‘ลดการบ้าน’ สะท้อนวิถีการจัดการศึกษา : โดย ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

การบ้านนักเรียนอีกแล้ว คราวนี้เป็นความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีเองเลย ที่ต้องการลดการบ้านลงและให้มีผลในทันที โดยมอบหมายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงออกแนวปฏิบัติ (https://www.matichon.co.th/news/780519) สื่อสารไปยังโรงเรียน ว่าให้ครูที่สอนในระดับชั้นเดียวกันและในกลุ่มสาระต่างกัน หารือ วางแผน กำหนดจำนวนการบ้านไม่ให้มากเกิน การบ้านชิ้นเดียวควรมาจากการเรียนรู้หลายวิชา สามารถวัดประเมินผลครั้งเดียวได้หลายกลุ่มสาระ

นอกจากนั้น ยังกำหนดเวลาทำการบ้านแต่ละวันไว้ด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ประมาณ 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เป็นต้น อันที่จริงแนวปฏิบัติดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่พูดกันซ้ำๆ มานานแล้ว

หลายปีที่ผ่านมา เมื่อการศึกษาเราถูกวัดประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบของเราเองหรือโอเน็ต (O-NET) หรือเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น (PISA) ผลที่ออกมาล้วนชี้ว่าเราอ่อนแอ เด็กๆ เยาวชนด้อยเรื่องคิดวิเคราะห์

เรื่องนี้สะท้อนอะไรในการจัดการศึกษาบ้าง?

Advertisement

1.การทำงานที่โรงเรียนขาดการปรึกษาหารือ กำกับ ติดตาม

ไม่ยากไม่ใช่หรือ ถ้าโรงเรียนจะแก้เรื่องนี้ แนวปฏิบัติ สพฐ.ตามที่กล่าวมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือสร้างสรรค์สุดขีดจนเกินความสามารถในการคิดเองทำเองของโรงเรียน ปัญหาน่าจะอยู่ที่ความเอาใจใส่ การร่วมคิดร่วมทำ หรือการกำกับติดตามเสียมากกว่า อาจเพราะอย่างนี้กระมัง นโยบายพัฒนาครูของรัฐมนตรี ศธ.จึงต้องเป็น PLC (Professional Learning Community)

2.ความเอาจริงเอาจังในการชี้แนะ นิเทศ จากเขตพื้นที่การศึกษา

ถ้าเขตพื้นที่การศึกษาจริงจังกับการชี้แนะ นิเทศ การทำงานของโรงเรียน ไม่ว่าจะเรื่องการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ หรืองานนโยบายต่างๆ มีหรือที่เรื่องง่ายๆ เช่น เรื่องการบ้านนักเรียน จะวนเวียนก่อปัญหาซ้ำซากจนนายกรัฐมนตรีต้องออกปาก

มิใช่ก็แค่ทำไปอย่างนั้น ตามที่มีหน้าที่ดอกหรือ ลูบหน้าก็จะปะจมูก เพราะผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนก็เป็นภาระงานที่ตนเองมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบนั้นด้วย

3.การทำงานระดับนโยบาย เน้นเฉพาะกิจ หรือตามกระแส ขาดการติดตามให้สำเร็จลุล่วง

พอเป็นข่าวว่าเด็กๆ ไม่รู้จักหน้าที่ต่อบ้านเมือง ถูกชักจูงปลุกปั่นได้ง่าย ก็บรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองเข้าไปในหลักสูตร ว่าเด็กๆ ขาดศีลธรรมจรรยา คุณธรรมจริยธรรม ก็บรรจุวิชาพุทธศาสนาเพิ่มเข้าไป

คิดว่าเด็กๆ ควรเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากกิจกรรมบ้าง มิใช่จากการบรรยายของครูอย่างเดียว ก็กำหนดให้ดำเนินกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จำนวนเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง โดยขาดข้อมูลหรือการไตร่ตรอง ชั่วโมงเรียนที่มีอยู่พอเพียงหรือไม่ แล้วโรงเรียนดำเนินการอย่างไร แก้ปัญหา…….. ฯลฯ นอกจากปริมาณที่มากมายแล้ว คุณภาพงานตามนโยบายดีพอหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ร่วมคิด ร่วมแก้ไข ให้สำเร็จลุล่วง

น่าคิดเมื่อลองเทียบเรื่องการบ้านกับบางเรื่องที่สำคัญตาม พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542 อาทิ การที่ผลโอเน็ตไม่ดี โรงเรียนและ/หรือเขตพื้นที่การศึกษา แก้ด้วยการหาติวเตอร์มาติว มาสอนให้ทำข้อสอบ แทนที่จะปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้ของครูในชั้นให้เน้นเรียนรู้ด้วยกิจกรรมมากขึ้น เรื่องที่สำคัญกว่าอย่างนี้ ระดับนโยบายกลับดูไม่อนาทรร้อนใจ

4.การทำงานของรัฐเป็นแบบสั่งการจากบนลงล่าง จนโรงเรียนไม่เป็นตัวของตัวเอง

ปัญหาต่างๆ ที่โรงเรียน การบ้านนักเรียนนับเป็นเรื่องเล็กมาก เป็นเรื่องครูผู้สอนออกแบบให้ศิษย์ได้ทบทวนบทเรียนอย่างไรเท่านั้น จะมากหรือน้อย สำหรับนักเรียนแต่ละคน ควรมีเวลาทำเท่าไหร่ ความเหมาะสมพอดี เป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนพูดคุยกันได้อยู่แล้ว หรือถ้าปัญหามันเกิดขึ้นมากกว่านั้นจริงๆ ระดับบริหารคงคิดออกว่าควรทำอย่างไรจึงจะลงตัว นักเรียนยังได้ฝึกฝนอย่างสมเหตุสมผล

การจะสอนให้คิดเป็นทำเป็น สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือมีวิจารณญาณ ครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนคิด อดทน รอคอย ใจเย็น ไม่รีบบอกคำตอบก่อน หรือแนะไปเสียทุกเรื่อง จนเด็กๆ ไม่ได้คิด หรือเก่งแค่ทำตามบล็อกหรือคำสั่งของครู

การศึกษาไม่เหมือนงานอื่นที่อาจต้องใช้ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะต้องการความเหมือน แต่งานสร้างหรือพัฒนาคนจำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของคนทำงานอย่างเอกอุ โรงเรียนจึงจะเข้มแข็งเพียงพอ พร้อมรับมือความแตกต่างอย่างหลากหลายของเด็กๆ ไหว โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งหมายถึง ครู บุคลากร และผู้บริหาร ต้องเป็นนักคิดจึงจะสร้างนักเรียน เยาวชน ให้มีความสามารถในการคิด

ข่าวนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ศธ.และ สพฐ.แก้ปัญหาการบ้านมากของนักเรียน สะท้อนให้เห็นวิถีการทำงาน หรือการจัดการศึกษาบ้านเราได้ชัดเจน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าหวังจะให้การศึกษาพัฒนาเด็กๆ ทัดหน้าเทียมตาบ้านอื่นเมืองอื่น

ครู บุคลากร และผู้บริหาร คงต้องปรึกษาหารือกันมากขึ้น วง PLC ต้องเข้มข้น เข้มแข็ง การบริหารจัดการต้องแบบมีส่วนร่วม ศึกษานิเทศก์ หรือเขตพื้นที่การศึกษาต้องจริงจังกับการชี้แนะ นิเทศ ระดับนโยบายควรพิจารณาที่ผลลัพธ์ วิธีคิด วิธีทำ หรือกระบวนการ ต้องให้โอกาสระดับปฏิบัติคิดเองทำเอง ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง

หากโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา หรือระดับปฏิบัติที่หน้างาน ไม่สามารถจะแก้ไขเรื่องการบ้านได้แล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากการคิดไม่ออก ทำไม่เป็น หรือวัฒนธรรมการทำงานราชการบ้านเรา ต้องรอคำสั่ง นโยบาย หรือแนวปฏิบัติก่อนเท่านั้น อย่างนี้ก็ยากแล้วที่จะไปทำเรื่องอื่นๆ ซึ่งอาจยากกว่ามากให้ลุล่วง

หากเป็นเช่นนั้นจริง มโนภาพก็แล้วกัน ว่าการศึกษาจะไปอย่างไรต่อไป บางทีอาจกระจ่างหรือบรรลุเลยก็ได้ ว่าการศึกษาบ้านเราวันนี้ ใยมาถึงจุดนี้

ธนิตย์ สุวรรณเจริญ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image