถ้ายังมีความสุขกับฟุตบอล ยังเล่นไหว มีทีมสนใจ ก็เล่น (ยิ้ม) ที่ไหนก็ได้ที่ตอบโจทย์ว่าเราจะมีโอกาสลงเล่นทุกสัปดาห์ เล่นในตำแหน่งถนัด ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่อาจต้องย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกาย ซึ่งก็ไม่ยากอยู่แล้ว เพราะอยู่กับวินัย อยู่กับตัวเองมาตลอด

ดูแลสุขภาพอย่างไร?

เรื่องอาหารไม่ถึงกับคุม อาหารบ้านเรามันกินรสชาติมากกว่าประโยชน์ ถ้ามีประโยชน์ก็ดี ไม่มีประโยชน์ก็กินได้ (หัวเราะ) ส่วนที่แฟนบอลเห็นผมไออยู่บ่อยๆ เวลาเล่นบอล อาจเพราะแพ้หญ้า เพิ่งเป็นเมื่อปีสองปี ไม่ได้ร้ายแรง

วางแผนการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นอย่างไร?

วันเดินทางยังไม่ได้กำหนด กะว่าจะพาครอบครัวไปด้วย แต่อาจรอ 1-2 เดือนให้เข้าที่เข้าทางก่อน

การมีนักบอลไทยไปเล่นในลีกที่สูงกว่า ถือเป็นความสำเร็จของวงการฟุตบอลไทย?

เป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ก่อนบ้านเราไม่รู้คิดอะไรกันอยู่ คิดว่านักฟุตบอลไทยห้ามไปข้างนอก ไปแล้วไม่มีประโยชน์

ผมเชื่อว่าคนที่มีความสามารถออกไปน่าจะเป็นเรื่องดี ได้เปิดโลกทรรศน์ รวมทั้งเป็นการเปิดทางให้พวกเยาวชนที่ขึ้นมาทดแทน เราเองก็ได้พัฒนาในภาพรวมเหมือนกัน เพราะใครอยากไปก็ต้องทำงานหนัก ต้องพัฒนาในส่วนที่ต่างประเทศต้องการ

อะไรทำให้แฟนบอลมอบฉายา “เทพมุ้ย”?

ไม่รู้ (ส่ายศีรษะหัวเราะ) อาจจะช่วงเวลาหนึ่งที่เล่นดีเล่นเก่ง และยังรักษามาตรฐานได้ ยากเหมือนกันนะถ้าจะให้เล่นดียาวนานถึง 5-6 ปี การยืนระยะไม่ยากหรอก การรักษามาตรฐานน่ะยาก เล่นดีนัดหนึ่ง ผู้คนพูดถึง นัดหน้าเล่นไม่ดี คนก็หายไป ดังนั้น จะเห็นว่าคนที่ติดทีมชาติ คนที่มีชื่อเสียงคือ 1.เล่นดี 2.รักษามาตรฐานได้ เขาไม่ได้เล่นดีนัดเดียว แต่บางคนเล่นดีปุ๊บก็ตกมาเร็วถ้ารักษามาตรฐานไม่ได้

กุญแจความสำเร็จของธีรศิลป์?

(นิ่งคิด) ด้วยความที่อยากพัฒนาตัวเองทำให้เรายอมรับได้ทุกเรื่อง อันไหนไม่ดีก็ยอมรับได้ แค่รู้สึกผิดหวังเฉยๆ อันไหนดีเราก็อยากพัฒนาให้เก่งขึ้น ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นก็ทำได้ สามารถเล่นได้หลายตำแหน่ง ศูนย์หน้า ด้านข้าง หน้าต่ำ ถ้าเล่นไม่ได้เดี๋ยวโค้ชก็เปลี่ยนตัวออกเอง

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ตั้งแต่เด็กเส้น ไปอัลเมเรียกลับมามันเหมือนเป็นแรงผลักว่าวันหนึ่งเราจะทำให้ดูว่าเราทำได้จริงๆ เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูด”

ความสำเร็จครั้งไหนที่ภูมิใจที่สุด?

ภูมิใจทุกครั้งที่ได้เล่น ไปอัลเมเรียก็ภูมิใจ เป็นที่สุดก็ได้นะ จะมีโอกาสไปอีกมั้ย ถึงไปก็ได้แค่ดูบนอัฒจันทร์ (หัวเราะ)

ตอนนี้ยังมีความฝันอะไรอีก?

ความฝันอยู่ในทุกๆ ปีอยู่แล้ว ถ้ายังเล่นบอลอยู่ก็จะมีเป้าหมายใหม่ในทุกฤดูกาลใหม่

ฝากถึงทุกคนที่ติดตามธีรศิลป์

ขอบคุณมากเลยครับที่คอยให้กำลังใจ ก็ไม่มีคำพูดอะไร (ยิ้ม) ขอบคุณมากจริงๆ อาจจะไม่ได้นำเสนอตัวเองมากมาย ไม่ได้พูดเยอะแยะ แต่ก็ยังมีคนคอยให้กำลังใจ ขอบคุณมากครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image