สจล.-จุฬาฯรับป.ตรีวิศวะฯหุ่นยนต์

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พร้อมด้วยนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และ (CU) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ สร้างหลักสูตรปริญญาตรีด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ เป็นหลักสูตรสองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) และหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยนายบัณฑิต  กล่าวว่า จุฬาฯ และสจล.  ได้ร่วมมือทางวิชาการในการสร้างหลักสูตรปริญญาตรี สองปริญญาข้ามสถาบัน (Double degree) ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจาก จุฬาฯ และสจล. และยังร่วมกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical & Computer Engineering: ECE) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลด้วย

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก

“หลังจากวันนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสามสถาบัน เรียกว่า “คณะกรรมการโครงการความร่วมมือสามฝ่าย” เพื่อดำเนินการจัดตั้งหลักสูตรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จ และสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ จะหมุนเวียนเรียนทั้งที่จุฬาฯ และที่สจล. โดยเน้นหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ไม่เฉพาะในด้านการทำงานซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์จะเข้ามาแทนแรงงานคนเราในหลาย ๆ วิชาชีพเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เราใช้อยู่ทุกวัน เมื่อจบการศึกษาจะได้ปริญญาบัตรจากทั้งสองสถาบันการศึกษา ถือเป็นข้อได้เปรียบ”อธิการบดีสจล.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image