คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘ตลาดตั๊กแตน’ วิถีแห่งเกาหลีเหนือ

AP

เรื่องลึกลับประการหนึ่งสำหรับโลกภายนอกก็คือระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของ “ชาวบ้าน” ที่นั่น สภาพความเป็นอยู่ของสามัญชนทั่วไปที่มิใช่ คิม จองอึน และผู้คนในระบอบปกครองของประเทศ ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร? ลำเค็ญมากน้อยแค่ไหน? จริงหรือไม่ที่ยิ่งแซงก์ชั่นเกาหลีเหนือมากขึ้นเท่าใด คนเหล่านี้ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น?

จริงหรือเปล่าที่ชาวบ้านธรรมดาๆ เหล่านี้ตกอยู่ในสภาพกึ่งๆ “ตัวประกัน” และกึ่งๆ “แพะรับบาป” พร้อมกันไปในคราวเดียวกัน?

คำตอบที่ชัดเจนนั้นหาได้ยากยิ่ง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งเนื่องเพราะข้อมูลเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ในเกาหลีเหนือแตกต่างกันสุดขั้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลที่ว่านั้น

อาทิ ข้อมูลจากธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติเกาหลีใต้ ระบุว่า เมื่อปี 2016 เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือขยายตัว 3.9 เปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในรอบ 17 ปีเท่านั้น ยังสูงกว่าสัดส่วนการขยายตัวของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศอีกต่างหาก

Advertisement

แต่ในเวลาเดียวกัน โครงการอาหารโลก (เวิลด์ ฟู้ด โปรแกรม-ดับเบิลยูเอฟพี) หน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติ ซึ่งมีสำนักงานให้ความช่วยเหลืออยู่ในเกาหลีเหนือ ยังคงระบุว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 25.1 ล้านคนของเกาหลีเหนือยังอยู่ในสภาพ “ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร” ที่สามารถตีความเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า “มีกินบ้างไม่มีบ้าง” อยู่ในเวลาเดียวกัน

เกาหลีเหนือประกาศตัวเป็นประเทศเอกราชภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต ที่หวังสถาปนารัฐสังคมนิยมขึ้นอีกรัฐหนึ่ง นับแต่นั้น ความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในอดีตก็เป็นเสมือนเส้นใยชีวิตสำหรับชาวเกาหลีเหนือ ไหลซึมผ่านระบบจัดการจากส่วนกลาง ที่ถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า “ระบบจัดสรรแห่งรัฐ” (พีดีเอส) ที่มี “ศูนย์จัดสรรแห่งรัฐ” หรือ “พีดีซี” ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจ่ายแจกอาหารปันส่วนให้กับประชาชนทั้่งประเทศ

ตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 เส้นใยชีวิตของเกาหลีเหนือถูกตัดขาด ระบบพีดีเอสล่มตามไปด้วย ผลลัพธ์ก็คือ ผู้คนมากถึง 3 ล้านคนล้มตายลง

Advertisement

ระบบพีดีเอสถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2006 และทางการเกาหลีเหนืออ้างว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของตนพึ่งพาระบบที่ว่านี้อยู่ ส่วนที่เหลือไม่จำเป็นต้องได้รับการปันส่วนอาหารจากรัฐ เนื่องจากเป็นเกษตรกรที่สามารถผลิตอาหารเองอยู่แล้ว

กระนั้น ข้อมูลของดับเบิลยูพีเอฟระบุว่า เมื่อปี 2015 เกิดภาวะแล้งครั้งใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือในปี 2016 ผลผลิตทางการเกษตรที่เคยผลิตได้ลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ภาวะขาดแคลนอาหาร “อย่างมีนัยสำคัญ” เมื่อผสมผสานเข้ากับระบอบการเมืองที่ใช้อยู่ การแซงก์ชั่นในทางพาณิชย์ และปัญหาที่เกิดจากภาวะอากาศ ก็ส่งผลให้ “ผู้คนจำนวนมาก” ตกอยู่ในสภาพ “ทุพโภชนาการเรื้อรัง” สืบเนื่องจากขาด “โปรตีน, ไขมัน, วิตามิน และเกลือแร่” ที่จำเป็นต่อร่างกาย

ดูๆ ไป เหมือนเรากำลังมองเหรียญเดียวกันคนละด้าน ยังไงยังงั้น!

 

เบนจามิน ซิลเบอร์สตีน นักวิชาการจากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ (เอฟพีอาร์ไอ) ในนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาวิจัยเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือมาตลอด ระบุว่า ถ้าจะวิเคราะห์การกระจายตัวของอาหารในเกาหลีเหนือทุกวันนี้ โดยอาศัยข้อมูลจากระบบล้าสมัยของทางการเพียงอย่างเดียว ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็จะฟังดูน่าขัน

เหตุผลสำคัญเป็นเพราะระบบพีดีเอสนั้นหมดความสำคัญไปมากแล้วในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลที่น่าเชื่้อถือมากกว่า เป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและซักประวัติความเป็นอยู่ของบรรดาชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์ซึ่งถือเป็นหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่สำคัญ เมื่อนำมาสอบทานกับข้อมูลขององค์กรให้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติอย่างดับเบิลยูพีเอฟ และหน่วยงานอื่น อาทิ องค์การอาหารและเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) ซึ่งมีสำนักงานถาวรอยู่ในกรุงเปียงยาง และเดินทางไปเยี่ยมเยียนศูนย์จัดสรรแห่งรัฐ, ฟาร์ม และบางครั้งก็ไปตรวจสอบตลาดในเกาหลีเหนือด้วย ก็จะได้ภาพวิถีชีวิตที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับความเป็นจริงออกมาได้ไม่มากก็น้อย

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา บรรดาหน่วยงานของสหประชาชาติเหล่านี้ออกแถลงการณ์ร่วมกันฉบับหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือ ในถ้อยแถลงดังกล่าวยอมรับถึงข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลและแหล่งที่มาของข้อมูล แต่ยืนยันว่า สิ่งที่ยูเอ็นนำมาเผยแพร่นั้น “เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะมีได้ในยามนี้”

ในแถลงการณ์ระบุว่า บรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยงานทั้งหมดไม่เห็นอะไรที่ส่อแสดงว่า “มีอาหารมากเกินความต้องการ” และถูกแจกจ่ายไปให้ชาวบ้านในเกาหลีเหนือ

“ประเด็นปัญหาหลักก็คือ…ภาวะโภชนาการซ้ำซาก มีแต่ข้าวหรือไม่ก็ข้าวโพด กิมจิ และถั่วบด ขาดทั้งไขมันและโปรตีนที่จำเป็น”

อาจจะเป็นด้วยความสับสนของข้อมูลทำนองนี้ ยูเอ็นต้องการเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือทางอาหารแก่ชาวเกาหลีเหนือ ที่เรียกว่าการ “ให้การสนับสนุนทางโภชนาการ” 76 ล้านดอลลาร์

แต่จนถึงขณะนี้ได้รับเงินเพียง 42 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง

 

ข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากผู้แปรพักตร์มีรายละเอียดมากกว่า มีสีสันน่าสนใจกว่า แต่ขาดความครอบคลุมอยู่บ้าง ดังนั้น ในขณะที่มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือยังคงมีสัญญาณแสดงให้เห็นภาวะ “อดอยากเรื้อรัง” ที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ในปี 2013 อยู่ในยามนี้ แต่หลายคนที่แปรพักตร์มาบอกตรงกันว่า ภาวะอาหารการกินเริ่มดีขึ้นในช่วงสองสามปีหลังมานี้

อย่างน้อยมีคนเกาหลีเหนือแปรพักตร์ 8 คน ที่บอกกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ว่า คนเกาหลีใต้กินอย่างไร คนเกาหลีเหนือก็กินเหมือนๆกันอย่างนั้น

เมื่อถามว่า ในตู้กับข้าวมีอะไรบ้าง? คำตอบที่ได้รับคือ ส่วนมากก็ใช้เก็บผักที่ปลูกเอง ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตเองในท้องถิ่น กับ ข้าว หรือหากจนมากหน่อย ข้าวก็ถูกเปลี่ยนเป็นข้าวโพด ที่เป็นธัญญาหารที่ราคาถูกกว่า

ผู้เยาว์ที่มีภูมิหลังของครอบครัวมั่งคั่งหน่อย บอกว่า พวกเขามีเนื้อกินสมบูรณ์ดีอยู่ แม้ว่าจำเป็นต้องทิ้งช่วงเป็นระยะๆ ก็ตาม สาเหตุเป็นเพราะไม่มีไฟฟ้าสำหรับใช้กับตู้เย็นหรือตู้แช่สำหรับเก็บรักษาเนื้อ มากกว่าที่จะขาดแคลนเนื้อ เนื้อหมู คือเนื้อที่บริโภคกันเป็นหลัก แต่มีคนเกาหลีเหนือแปรพักตร์หลายคนพูดถึงเนื้ออื่นๆ

รวมถึงเนื้อสุนัข, เนื้อกระต่าย และหมาหริ่ง (แบดเจอร์) !

ถึงอย่างนั้น ข้อมูลของดับเบิลยูพีเอฟระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เด็กเกาหลีเหนือจะมีร่างกายเติบโตต่ำกว่าเด็กเกาหลีใต้ในวัยเดียวกัน

ราว 1 ใน 4 ของเด็กเกาหลีเหนือจะเตี้ยกว่าเด็กเกาหลีใต้ ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2009 ระบุว่า เด็กวัยก่อนเข้าเรียนของเกาหลีเหนือจะเตี้ยกว่าเด็กเกาหลีใต้วัยเดียวกัน 13 เซนติเมตร และหนักน้อยกว่า 7 กิโลกรัม

ผู้คนที่หลบหนีออกมาเหล่านี้ ระบุตรงกันว่า ระบบพีดีเอส ที่จริงๆ แล้วก็คือ บัตรคูปองสำหรับซื้ออาหารในร้านของศูนย์พีดีซี ซึ่งเคยมีความหมายสูงมากในอดีต ลดความสำคัญลงไปมากแล้วในเวลานี้ เมื่อทางการปรับท่าทีใหม่แบบเงียบๆ ยินยอมให้มีการค้าของเอกชนที่รัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยได้

พวกเขายกเครดิตเรื่องนี้ให้คิม จองอึน ซึ่งก้าวขึ้นมามีอำนาจในปี 2011

 

ตลาดซื้อขายเอกชนในเกาหลีเหนือที่เรียกกันว่า “ชังมาดัง” มี 2 แบบ แบบแรกเป็นตลาดที่เป็น “ทางการ” ถูกต้องตามกฎหมาย พ่อค้าแม่ขายทั้งหลายสามารถนำอะไรก็ได้มาขาย ชาวบ้านสามารถซื้อหาอะไรก็ได้ตามต้องการ เพียงแค่ต้องจ่ายเงิน “ค่าธรรมเนียมตั้งแผง” ให้กับทางการเท่านั้น

อีกแบบเป็นตลาดแบบไม่เป็นทางการและผิดกฎหมาย รู้จักกันในชื่อ “ตลาดตั๊กแตน” หรือ “กราสฮอปเปอร์ มาร์เก็ต” ด้วยเหตุที่ว่า ทั้งคนซื้อคนขายต้องเร่งรีบมาตั้งแผง กุลีกุจอซื้อขายแลกเปลี่ยนกันแล้วก็รื้อเก็บแผงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นพื้นที่โล่งราบเรียบเหมือนฝูงตั๊กแตนลงทำลายไร่นาแล้วหายวับไปกับท้องฟ้า

กลุ่มผู้สื่อข่าวชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์มารวมตัวกันอยู่ที่กรุงโซล และจัดทำเว็บไซต์ (ภาษาเกาหลี) เรียกว่า “เดลีเอ็นเค” เปิดเผยข้อมูลเอาไว้เมื่อสิงหาคมปีที่แล้วว่า ทั่วประเทศในเวลานี้มีตลาดทำนองนี้รวม 387 ตลาด คิดเป็นแผงขายรวมแล้วมากกว่าครึ่งล้านแผง

ข้อมูลของเดลีเอ็นเค ระบุว่า ชาวเกาหลีเหนือกว่า 5 ล้านคนพึ่งพาตลาดเหล่านี้ “ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม”

“ชังมาดัง” กลายเป็นวิถีใหม่ที่หลอมรวมเข้ากับสังคมเกาหลีเหนือชนิดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะนี่คือวิธีเดียวสำหรับ “การอยู่รอด” ของคนเหล่านั้น

ในปี 2015 คิม บยอง-ยอน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโซล เคยทำสำรวจความคิดเห็นเพื่อการวิจัยชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ 1,017 คน ได้ผลลัพธ์ว่า ชาวเกาหลีเหนือได้รับอาหารจากช่องทางของทางการ อย่างเช่นจากระบบพีดีเอสเพียง 23.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกราว 61 เปอร์เซ็นต์ล้วนพึ่งพา “ชังมาดัง” รวมทั้ง “ตลาดตั๊กแตน” ทั้งสิ้น

อีก 15.5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือการพึ่งพาพืชผลที่เพาะปลูกเองครับ

 

“ชังมาดัง” ไม่ได้เป็นเพียงวิถีใหม่ที่สามัญชนเกาหลีเหนือใช้หล่อเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ยังมีคุณลักษณะอีกบางประการที่ทุกวันนี้จะมีได้ก็แต่ในสภาพแวดล้อมอย่างในประเทศเช่นเกาหลีเหนือเท่านั้น

นั่นคือแม้แต่ทุกวันนี้ ชังมาดังยังคงซื้อขายกันในรูปแบบการซื้อขายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อย่างที่เรียกกันว่า “บาร์เตอร์ เทรด”

ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องมีคนกลาง เป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยตรงระหว่างผลผลิตชนิดหนึ่งกับผลผลิตอีกชนิดที่แต่ละคนผลิตได้ เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าในปริมาณที่ผู้ซื้อและผู้ขายพึงพอใจเท่านั้นเอง

“ตลาดตั๊กแตน” จึงมีบทบาทอีกอย่าง นั่นคือก่อให้เกิดวัฒนธรรมอาหารใหม่ๆ แพร่หลายออกไปในเกาหลีเหนือ ตัวอย่างเช่น อาหาร “ขายดี” ในหมู่ชาวบ้านทั่วไปอย่าง “อินโชโกกี” เป็นต้น

“อินโชโกกี” แปลตรงตัวว่า “เนื้อที่คนทำขึ้น” อันหมายถึง “เนื้อสัตว์เทียม” อันมีที่มาจากการดิ้นรนเอาชีวิตรอดเมื่อครั้งโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ ระบบปันส่วนอาหารของรัฐพังทลาย อดอยากขาดแคลนกันทั้งประเทศ

เพื่อเอาชีวิตรอด จำเป็นต้องคิดค้นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป นอกเหนือจากออกล่าสัตว์ในธรรมชาติแล้ว ยังต้องคิดค้นอาหารขึ้นมาจากสิ่งที่เหลืออยู่

พวกเขาใช้กากถั่วเหลืองที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำมัน ซึ่งปกติมักใช้เลี้ยงหมู นำมาบดใหม่แผ่เป็นแผ่นแล้วม้วนยัดไส้ตรงกลางด้วยข้าว ปรุงเสร็จแล้วราดด้วยซอสพริก กลายเป็น “อินโชโกกี” ที่ทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่กินเพื่อชีวิตเท่านั้น ยังเพื่อความอร่อยอีกด้วย

อี เอ-รัน อดีตเชฟจากเมืองฮเยซาน ในเกาหลีเหนือ ที่แปรพักตร์มา บอกว่า อินโชโกกีกลายเป็นอาหารขายดีบนแผงชังมาดัง เพราะอุดมด้วยโปรตีนและไฟเบอร์ จึงเป็นอาหารที่เหนียว เคี้ยวเพลิน แต่ให้พลังงานดีต่อกล้ามเนื้่อและยัง “อิ่มนาน”

ในขณะที่โช อี-ซอง ชาวบ้านแปรพักตร์อีกคนชี้ว่า เคล็ดความอร่อยของอินโชโกกีอยู่ที่ซอส ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ทะเลมักแต่งรสซอสราดด้วยปลาเค็มสับละเอียด ส่วนคนที่อยู่ในชนบทก็ปรุงรสซอสให้เผ็ดร้อนด้วยพริกไทย เขาเองที่อยู่ใกล้ชายหาดก็ไปเลือกหาปลาไหลทรายมาสับใส่ลงไปในซอสราดอินโชโกกี

นั่นคือเหตุผลที่ดับเบิลยูพีเอฟสำรวจพบว่า ชาวบ้านในเกาหลีเหนือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทมีภาวะโภชนาการดีกว่าชาวบ้านที่อยู่ในเมือง

แน่นอนความดังกล่าวต้องยกเว้นผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างเปียงยาง และเป็นคนที่ทำหน้าที่รับใช้รัฐภายใต้ระบอบเบ็ดเสร็จของคิม จองอึน

ในเปียงยางมี “ภัตตาคาร” ดีๆ หรูๆ หลายร้อยแห่ง ทั้งหมดบริหารงานโดยคนของรัฐ เป้าหมายสำคัญก็คือ การดึงดูด “ดอลลาร์” สกุลเงินหายากเย็น จากกระเป๋าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อไว้ใช้ในกิจการของรัฐ

ในย่านที่รู้จักกันในชื่อ “ย่านอิตาลีบนถนนกวางบ็อก” คนเกาหลีเหนือที่ร่ำรวยทั้่งหลายรวมทั้งนักท่องเที่ยว สามารถหาซื้อ “พาสต้า วองโกเล่” ได้ในสนนราคา 3.50 ดอลลาร์ (ราว 110 บาท) หรือพิซซ่า เปปเปอโรนี ในราคา 10 ดอลลาร์ (ราว 314 บาท) ต่อถาด

เทียบให้เห็นความต่างระหว่าง “ชนชั้น” ของคนที่นั่นได้ง่ายๆ ว่า ราคาข้าวโพดสดที่นั่นกิโลกรัมละ 0.30 ดอลลาร์ หรือไม่ถึง 10 บาท ส่วนอินโชโกกีแพคหนึ่งพอให้คนกินได้ 1 อิ่ม ราคาเพียง 0.50 ดอลลาร์ หรือแค่ 15-16 บาทเท่านั้นเอง

แน่นอนว่าภายใต้ระบอบเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ย่อมมีคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับ “คัง” หญิงสาววัย 28 ที่หลบหนีออกมาเมื่อปี 2010 เล่าว่า พ่อของเธอที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีเหนือในเวลานี้ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหน่อย

“พ่อรับสินบนอยู่บ่อยๆ” เธอบอก

สินบนคือเนื้อ บางครั้งเป็นเนื้อกวาง เนื้อแพะ หรือไม่ก็เป็นเนื้อสุนัขครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image