หมอธีโยน ‘ยุบ-ไม่ยุบ’ ร.ร.เล็กให้ ‘พ่อแม่-น.ร.’ ชี้ขาด (คลิป)

 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังรับฟังรายงานผลการศึกษาสภาพจริงของโรงเรียนขนาดเล็กใน จ.แม่ฮ่องสอน ว่า จากที่ได้รับฟังข้อมูลการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 15,000 โรงเรียน พบว่าแต่ละแห่งมีปัญหาคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงได้ให้นโยบายการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก อย่างแรกต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมามีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กหลายวิธี เช่น ยุบรวม ควบรวม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เพราะคนที่คิดแก้ปัญหา กับคนที่พบปัญหา เป็นคนละคน จากนี้จะใช้วิธีใหม่ โดยขอให้วิธีการแก้ไขปัญหามาจากพื้นที่ โดยผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล หากพบว่ามีปัญหาใดที่ต้องการการสนับสนุนงบประมาณ ให้เสนอเข้ามาอย่างเร่งด่วนเพื่อแปลงงบบางส่วนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา

นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั่วประเทศ จะต้องลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยจะต้องรู้ว่าโรงเรียนในพื้นที่มีปัญหาอะไร เดินทางไกลมากน้อยแค่ไหน แล้วทำรายงานกลับมาเป็นรายโรงเรียน รวมถึง เสนอทางแก้ไข และงบที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ ตนจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการทำงานของผู้อำนวยการ สพท.

“เรามีเขตพื้นที่ฯ ทั้งหมด 225 เขต บางโรงเรียนบอกว่าเขตพื้นที่ฯ ไม่เคยลงไปเยี่ยมโรงเรียนเลย กระทบถึงคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง จากการรายงานของผู้ตรวจราชการ ศธ.ครั้งล่าสุด พบว่ามีโรงเรียนที่สอนระดับอนุบาลห้องละคนนั้น พอลงไปตรวจสอบสภาพปัญหาจริง เกือบทั้งหมดมีความจำเป็นที่ต้องทำ เช่น ไม่มีโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดสอนไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น จากนี้แนวทางแก้ปัญหาจะให้เป็นการตัดสินใจของผู้ปกครอง ครู และนักเรียนเอง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่รู้สภาพปัญหาดีที่สุด” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

Advertisement

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เป้าหมายการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กตอนนี้ ไม่ใช่การลดจำนวนโรงเรียนลง แต่เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นผู้ตัดสินใจ สพฐ.โดย ศธ.มีหน้าที่ในการสนับสนุนเชิงนโยบาย เท่าที่ดูปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่พบในลักษณะเดียวกัน คือปัจจัยพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า เรือนพักนอน สำหรับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล และมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น เบื้องต้น สพฐ.จะยืดหยุ่นงบลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานต่างๆ มาปรับใช้ในการยกระดับคุณภาพผู้เรียนก่อน เพราะปัจจัยเหล่านี้ถือส่งผลต่อนักเรียน และห้องเรียนโดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image