คิดจะแจกเงินคนจนให้มาก ก็ต้องคิดเก็บภาษีคนรวยให้มากกว่า / โดย สมหมาย ภาษี

นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.มีการกำหนดเวลาเลือกตั้งใหญ่ชัดเจนในปลายปีนี้จะเห็นว่ามีข่าวเกี่ยวกับมาตรการช่วยคนจนออกมามากมายเป็นระยะๆ ถึงกับตั้งเป้าหมายว่าคนจนของประเทศไทยจะหมดประเทศในปีสองปีข้างหน้านี้ ซึ่งสร้างความแปลกใจให้แก่สาธารณชนทั่วไปยิ่งนัก

สำหรับมาตรการช่วยเหลือคนจนนั้น ยังคงเป็นหนังเก่าที่นำมาฉายซ้ำซากเหมือนทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่เห็นชัดๆ ก็คือมาตรการที่มอบให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคาร ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี จัดสารพัดโครงการ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็ออกมาขานรับเป็นอย่างดี พร้อมกับดึงลิ้นชักนำหนังเก่าที่มีอยู่ออกมา แล้วก็ดาหน้าประกาศเป็นมาตรการให้คนจนและชาวไร่ชาวนาได้ทราบ แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของสถาบันการเงินของรัฐก็ต้องพูดตีปลาหน้าไซว่า เมื่อต้องใช้เงินมาจัดสินเชื่อหรือจัดการช่วยเหลือใดๆ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำติดดินแล้ว รัฐบาลอย่าลืมจัดงบประมาณอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงไปจากอัตรามาตรฐานให้ด้วยนะครับ

พูดสั้นๆ ก็คือ สถาบันการเงินพร้อมทำให้อย่างง่ายดาย หากรัฐบาลรับปากจะนำเงินภาษีอากรมาชดเชยให้ ท่านผู้อ่านคงจำได้สมัยการรับจำนำข้าวเป็นแสนๆ ล้านของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ธนาคาร ธ.ก.ส.จัดเงินมาให้รัฐบาลใช้รับจำนำข้าวเป็นแสนๆ ล้านยังเคยทำมาแล้ว
มาตรการสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐบาล คสช.เร่งทำอยู่ในตอนนี้ คือการเข็นมาตรการจัดเงินให้เปล่าช่วยเหลือคนจนทั่วประเทศ อันนี้ก็คือหนังเก่าที่อยู่ในลิ้นชักตู้เก่าสมัยรัฐบาลไทยรักไทยมาก่อน ที่เรียกว่า “นโยบายประชานิยม” ไงล่ะครับ ท่านคงจำกันได้ มาตรการนี้ ไม่ใช่การใช้เงินภาษีอากรแบบอ้อมๆ ที่ไม่เคยโฆษณาให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้รับรู้เหมือนมาตรการที่ผ่านสถาบันการเงินของรัฐข้างต้น

แต่มาตรการนี้ใช้เงินจากภาษีอากรของผู้เสียภาษีทุกคนแบบตรงประเด็นเลย การเตรียมเงินอัดฉีดอย่างมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของรัฐบาลในเที่ยวนี้น่าจะเป็นการอัดฉีดให้กองหนุนท่านนายกรัฐมนตรีที่กำลังลดน้อยถอยลงอย่างที่ป๋าเปรมว่าไว้ก็ได้

Advertisement

การนำเงินภาษีอากรหรือเงินงบประมาณมาใช้เป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือคนจนเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี ดีครับ ดีมากด้วย เพราะถ้าจะใช้วิธีอื่นต้องใช้เวลามากบ้างน้อยบ้าง วิธีนี้เป็นวิธีที่เร็วที่สุดอยู่แล้วในด้านประชานิยม แต่ขณะเดียวกันเมื่อจะต้องนำเงินไปใช้ในเรื่องอื่นที่จำเป็นขึ้นมา เช่น โครงการพื้นฐานเศรษฐกิจ เช่น ด้านถนนหนทาง ชลประทาน และรวมทั้งด้านสังคม เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา เป็นต้น รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณที่จะจัดสรรให้

ในปีนี้จะเห็นชัดว่ามีการคิดจะใช้จ่ายเงินโครงการช่วยเหลือคนจน หรือโครงการประชานิยมตามที่เข้าใจกันมากเป็นพิเศษ และมีความเร่งด่วนมากเพราะต้องทำให้เห็นก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมีในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ประกาศที่จะจัดทำงบประมาณกลางปี 2561 ขึ้นมา โดยจะมีวงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของบประมาณปี 2561 ซึ่งท่านผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้ชี้แจงให้ทราบเร็วๆ นี้ว่า งบประมาณกลางปีจำนวน 150,000 ล้านบาทนี้ “เป็นการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก 100,000 ล้านบาท อีก 50,000 ล้านบาท เป็นงบที่จะใช้ชดเชยเงินคงคลัง”

โดยสรุปก็คือ รัฐบาลจะตั้งงบประมาณกลางปีขึ้นมาเพื่อนำเงินส่วนใหญ่จำนวน 100,000 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการช่วยเหลือคนจน ไม่ว่าจะเป็นโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เฟส 2 ที่ ครม.ได้เห็นชอบ รวมทั้งโครงการปฏิรูปภาคการเกษตร เป็นต้น

Advertisement

การเพิ่มงบประมาณกลางปีนี้รัฐบาลจะต้องหาเงินโดยการกู้เงินมาเพิ่มเข้าไปในงบประมาณ จากตอนต้นที่ประกาศเป็นกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2561 ไปแล้วนั้น มีงบขาดดุลหรืองบที่ต้องไปกู้อยู่แล้ว 450,000 ล้านบาท บวกงบประมาณกลางปีที่คาดว่าจะต้องไปกู้มาใช้เข้าไปอีก 100,000 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จจะเป็นเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.0 ของงบประมาณทั้งต้นปีและกลางปีของงบประมาณ 2561 โปรดบันทึกไว้ด้วยว่าเป็นยอดขาดดุลที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาของไทย

การกู้เงินมาช่วยเหลือคนจน รวมทั้งมาลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ หรือใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ซื้อเรือดำน้ำ รถถัง ฝูงเครื่องบินรบ เหล่านี้

คนจนอย่าดีใจมากเกินไปนะครับ เพราะเงินกู้ที่พอกพูนเข้าไปในหนี้สาธารณะทุกปีนั้น ต้องมีการนำเงินภาษีอากรของท่านทั้งหลายไปชำระพร้อมดอกเบี้ยทั้งนั้นแหละ หากกู้กันจนเพลิน ประเทศชาติก็ล้มละลายได้เหมือนบริษัทเอกชน ผิดกันแต่ว่าบริษัทเอกชนนั้นล้มแล้วหนีหนี้ได้ หรือจะประกาศว่าไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายก็ได้ แต่ประเทศชาตินั้นหากต้องเจอวิกฤต คนไทยจนๆ ที่รักชาติไม่สามารถหนีไปเสวยสุขนอกประเทศได้ โปรดจำไว้ด้วยครับ

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเปิดอ่านวารสารเล่มหนาปึกชื่อว่าการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2017 เล่มนี้น่าสนใจมาก เพราะหน้าปกขึ้นตัวโตเต็มว่า 500 เศรษฐีหุ้นไทย 2017 และมีพาดหัวตัวย่อมลงมาหน่อยว่า “ความมั่งคั่งเศรษฐีหุ้นไทยทะลุ 2.1 แสนล้านบาท” ผมอ่านด้วยความตื่นเต้นและสนใจ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่อยากรวยเหมือนเศรษฐีหุ้นไทย แต่สนใจและคิดต่อไปว่าบรรดาเศรษฐีหุ้นไทยและลูกเมียตลอดทั้งญาติโกโหติกาทั้งหลายที่มีชื่อเต็มไปหมด ที่ถูกกล่าวขานว่ามีทรัพย์สินเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (นอกตลาดหลักทรัพย์อีกมาก แต่หาข้อมูลไม่ได้ จึงไม่ได้มีการนำมานับเป็นความรวย) คนหนึ่งหลายพันหลายหมื่นล้านบาทนั้น เขารวยกันมาอย่างไร

บางคนที่มีการพูดถึงในสังคมกันมากว่าเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมายังอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่เลย อาชีพไหนหนอที่รวยกันเร็วเหลือเกินแน่นอนทุกคนต้องลงทุนถึงรวย แต่รวยอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าคิดต่อไปอีกมากขึ้นๆ ก็อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าแล้วเขาเหล่านั้นเคยมีชื่อเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรติดอันดับหนึ่งในร้อยบ้างไหม สักกี่คน ทั้งนี้เพราะเคยทราบว่าผู้ที่เสียภาษีเงินได้มากระดับต้นๆ ให้ประเทศชาติหลายรายไม่ได้เคยติดชื่ออยู่ในรายการห้าร้อยเศรษฐีหุ้นนี้เลย

ประเทศไทยเรานั้น ถ้ามีผู้หลบภาษีน้อยเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรวยประเภทเศรษฐีทั้งหลาย ถ้ามีสำนึก ไม่คิดเอาแต่ได้โดยไม่เห็นหัวของคนจนที่ร่วมแผ่นดินเดียวกันอย่างทุกวันนี้ ป่านนี้ประเทศไทยเราคงไม่อยู่ในสภาพเช่นนี้ คงไม่อยู่ในสภาพที่ยังหาหนทางปรองดองกันไม่เจอเช่นทุกวันนี้

เมื่อคิดพิจารณาดูถึงการร่ำรวยของเศรษฐีไทยในทุกวันนี้แล้ว จะเห็นภาพได้ไม่ยากว่า ยังมีช่องโหว่ของกฎหมายในเรื่องของระบบภาษีอากรและการเงินอีกมากมายที่จำเป็นต้องทำการปฏิรูป ลองไล่ดูกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ดินและประมวลรัษฎากรเรื่องภาษีเงินได้ให้ละเอียดรอบคอบ ลงให้ลึกถึงภาคปฏิบัติในการเลี่ยงภาษีเหล่านี้ จะพอเห็นได้ว่ายังมีช่องโหว่ให้คนรวยหลบภาษีอีกมาก การหักภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่ายที่ 10% นั้น ถูกต้องเป็นธรรมหรือต่ำไปหรือไม่ การหักภาษีเงินปันผลนี้สามารถนำไปเครดิตการเสียภาษีของทั้งปีได้ ทำเฉยเสียก็ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติว่าเงินปันผลนั้นเมื่อถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้วไม่ต้องนำมาแสดงยื่นตอนปลายปีก็ได้

ทีนี้ถ้ามาดูโครงสร้างภาษีเงินได้ของไทย ปรากฏว่าอัตราภาษีจากกำไรของนิติบุคคลหรือบริษัท จะต้องถูกเสียภาษีเงินได้ที่อัตรา 20% ส่วนผู้ที่รับเงินปันผลที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น อัตราภาษีเงินได้สูงสุด สำหรับผู้มีรายได้ในแต่ละปีเกิน 5 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 5 ล้านบาทนี้ต้องเสียภาษี 35% ดังนั้น เมื่อเขาได้รับเงินปันผลมากและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว 10% เขาก็ไม่นำรายได้จากเงินปันผลนี้ไปแสดงเป็นรายได้ตอนปลายปี ก็กำไรเห็นๆ ไป 5% ซึ่งอัตรานี้สำหรับคนที่มีเงินปันผลปีละเป็นร้อยล้านพันล้าน ถือว่าเป็นส่วนเกินที่มาก

ดังนั้น อัตราการหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล 10% นี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนรวยเต็มที่ ควรจะถูกปรับให้สูงขึ้นอีก เช่น เป็นอย่างน้อย 12-13% จึงจะเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ หรือมิฉะนั้นก็ควรแก้กฎหมายให้ใครก็ตามที่รับเงินปันผลมากกว่าปีละ 5 ล้านบาท ต้องทำการยื่นเสียภาษีทุกราย ไม่มีการยกเว้น

ที่พยายามเสนอมานี้ไม่อยากจะพูดว่าเป็นไปได้ยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะผู้ที่ประกอบเป็นพรรคการเมือง และสุดท้ายผู้ที่ประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรีนั้น ล้วนมาจากคนกลุ่มมั่งมีหรือเศรษฐีเป็นหลัก หรือไม่ก็เป็นผู้ที่อาจสนิทชิดเชื้อกับเศรษฐีกันทั้งนั้น มีใครไหมที่จะทำฉลาดให้ตัวเองและพรรคพวกต้องเสียภาษีให้ประเทศชาติมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image