5Gกำลังมา ไทยเตรียมตัว เปลี่ยนโฉมอีก

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา หรือราวปลายปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จนก่อให้เกิดโครงข่าย 4G สร้างผลกระทบและการพัฒนาของสังคมไทยอย่างมาก นอกจากช่วยทำให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้นผ่านโทรศัพท์
มือถือที่มีค่าใช้จ่ายถูกลง

ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ตามมาอย่างรวดเร็วจนหลายฝ่ายคาดไม่ถึง เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างอาลีบาบา ลาซาด้า ฯลฯ การทำธุรกรรมการเงินผ่านสมาร์ทโฟน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นสังคมไร้เงินสด ผ่านคิวอาร์โค้ดแทนเงินสด บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่สั่นสะเทือนวงการสื่อและโฆษณา เป็นต้น

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายและทำให้ภาคธุรกิจรวมถึงผู้คนต้องตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีนี้

4G หรือ เทคโนโลยีรุ่นที่สี่ (4th Generation) มาแล้วและสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้ แล้ว 5G เทคโนโลยีรุ่นที่ 5 ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ ในยุคสื่อสารไร้สายต่อจาก 4G จะเข้ามาเขย่าสังคมไทยให้สั่นสะเทือนขนาดไหน เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินตัวที่ทุกฝ่ายควรต้องเริ่มเรียนรู้และเข้าใจกับเทคโนโลยี

Advertisement

ในทางทฤษฎี นิยามที่จับต้องได้ของเทคโนโลยี 5G คือความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในหน่วยของเมกะบิตต่อวินาที (Mbps) และคุณภาพความหน่วงของการรับส่งข้อมูลที่ลดลง (network latency) โดยทาง GSMA เป็นสมาคมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกระบุไว้ว่ามาตรฐานของ 5G ควรมีความเร็วที่ 1-10 Gbps หรือกิกะบิต และมีความหน่วงไม่เกิน 1 มิลลิเซ็กกันด์ หรือ 1 ใน 1,000 ของวินาที (ms) ถ้าเทียบกับอินเตอร์เน็ตบนมือถือในบ้านเราที่มีความเร็วเฉลี่ย 10 Mbps และมีความหน่วงที่ 30 มิลลิเซ็กกันด์ นั่นหมายความว่าอินเตอร์เน็ตบนมือถือในยุค 5G จะเร็วกว่าปัจจุบันอย่างน้อยๆ 30-100 เท่าเลยทีเดียว

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่แค่จะทำให้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตมือถือได้เร็วมากขึ้น โหลดยูทูบได้ไวขึ้น หรือแชร์วิดีโอได้ในชั่วพริบตาเท่านั้น แต่ผลกระทบของความเร็วและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมหาศาลนี้จะทำให้อุปกรณ์ที่จะใช้งานกับ 5G ไม่ได้จำกัดอยู่กับโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว ด้วยการเชื่อมต่อที่รวดเร็วและมีเสถียรภาพ จะทำให้รองรับอุปกรณ์การเชื่อมต่อต่างๆ ได้เป็นจำนวนมากที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์อีกต่อไป!!

Advertisement

หากจะกล่าวคร่าวๆ รูปแบบการใช้งานที่แตกต่างจาก 4G แต่จะก้าวเข้ามาในโลกของ 5G สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1.การใช้ยานยนต์อัจฉริยะ (Connected Car) หรือยานยนต์ไร้คนขับที่อาจเป็นจริงขึ้นมาได้ จะทำให้เกิดระบบขนส่งคมนาคมอัจฉริยะ น่าจะช่วยลบภาพการสัญจรที่แออัดและยุ่งเหยิงของเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยไปได้

2.การใช้อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใส่ชิปหรือส่วนควบคุมที่สามารถติดต่อสื่อสารกันเป็นจำนวนมากได้เพราะเทคโนโลยี 5G สามารถรองรับการเชื่อมต่อเป็นเท่าทวีคูณ อุปกรณ์ที่ใช้ในตัวบ้านไม่ว่าจะเป็นรีโมตหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ สามารถสื่อสารกันได้อัตโนมัติ ทำให้บ้านกลายเป็นบ้านอัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฮมขึ้นมา หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างภาพเคลื่อนที่เสมือนจริงที่เรียกว่า augmented reality และ virtual reality ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

3.การควบคุมอุปกรณ์ในระยะไกล เช่น การควบคุมเครื่องจักรทางไกล หรือการรักษาทางไกลที่แพทย์นอกจากจะสามารถวินิจฉัยโรคผ่านหน้าจอได้แล้ว ยังอาจจะสามารถควบคุมอุปกรณ์การรักษาเช่นเครื่องมือผ่าตัดจากระยะไกลได้อีกด้วย หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Tele Medicine
เรื่องเทคโนโลยี 5G มีการพูดกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ยังไม่มีการใช้งานจริง อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศเริ่มกำหนดแผนงานสำหรับรองรับระบบ 5G และบางประเทศเริ่มมีการทดลองระบบ 5G เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำหนดแผนไว้แล้วว่าจะเริ่มต้นใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2020 หรือปี 2563 ซึ่งรวมไปถึงภาคธุรกิจอย่างหัวเว่ย และอีริคสันที่เริ่มทดลองให้บริการ 5G บ้างแล้ว

ดังนั้น ในอนาคตที่คาดว่าอีกไม่กี่ปีอาจได้เห็นหมอสามารถให้คำแนะนำการผ่าตัดทางไกลได้ผ่านทางคลิปที่มีความคมชัดสูงในขณะที่คุณหมอในโรงพยาบาลที่กันดารกำลังดำเนินการผ่าตัดแบบ Real Time ได้ เพราะคาดกันว่าต่อไปจะสามารถโหลดไฟล์วิดีโอแบบ HD ขนาดใหญ่ถึง 7.5 GB (กิกะไบต์) ได้ภายใน 1 วินาที และต่อไปวิวัฒนาการของเทคโนโลยีอาจพัฒนาขึ้นไปถึงขั้นฉายเป็นภาพ Hologram

สำหรับประเทศไทย อย่าง กสทช.ตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยี 5G มาสักระยะหนึ่งแล้ว แม้ว่า 5G จะยังไม่เห็นเต็มรูปแบบในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ที่สุดเทคโนโลยี 5G ต้องเข้ามาแน่นอนซึ่งอาจจจะเร็วกว่าที่คาด กสทช.จึงเตรียมพร้อมในเรื่องดังกล่าวแต่เนิ่นๆ

เบื้องต้นคือการเตรียมจัดสรรคลื่นความถี่แบบไม่ต้องประมูล เพื่อให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยี 5G ในราคาต่ำ ที่สำคัญอุปกรณ์รองรับ 5G ในอนาคตต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลก คือ ITU (International Telecommunication Union) หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ

คาดหวังว่าเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งๆ ขึ้นในทุกด้าน ทั้งการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายภายในบ้าน หรือแม้แต่การติดต่อราชการที่ไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
เป็นต้น

เป็นเรื่องที่ กสทช.เตรียมความถี่ไว้พร้อมแล้วสำหรับโลกแห่งอนาคต รอเพียงภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจจัดทำอุปกรณ์และบริการต่างๆ รองรับระบบ

ถึงวันนั้น ประเทศไทยจะได้เปลี่ยนโฉมอีกครั้งสู่ยุค 5G

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image