ความคุ้มค่าของระบบการศึกษา : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ระบบการศึกษาของไทยถูกเรียกร้องให้มีการปฏิรูปมาเนิ่นนานแล้ว ความล่าช้าที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับความล้าหลังของระบบการศึกษาในทุกระดับ

การศึกษาภาคบังคับได้รับการอุดหนุนให้เป็นการศึกษาฟรี ส่วนการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็มีการเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยและหลักสูตรใหม่ๆ มากมายอย่างไร้การควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เคยถูกมองกันง่ายๆ ว่าจะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งคนทั่วไปจักได้มีการศึกษาที่ดีขึ้นและทั่วถึง

แต่การณ์กลับปรากฏว่าระบบการศึกษากลายเป็นระบบที่เทอะทะอย่างหนัก คุณภาพก็อ่อนแอ มีโรงเรียนและหลักสูตรจำนวนมากมายขาดแคลนนักเรียนและนักศึกษา หลักสูตรประเภท “จ่ายครบ-จบแน่” สะพัดเต็มไปหมด

Advertisement

ผลผลิตของบัณฑิตดำเนินไปอย่างที่เคยเป็นมา ไม่ตอบโจทย์ของความต้องการแรงงานและคุณภาพใหม่ที่แรงงานจักต้องมี

การจ้างงานประเภทนี้มักไม่ก่อประสิทธิภาพสูงสุด

กลายเป็นความสูญเปล่าของระบบการศึกษา

Advertisement

กลายเป็นภาระงบประมาณที่ประชาชนเองนั่นแหละต้องแบกรับ

ในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองและภาครัฐก็มีส่วนซ้ำเติมปัญหานี้อย่างมากด้วย

มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ต้องการอยู่นอกระบบราชการเพื่อความถนัดมือของผู้บริหาร

ทุกจังหวัดต้องการมีมหาวิทยาลัยซึ่งจำนวนหนึ่งก็ถูกผลักดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลและข้าราชการที่มีอำนาจ

ภาคการศึกษากลายเป็นภาคของสังคมที่ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจ จำต้องผลิตแรงงานที่ไม่ตรงตามความต้องการของระบบเศรษฐกิจและทิศทางของเทคโนโลยี

ส่วนผู้บริหารกลับมักต้องหมกมุ่นอยู่กับการใช้อำนาจที่ได้รับจนเกิดปัญหาการขาดธรรมาภิบาลและคดีฟ้องร้องมากมาย ไม่อาจใช้เวลาและทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาความล้าสมัยและอุปทานล้นเกินที่สถาบันของตนสร้างขึ้น

สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเองได้พยายามแก้ไขปัญหามาตรฐานหลักสูตร แต่พบกับอุปสรรคมากมาย ล่าสุดก็ได้เผยแพร่จำนวนหลักสูตรที่ขาดความพร้อม

มีการประกาศหลักสูตรที่ขาดมาตรฐานที่กำหนดไว้จำนวน 182 หลักสูตร จาก 9,099 หลักสูตร

นี่นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีและหวังว่าจะยกระดับไปสู่การแก้ไขปัญหาคุณภาพและความไม่คุ้มค่าของมหาวิทยาลัยทุกแห่งอย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

หลักสูตรที่ขาดมาตรฐานดังกล่าวเป็นเพียงการที่หลักสูตรเหล่านั้นไม่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องตามกฎเกณฑ์ขั้นต่ำอันได้แก่จำนวนและตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ในหลักสูตรเท่านั้น

เพราะยังมีหลักสูตรจำนวนมากที่ด้อยคุณภาพและเป็นเพียงหลักสูตรที่ให้ผลตอบแทนเป็นสวัสดิการแก่ผู้บริหารและผู้สอนซึ่งมุ่งตอบสนองระบบอุปถัมภ์ในสถาบันการศึกษานั้นๆ

ยังไม่ตอบโจทย์ของความคุ้มค่าของหลักสูตรและคุณภาพทางการศึกษาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เรียนที่ต่อไปจะต้องก้าวเข้าสู่การแข่งขันในโลกทุนนิยมสมัยใหม่อย่างเต็มตัว

การศึกษาระดับก่อนอุดมศึกษาเป็นส่วนที่ใช้ระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีและมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัว ครอบครัวในปัจจุบันมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่บุตรหลานที่เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับของทางการกลายเป็นสมาชิกของครอบครัวที่มักไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้หรือแม้แต่การผ่อนเบาภาระการดูแลผู้สูงวัยซึ่งมีมากขึ้น

ในขณะที่ระยะเวลาของการเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาแบบทางการมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก ผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับยังคงอยู่ในระดับต่ำเพราะการศึกษาในระบบทางการมีปัญหาคุณภาพของครู หลักสูตรที่ขาดความยืดหยุ่นและกระบวนการเรียนรู้ที่ล้าสมัย

เด็กไม่สามารถเพิ่มพูนพื้นฐานความรู้ที่เท่าทันยุคสมัย การปลูกฝังวินัยและความรับผิดชอบที่ควรได้รับในระบบทางการก็ยังเป็นที่กังขา

ครูเองก็ถูกบังคับใช้เสียเวลาไปกับการบริหารจัดการให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามตัวบ่งชี้ที่มีจำนวนมากมาย

ผู้ปกครองมักรู้สึกว่าบุตรหลานของตนดูรักความสุขสบายและละเลยความรับผิดชอบในครอบครัวมากขึ้น ไม่อยากเรียนอะไรที่ยากหรือลำบาก

ธุรกิจและอาชีพของครอบครัวต้องพึ่งการว่าจ้างแรงงานนอกครัวเรือนที่มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งยากที่จะอยู่รอดได้

ทางการมีมาตรการที่จะลดจำนวนชั่วโมงเรียนของเด็กนักเรียนเพื่อให้เด็กใช้ชีวิตที่เพลิดเพลินหรือไม่คร่ำเคร่งแบบคนรุ่นเก่า แต่มิได้ลดการศึกษาที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เด็กนักเรียนมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวของตนและมีความสนใจในสิ่งที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจและอาชีพของครอบครัวในอนาคต

การศึกษาในระบบขาดปรัชญาการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งๆ ที่ส่วนผสมของการศึกษาประเภทนี้สามารถทำให้เกิดคุณประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชนและสังคมได้ดี

เราจึงไม่ควรแปลกใจที่สังคมส่วนหนึ่งเริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษานอกระบบที่สามารถให้ความรู้ความสามารถแก่เด็กได้อย่างเป็นรูปธรรม

โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้างของครูคีตา วารินบุรี หรือครูลี่ ที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาตามอัธยาศัยที่ให้ประโยชน์แก่เด็กและครอบครัว ทั้งในการเรียนรู้ธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะและการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมที่ขาดหายไปจากระบบการศึกษายุคหลังๆ

ผู้ปกครองที่นั่นได้รับประโยชน์จากวิถีการศึกษาแบบดั้งเดิมนี้ควบคู่ไปกับการศึกษาแบบตะวันตกที่เคยคุ้นเคยกัน

ความคุ้มค่าในระดับพื้นฐานนับว่าเป็นรูปธรรม แจ้งชัดและจับต้องได้จนเป็นที่น่าชื่นชม

แม้ว่ากระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้อาจจะยังตอบโจทย์ความต้องการทางการศึกษาของโลกทุนนิยมที่เกษตรกรต้องมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะประกอบการค้าสมัยใหม่ไม่ได้ครบนัก แต่ก็เป็นการจัดการศึกษาที่ทันสมัยและมีคุณประโยชน์มาก

ในระดับอุดมศึกษา กระบวนการศึกษาที่ล้าหลังและไม่สามารถปรับคุณภาพของนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา

บัณฑิตที่ผลิตได้อาจกลายเป็นผู้ที่ทำงานไม่ตรงกับความรู้ความเชี่ยวชาญ อาจเป็นผู้มีงานทำที่มีใบปริญญาแต่ทำงานต่ำระดับหรือขาดความมั่นใจที่จะทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

ระยะเวลาที่ใช้ในมหาวิทยาลัยกลายเป็นต้นทุนที่จ่ายไปอย่างไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการไปศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ให้ความรู้มากกว่า ตรงกว่าและให้โอกาสของการเรียนรู้ที่เท่าทันโลกมากกว่า

ในบางประเทศ นักศึกษาระดับปริญญาตรีมีความสามารถมากเพียงพอแล้วในการทำงานทันทีในตลาดแรงงาน ในขณะที่บัณฑิตจำนวนมากของไทยยังต้องผ่านการอบรมความรู้ท่ามกลางสภาวะที่องค์กรธุรกิจยังกังวลเรื่องการลงทุนพัฒนาบุคลากรที่อาจสูญเปล่าไปเมื่อแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้นนั้นหันไปหางานแห่งอื่น

พนักงานรุ่นใหม่จำนวนมากก็สนใจที่จะอุทิศให้กับงานน้อยลงและอาจหันเหไปประกอบอาชีพอิสระที่สะดวกสบายกว่าแต่อาจมีความเสี่ยงสูงในระยะยาว การลงทุนพัฒนาบุคลากรจึงอาจสูญเปล่าในสายตาของผู้บริหารบริษัทจำนวนมาก

บางประเทศสามารถผลิตนักเรียนมัธยมที่สามารถทำงานได้เลยโดยไม่ต้องพึ่งการศึกษาระดับอุดมศึกษาก่อน ในแง่นี้ การส่งเสริมด้านอาชีวศึกษาอาจช่วยให้ประเทศไทยมีการผลิตแรงงานที่มีทักษะฝีมือที่ดี แต่นโยบายนี้ก็นับว่าเพิ่งเริ่มต้นและยังต้องประเมินถึงคุณภาพของแรงงานอาชีวะว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

โดยแนวโน้มแล้ว การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไม่ตรงความต้องการของตลาดจะมีมากขึ้นอีกเป็นเวลานาน หากยังคงปราศจากมาตรการปฏิรูปที่ผ่าตัดโครงสร้างและระบบการศึกษาอย่างจริงจัง

ภายในอีกไม่กี่ทศวรรษ สมองกลจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าสมองมนุษย์มากมายหลายด้าน บนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงนี้ สมองเทียมและเครื่องจักรอัตโนมัติจะถูกนำมาทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ศักยภาพความรู้อย่างน้อยระดับหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้แรงงานมีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะแข่งขันในโลกของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้

พื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ต้องการก็ถูกลดความสำคัญมาตลอดหลายทศวรรษ

เนื้อหาและกระบวนการศึกษาเดิมที่ขาดความเท่าทันและวิสัยทัศน์จะเป็นแหล่งสะสมอุปทานส่วนเกินที่มากมายเกินกว่าที่รัฐจะแบกรับได้ในอนาคต

ปัญหาเหล่านี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะนำไปสู่ภาพสะท้อนที่ออกมาในรูปของโอกาสทางธุรกิจที่จะอ่อนด้อย อัตราเงินเดือนที่ต่ำตามความสามารถในการผลิตที่ด้อยลง กองทัพผู้ว่างงานในลักษณะใหม่ๆ ความไม่สามารถหางานที่เหมาะสมกับตน การที่จะต้องศึกษาระดับสูงขึ้นเผื่อจะช่วยให้มีงานทำ การพึ่งพาอาศัยพ่อแม่หลังบรรลุนิติภาวะ ฯลฯ

นั่นคือ ในด้านหนึ่งนั้นรัฐบาลจะต้องตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรระบบการศึกษาของไทยจึงจะเป็นระบบที่เรียนแล้วไม่เสียดายเวลา

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image