สกลนครเสียดายสะพานหินยุคขอมไม่เด่นชัดรุ่นหลังแทบไม่รู้จัก(มีคลิป)

วันที่ 24 มกราคม  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถนนนิตโย ขาเข้าเมืองสกลนคร พบว่ามีโบราณสถานที่ใกล้กันก่อนถึงประตูเมืองคือ สะพานขอมหรือสะพานหิน ที่ไม่มีการปรับปรุงมานานแล้วโดยเฉพาะหลังจากน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา จนป้ายชื่อชำรุดหลุดออกจากแท่นตั้ง ต้องนำเอามาวางไว้ทางขึ้นสะพานโชคดีป้ายไม่หายไปกับน้ำ ทั้งนี้ สะพานหินดังกล่าวตั้งอยู่ต่ำกว่าถนนนิตโยทั้งขาเข้า-ขาออกเมืองสกลนคร อยู่ในเวิ้งหลุมของถนน หากขับรถผ่านจะไม่เห็นเลย กลายเป็นว่าน่าเสียดายสะพานหินในยุคขอมที่เชื่อมโยงเรื่องราวของจังหวัดสกลนครตั้งแต่เป็นเมืองหนองหารหลวง สกลทวาปี และสกลนครในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สะพานขอมหรือสะพานหิน พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย (ข้อมูลจากกรมศิลปากร) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองสกลนคร ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 4 เมตร ยาว 16 เมตร เดิมมีความสูงจากพื้นล่างประมาณ 2-3 เมตร ด้านบนของตัวสะพานทำเป็นพื้นเรียบ ยกขอบศิลาแลงเป็นคันขึ้นมาทั้งสองข้าง ฐานสะพานก่อศิลาแลงเป็นช่อง 11 ช่อง เพื่อรับน้ำหนักด้านบนและเป็นช่องให้น้ำไหลผ่านได้ แต่เดิมเชื่อว่าเป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหาร โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองคือไปสู่ชุมชนบ้านนาเวง ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร

โดยมีหลักฐานปรากฏเมื่อครั้งปี พ.ศ.2449 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระองค์ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอีสาน ได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ 4 เกี่ยวกับเมืองสกลนครไว้ว่า วันที่ 15 มกราคม ขี่ม้าไปบ้านนาเวง ระยะทาง 15 เส้น ไปตามถนนขอมสร้างไว้แต่ดึกดำบรรพ์ มีสะพานหินเป็นสพานศิลาแลง ฝีมือขอมทำดีน่าดูอยู่แห่ง 1 เป็นของสมัยเดียวกันกับเทวสถาน ที่ตำบลนาเวงมีเทวสถานเรียกว่า “อรดีมายานารายณ์เจงเวง” ตั้งอยู่บนเนินซึ่งมีซุ้มไม้ร่มรื่นดี..”คันดินถนนโบราณ ตลอดจนถึงลำห้วย ได้ถูกแปลงสภาพไปหมดแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นหน้าที่ดั้งเดิมของสะพานแห่งนี้ได้

DCIM/101MEDIA/DJI_0043.JPG

ดังนั้น สะพานแห่งนี้จึงมีอิทธิพลมาจากยุคขอมโบราณเมื่อกว่า 1,600 ปีก่อน เพราะเป็นอารยธรรมเดียวกัน ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง บ.ธาตุนาเวง เทศบาลนครสกลนคร และปราสาทพระธาตุภูเพ็ก บ.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ชาวบ้านในพื้นที่จึงฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากให้ปรับปรุงพัฒนาสะพานหินแห่งนี้ เนื่องจากเสียดายโบราณสถานควรค่าอนุรักษ์ ที่คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จัก และควรส่งเสริมให้ศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะแต่เดิมถนนยังไม่มีการขยายช่องจราจร จะสามารถมองเห็นสะพานหินได้ชัดเจน แต่ทุกวันนี้หากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น จึงไม่ทราบว่ามีโบราณสถานตั้งอยู่ จึงอยากให้ปรับปรุงจะทำอย่างไรให้มองเห็นเด่นชัดโดยขออนุญาตกรมศิลปากร เช่น อาจมีการยกฐานสะพานสูงขึ้นอีกเพราะฐานเดิมยังแข็งแรงอยู่ แต่ถ้าหากปล่อยไว้ในมุมต่ำแบบนี้ น่าเสียดายมากเพราะเมื่อเข้าหน้าฝนน้ำท่วมขังทุกปีจึงฝากพิจารณาด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image