คร.เผยค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หากกระทบสุขภาพต้องรอไม่เกิน 12-72 ชั่วโมง

จากกรณีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เผยสถานการณ์มลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร (มคก./ลบ.ม.)  แม้ล่าสุดตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 พบว่าฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงแทบทุกพื้นที่ จนเกิดข้อกังวลเรื่องสุขภาพนั้น

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่นละอองที่เกินค่ามาตรฐาน นั้น  จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ  สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  เมื่อวานนี้ 24 มกราคม 2561    พบค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ โดยพบสูงสุดที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  ซึ่งวันนี้(25 ม.ค.) ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป  โดยขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โดยสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนี้ มาจากหลายสาเหตุ เช่น การจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง เป็นต้น  ซึ่งในสภาพอากาศลักษณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ  ได้แก่ 1.โรคระบบทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคเยื่อบุตาอักเสบ และ 4.โรคผิวหนัง รวมถึงผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว  ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก

ด้าน พญ.ฉันทนา  ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า   สำหรับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ค่าฝุ่นละอองไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร (มคก./ลบ.ม.) ในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ค่าของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ไม่ควรเกิน 50  มคก./ลบ.ม.  ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คำนวณมาแล้วว่า หากประชาชนได้รับค่าฝุ่นละอองที่ตัวเลขดังกล่าวจะพบว่าร้อยละ 80 จะไม่มีอาการป่วย แต่อาจมีประมาณกว่าร้อยละ 10 จะป่วยได้ ซึ่งจะเป็นในกลุ่มเสี่ยง  อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญต้องดูเรื่องของเวลา ซึ่งจะอยู่ที่ 24 ชั่วโมง โดยต้องดูว่า หากอยู่กลางแจ้งก็เสี่ยงเยอะ เช่นคนงานก่อสร้าง หรือตำรวจจราจร แต่หากนั่งอยู่ในที่ทำงานเปิดแอร์ และเจอฝุ่นละอองประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็จะไม่กระทบ

Advertisement

“สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่นมีโรคประจำตัว อย่าง  โรคทางเดนิหายใจ หลอดลมอักเสบ หอบหืด หัวใจขาดเลือด ถุงลมโป่งพอง ก็อาจได้รับผลกระทบง่ายกว่า รวมไปถึงผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก หรือในกลุ่มคนสูบบุหรี่จัด ทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา ซึ่งหากเราต้องทำงานกลางแจ้งนานเป็นครึ่งวันก็ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิด N 95 ซึ่งจะกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มาก” พญ.ฉันทนา กล่าว

พญ.ฉันทนา  ผดุงทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่พบค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ว่าเกินมาตรฐานจะส่งผลอย่างไร ถึงขั้นก่อมะเร็งจริงหรือไม่ พญ.ฉันทนา กล่าวว่า การก่อมะเร็ง เป็นเรื่องระยะยาว และมีหลายปัจจัยร่วม แต่สำหรับค่าฝุ่นละอองจะเป็นผลกระทบระยะสั้น ซึ่งปกติแล้วสำหรับค่าที่เกินขึ้นมา เช่น กรุงเทพฯที่พบว่าเกินมาประมาณ 50-90มคก./ลบ.ม.   เมื่อเทียบกับจีน และอินเดียพบถึง 200  มคก./ลบ.ม.  ซึ่งหนักกว่าบ้านเรา  แต่เมื่อเพิ่มขึ้นก็ไม่อยากให้กังวลมาก ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง และผลระยะสั้นก็ไม่ใช่ว่ารับฝุ่นแล้วเกิดขึ้นเลย เพราะอาการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหลังจากรับฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาแล้ว  12-72 ชั่วโมง หรือประมาณ 1-2 วันก็เป็นได้

“จริงๆสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าอาจเกิดขึ้นนานแล้ว ไม่ได้ของใหม่ก็เป็นได้ เพียงแต่เรามีเครื่องตรวจวัดค่าทำให้เห็นตัวเลข อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ควรมีการตรวจวัดค่าเหล่านี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อจะได้ทราบว่า หากปริมาณฝุ่นละอองสูงขึ้น เพราะสาเหตุใด และหาทางป้องกันหรือลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ค่ามาตรฐานของไทยอาจลดลง จากต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.   อาจลดลงเกือบถึงค่าขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม.  ก็ได้”  พญ.ฉันทนา  กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำการดูแลและป้องกันสุขภาพเมื่อเกิดฝุ่นขนาดเล็ก ดังนี้ 1.ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง  2.อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน เพื่อเป็นตัวกั้นฝุ่นไม่ให้เข้าบ้าน  3.หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก ถ้าอยู่ในที่ที่มีฝุ่นหนาแน่นให้ใช้หน้ากากกรองฝุ่นหรือหาผ้าเปียกมาปิดจมูก  4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมาก  5.ให้ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก

6.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการรับประทานยา การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง     และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการทรุดลง  และหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง หรือมีการใช้หน้ากากกันฝุ่น     7.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป  และ 8.ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image