ภูมิทัศน์ การเมือง หลังวาทกรรม “กองหนุน” ใครเล่นบท ผลักรุน

ท่าทีทางการเมืองหลังจากกัปปิยโวหารว่าด้วย “กองหนุน” หลุดมาจากปาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดการเแปรเปลี่ยนอย่างน่าจับตา

เป็นการแปรเปลี่ยนในเชิงแยก และ แตกตัว

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพลิกผันอย่างรวดเร็วนั้นมาจากสถานการณ์ 1 ความต้องการอย่างรุ่มร้อนในการยืดและสืบทอดอำนาจ

เห็นได้จากการพยายาม “เลื่อน” การเลือกตั้ง

Advertisement

เห็นได้จากการพยายามวางโครงข่ายอันสัมพันธ์ระหว่าง “ประชารัฐ” และ “ประชาธิปไตยไทยนิยม” ผ่านโครงสร้างใหม่ “กอ.รมน.”

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ 1 มาจากจุดอ่อน “ภายใน”

ตัวอย่างที่ฮือฮาเป็นอย่างมากเห็นได้จากการทะเล่อทะล่าไปหานักการเมือง “น้ำดี” ไม่ว่าที่นครปฐม ไม่ว่าที่ชลบุรี

Advertisement

ไม่ว่าที่นครราชสีมา ไม่ว่าที่สุโขทัย

และอีกตัวอย่างคือ กรณีของ “นาฬิกา”

การพลิกผัน แปรเปลี่ยนของสภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ของ “กองหนุน” ไม่เพียงแต่ทำให้บางส่วนแสดงออกด้วยภาษาเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยมากยิ่งขึ้น

หากแต่ในทาง “ยุทธศาสตร์” กลับใกล้เคียงกัน

กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่จะให้หายใจร่วมรูจมูกเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยคงเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งในทางเป็นจริง

แต่ 2 พรรคนี้ก็มี “เป้าหมาย” ที่ไม่ห่างหรือแตกต่างมากนัก

พรรคเพื่อไทยนั้นถือว่ายืนอยู่คนละด้าน คนละขั้วกับ คสช.อย่างแน่วแน่มั่นคงตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว

การแปรเปลี่ยนจึงเกิดกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า

ลำพังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พรรคประชาธิปัตย์ก็หงุดหงิดอย่างยิ่งแล้ว แต่พอประสบเข้ากับ 1 ไม่ยอมยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และซ้ำเข้ามาอีกด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560

พรรคประชาธิปัตย์จึงเล่นบท “กองหนุน” ที่แยกและแตกตัวอย่างเด่นชัด

พลันที่มีความพยายามจะใช้อภินิหารทางกฎหมายเล่นแร่แปรธาตุ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ก็เกิดความรู้สึก “ร่วม” ขึ้นโดยอัตโนมัติ

ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

หากติดตามการให้สัมภาษณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ก็แทบไม่ต่างจาก “แถลงการณ์” จาก “พรรคเพื่อไทย”

เป็นความรู้สึก “ร่วม” ที่ไม่พอใจต่อ คสช.และรัฐบาลเหมือนกัน เป็นความรู้สึก “ร่วม” ที่จะต้องสัประยุทธ์กับ พรรคประชารัฐ หรือ พรรคประชาธิปไตยไทยนิยม

แม้ไม่มีการจับมือลงสัตยาบันเป็น “พันธมิตร”

แต่มืออันทรงพลังอย่างยิ่งในการดึงเอาพรรคเพื่อไทยมาพูดด้วยภาษาเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นมืออันทรงพลังของ คสช.และของรัฐบาล

นี่คือสิ่งที่ นายพิชัย รัตตกุล เคยคาดหมายไว้

คําถามอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยสามารถพัฒนาจังหวะก้าวของพันธมิตรในแนวร่วมต่อต้าน คสช.ให้เติบใหญ่ไปได้หรือไม่

ตอบยาก และถึงขั้นยากส์

แต่หากศึกษาจากความเป็นจริงนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ก็มิใช่ว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้

นั่นก็ขึ้นอยู่กับ “วิสัยทัศน์” ของ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image